นโยบายจับคนผิด "หม่อมอุ๋ย" "ถ้าผมจะทำ ต้องชนะ"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวคิดที่แตกต่างกันของผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบันกับผู้ว่าคนก่อนเริ่มปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ประเภท 14 วัน จากระดับ 1.5% เป็น 2.5% ไปเมื่อ 3 เดือนก่อน เพื่อให้โครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของระบบเป็นรูป เป็นร่าง

คราวนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า นโยบายการเอาผิดกับผู้บริหารสถาบันการเงินที่ทำผิด กฎหมายในช่วงที่เขาเป็นผู้ว่าการฯ จะกระทำอย่างมีความรอบคอบ มากขึ้น

"ถ้าผมจะทำอะไรต้องแน่ใจพอควรว่าทำแล้วต้องชนะ ผมเป็นคนที่ถ้าจะทำอะไรแล้วต้องชนะ ซึ่งแปลว่ายังมีน้ำยาอยู่" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวเมื่อกลางเดือนก่อน หลังทราบผลจากอัยการอังกฤษที่ได้แจ้งกลับมายังประเทศไทยว่าไม่สามารถยื่นเรื่องไปยังศาลสูงสุด ให้พิจารณาคำร้องเพื่อขอนำตัว ปิ่น จักกะพาก อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้

การที่ไม่สามารถยื่นคำร้องไปยังศาลสูง ส่งผลให้ปิ่นไม่มีสภาพเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในเกาะอังกฤษ ทุกวันนี้ เขาจึงสามารถทำ ธุรกรรมต่างๆ ได้เฉกเช่นกับคนธรรมดาทั่วไป เพราะก่อนหน้านั้นเพียง 2 อาทิตย์ ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษเพิ่งตัดสินให้เขาไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาของอัยการไทย

คดีของปิ่น จักกะพาก ใช้เวลาถึงกว่า 2 ปี จึงเพิ่งได้ข้อยุติ

คดีนี้เริ่มขึ้นในยุคของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติคนก่อน ซึ่งได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนทันทีที่ขึ้นรับตำแหน่ง ว่าจะต้องนำผู้บริหารสถาบันการเงินที่บริหารงานผิดพลาดจนเป็น ต้นตอของวิกฤติการเงินในปี 2540 มาลงโทษให้ได หลังการเข้ารับตำแหน่ง ม.ร.ว.จัตุมงคลได้มีการยกเครื่องฝ่ายกฎหมายของแบงก์ชาติ โดยดึงรัฐกรณ์ นิ่มวัฒนา จากสำนักงาน อัยการสูงสุด มาเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการฯ เพื่อให้เข้ามาดูแลเรื่องการ กล่าวโทษผู้บริหารสถาบันการเงินโดยเฉพาะ

ในช่วง 3 ปีที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติได้มีการกล่าวโทษผู้บริหารสถาบันการเงินไปถึง 45 คดี คิดเป็นวงเงินความเสียหายถึง 42,667 ล้านบาท (รายละเอียดดูจากตาราง)

ยังไม่รวมกับความพยายามที่จะเอาผิดกับอดีตผู้ว่าในช่วงก่อนหน้าอย่างเริงชัย มะระกานนท์ และชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ซึ่งมีส่วนร่วมกับการปกป้องค่าเงินบาท ในช่วงที่ถูกโจมตีจากกองทุนต่างประเทศในปี 2540 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทตามมา

เรียกได้ว่าเป็นความพยายามที่จะกล่าวโทษผู้บริหารสถาบันการเงิน ทั้งของรัฐและเอกชนครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติ ศาสตร์ของระบบการเงินไทย

มีผู้บริหารสถาบันการเงินหลายคน มองความพยายามดังกล่าวของ ม.ร.ว.จัตุ-มงคลว่าทำเพื่อต้องการสร้างภาพ เพราะในช่วงที่เขาเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติใหม่ๆ เป็นช่วงที่มีกระแสเรียกร้องสูงในสังคมไทย ที่ต้องการหาตัวผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

และความพยายามที่จะเอาผิดกับผู้บริหารสถาบันการเงินนั้นเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก เพราะผู้บริหารสถาบันการเงินหลายแห่งถึง กับเกิดอาการเกร็ง ไม่กล้าแม้กระทั่งจะพิจารณาปล่อยกู้ เนื่องจากกลัวว่าหากเกิด ผิดพลาดไปแล้วจะต้องติดคุก

ปัจจุบัน ผลของคดีส่วนใหญ่ได้เริ่ม ปรากฏข้อสรุปออกมา และเริ่มเห็นแนวโน้ม แล้วว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยากพอสมควรที่แบงก์ชาติจะนำผู้บริหารที่ถูกกล่าวโทษเหล่านั้นมารับผิดได้

ก่อนหน้าคดีของปิ่นจะได้ข้อสรุป จากจำนวนคดีที่มีการกล่าวโทษไปแล้ว 45 คดี เป็นคดีที่แบงก์ชาติไม่สามารถนำผู้ถูกกล่าวหามาลงโทษได้ถึง 5 คดี ขณะที่มีคดีที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้แบงก์ชาติเป็นฝ่ายชนะเพียง 2 คดี แต่คดียังไม่สิ้นสุด เพราะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์และฎีกา

นอกจากนี้ หลังจากคดีของปิ่นได้ข้อสรุปออกมาเพียงไม่กี่วัน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก็ได้สั่งไม่ฟ้องคดีที่แบงก์ชาติกล่าวโทษ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ กับพวกในกรณีธนาคารนครหลวงไทยเพิ่มเข้ามาอีก มีการประมวลกันว่า เหตุผลที่การกล่าวโทษเพื่อนำผู้บริหารสถาบันการเงินมารับผิดของแบงก์ชาติ ไม่ประสบผลสำเร็จมีหลายประการ เช่น หลักฐานอ่อนเกินไป พฤติกรรมไม่เข้าข่าย หรือมูลความผิดไม่แน่ชัด แม้กระทั่งการประสานงานระหว่างตำรวจกับผู้ร้องคือเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของแบงก์ชาติเองยังติดขัด ฯลฯ

แต่เหตุผลสำคัญที่มีหลายคนมองก็คือ ความพยายามที่จะเอาผิดกับผู้บริหารสถาบันการเงินเหล่านี้ในยุคของ ม.ร.ว. จัตุมงคลนั้น ทำไปอย่างไม่จริงจังเท่าไรนัก ซึ่งเหตุผลนี้เอง ที่น่าจะทำให้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ต้องออกมาย้ำ ให้ชัดถึงแนวคิดที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น "แม้ผมจะไม่ใช่ลูกหม้อ แต่การที่ผมมาดำรง ตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็จะรักษามาตร-ฐาน คุณภาพตามเดิม สิ่งใดควรทำผมก็ทำ สิ่งใดทำไม่ได้ ก็จบ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.