ความคล่องตัว และการทำธุรกิจในตลาดเฉพาะทาง ซึ่งเป็นแนวถนัด ของบล.แอสเซท
พลัส ทำให้บริษัทสามารถฝ่าด่านวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ และปัจจุบันได้กลายเป็นรูปแบบ
ที่น่าสนใจในการทำธุรกิจ IB
ในขณะที่ธุรกิจไทยยังกรุ่นไปด้วยความไม่แน่นอน กระแสการแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่งมีอย่างต่อเนื่อง
ดูเหมือนว่า "คุณภาพ"เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าธุรกิจใดจะทะยานขึ้นสู่ระดับแนวหน้าได้
ช่วงเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทสัญชาติไทยหลายๆ แห่ง
ได้เปิดให้เห็นถึง "ความไม่มีคุณภาพ" กันอย่างเต็มที่ และในเวลานี้บริษัทเหล่า
นั้น พยายาม ที่จะปิดช่องว่างความไม่มีคุณภาพกันอย่างทุลักทุเล เห็นเด่นชัดคงหนีไม่พ้นธุรกิจธนาคาร และสถาบันการเงิน
ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายๆ บริษัท ที่แสดงออกถึงความมีคุณภาพ หนึ่งในนั้น คือ
บล.แอสเซท พลัส ที่มีแม่ทัพอย่าง ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ซึ่งอิทธิพลทางความคิดของเขาเป็นประโยชน์ต่อการกระจายรายได้
ทรัพย์สิน และโครงสร้างแห่งอำนาจ ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าทางธุรกิจ และสามารถยืนอยู่เหนือซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจได้อย่างสวยงามเป็นที่อิจฉาของคนทั่วไป
บล.แอสเซท พลัส เติบใหญ่พร้อมเม็ดเงิน ที่พอกพูน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะยอดกำไร ที่กระเตื้องขึ้น
แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ด้วยการคิดค้นสินค้าใหม่ๆ มาทดแทน สินค้าเก่าๆ
ที่จางหายไปกับภาวะเศรษฐกิจ กลเม็ดเหล่านี้มีอยู่ในตัว ดร.ก้องเกียรติ เพราะพลัน ที่เศรษฐกิจล่มสลาย
บรรดาไฟแนนซ์ต่างๆ ที่เติบโตมาจากฟองสบู่ออกอาการซวนเซ รายได้เริ่มฝืด ขณะที่
บล.แอสเซท พลัส กลับมีดีลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
"ปัจจุบันดีล IPO เริ่มหดหายไป แต่กลายเป็นว่าเราได้ดีลเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เข้ามา
เวลานี้มีถึง 6 ดีล มูลค่า 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน M&A ล่าสุด ที่เพิ่งจบไป
คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นโปรดักส์ รวมกับ บมจ.สงขลาแคนนิ่ง หรือการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าในการซื้อหุ้นของโรงแรมรีเจ้นท์
แม้กระทั่งได้เป็นที่ปรึกษาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กับการบินไทยด้วย ซึ่งโชคดีเมื่อลูกค้ารูปแบบหนึ่งหายไปก็จะมีอีกแบบหนึ่งเข้ามา"
ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ส่วน ที่สนับสนุน และเป็นพลังขับเคลื่อนให้ บล.แอสเซท พลัส กระโจนไปข้างหน้า
คือ ทีมงาน ที่แข็งแกร่ง แม้ว่าปัจจุบันจะมีพนักงานบริษัทเพียง 80 คน ดร.ก้องเกียรติกล่าวว่า
นี่คือ มูลค่าอันแท้จริงในการทำธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ "เงินใครๆ ก็มี
พวกสถาบัน ที่อยากเข้ามาลงทุนเขาก็มีเงินทั้งนั้น ธุรกิจนี้มูลค่าอยู่ ที่คนมากกว่าส่วนอื่นๆ
ไม่มีความหมายเพราะการลงทุนของบริษัทไม่มีเครื่องจักร มีแต่คอมพิวเตอร์ และมันสมองของคนที่จะนำดีลเข้ามา"
ด้านการบริหารของ บล.แอสเซท พลัส ไม่ผิดนัก ที่จะบอกว่าเป็นศูนย์รวมมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์
ซึ่งทีมงานประมาณ 10% เป็นคนอังกฤษ และอเมริกา ที่เข้ามาร่วมงาน ดร.ก้องเกียรติบริหารงานได้อย่างลงตัว
ซึ่งทีมงานบางคนเขา ยอมลงทุนบินไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง ที่อเมริกา เพื่อดึงเข้ามาทำงานให้กับ
บล.แอสเซท พลัส อีกทั้งหลังจากบริษัทเริ่มเติบโต ดร.ก้องเกียรติพยายามเปลี่ยนสไตล์การทำงานจาก
one man show มาเป็นบริหารแบบกระจายอำนาจให้มากขึ้น
"เราต้องการสร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้น คือ
ทำงานแบบตัวคนเดียวอีกต่อไปไม่ได้ จุดหนึ่ง ที่พยายามสร้าง คือ สร้างบุคลากรให้มีคุณภาพมากๆ
หลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฝ่าย เพื่อภาพพจน์ของบริษัทจะได้ไม่มีเฉพาะตัวผมคนเดียว"
เนื่องจากเชื่อว่าการปรับทิศทางการบริหารงานจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างคล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
รวมทั้งสามารถแข่งขันกับตนเองในแง่ความอยู่รอด และแข่งขันกับตลาดในช่วง ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดีจากความเป็นผู้มีความคล่องแคล่ว ตัดสินใจอย่างรวดเร็วบางครั้งทีมงานตามเขาไม่ทัน
"เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอยู่นานๆ จะรู้จักนิสัยของผม"
ปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่ส่งให้ ดร.ก้องเกียรติ นำบล.แอสเซท พลัส ฝ่าฝันอุปสรรคแห่งวิกฤติเศรษฐกิจออกไปได้
คือ การสร้างรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่ง และการมองเห็นถึงช่องว่างในตลาดที่จะเข้าไปทำธุรกิจ
นั่นคือ ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้าน (niche market) ที่มีความถนัด และมีคู่แข่งน้อยราย
และเมื่อคู่แข่งมากขึ้นก็จะย้ายไปทำธุรกิจเฉพาะด้านอื่นๆ ที่คู่แข่งมองไม่เห็นต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้านการแปรรูปองค์กร ล่าสุดเพิ่งได้ทีมงาน private
banking จากธนาคารกรุงเทพ (BBL) 3 คน มาดูแลธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (private
fund) ที่กำลังขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. อยู่
"ทีมนี้ก็จะดึงลูกค้าเข้ามาเลย ส่วนธุรกิจอื่นๆ
เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเราไม่ทำเพราะสู้พวก ที่ทำอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ คือ
อะไร ที่เราสู้ไม่ได้เราไม่ทำเสียเวลา เนื่องจากว่าโอกาสทำธุรกิจในบ้านเรามีมาก
หันไปทางไหนก็มีแต่โอกาสถ้าคนดูเป็น แต่ถ้าดูไม่เป็นก็มืดไปหมด" ซึ่งแนวความคิดในลักษณะนี้ทำให้
บล.แอสเซท พลัส ยืนหยัดอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้