ไทยธนาคาร ธนาคารไทยชั้นนำ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

สามปีกับการจัดการภายในองค์กรตนเอง วันนี้ไทยธนาคารกำลังสร้างโอกาส ให้เป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำภายในประเทศ

ธนาคารไทยธนาคาร หรือ BT เกิดจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน 14 แห่ง คือ ธนาคารสหธนาคาร (UB) และบริษัทเงินทุน 12 แห่ง รวมเข้ากับ บงล.กรุงไทยธนกิจ ซึ่งเป็นแกนนำในการควบรวมกิจการตามมาตรการ 14 สิงหาคม 2541

เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ไทยธนาคารผ่าน ขั้นตอนการจัดการการฟื้นฟูองค์กรท่ามกลาง ความกดดันมากพอสมควร แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ จัดโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่งก่อนดำเนินธุรกิจ

"พวกเราเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน วัฒนธรรมการทำงาน ต้องมีคนที่ทำงาน มีความเป็นวิทยาศาสตร์" พีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยธนาคารบอก "คนที่นี่จะไม่เห็นแก่พวกพ้อง ตรงไปตรงมา สิ่งเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่"

ปัจจัยที่จะทำให้ไทยธนาคารแข็งขันกับคู่แข่งได้ ต้องมีระบบเทคโนโลยี เพื่อสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่ เนื่อง จากการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงการรับรู้ข้อมูลที่รวดเร็ว

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไทยธนาคารได้คิดวางแผนและได้ดำเนินการมา แต่ดูเหมือนว่าขั้นตอนการปฏิบัติต้องใช้เวลาพอสมควรจากความเป็นรัฐวิสาห-กิจ

กระนั้นก็ดี พวกเขาพยายามอธิบายถึงเรื่องราวและยอมรับว่าเป็นองค์กรที่พูดเป็น คิดเป็น และทำเป็น "พวกเราพูดกันภายในว่าจะเป็นองค์กรที่ lean, fit และ smart brainy ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของไทยธนาคาร" พีรศิลป์อธิบาย

จำนวนเงิน 194 ล้านบาทที่ได้จ้าง ไอบีเอ็มมาเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการด้านระบบเทคโนโลยี เป็นการลงทุนครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ไทยธนาคารกำเนิดขึ้นมา ซึ่งไอบี เอ็มทำหน้าที่ให้บริการปรึกษาทั้งการวางระบบ core banking การพัฒนากระบวน การในการทำธุรกิจส่วนที่เกี่ยวข้อง การติดตั้ง ระบบคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปีจากนี้ไป

สำหรับการเลือกซอฟต์แวร์นั้นไทยธนาคารจะเป็นฝ่ายตัดสินใจเอง ปัจจุบันกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเลือกเทคโนโลยีซอฟต์ แวร์ของค่ายไหนระหว่าง MKI, FNS และ Temanos

ซอฟต์แวร์ดังกล่าวที่ไทยธนาคารให้ความสนใจไปที่ระบบ STP (Straight Through Processing) โดยซอฟต์แวร์นี้ปัจจุบันยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งไหนนำมาใช้ แต่ล่าสุดนอกเหนือจากไทยธนาคารที่จะนำมาใช้ ธนาคารชั้นนำอย่างกสิกรไทยและไทยพาณิชย์กำลังสนใจเช่นเดียวกัน

"คิดว่าไทยธนาคารมองเทคโนโลยีไม่ผิด" ชนินทร์ หอมศิลป์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายเทคโนโลยีและปฏิบัติการไทยธนาคารชี้ "ซอฟต์แวร์ตัวนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา และการเลือกของเราเป็นสิ่งถูกต้องทั้งในเชิงธุรกิจและการพัฒนาในอุตสาหกรรมธนาคาร"

ดังนั้น ธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นช่องทางดำเนินการก็เป็นแรงผลักดันให้องค์กรต้องปรับตัวไม่มากก็น้อย หมายความ ว่าธุรกิจต้องมีแผนเชิงยุทธศาสตร์แบบใหม่ ตลอดจนมีกระบวนการทำงานและเทคโนโลยี รองรับที่ถูกต้อง

สำหรับไทยธนาคารแล้ว ได้เสริมสร้างและลงทุนด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภายใต้แผนงาน IT Strategic Plan คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 ปีถึงจะเสร็จ สมบูรณ์ โดยวงเงินตัวเลขที่ไอบีเอ็มเชื่อว่าไทยธนาคารจะต้องใช้อยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้าน บาท แต่ธนาคารเองกลับมองว่า 1 พันล้านบาทจะเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผล

"เมื่อลงทุนไป 1 พันล้านบาท ไทยธนาคารจะต้องได้เงินคืนกลับมาไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท" พีรศิลป์บอก

จุดประสงค์ของไทยธนาคาร ณ ปัจจุบันสำหรับการยอมทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการลงทุน เพื่อเปลี่ยนสถานะธนาคารจากระดับขนาดเล็กให้กลายเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศ เนื่องจากหากยัง ทำงานด้วยระบบเดิมความสามารถในการก้าวขึ้นไปอยู่ระดับบนเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากจะเคลื่อนไปถึงจุดดังกล่าวจะต้องมองหาซอฟต์แวร์ที่จะมาสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ

"พวกเราใช้แนวความคิดที่ว่าทำไมลูกค้าต้องมาหาธนาคาร ทำไมธนาคารไม่ไป หาลูกค้า เพราะในปัจจุบันเวลาลูกค้าจะใช้บริการอย่างน้อยต้องเดินไปที่เอทีเอ็ม" ชนินทร์กล่าว "ทำไมธนาคารไม่ไปหาพวกเขา หรือว่าเมื่อไรที่จะใช้บริการพวกเขาก็ใช้ได้ทันที"

นั่นหมายถึง ไทยธนาคารพยายามให้ บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดการสะดุดในขั้นตอนใด และเมื่อเดินเข้าธนาคาร สาขาไหนก็ตามลูกค้าจะได้รับการบริการไม่มี ความแตกต่างกันเลย ที่เรียกว่า The Same Favour

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยธนาคาร ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการปฏิบัติงานอยู่พอสมควร ดังนั้นการแปรรูปจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

กรณีการแปรรูปของไทยธนาคารคาด ว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยรัฐบาลจะลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 98% ให้เหลือต่ำกว่า 50% หากดำเนินการสำเร็จไทยธนาคารจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่อปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลให้สภาพคล่องสูงขึ้น

อีกทั้ง การบริหารงานจะมีความคล่อง ตัวมากยิ่งขึ้น โดยได้ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำในด้าน wholesale Bank และ investment bank ที่เน้นบริการลูกค้าขนาดกลางและใหญ่

"การที่ไทยธนาคารกำหนด position-ing ตัวเองเป็นผู้นำในการทำธุรกรรมแบบนี้ เป็นกลยุทธ์ที่ดีและเหมาะสมกับขนาดและเครือข่ายสาขาที่มีอยู่" วราพร วุฒิพันธุ์ชัย นักวิเคราะห์แห่ง บล.ซีมิโก้อธิบาย

การดำเนินการเช่นนี้ ไทยธนาคารไม่ต้องเข้าไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ไทย หลายแห่งที่ต่างมุ่งเน้นกันทำด้าน retail banking ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงทั้งด้าน บุคลากร เครือข่าย ระบบฐานข้อมูล และเทคโนโลยี

สำหรับในปีนี้ จะไม่เร่งขยายสินทรัพย์ แต่จะเน้นทำ trade finance การเป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อองค์กรได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการอำนวย สินเชื่อ ที่ปรึกษาทางการเงิน การบริหารสินทรัพย์หรือวาณิชธนกิจให้แก่รัฐวิสาหกิจอื่น

"ไทยธนาคารพยายามที่จะเข้าไปปล่อยกู้ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ พวกเขา ตั้งเป้าที่จะขยายสินเชื่อใหม่ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนการทำ trade finance เพื่อขยายฐานรายได้ค่าธรรมเนียม" วราพรเล่า

ในแง่สถานะขององค์กร ไทยธนาคาร จะมีความได้เปรียบธนาคารแห่งอื่นพอสมควร ในฐานะเป็น good bank โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้ เกิดรายได้ หรือ NPLs ประมาณ 3% ของสินเชื่อ เนื่องจากได้รับการค้ำประกันและชดเชย ความเสียหายตามแนวทาง covered asset poll (CAP) ด้วยวิธี yield maintenance และ gain/loss sharing เป็นระยะเวลา 5 ปี

"เมื่อเป็นเช่นนี้ไทยธนาคารจะสามารถมีกำไรได้ในปีนี้" นักวิเคราะห์บล.เคจีไอกล่าว

และการเปลี่ยนจาก yield mainte-nance ตามแนวทาง CAP เป็นโครงการ TAMC แทนจะไม่มีผลกระทบต่อไทยธนาคาร ที่คณะทำงาน TAMC เห็นชอบให้โอนลูกหนี้ด้อยคุณภาพไปยัง TAMC ในส่วนที่เป็นของธนาคารรัฐด้วย และมีความเป็นไปได้สูงว่ารายได้จะเปลี่ยนเป็นการได้รับผลตอบแทนจากพันธบัตร TAMC

"กำลังเจรจากับ TAMC เพื่อโอนหนี้ด้อยคุณภาพจำนวน 170-180 พันล้านบาท แต่ยังไม่สามารถโอนได้ตามกฎหมาย เพราะ หนี้ยังอยู่ภายใต้กองทุนฟื้นฟู" นักวิเคราะห์บล.เคจีไอชี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.