Boots ผนึก Tops การดิ้นรนเพื่ออยู่รอด?

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดจุดขายสินค้าของ Boots ภายในพื้นที่ของ Tops Supermarket เมื่อไม่นานมานี้ ได้สะท้อนนัยที่สำคัญมากประการหนึ่ง ในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มของร้านค้าประเภท speciality store ที่เน้นผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง

ตลอดระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่ที่ Boots เริ่มเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2540 ด้วยการเปิดสาขาแรกๆ ที่อาคารไทยพาณิชย์ปาร์ค พลาซ่า กระทั่งถึงปัจจุบันนั้น ต้องยอมรับว่าธุรกิจของ Boots ไม่สามารถดำเนินไปสู่เป้าหมายดั้งเดิมที่กำหนดไว้แต่แรกมากนัก แม้ว่าปัจจุบันจะมีสาขาของ Boots กระจายอยู่กว่า 67 แห่งทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดก็ตาม

Boots ขยายสาขาอย่างต่อ เนื่องในช่วงแรกที่เข้ามาดำเนินกิจการในไทยโดยในแต่ละปี Boots เปิดสาขาใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 แห่งในทำเลหลากหลาย ก่อนที่จะยุติการขยายสาขาในแบบ stand alone นี้นับตั้งแต่ต้นปี 2001 ที่ผ่านมา และหันไปปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ ด้วยการแสวงหาช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ แทน โดยมีพื้นที่ใน Tops เป็นหนทางของกรณีดังกล่าว

ความร่วมมือระหว่าง Boots และ Tops ในประเทศไทยในครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นไปในลักษณะของพันธมิตรทางธุรกิจ แต่สำหรับในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของทั้ง Boots และ Tops แล้ว Boots ได้ขายกิจการในประเทศเนเธอร์แลนด์ให้กับ Etos ผู้ประกอบการเครือข่ายร้านเวชภัณฑ์และเครื่องสำอางในเครือของ Royal Ahold ในปี 2543 ท่ามกลางความพยายามที่จะลดปริมาณการ ขาดทุนและหันไปให้ความสำคัญในธุรกิจหลักมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจนับจากนี้จึงอยู่ ที่ว่า Boots จะกำหนดทิศทางการ เติบโตในประเทศไทยไว้อย่างไร เพราะหากคิดคำนวณปริมาณเงิน ลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนิน กิจการของร้านค้าแบบ stand alone แล้ว การลดขนาดให้เหลือ เป็นเพียง unit หนึ่งใน Health & Beauty Zone ของ Tops อาจเป็นรูปแบบที่มีประโยชน์ทางธุรกิจมาก กว่าก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.