ทิศทางของ BMW ไทย ในยุคของคาร์สเท่น แองเกิล

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนนี้เป็นเดือนที่คาร์สเท่น แองเกิล มีอายุครบ 1 ปี ในการเข้ามารับตำแหน่งเบอร์ 1 ของบีเอ็มดับบลิวในประเทศไทย ที่คุมนโยบายหลักทั้งด้านการตลาดและการผลิต

นโยบายด้านการตลาด ในตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) ของคาร์สเท่น แองเกิล นับได้ว่าเป็น 1 ปี ที่ค่ายรถหรูจากยุโรปแห่งนี้ มีความเคลื่อนไหวอย่างมีสีสันยิ่ง

"ยอดขายของเราตั้งแต่ต้นปี เพิ่มขึ้นมามากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวแล้ว อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของบีเอ็มดับ- บลิวในตลาดประเทศไทย คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด โดยมียอดขายแซงหน้าเมอร์ซิเดส เบนซ์ ซึ่งบีเอ็ม ดับบลิวถือเป็นคู่แข่งหลักในตลาดรถหรู (LUXURY CAR) ทั่วโลก

"เราไม่เคยเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์หรูมาก่อนเลย จะเป็นก็ตอนที่บีเอ็มดับบลิว เข้ามาตั้งบริษัทในประเทศไทย และเรามีความ พึงพอใจอย่างมาก แต่การที่ได้ตำแหน่งที่ 1 ในวันนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นอับดับ 1 ในด้านของยอดขาย แต่ในด้านของภาพพจน์ เรายังไม่ใช่อันดับ 1"

ภาพพจน์ในมุมมองของแองเกิล คือการรับรู้ (perception) ของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงยอมรับในแบรนด์ของเมอร์ซิเดส เบนซ์ ว่าเป็นแบรนด์ที่เหนือกว่าบีเอ็มดับบลิว "ตรงนี้เราต้องดูในแง่ของการวางตำแหน่งในด้านราคาในตลาด รถยนต์หรูทั่วโลก ราคาของบีเอ็มดับบลิวกับคู่แข่งหลักของเราเท่า กัน แต่ในประเทศไทยบีเอ็มดับบลิวจะมีราคาถูกกว่าประมาณ 10-15%"

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถหรูในประเทศไทย แม้จะเป็นรองทางด้านภาพพจน์ แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เมื่อ 3 ปีก่อนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และนโยบายที่บีเอ็มดับบลิวนำมาใช้ในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่าน มา ถือว่าได้เดินมาถูกทาง

การตัดสินใจเข้ามาลงทุนใน ประเทศไทยของบีเอ็มดับบลิวเมื่อ 3 ปีก่อน เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทแม่มองว่าภาพพจน์ของสินค้า คือรถยนต์ บีเอ็มดับบลิว โดยเฉพาะด้านบริการหลังการขาย ไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานของบีเอ็มดับบลิวทั่วโลก

บีเอ็มดับบลิวจึงตัดสินใจเข้ามาตั้งบริษัทเพื่อดำเนินกิจกรรมการตลาด รวมทั้งจัดตั้งเครือข่ายดีลเลอร์ขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของดีลเลอร์แต่ละแห่งไว้ตามมาตรฐาน ที่บีเอ็มดับบลิวกำหนดกับดีลเลอร์ทั่วโลก

"เมื่อ 3-4 ก่อน เราต้องยอมรับ เพราะมีหลายคนที่บอกว่าเขามีเงินพอที่จะซื้อรถบีเอ็มดับบลิว แต่เขาไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูมัน สาเหตุก็เพราะว่าคำสัญญาที่บริษัทผู้ขายรถยนต์ให้กับลูกค้า เราบอกเขาว่าเรามีผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่เราไม่เคยบอกเลยว่าเรามีบริการ และการดูแลที่ดีมาพร้อมกันด้วย"

หลังเข้ารับตำแหน่ง คาร์สเท่น แองเกิล ได้นำโปรแกรม PMP (Privilege Maintenance Program) เข้ามาใช้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การดูแลรักษารถบีเอ็มดับบลิว ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเหมือนที่คิด โดยโปรแกรมนี้มีลักษณะให้ลูกค้าที่ซื้อรถบีเอ็มดับบลิวสามารถจ่ายค่า บำรุงรักษารถยนต์ล่วงหน้าในระยะเวลา 3 ปีหลังซื้อรถ ในอัตรา 50,000 บาท สำหรับรถรุ่น 318 อัตรา 55,000 บาท สำหรับรุ่น 323 อัตรา 75,000 บาท สำหรับซีรี่ส์ 5 และ 95,000 บาท สำหรับซีรี่ส์ 7 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวครอบคลุมการดูแลรักษาทุกประเภทตามมาตรฐาน อาทิ การเช็กสภาพรถ การเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง อากาศ ผ้าเบรก ยางปัดน้ำฝน หลอดไฟ ในเวลาที่กำหนด

"จากนี้ไป เราจะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ และถ้ามองถึงตลาด สำคัญๆ ในทั่วโลกแล้ว จะพบว่าเราก็สามารถเป็นเบอร์ 1 ได้เหมือน กัน และในเมืองไทยคาดว่าภายใน 3 ปี เราก็อาจจะเป็นอันดับ 1 ในด้านของภาพพจน์ได้เช่นเดียวกัน"

สำหรับด้านการผลิต บีเอ็มดับบลิวได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ จังหวัดระยอง ด้วยวงเงิน 1,000 ล้านบาท ในนามบริษัทบีเอ็มดับบลิว แมนู แฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) และคาร์สเท่น แองเกิล ก็ได้เป็นประธาน ของบริษัทนี้ด้วยเช่นกัน

โรงงานแห่งนี้ได้เริ่มเดินเครื่องประกอบรถยนต์บีเอ็มดับบลิว ซีรี่ส์ 3 ตั้งแต่เมื่อกลางปีก่อน โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตสูงสุด ที่ 10,000 คันต่อปี ในปี 2547 แต่ในปีที่แล้ว โรงงานแห่งนี้สามารถประกอบรถออกมาได้ 1,800 คัน และมีเป้าหมายจะประกอบในปีนี้อีก 2,500 คัน

การที่ยังไม่สามารถประกอบได้เต็มกำลังการผลิต เนื่องจาก วัตถุประสงค์ในการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานของบีเอ็มดับบลิว ต้องการ ให้โรงงานนี้เป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งรถยนต์ออกไปจำหน่ายในภูมิภาค นี้ ตามสนธิสัญญาอาฟตา ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 ยกเว้นประเทศมาเลเซีย ที่ขอเลื่อนการบังคับใช้ต่อไปอีก 2 ปี ดังนั้นการผลิตในปัจจุบัน จึงดำเนินไปเพื่อป้อนให้กับตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

"ขณะนี้เรามีคนทั้งหมดประมาณ 140 คน ที่โรงงาน ถ้าเกิดว่า วันหนึ่งเราสามารถส่งออกไปได้ เราก็สามารถที่จะขยายจำนวนคนออกไปได้ สามารถที่จะเพิ่มการผลิตได้เป็น 2-3 เท่า เพิ่มกะทำงาน มากกว่านี้ เราก็สามารถสร้างงานได้เต็มกำลังการผลิตของเราในอนาคต"

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ตำแหน่งเบอร์ 1 ของบีเอ็มดับบลิวในแต่ละประเทศ อายุการทำงานไม่ได้ถูกกำหนดไว้ตายตัว คาร์สเท่น แองเกิล ถือเป็นเบอร์ 1 คนที่ 2 ของบีเอ็มดับบลิวในประเทศไทย ที่ เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก เยซุส คอร์โดบา ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

ในยุคของคอร์โดบา เป็นช่วงการวางรากฐานใหม่ให้กับบีเอ็ม ดับบลิวในประเทศไทย ส่วนในยุคของแองเกิล อาจเรียกได้ว่าเป็น การสร้างตลาดภายในประเทศให้กลับคืนมาใหม่ ซึ่งเขาก็สามารถทำได้แล้วในระดับหนึ่ง

แต่เขาจะอยู่ต่อไปจนถึงยุคที่บีเอ็มดับบลิว เริ่มต้นส่งออกรถยนต์จากประเทศไทย ไปขายในภูมิภาคนี้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่ง ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.