แคทลีน มาลีนนท์ ผู้ต่อจิ๊กซอว์อินเทอร์เน็ตของช่อง 3


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงแม้การลงทุนของช่อง 3 จะไม่หวือหวา แต่กระแสของอินเตอร์เน็ตก็ทำให้ช่อง 3 อยู่เฉยไม่ได้

ก่อนบินกลับมาทำงานในฝ่ายลงทุน และพัฒนาธุรกิจบริษัท บีอีซีเวิลด์ คำถาม ที่ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ผู้ช่วยกรรมการรองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีอีซีเวิลด์ ต้องเจอบ่อยๆ ในช่วงฝึกงานด้าน การเงิน จากบรรดานักลงทุนจากต่าง ประเทศว่า ถ้าธุรกิจโทรทัศน์เติบโตเต็มที่แล้ว แผนอนาคตของบีอีซีเวิลด์สนใจจะลงทุนอะไร คำตอบของเธอก็คือ ธุรกิจอะไรก็ตามต้องศึกษาอย่างถ่องแท้

ภารกิจของเธอในวันนี้ จึงเป็นส่วนผสมระหว่างธุรกิจเอ็นเตอร์ เทนเมนต์ และการวิเคราะห์ตัวเลขการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ

ดร.แคทลีน เป็นลูกสาวคนแรกของประชา มาลีนนท์ และเป็น generation ที่ 3 คนแรกๆ ของตระกูล ที่เข้ามาเริ่มงานในบริษัทบีอีซีเวิลด์ หลังจากจบปริญญาตรี นิเทศ ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.แคทลีนบินไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ ที่ Boston University และเรียนต่อจนคว้าดอกเตอร์ในสาขา และสถาบันเดียว กัน ก่อนจะบินมาเริ่มงาน ที่บีอีซีเวิลด์ "ตอนแรกยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็เลยพยายามดูกว้างๆ ก่อน ดูในเรื่องการลงทุนของบีอีซีเวิลด์ และมาสนใจด้านการเงิน ต้องไปเจอ investor ต่างชาติบ่อยๆ"

ถึงแม้ว่าช่อง 3 จะมีความพร้อมมากที่สุดในเรื่องของเงินทุน แต่การลงทุนของช่อง 3 กลับไม่หวือหวา เหมือนกับตัวละคร ที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม

"เราค่อนข้าง conservative แต่ ถ้าเราตัดสินใจแล้ว เราก็ทำ แต่ถ้าทำเรา ต้องศึกษาจริงๆ เพราะเงินลงทุนสูง การ แข่งขันก็สูง" คำตอบของ ดร.แคทลีน เมื่อถามถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ

แต่กระแสการมาของอินเทอร์เน็ต บวกกับความพร้อมในเรื่องของ content จากการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ละคร ภาพยนตร์ ค่ายเพลงจำนวนมาก ทำให้ช่อง 3 ต้องแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในโลก ไซเบอร์สเปซ เป้าหมายของบีอีซีเวิลด์ ก็คือ การเปลี่ยนจากเว็บไซต์ประชา สัมพันธ์ให้เป็นธุรกิจ ที่ทำเงิน

ดร.แคทลีนบอกว่า ภาพธุรกิจอิน เทอร์เน็ตของช่อง 3 เวลานี้อยู่ระหว่างการต่อจิ๊กซอว์ และจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปีนี้ เธอมองการลงทุนอินเทอร์ เน็ต 2 ด้าน ด้านหนึ่งของการเสริมให้กับ ธุรกิจเดิม ในลักษณะของ business to business (b to b) ในเรื่องของการให้ ข้อมูลกับนักลงทุนทั่วไป

ในส่วนของ business to consumer การนำเอาเนื้อหาสาระ (content) ของช่อง 3 ที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำเว็บไซต์ทาง ด้านบันเทิง (entertainment portal) โจทย์ของช่อง 3 อยู่ ที่การหาพันธมิตรธุรกิจมาช่วยในเรื่องเทคโนโลยี ในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับเว็บไซต์ โดยเฉพาะในเรื่องของความเร็ว ที่จะให้ผู้ใช้ในต่างประเทศ เพราะเป้าหมายในธุรกิจอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนในประเทศ แต่จะต้องรองรับระดับฐานลูกค้าในระดับเอเชีย

"เราแข็งในเรื่องซอฟต์แวร์รายการ มีห้องสมุด ที่เก็บข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว สิ่งที่เราขาด คือ เทคโนโลยีจากพันธมิตร ให้เขามาช่วยในการที่จะสื่อให้ กับคนหมู่มาก ผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร" แคทลีนเล่า

การลงทุนในลักษณะของการเป็น venture capital เป็นอีกรูปแบบหนึ่งใน การต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจอินเทอร์เน็ต ด้วยความพร้อม และประสบการณ์ในเรื่อง ของการเงินของบีอีซีเวิลด์ เพราะไอเดีย ใหม่ๆ เหล่านี้จะทำให้อินเทอร์เน็ตของช่อง 3 มีความหลากหลายมากขึ้น

ความคาดหวังในเรื่องรายได้จาก ธุรกิจนี้อินเทอร์เน็ต ก็เหมือนกับเว็บท่าบันเทิงทั่วไป ที่จะมีรายได้จากแบนเนอร์ โฆษณา และสิ่งที่ตามมาก็คือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่น การขายละคร หรือขายสินค้า ที่รีเรทจากละคร

ธุรกิจอินเทอร์เน็ตในสายตาของแคทลีน มีโอกาสเติบโตได้มาก แต่ต้องระวังการลงทุน ไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างเว็บไซต์ได้ เธอมองว่า การลงทุนของเว็บไซต์ไม่แตกต่างไปจากการตำน้ำพริก ละลายแม่น้ำ เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเว็บไซต์ ที่เป็นประโยชน์ หรือใช้ได้จริงๆ คงเหลือ ไม่มาก ต้องมีการรวมกันบ้าง มีการล้มหายตายจากไปบ้าง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.