Executive Resource Management


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

องค์กรธุรกิจหลายแห่งไม่ได้มีแผนพัฒนาผู้บริหารที่เอาจริงเอาจังเพียงพอทั้งที่รู้กันดีว่าผู้บริหารระดับสูงที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว

นี่คือประเด็นที่ผู้เขียน Executive Resource Management นำเสนอ ให้คิดและยังชี้แนวทางพัฒนาผู้นำองค์กรที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้คำว่าการพัฒนาทรัพยากรฝ่ายบริหาร ผู้เขียนบอกการวางแผนพัฒนาทรัพยากรบริหารก็มีหลักคิด 5 ประการดังนี้

1. การเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ บริษัทส่วนใหญ่มักโยนแผนพัฒนาผู้บริหารให้เป็นงานของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ แต่องค์กรชั้นนำจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ธุรกิจขององค์กรกับยุทธศาสตร์ทรัพยากรฝ่ายบริหารด้วย

2. การลงทุนขององค์กรในการพัฒนาผู้บริหาร องค์กรชั้นนำต่างลงทุนอย่างมากทั้งในแง่เวลา ความตั้งใจ และเงินในการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ที่สามารถยกระดับความสามารถของผู้บริหาร

3. ระดับของการเป็นเจ้าของกิจการของผู้บริหาร ในหลายๆ บริษัท ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนเป็นเจ้าของกิจการน้อยมาก หรือไม่มีส่วนเป็นเจ้าของกิจการที่ได้วางแผนพัฒนาและบริหารกิจการเลย

4. การผนวกประสานระบบทรัพยากรมนุษย์ต้องทำงานร่วมทีมกับ พนักงานระดับสูงในการระบุแจกแจงถึงขีดความสามารถที่ผู้นำจำเป็นต้องมี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้บริหารต่อไป

5. สะท้อนภาพตามความเป็นจริง แผนการและกระบวนการพัฒนา ผู้บริหารต้องสะท้อนถึงฐานคติที่ตรงกับความเป็นจริงรวมทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยมนุษย์ และสภาพทางการเมืองด้วย การบริหารทรัพยากรฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น

จากประเด็นข้างต้นทั้งห้านี้ ผู้เขียนเสนอกรอบแนวทางอีก 13 ขั้นตอนในการบริหารแผนทรัพยากรฝ่ายบริหาร โดยแจกแจงไปทีละบทๆ พร้อมกับเสนอตารางและตัวอย่างประกอบมากมาย ตัวอย่างเช่น ในขั้นตอนที่ 1 ก็คือการพัฒนายุทธศาสตร์ทรัพยากรฝ่ายบริหาร ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าบริษัทควรสำรวจทบทวนยุทธศาสตร์ของบริษัทอย่างรอบคอบ โดยลองถามตัวเองว่า ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่นั้น มีความเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่กับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมทั้ง การสรรหาผู้บริหารตำแหน่งสำคัญๆ การตัดสินใจด้านการพัฒนาองค์กร ไม่เพียงแต่ระบุถึงแรงกดดันของธุรกิจระยะสั้นแต่ต้องมองถึงความต้องการขององค์กรในระยะยาวด้วย

เมื่อทบทวนในประเด็นเหล่านี้แล้ว องค์กรย่อมสามารถพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ทรัพยากรฝ่ายบริหารได้โดยอิงกับการตัดสินใจ 3 ประการคือ

(1) การตัดสินใจสร้างหรือซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรจะหาผู้มีแววดีจากภายนอกหรือสร้างจากภายในองค์กร

(2) การตัดสินใจซื้อตัว เน้นที่ว่าองค์กรจะซื้อตัวผู้บริหารที่มีฝีมือเยี่ยมในอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ หรือหาตัวบุคคลจากอุตสาหกรรมอื่นเข้ามา และ

(3) การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเร็วและแนวทางของบริษัทการพัฒนาผู้นำด้านการบริหารในอนาคต

เป็นหนังสือที่อ่านง่ายเพราะผู้เขียนอธิบายแต่ละบทตอนโดยมีตาราง แผนผัง รวมทั้งแบบสอบถาม ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการพัฒนายุทธศาสตร์ทรัพยากรฝ่ายบริหารได้ง่าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.