เขาผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาได้ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
คนใหม่ของอิตาลี หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13
พฤษภาคม
ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองที่เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลี
เขาคือ ซิลวีโอ แบร์ลูสโกนี (Silvio Berlusconi)
ความน่าสนใจของแบร์ลูสโกนีไม่ได้อยู่เพียงว่า เขาเป็นนักการเมืองที่ร่ำรวยที่สุด
ในอิตาลีเท่านั้น แต่เขายังเป็นเจ้าพ่อสื่อรายใหญ่ในอิตาลี และจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุดนี้
นอกจากอาณาจักร สื่อส่วนตัวแล้ว เขายังได้กุมอำนาจสื่อของรัฐไว้ในมืออีกด้วย
อำนาจในมือเหล่านี้นี่เองที่ทำให้แบร์ลูสโกนีไม่ธรรมดา!
ภาพลักษณ์ของแบร์ลูสโกนีผู้ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จของอิตาลีเวลานี้ คือ ชายวัย
64 ปี ที่ประณีตตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ผู้ประกาศพร้อมที่จะลดภาษี ปราบปรามอาชญากรรม
ปฏิรูประบบราชการ และสร้างงานให้กับชาวอิตาลีทั้งมวล
******
ซิลวีโอ แบร์ลูสโกนี เกิดวันที่ 29 กันยายน 2479 ที่นครมิลาน
แบร์ลูสโกนีดูจะมีหัว "เซ็งลี้" มาแต่เล็กแต่น้อย ช่วงวัยรุ่นเขาเคยเป็นเด็กเก็บตั๋ว
หน้าโรงละครหุ่น และขณะที่เรียนอยู่ชั้น มัธยมปลาย เขาได้รับจ้างทำการบ้านให้เพื่อนนักเรียนด้วยกัน
โดยค่าจ้างจะว่ากันไปตามเนื้องาน คือถ้ารายงานชิ้นไหนได้คะแนนดี เขาก็จะคิดราคาเต็ม
แต่ถ้ารายงานชิ้นไหนได้คะแนนไม่ดี แบร์ลูสโกนีก็จะให้บริการฟรี - ไม่คิดเงิน!
ระหว่างเรียนกฎหมายที่ University of Milan แบร์ลูสโกนีหาเงินเรียนจากการขาย
เครื่องดูดฝุ่น และรับถ่ายรูปตามงานต่างๆ
แบร์ลูสโกนีจบมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 25 ปี
หลังจากจบมหาวิทยาลัยแล้ว ธนาคาร ที่พ่อของเขาทำงานอยู่ได้เสนองานให้ เขาปฏิเสธงานแต่ขอกู้เงินแทน
เพื่อนำไปลงทุนในบริษัทก่อสร้างซึ่งเขาตั้งชื่อว่า Edilnord
Edilnord ซึ่งก่อตั้งในปี 2505 กลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
พอปี 2512 แบร์ลูส โกนีก็ได้ก่อสร้างโครงการ Milano 2 ทางตอนเหนือชานเมืองมิลาน
ซึ่งต่อมาเป็นที่พัก อาศัยของคนเรือนหมื่น
แบร์ลูสโกนีสารภาพว่า เขาได้อิทธิพล จากเรื่อง "ยูโทเปีย - Utopia" ของเซอร์
ทอมัส มอร์ (Sir Thomas More) ทำให้แบร์ลูสโกนีฝันที่จะสร้างเมืองที่สมบูรณ์แบบ
จากนั้นไม่นาน เขาก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการสื่อ...
ปี 2517 แบร์ลูสโกนีได้ก่อตั้ง Tele-milano เคเบิลทีวีที่ให้บริการกับผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการ
Milano 2 และต่อมา ในปี 2521 เขาได้ลงทุนเป็นเงิน 2 ล้าน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ (Radiotelevisione Italiana - RAI) ที่เดิมทีรัฐเคยผูกขาดแต่ผู้เดียว
โดยเริ่มจากระดับท้องถิ่น กระทั่งในปี 2523 มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ
แบร์ลูสโกนีจึงได้ตั้งสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 (Canale 5) ซึ่งสามารถรับชมได้ทั่วอิตาลี
ช่องนี้มีทั้งรายการเกมโชว์ของอิตาลีและภาพยนตร์โทรทัศน์ชุดใหม่ จากสหรัฐ
อเมริกา ที่ไม่เคยฉายในอิตาลีมาก่อน อย่างเช่น Dallas
หลังจากนั้น แบร์ลูสโกนีก็ขยับเข้าไป ทำธุรกิจโฆษณาสื่อโทรทัศน์ ในเวลาไม่นาน
Publitalia 80 บริษัทโฆษณาของเขาก็ได้กลายเป็นบริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
ทำรายได้ถึง 2 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ช่วงนั้นเอง Fininvest ซึ่งเป็น Holding Company ของเขาที่ตั้งขึ้นในปี
2518 ได้ซื้อกิจการสถานีโทรทัศน์เอกชนอีก 2 แห่ง คือ Rete 4 และ Italia Uno
จุดนี้เองที่ทำให้โทรทัศน์อิตาลีซึ่งเคยผูกขาดโดยรัฐเพียงรายเดียว กลายมาถูกผูก
ขาดโดยสองราย (duopoly) คือโดยรัฐและ โดยแบร์ลูสโกนี!
แบร์ลูสโกนีไม่ได้หยุดอยู่แค่สื่อโทรทัศน์ ต่อมาเขาได้ขยายอาณาจักรของเขาไปยังธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์
ซึ่งสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ ที่สุดของเขาคือ Mandadori สิ่งพิมพ์ที่เป็น "ธง"
ของเขาคือ Il Giornale
ไม่เพียงแต่เท่านั้น แบร์ลูสโกนียังได้ซื้อทีมฟุตบอล A.C. Milan
ปัจจุบัน เขาก็ยังดำรงตำแหน่งประธานของ A.C. Milan
อาณาจักรธุรกิจที่ขยายตัวไปอย่างกว้างขวางของแบร์ลูสโกนีนี้เอง ทำให้ดูประหนึ่งว่าธุรกิจต่างๆ
ของเขาได้แทรกซึมไปสู่วิถีชีวิตของคนอิตาลี จนมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาล้อเลียนว่า
"ลัทธิแบร์ลูสโกนี- Berlusconism"
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญเกื้อกูลให้แบร์ลูสโกนีสามารถสร้างอาณาจักรสื่อได้สำเร็จก็คือ
อดีตนายกรัฐมน ตรี เบตตีโน กราซี (Bettino Craxi) ซึ่งแบร์ลูสโกนีรู้จักมักคุ้นมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
แบร์ลูสโกนีเองไม่เคยปิดบังความสัมพันธ์ระหว่างเขากับกราซี ลูกชายของกราซี
เองก็มีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดของ A.C. Milan ขณะที่เบตตีโนและแอนนา กราซีก็รับเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ให้กับลูกของแบร์ลูสโกนีทั้งสองคน
ล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้ว นิตยสาร Forbes จัดให้แบร์ลูสโกนี รวยเป็นอันดับที่
29 ของโลก มีทรัพย์สิน 1 หมื่น 3 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 4 แสน 6
หมื่น 3 พันล้านบาท
ถึงแม้ชาวอิตาลีส่วนใหญ่จะชื่นชมความสามารถทางธุรกิจของแบร์ลูสโกนี แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงร่ำรวยรวดเร็วนัก!!
ในเรื่องนี้ แบร์ลูสโกนีตอบว่า การดำเนินธุรกิจของเขาตลอดมานั้นโปร่งใส
ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โทรทัศน์ หรือว่าฟุตบอล...
ความสำเร็จเหล่านี้ล้วนได้มาด้วยเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อและน้ำตา!
แบร์ลูสโกนีเข้าสู่แวดวงการเมืองอิตาลีท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมือง...
ปี 2536 เขาได้ตั้งพรรค Forza Italia ซึ่งมาจากเสียงเชียร์ฟุตบอล ที่ตรงกับภาษาอังกฤษ
ว่า "Go Italy" แบร์ลูสโกนีใช้เครื่องมือทุกอย่างที่เขามี ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโฆษณาหรือ
สื่อ จนได้รับชัยชนะ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2537
แต่แล้วก็ไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เพียง 7 เดือนเท่านั้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเลือกพันธมิตรทางการเมืองผิด และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากธุรกิจของเขาไปพัวพันกับการคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม ครั้งนั้นเขาก็ได้รับบทเรียนทางการเมืองอย่างมาก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าส่วนใหญ่มาจากความผิดพลาดของตัวเขาเอง
แบร์ลูสโกนีเป็นคนใฝ่รู้...
รอกโก บุตตีกลีโอเน (Rocco Butti- glione) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและผู้นำ
Christian Democratic Union ได้พูดถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างเขากับแบร์ลูสโกนี
ในปี 2521 ซึ่งตอนนั้น แบร์ลูสโกนีเพิ่งจะเข้าสู่วงการโทรทัศน์และคิดว่าจะต้องเรียนรู้เพิ่ม
ขึ้นเกี่ยวกับสังคมและการเมืองอิตาลี บุตตีกลีโอเนต้องแปลกใจเมื่อแบร์ลูสโกนี
ขอร้องให้เขาช่วยสอนเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการปกครองให้
ความใฝ่รู้คือตัวตนที่แท้จริงของแบร์ลูสโกนี!
คำถามที่เกิดขึ้นเวลานี้สำหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี เห็นจะเป็นเรื่องที่เขากุมอำนาจในอิตาลีไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง อำนาจทาง เศรษฐกิจ หรือว่าอำนาจสื่อ อย่างไรก็ตาม
นี่เป็นคำถามที่ซิลวีโอ แบร์ลูสโกนีไม่ต้องการ ที่จะตอบ
แบร์ลูสโกนีอ้างว่า เขาได้ลาออกจาก การเป็น CEO ของ Fininvest ตั้งแต่เมื่อปี
2537 แต่กระนั้น เขาก็ยังเป็นเจ้าของอยู่ เขาเคยพูด ว่า ศัตรูพยายามทำลายบริษัทของเขาด้วยการสร้างแรงกดดันต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันทางศาล ทางด้านภาษี หรือทางด้านการเมือง ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่
แท้จริงสำหรับเขาก็คือ การบิดเบือนและการ หักหลังทางการเมือง แบร์ลูสโกนีเชื่อว่า
พวก ที่เคลื่อนไหวโจมตีอาณาจักรธุรกิจของเขานั้น ต้องการที่มีอิทธิพลต่อเขาทางการเมือง
จูลีอาโน แฟร์รารา (Giuliano Ferrara) อดีตที่ปรึกษาส่วนตัวของแบร์ลูสโกนีบอกว่า
นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิตาลีแสวงหาอำนาจ แต่ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของตัวเอง
เป็นเพียงแค่ความต้องการส่วนตัว แรงจูงใจที่แท้จริงของแบร์ลูสโกนีคือ ต้องการความรัก!
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด...
วันนี้ซิลวีโอ แบร์ลูสโกนีกลายเป็นนักการเมืองอาชีพแบบเต็มตัว
ปีแอร์แฟร์ดีนันโด กาซีนี (Pierferdi-nando Casini) ผู้นำ Christian Democratic
Center ซึ่งเป็นพันธมิตรคนหนึ่งของแบร์ลูส โกนีเชื่อว่า แบร์ลูสโกนีจะไม่ผิดพลาดซ้ำรอย
เดิมอีก เพราะในที่สุด เขาก็เข้าใจแล้วว่า การบริหารประเทศแตกต่างจากการบริหารบริษัทขนาดใหญ่
กาซีนีกล่าวด้วยว่า ตอนที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก แบร์ลูสโกนีไม่อดทนต่อความซับซ้อนของการมีชีวิตสาธารณะ
แต่มาถึงเวลานี้ เขาเรียนรู้แล้วว่า คนเราไม่สามารถตัดทุกปมทิ้งด้วยดาบได้!
มาลุ้นกันสิคะว่า คราวนี้แบร์ลูส โกนีจะไปได้สักกี่น้ำ!