การเปลี่ยนแปลงบุคลากร ซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญขององค์กรต่างๆ ในวงการตลาดเงินและตลาดทุน
ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดย หลังจากวันที่ 31 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป อมเรศ
ศิลาอ่อน จะหมดวาระ จากตำแหน่งประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และชวลิต ธนะชานันท์ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน
การเปลี่ยนแปลงตัวประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ นับว่าได้รับความสนใจจากคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์มากพอสมควร
การคาดการณ์กันว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวประธาน แล้ว จะมีผลต่อเนื่องไปถึงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลัก
ทรัพย์ฯ ของวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ ที่อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงตาม มาด้วยในภายหลัง
ทั้งวิชรัตน์ และอมเรศ เข้ามามีบทบาทในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงของรัฐบาลก่อน
ซึ่งมีธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งคู่เคยทำงานอย่างเข้าขากันมาก่อนในองค์กร
เพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ทำให้หลายคนมักมองว่า วิชรัตน์ และอมเรศ
คือ คนของธารินทร์ที่ถูกส่งเข้ามาดูแล เรื่องตลาดทุน
แม้ว่าในอดีต ตำแหน่งประธาน และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่เหมือนตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทั่วไป
ที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่อง
จากทั้ง 2 ตำแหน่ง จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน
แต่มาในคราวนี้เพื่อให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร เป็นไปโดยราบรื่นขึ้น จึงอาจจำเป็น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันบ้าง
"นักข่าวเคยถามคำถามนี้ ทั้งคุณวิชรัตน์ อมเรศก็นั่งอยู่ข้างๆ ผมก็ตอบว่าผมเป็นคนให้โอกาสคนทำงาน
คนทำงานดี จะมีเหตุผลอะไรไปเคลื่อนย้าย แต่ถ้าทำงานไม่ได้ดังเจตนา ก็เป็นเรื่องธรรมดา
ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของงาน เขาก็เข้าใจ" ดร.สมคิด จาตุศรี
พิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยบอกไว้กับ "ผู้จัดการ"
การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานกรรมการของอมเรศ เป็นไปตามวาระ แต่ตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ
ซึ่งมีสัญญาจ้าง อายุ สัญญา 4 ปี วิชรัตน์เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเพียง 2 ปี
ยังเหลือเวลาตาม สัญญาอีก 2 ปี เป็นปัญหาทางเทคนิคที่ชวลิต ธนะชานันท์ ประธานกรรมการคนใหม่
ในฐานะนายจ้าง ต้องเป็นผู้หาทางออก
หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้ขึ้นจริงๆ
ชวลิต ถือเป็นผู้มีบารมีในแวดวงการเงินผู้หนึ่ง เขาทำงานในแบงก์ชาติมาตั้งแต่ปี
2503 ถือเป็นลูกหม้อคนแรกๆ ที่สามารถไต่เต้า ขึ้นมาได้ถึงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เขาเกษียณจากตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ เมื่อปี 2533 หลังจากนั้นเขาก็เข้ามามีบทบาทอยู่ในภาคเอกชนมาตลอด
ล่าสุดเขาเป็นประธานกรรมการ ธนาคารเอเชีย บริษัทกรุงเทพ ประกันชีวิต และบริษัทโพสต์
พับลิชชิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ กลุ่มบริษัทยูคอม
เมื่อ ดร.สมคิดเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลัง ได้แต่งตั้งให้ชวลิตเป็นที่ปรึกษา
ดูแลในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
"ท่านชวลิต ท่านเป็นคนที่ดีมาก และมีประสบการณ์ ผมก็ไป ขอให้ท่านชวลิตมาอยู่ในทีมแมคโคร"
ดร.สมคิดให้เหตุผล
ถือเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ที่ต้องเข้าไปมีบทบาทอยู่ในองค์กรการเงิน
ต่อจากวิโรจน์ นวลแข ที่เข้า ไปเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย ก่อนหน้านี้
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นในช่วงหลังจากนี้ จึงเป็นเรื่อง ที่น่าติดตาม