ถนนที่เคยเดินของ "สถาพร กวิตานนท์"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ตามแผนเดิม สถาพร กวิตานนท์จะต้องอยู่รับราชการไปจนเกษียณอายุในตำแหน่งเลขาธิการบีโอไอ ในวันที่ 30 กันยายนที่จะถึงนี้

แต่เขาตัดสินใจยื่นใบลาออกก่อนถึงวันเกษียณอายุเพียงไม่ถึง 3 เดือน โดยมีผลเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม

บางคนวิเคราะห์ว่าการลาออกของเขา มีสาเหตุเพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแนวทางการทำงานของรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยได้ เพราะเป็นการลาออกหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลเพียงไม่กี่เดือน

แต่หลายคนก็เชื่อว่าเหตุผลที่แท้จริงคือ เขาต้องการจะออกไปใช้ชีวิตในช่วงนี้อย่างสงบสักระยะหนึ่ง เพื่อทุ่มเทสมาธิในการเขียน หนังสือประวัติชีวิตตัวเอง ที่ได้ตั้งชื่อเรื่องไว้แล้วว่า "ถนนที่เคยเดิน"

สถาพรรับราชการมาแล้วเป็นเวลาถึงกว่า 40 ปี เขานับเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่มีชีวิตราชการค่อนข้างโลดโผน เพราะต้องเข้า ไปสัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ระบบราชการไทยอยู่ ตลอดเวลา

"ผู้จัดการ" เคยกล่าวถึงสถาพรไว้ว่าเขาถือเป็น Technocrat คนแรกๆ ของสังคมธุรกิจไทย

สถาพรมีพื้นเพเป็นคนนครสวรรค์ ถือเป็นคนต่างจังหวัดที่มีใจรักการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก

"ภาษาอังกฤษผมดีตั้งแต่เด็ก เพราะว่าผมชอบ ผมเรียนภาษา อังกฤษตั้งแต่ ม.1 แต่ผมเรียนส่วนตัวมาตั้งแต่ประถม 2 ที่นครสวรรค์ ผมได้ครูภาษาอังกฤษดีคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นพอ ม.1 เริ่มเรียนนี่ ความ รู้ภาษาอังกฤษผมเท่ากับมัธยม 3 ข้อสอบมัธยม 6 นี่ผมทำได้แล้ว" เขาสะท้อนให้เห็นความใฝ่รู้ที่มีติดตัวมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม

เขาเดินทางเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ หลังจบมัธยมปีที่ 6 (มัธยมศึกษาปีที่ 3 ในระบบปัจจุบัน) จากนครสวรรค์ โดยครั้งแรกตั้งใจจะเข้ามาเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามทัศนคติของคนต่างจังหวัด ในยุคปี 2500 แต่เขาสอบไม่ผ่าน ซึ่งถือเป็น ความผิดหวังครั้งแรกของเขา "ผมก็ว่าผมเรียนดี ใครๆ ก็ไม่เชื่อว่า ผม สอบไม่ได้ อาจเป็นเพราะเป็นเด็กบ้านนอก เลยตื่นเต้นกับบรรยากาศ"

แต่การสอบเข้าเตรียมอุดมไม่ได้ กลับส่งผลดีให้กับสถาพร เพราะหลังจากนั้นเขาได้ตัดสินใจไปเรียนกวดวิชา ซึ่งสามารถย่นระยะ เวลาให้เขาเรียนจบมัธยม 7 และ 8 ได้ภายในปีเดียว เร็วกว่าพรรคพวกในรุ่นเดียวกันที่สอบเข้าเตรียมอุดมได้ถึง 1 ปี

เขาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2501

"สมัยนั้น ทุกคนอยากจะไปเรียนวิศวะ เรียนแพทย์ อาจจะเป็น เพราะระบบการศึกษาของเรา ที่เข้าใจว่าคนเก่งต้องเรียนวิทยาศาสตร์ ผมเป็นคนชอบคำนวณ แต่ลึกๆ เป็นคนไม่ชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ ผมไม่ค่อยชอบอะไรที่ทำด้วยมือ ก็เลยอยู่เฉยๆ ไม่ได้ไปสอบจุฬาฯ พรรคพวกไปสอบจุฬากันได้บ้างตกบ้าง แต่ผมอยู่เฉยๆ ชอบอ่านหนังสือพวกสังคมศาสตร์ ก็เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์"

หลังจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จากธรรมศาสตร์ เขาได้เข้า ไปเป็นลูกจ้างกรมบัญชีกลางอยู่ประมาณ 10 เดือน ก่อนที่จะย้ายมาอยู่สภาพัฒน์

ที่สภาพัฒน์ เขาทำงานได้เพียงปีเดียว ก็สามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา

ชีวิตราชการของสถาพร เริ่มพบกับความตื่นเต้น หลังจบปริญญาโท แล้วกลับเข้ามาทำงานที่สภาพัฒน์อีกครั้งในปี 2510

งานหลักชิ้นแรกที่เขาได้เข้าไปสัมผัสคือ ส่วนงานวางแผน เอกชน ซึ่งเป็นส่วนงานใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับภาค เอกชนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังอยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัวในยุคนั้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาต้องเข้ามาคลุกคลีกับภาคเอกชน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอันสำคัญในภายหลัง

"ทุกวันนี้ ผมเจรจาต่อรองทางธุรกิจเป็น ผมคิดแบบนักธุรกิจ เป็น"

จากส่วนงานวางแผนเอกชน ต่อมาได้ถูกพัฒนารูปแบบขึ้นเป็น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในปี 2524 สถาพรก็มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นเลขานุการ กรอ.

ปี 2527 สถาพรถูกย้ายจากสภาพัฒน์ มาอยู่ที่สำนักงานคณะ กรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะรองเลขาธิการ และได้ขึ้นเป็นเลขาธิการในปี 2534

ตลอดชีวิตการรับราชการ นอกจากเขาจะได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนมากกว่าข้าราชการคนอื่นๆ แล้ว งานราชการ ของสถาพรมักจะวนเวียนอยู่กับการเริ่มต้นสร้างสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในระบบ

ที่สภาพัฒน์เขาอยู่กองวางแผนเอกชน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น กรอ.

ย้ายมาบีโอไอ เขาอยู่ในช่วงข้อต่อของการลดค่าเงินบาทเมื่อ ปี 2527 เขามีส่วนในการเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้า มาเป็นการผลิตเพื่อส่งออก

หลังประเทศประสบวิกฤติจากการลอยตัวค่าเงินบาทอีกครั้งในปี 2540 เขาตัดสินใจประกาศนโยบายให้การส่งเสริมการลงทุนจาก ต่างชาติที่ถือหุ้นเกินกว่า 50% เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

"ชีวิตราชการจริงๆ ไม่มีอะไร มันเป็นงานซึ่งมันไปเรื่อยๆ ทีนี้ เรื่องที่เราทำแล้วมันสนุก มันเป็นราชการแบบใหม่ แนวใหม่"

นอกจากงานราชการ ซึ่งเป็นงานประจำแล้ว ชีวิตในส่วนที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานการเมืองของสถาพร ก็มีสีสันไม่น้อยไปกว่ากัน

เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงก่อนปี 2516 เคยเป็นหน้าห้องของสุนทร หงส์ลดารมภ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 2518

ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2523 เขาได้เข้าเป็นรองโฆษกรัฐบาล และมีส่วนร่วมอยู่ในการประกาศขึ้นราคาน้ำมันลิตรละ 3 บาท ซึ่งเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ พล.อ.เกรียง ศักดิ์ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งต่อมาในภายหลัง

แต่บทบาทสำคัญที่สุดของเขา กลับโดดเด่นมากภายหลังการ ปฏิวัติของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และพล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปี 2534 เพราะเขาได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการ นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน และอยู่ในบทบาทของตัวประสานงานระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายทหารอยู่เกือบ 2 ปี

ประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้เขารู้ซึ้งถึงการวางตัวให้มีช่องห่างระหว่างการเป็นข้าราชการประจำกับนักการเมืองเป็นอย่างดี

"ผมไม่เคยกลัวการเมือง ผมไม่เคยประจบนักการเมือง และผมไม่เคยกลัวว่านักการเมืองจะมาปลดผม หรือทำอะไรผม ไม่เคยกลัวเลย ผมคิดว่าถ้าเราทำในสิ่งที่มันถูกต้อง ใครก็ทานเราไม่ได้"

ก่อนยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ บีโอไอ เขาเคยได้รับการเสนอชื่อจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง ให้ไปเป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย แทนอมเรศ ศิลาอ่อนที่จะหมดวาระลงในสิ้นเดือนนี้แต่เขาปฏิเสธ

ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมากว่า 40 ปี ของเขา คงไม่ยากนักหากเขาคิดจะเดินเข้าไปอยู่ในองค์กรเอกชนใหญ่ๆ ที่ใดก็ได้สักที่หนึ่ง

ซึ่งน่าเชื่อว่า ณ ขณะนี้ เขาอาจมีสถานที่อยู่ในใจแล้ว

("ผู้จัดการ" ปีที่ 17 ฉบับที่ 198 เดือนมีนาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.