ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่า ธปท.คนใหม่ ในภาวะการเงินที่ล่อแหลม

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ประเภท 14 วัน จากระดับ 1.5% เป็น 2.5% ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 20 ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

การประกาศครั้งนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน หลังมีพระบรม ราชโองการ แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการ ธปท.ไม่ถึงสัปดาห์ โดยให้มีผลทันที ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ในระบบมีการขยับเพิ่มสูงขึ้นตาม

"ตอนนี้เมืองไทยเป็นเมืองที่ผิดมนุษย์มนาประหลาดมาก โดย ทั่วไปอินเตอร์แบงก์จะอยู่ระหว่างเงินกู้และเงินฝาก ผมเคยทำงานแบงก์มา 20 ปี ไม่มีแม้แต่วันเดียวที่อินเตอร์แบงก์ต่ำกว่าเงินฝาก โครง สร้างอินเตอร์แบงก์ที่เหมาะสมจะอยู่ระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก จะไม่มีความเครียดในการให้กู้ของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีความเครียด ในการจัดการเงินของเรา แปลกแต่จริงเราปล่อยให้อินเตอร์แบงก์ต่ำกว่าเงินฝากมากว่า 2 ปีแล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวในการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง

ดูเหมือนประเด็นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นประเด็นที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มีความวิตกกังวลค่อนข้างมากในช่วงแรกของการเข้ารับตำแหน่ง เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอก เบี้ยเงินฝากนั้นส่งผลหลายประการ

ประการแรก ธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะจากต่างชาติสามารถ เข้ามากู้เงินจากตลาดอินเตอร์แบงก์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก ส่งผลให้ธนาคารเหล่านี้ปฏิเสธที่จะรับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป ที่มีต้นทุนสูงกว่า

ประการต่อมา มีการนำเงินกู้จากตลาดอินเตอร์แบงก์ไปเก็งกำไรค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุน และมีผลต่อเนื่องถึงดุลชำระเงินที่เริ่มจะเกินดุลลดลง และจะ มีผลถึงฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในอนาคต

ฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ คือ สิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มีความเป็นห่วงมากที่สุด เขาถึงกับประกาศเป็นเป้าหมายหลักในการ เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน หลังจากเข้ารับตำแหน่ง

"จะมีการเปลี่ยนแนวนโยบายการเงิน ถ้าถามว่าทำไมจะต้องมีการเปลี่ยน ต้องขอปูพื้นก่อน สำหรับนโยบายทางการเงินเวลาใช้มีเป้าหมายสุดท้าย 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และ 2. เพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจ หรืออีกนัยคือรักษาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ถ้าทุนสำรองแข็งแรง ค่าเงิน บาทก็จะมีเสถียรภาพ"

ปัจจุบันฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเริ่มสั่นคลอน หลังจากมั่นคงต่อเนื่องกันมาถึง 2 ปี ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ยอดการ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลง

ในปี 2541-2542 ประเทศไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ลดลงเหลือ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2543 และในปีนี้ ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่ายอด เกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงเหลือเพียง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากภาวะการส่งออกที่ลดลง จนกระทั่ง ในบางเดือนไทยต้องประสบกับปัญหาการขาดดุลการค้า เพราะประเทศคู่ค้าสำคัญคือสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นมีปัญหาทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ก็กระตุ้นให้มีการเร่งซื้อเงิน ดอลลาร์เพื่อนำไปชำระหนี้ต่างประเทศ

เป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมต่อการเกิดวิกฤติทางการเงินรอบใหม่ หากผู้กำหนดนโยบายไม่รีบเข้าไปจัดการกับปัญหา

แต่ดูเหมือนหลังจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร เสียงสะท้อนที่ออกมาจากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะจากสถาบันการเงินต่างชาติมีทิศทางที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่แนวโน้ม ของอัตราดอกเบี้ยกำลังลดลง และการใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ

"สายนโยบายการเงินคงไม่เห็นด้วยกับผม แต่ผมเป็นคนตั้งใจ ทำ แล้วสักพักค่อยมาดูกัน ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มีตั้ง 108 วิธี ลองเดิน กับผมไปสักพักหนึ่ง ผมยังเชื่อว่าถูก ใน 2-3 อาทิตย์ก็เชื่อว่าถูก และผมจะพยายามติดตามตัวเอง และติดตามเครื่องชี้ต่างๆ ถ้าไม่ได้ผลก็ ต้องเปลี่ยนแปลง ขอทดลองให้ดูก่อนอีกสัก 2 เดือน "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวในตอนหนึ่งของการพบปะพนักงาน ธปท.เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ในการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซื้อคืนพันธบัตร คือได้เกิดความผันผวนขึ้นในตลาดการเงินค่อนข้าง มาก

ถึงขนาดที่คนในตลาดมีการคาดการณ์ต่อว่า ธปท.จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินขนานใหญ่ตามออกมา เช่น การเข้าควบคุมการไหลออกของเงินทุน ตลอดจนการลดอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐานบีไอเอส

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ จากทีดีอาร์ไอ ถึงกับกล้าฟันธงลงไปเลยว่าการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อ คืนพันธบัตร คือ การปูทางไปสู่การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาใช้แบบคงที่เหมือนเมื่อก่อนปี 2540

แต่การคาดการณ์ทั้งหมด ได้ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ทั้งจากตัว ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเอง รวมทั้ง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ไปจนถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ขณะนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ผ่านพ้นมาเป็นเวลากว่า 1 เดือน ฝุ่นควันในตลาดการเงินเริ่มสงบลงบ้างแล้ว

และเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนหลังจากนี้ ก็จะรู้แล้วว่านโยบายการ เงินที่ผู้ว่า ธปท.ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ครั้งนี้ จะได้ผลเพียงใด

ตลาดเงิน 1 เดือน หลังมีผู้ว่า ธปท.คนใหม่

29 พฤษภาคม - คณะรัฐมนตรี มีมติปลด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่งแทน

30 พฤษภาคม - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ว่าที่ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับตำแหน่งแล้ว จะเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ ธปท.และที่ปรึกษา เพื่อกำหนดนโยบายการเงินใหม่ โดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งใช้มานานเกินไปแล้ว ทำให้มีเงินทุนไหลออก และเงินทุนไม่ไหลเข้า ซึ่งต้องทบทวน

31 พฤษภาคม - ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ตั้งแต่วันที่ 28-30 พ.ค. เริ่มมีอาการผันผวน โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร อายุ 5 ปี สูงถึง 1.5% และพันธบัตรอายุ 1 ปี สูงขึ้น 1% สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติขึ้นในปี 2540 ขณะเดียวกันนักลงทุนเริ่มชะลอการ ลงทุน เพื่อรอดูนโยบายการเงินของผู้ว่า ธปท.คนใหม่ ในตลาดเงิน เกิดอาการขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้ ธปท.ต้องอัดฉีดเงินเข้าไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ประเภท 1 วัน, 7 วัน และ 14 วัน เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ไม่ตึงตัว - บริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังของสหรัฐฯ ได้ออกมาวิจารณ์นโยบายขึ้น อัตราดอกเบี้ยว่า จะทำให้การฟื้นตัวที่เริ่มเกิดขึ้นของภาคธุรกิจไทย ต้องล่าช้าออกไปและเป็นผลร้ายต่อพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงิน - ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการ พัฒนาประเทศไทย และดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในฐานะกรรมการ นโยบายการเงิน ชุดที่แต่งตั้งโดย ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง

1 มิถุนายน - ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนจาก 3% เป็น 3.5% และเงินฝากประจำ 24 เดือน เพิ่มจาก 3.5% เป็น 4% โดยให้เหตุผลว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มสูงขึ้น

4 มิถุนายน - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่า ธปท. โดยยืนยัน จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายการคลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจ หรืออีกนัยคือรักษาความมั่นคงของทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมามีความผิดปกติ เพราะอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุน และมีผลต่อเนื่องถึง ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ

5 มิถุนายน - ธนาคารในต่างประเทศขายเงินดอลลาร์ เนื่องจากเกิดความวิตกกังวลว่า ธปท.จะใช้นโยบายควบคุมเงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินบาท แข็งขึ้นสูงสุดในรอบ 2 เดือน

6 มิถุนายน - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ในฐานะผู้ว่า ธปท. ได้เข้าหารือกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการเป็น ครั้งแรก โดยยืนยันจะยึดหลักการใช้นโยบายการคลังเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการเงินจะส่งเสริมให้กำลังใจ สถาบันการเงิน ให้มีการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการธนาคารเอเชีย ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

8 มิถุนายน - ธปท.ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ประเภท 14 วัน จากระดับ 1.5% ต่อปี เป็น 2.5% ต่อปี โดยให้มี ผลทันที

11 มิถุนายน - ภาวะตลาดตราสารหนี้เริ่มผันผวน เพราะนักลงทุนต้องการรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ต้องการระดมทุน ผ่านตลาดหุ้นกู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบริษัทที่เตรียมออกหุ้นกู้ 3 แห่ง คือ บริษัทโรงผลิตกระแสไฟฟ้าขนอม บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา และบริษัท แคลคอมพ์ ต้องชะลอออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปก่อน

13 มิถุนายน - มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้ว่า ธปท.และสมาคมธนาคารไทย โดยประเด็นที่มีการพูดคุยกันคือเรื่องกับนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย และการขยายสินเชื่อ

14 มิถุนายน - กรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน และคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจพาณิชย์และอุตสาหกรรม ของวุฒิสภาได้มี การประชุมร่วมกันและได้เชิญ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาให้ข้อมูล โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่ารัฐบาล จะต้องแก้ไขกฎเรื่องการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐานบีไอเอส เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำลายเศรษฐกิจไทย

18 มิถุนายน - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้พบปะกับพนักงาน ธปท.พร้อมขอเวลา 2 เดือน เพื่อพิสูจน์นโยบายดอกเบี้ย ที่เพิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ขึ้น 1% เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท และทุนสำรองระหว่างประเทศ ว่าหากไม่ได้ผลพร้อมเปลี่ยนแปลงทันที

21 มิถุนายน - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เข้าชี้แจงภาวะเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเมืองวุฒิสภา, คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน และคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมวุฒิสภา โดยกล่าวว่า ธปท.ได้ เตรียมขอ "เครดิตไลน์" กับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้จำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับเม็ดเงินที่คาดว่าจะไหลออก สุทธิ (Net Capital Flows) ในปี 2544 จำนวน 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมปฏิเสธว่าจะไม่มีการปรับลดมาตรฐานบีไอเอสในการดูแล สถาบันการเงิน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.