"พาราไดส์ สคูบา" เริ่มจากเสี่ยง สู่อินเตอร์


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวันนี้เมืองพัทยามีตัวเลขการเดินทางเข้ามาของกลุ่มนักดำน้ำและผู้เรียนดำน้ำในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า 15,000 คน และ 70% เป็นกลุ่มนักดำน้ำจากประเทศเยอรมนี ที่เหลือเป็นกลุ่มนักดำน้ำ จากประเทศญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน ฯลฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมืองพัทยามีผู้ประกอบธุรกิจ ให้เช่าอุปกรณ์ดำน้ำและสอนดำน้ำเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 14 แห่ง และเกือบทั้งหมดดำเนินงานโดยชาวต่างชาติ

เปิดฉากร่วมทุนไทย-เยอรมัน

"พาราไดส์ สคูบา" กลับเกิดจากการร่วมทุนของ "สุวรรณ สีดำ" นักลงทุนชาวจังหวัดนครสวรรค์ และ Mr.Leander Schalinski นักดำน้ำสมัครเล่นชาวเยอรมัน ผู้หลงใหลวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทย จนในที่สุดตัดสินใจเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตและ ปักหลักทำมาหากินอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2534

วัชรี สีดำ บุตรสาวของ "สุวรรณ สีดำ" ซึ่งเข้ามาดูแล "พารา ไดส์ สคูบา" ร้านจำหน่ายและให้เช่าอุปกรณ์ดำน้ำและสอนดำน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเริ่มแรกเปิดให้บริการอยู่ที่โรงแรมสยามเบย์วิว บริเวณ ถนนพัทยาสาย 2 เล่าถึงการดำเนินกิจการในเบื้องต้นและการตัดสินใจลงทุนร่วมทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ ทั้งที่ตนเองไม่มีพื้นฐานความรู้ทางธุรกิจใดๆ มาก่อน ที่สำคัญความรู้ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่ใช่ อุปสรรคสำคัญในการบริหารธุรกิจที่เธอทำอยู่

การตัดสินใจซื้อกิจการต่อจากชาวต่างชาติของบิดาและวัชรี สีดำ ไม่ใช่การตัดสินใจลงทุนแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากบิดาและวัชรี ไม่มีพื้นฐานความรู้ในการดำเนินธุรกิจมาก่อน แต่การลงทุนครั้งนี้เป็น การลงทุนร่วมกับ Mr.Leander Schalinski ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า Mr.Leander Schalinski จะสามารถบริหารกิจการให้อยู่รอดได้

วัชรีบอกว่า ครอบครัวของเธอนั้น พื้นเพเป็นชาวจังหวัดนคร สวรรค์ ซึ่งทำกิจการร้านอาหารตามสั่งขนาดเล็กอยู่ในจังหวัด ต่อมา ภายหลังเมื่อมาลี สีดำ ผู้เป็นพี่สาวได้แต่งงานกับชาวฮอลแลนด์ และปักหลักเปิดบาร์และร้านขายอาหารตามสั่งในบริเวณถนนพัทยาสาย 2 ซึ่งเป็นย่านที่มีบาร์เบียร์ และร้านอาหารสำหรับบริการชาวต่างชาติจำนวนมาก ทำให้เธอและบิดาต้องเดินทางมายังพัทยาบ่อยขึ้น และการเดินทางเข้ามายังเมืองพัทยาในปี 2536 ทำให้เธอได้รู้จักกับ Mr.Leander ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาลู่ทางการทำมาหากินในเมืองพัทยาเช่นกัน

วัชรีเล่าที่มาที่ไปของการทำธุรกิจในครั้งแรกของเธอคือ การซื้อกิจการให้เช่าอุปกรณ์ดำน้ำต่อจาก Mr.Siggi Schalinski ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งเป็นอาแท้ๆ ของ Mr.Leander Schalinski ในสนนราคา 2 ล้านบาท หลังจาก Mr.Siggi ประกาศขายกิจการทั้งที่เปิดดำเนินงานได้เพียง 2 ปี เพื่อเดินทางกลับไปดูแลธุรกิจสอนดำน้ำในประเทศเยอรมนี และเกาะมัลดีฟ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศศรีลังกา ที่กำลังขยายตัว

"เริ่มแรก Mr.Leander ต้องการทำธุรกิจแต่เพราะเป็นชาวต่าง ชาติ เลยมองว่าหากมีผู้ร่วมทุนเป็นชาวไทยจะสามารถประสานงานส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้นจึงชักชวนให้เข้าร่วมทุน ครั้งแรกที่ตัดสินใจร่วมทุน พี่เองยังไม่รู้เลยว่า จะบริหารธุรกิจอย่างไรและไม่เคยมองว่าจะพัฒนา ธุรกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดเงินตรา มองแค่ว่าถ้ามีธุรกิจอะไรในพัทยาก็คงจะดี เช่นเดียวกับ Mr.Leander ที่มองว่าหากมีงานทำในประเทศไทย ก็จะได้ไม่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี"

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ Mr.Leander เลือกทำธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองพัทยา ส่วนสำคัญมาจากความหลงใหลในวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทย ตั้งแต่ครั้งแรกที่เดินทางมาท่องเที่ยวกับเพื่อน เมื่ออายุได้เพียง 19 ปี ซึ่งการเดินทางเข้ามาในครั้งนั้นเป็นการท่องเที่ยวระยะสั้น เนื่องจาก Leander อยู่ระหว่างการฝึกขายประกันและช่วยผู้เป็นอา Mr.Siggi Schalinski ทำกิจการบริการนักดำน้ำที่เข้ามาใช้บริการในเมือง Mannheim ประเทศเยอรมนี

Leander เกิดและศึกษาอยู่ในเมือง Passau ประเทศเยอรมนี จนสำเร็จการศึกษาในระดับ Middle School จากโรงเรียน Beruts School เมื่ออายุได้ 19 ปีได้เข้าทำงานในโรงงานเหล็กดัด ซึ่งเป็นโรงงานของรัฐบาลเยอรมัน ต่อมาเดินทางไปฝึกวิชาการขายประกันที่เมือง Mannheim เป็นเวลา 2 ปี ในช่วงนั้น Leander มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการดำน้ำที่ถูกต้องจากบริษัทสอนดำน้ำของผู้เป็นอา ซึ่งเปิดดำเนินการอยู่ที่เมือง Mannheim และหมู่เกาะมัลดีฟ สลับกับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย

หน้าที่สำคัญของ Leander ระหว่างช่วยกิจการสอนดำน้ำของ ผู้เป็นอาที่ประเทศเยอรมนีก็คือ นำนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำจากเยอรมนี เดินทางไปดำน้ำในเกาะมัลดีฟ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของศรีลังกา โดยใช้เวลาเดินทางทางอากาศ ประมาณ 10 ชั่วโมงในช่วงวันหยุดของการฝึกงานขายประกัน ในครั้ง นั้น Leander มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการดำน้ำเบื้องต้นจากความนึกสนุก และต้องการเรียนรู้

"ผมเริ่มเรียนรู้วิธีการดำน้ำเบื้องต้นตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งที่เยอรมนี กีฬาดำน้ำเป็นที่นิยมอย่างมาก ประกอบกับอาของผม มีธุรกิจสอนดำน้ำจึงไม่ใช่เรื่องยากที่ผมจะเข้าไปเรียนรู้ ผมเรียนดำน้ำในเยอรมนี จากโรงเรียนสอนดำน้ำของอา ที่ใช้ชื่อว่า "พาราไดส์ สคูบา" เช่นเดียว กับกิจการที่เปิดในประเทศไทย จนถึงระดับ DiMaster และเข้าเรียนในระดับ Assistant Instructor ซึ่งเป็นระดับผู้ช่วยครูฝึกจากร้านของอา ผมที่เปิดอยู่ในเมืองพัทยา"

สำหรับการเรียนภาษาไทยของ Leander นั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ในไทย หลังลาออกจากงานขายประกัน ที่เมือง Mannheim ในครั้งนั้น Leander ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย นานถึง 2 ปี ด้วยการเปิดร้านขาย อาหารไทยตามสั่งร่วมกับเพื่อนชาวเยอรมัน ที่บริเวณโชคชัย 4 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ Leander จึงเดินทางกลับบ้านเกิด และเข้าทำงานที่โรงงานทำล้อรถยนต์ที่เมือง Passau เยอรมนี ในโรงงาน แห่งนี้ Leander ได้รู้จักกับสาวไทย ซึ่งต่อมาภายหลังกลายเป็นคู่ชีวิต และทำให้ Leander ต้องเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.ลำปาง

หลังจากทำงานในโรงงานทำล้อรถยนต์ได้เพียง 1 ปี Leander ลาออกมาทำงานในแผนกคลังสินค้า สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ทำงานได้ 2 ปี จึงตัดสินใจเดินทางจากประเทศเยอรมนีเพื่อตามมาแต่งงานกับแฟนสาวชาวไทยที่พบรักเมื่อหลายปีก่อน และใช้ชีวิตอยู่ใน จ.ลำปาง

"ผมตามแฟนคนไทยไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี 2535 ผม เริ่มเข้าใจภาษาไทยมากขึ้นจนถึงขั้นบวชเรียน และใช้ชีวิตท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทั้งภูเขาและน้ำตกในจังหวัดต่างๆ อยู่ 2 ปี ตอน นั้นเงินที่ติดตัวมาจากเยอรมนีเริ่มหมด ผมเลยเดินทางมาหาลู่ทางทำ กินในเมืองพัทยาที่อาของผมมีธุรกิจอยู่ จนกระทั่งอาขายกิจการต่อให้"

Leander บอกสาเหตุที่ทำให้ตนเองตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ก็เพราะชื่นชอบวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทย ซึ่งผิดกัน มากกับการใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนี เนื่องจากที่นั่นทุกคนต้องทำงาน ตลอด 1 สัปดาห์ และไม่มีการพักผ่อนกับครอบครัว แต่ที่เมืองไทยสามารถใช้ชีวิตแบบครอบครัวตามที่ใฝ่ฝัน ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจทำธุรกิจดำน้ำ ที่เมืองพัทยา ก็เพราะสาเหตุเบื้องต้นคือ อามีธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว ที่สำคัญจังหวัดภูเก็ตมีผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำจำนวนมาก ดังนั้นการจะเข้าไปเปิดตลาดแข่งขันจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าการบุกเบิก เพื่อพัฒนาธุรกิจในเมืองพัทยาให้สามารถยกระดับเทียบเท่าภูเก็ต แบ่งภาคบริหารงานไทย-เยอรมัน

และแม้ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของธุรกิจให้บริการ เช่าอุปกรณ์ดำน้ำในพัทยา จะยังไม่ขยายจำนวนเช่นปัจจุบัน โดยมีผู้เปิดให้บริการเพียง 4-5 ราย แต่การเดินทางเข้ามาเพื่อใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะน้ำทะเลพัทยาขณะนั้นยังใสสะอาดมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มผู้เปิด ให้บริการที่ดำเนินงานอยู่ก่อน ทั้ง ซีฟารีน ไดวิ่ง เซ็นเตอร์, เมอร์เมท ไดว์สคูล, เมอร์เมท สคูบา ไดว์ ล้วนดำเนินงานโดยชาวต่างชาติทั้งสิ้น

เหตุผลสำคัญที่วัชรีให้ความสำคัญกับการร่วมทุนกับชาวต่างชาติ ในการประกอบธุรกิจแทนการลงทุนเองทั้งหมด ก็เนื่องมาจาก "พาราไดส์ สคูบา" ซึ่งมีผู้บริหารเดิมเป็นชาวเยอรมันสามารถเปิดตลาด ธุรกิจดำน้ำจนมีลูกค้าขาประจำ และลูกค้าเกือบทั้งหมดก็คือ ชาวต่าง ชาติและชาวเยอรมัน ในครั้งนั้นแต่ละปีจะมีลูกค้าขาประจำเดินทาง มาใช้บริการไม่ต่ำกว่าพันคน

ดังนั้น การดำเนินกิจการต่อจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้ารายใหม่ ซึ่งการร่วมทุนกับชาวต่างชาติในความหมายของวัชรี ก็คือ การดึงเอาประสบการณ์ในการบริหารงาน และความรู้เกี่ยวกับการสอนดำน้ำ, เทคนิคการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวม ทั้งภาษาที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการติดต่อกับลูกค้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในปีแรกของการดำเนินงานหลังซื้อกิจการต่อจากเจ้าของเดิม วัชรีและผู้ร่วมทุนมีเงินลงทุนไม่มากนัก ทำให้การว่าจ้างครูฝึกสอนดำน้ำเข้ามาแทนครูฝึกสอนชุดเก่า ที่เป็นพนักงานของเจ้าของเดิมไม่ สามารถกระทำได้ โดยหลังจากครูฝึกสอนคนแรกขอลากลับประเทศ เยอรมนี และคนที่สองเสียชีวิตลง การดำเนินงานของ "พาราไดส์ สคูบา" ยุคร่วมทุนจึงต้องอาศัยบรรดาเพื่อนฝูงของ Mr.Leander ที่มีดีกรีระดับครูฝึกจากประเทศเยอรมนี ซึ่งหมั่นเดินทางมาเยี่ยมเยียนเป็นครูฝึกสอนดำน้ำให้กับลูกค้าเดิมของ "พาราไดส์ สคูบา" และลูกค้ารายใหม่

การดำเนินงานในปีที่สองวัชรีและผู้ร่วมทุน ต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อสั่งซื้ออุปกรณ์ดำน้ำจากต่างประเทศเพิ่ม เติม และตกแต่งหน้าร้านในโรงแรมสยามเบย์วิวให้ดึงดูดใจลูกค้าในโรงแรมมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันของผู้ให้บริการเช่าอุปกรณ์ดำน้ำ ในพัทยาเริ่มรุนแรง

ในครั้งนั้น Mr. Leander ตัดสินใจเดินทางกลับเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อนำทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งรถยนต์และบ้านออกขาย สำหรับเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ และภายหลังจากขายทรัพย์สินในเยอรมนี Leander ตัดสินใจเดินทางไปยังภูเก็ต เพื่อเรียนดำน้ำในระดับครูฝึกกับ Brebd Walzin Ger ซึ่งเป็นสถาบันสอนดำน้ำของชาวเยอรมัน ที่เข้ามาเปิดดำเนินการเป็นแห่งแรกในภูเก็ต ในปี 1994

Mr.Leander บอกว่าในครั้งแรกที่ซื้อกิจการต่อจากอา ตนเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ในปีที่ 2 ของการดำเนินกิจการจึงรู้ว่า การเดินทางไปเปิดตลาดในเยอรมนี ซึ่งมีกลุ่มนักดำน้ำจำนวน มาก คือ หนทางในการเปิดตลาดลูกค้าที่สำคัญ ทำให้ปัจจุบันลูกค้าหลักของ "พาราไดส์ สคูบา" คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำจาก ประเทศเยอรมนี

"กิจการของเราเริ่มดีขึ้นในปีที่ 3 และ 4 ซึ่งผมเริ่มเปิดสอนดำน้ำด้วยการเป็นครูฝึกสอนเอง และเช่าอาคารเล็กๆ บริเวณใกล้กับ โรงแรมสยามเบย์วิว เพื่อใช้เป็นห้องเรียนแต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็น กลุ่มคนที่สามารถดำน้ำได้เอง ดังนั้นการเรียนการสอนจึงไม่เน้นหนัก อย่างเช่นปัจจุบัน"

สำหรับรูปแบบการบริการลูกค้าที่ "พาราไดส์ สคูบา" ยุคร่วม ทุนยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การบริการลูกค้าอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการสนองความต้องการทั้งเรื่องที่พัก, อาหาร หรือในบางครั้งแม้จะมีลูกค้าเพียงคนเดียวต้องการเรียน ก็จำเป็นต้องเปิดห้องเรียนเพื่อสอน ทำให้ในวันนี้ "พาราไดส์ สคูบา" มีลูกค้าประจำที่ ต้องแวะเวียนกลับมาใช้บริการปีละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน

ทั้งนี้หน้าที่หลักของผู้ร่วมทุนชาวไทยและเยอรมัน ได้แบ่งภาค กันอย่างชัดเจน คือ วัชรีมีหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ททท. เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้ชาวต่างชาติรู้จัก, สำนักงานศุลกากร เพื่อติดต่อขอนำเข้าและเสียภาษีอุปกรณ์ดำน้ำที่สั่งตรงจากต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละปีการสั่งซื้ออุปกรณ์ดำน้ำจากต่างประเทศของ "พาราไดส์ สคูบา" มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท, เพื่อเสียภาษีการค้า รวมทั้งการติดต่อฝ่ายสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ออกจากสนามบิน นอกจากนั้นงานดูแลลูกค้าในประเทศ ทั้งการติดต่อรถยนต์เพื่อรับส่ง ลูกค้า, ติดต่อโรงแรมเพื่อนำลูกค้าเข้าพัก และงานเอกสารต่างๆ ที่เป็นภาษาไทย

ขณะที่ Mr.Leander มีหน้าที่ในการประสานงานกับลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเอเยนซีทัวร์และนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน, ญี่ปุ่น, ยุโรป และอีกหลายประเทศที่มักจะเดินทางเข้ามาดำน้ำในพัทยา เป็นประจำทุกปี และยังมีหน้าที่เดินทางไปเปิดตลาดสอนดำน้ำในประเทศต่างๆ ไม่นับรวมถึงการประสานงานกับ PADI เจ้าของหลักสูตร การเรียนการสอนดำน้ำ ที่ "พาราไดส์ สคูบา" ยึดถือเป็นหลักสูตรสำคัญในการเรียนการสอน ตั้งแต่เริ่มแรกดำเนินกิจการ เปิดสาขา 2 บริเวณชายหาดจอมเทียน

ในปี 2541 "พาราไดส์ สคูบา" สามารถขยายสาขาที่ 2 ได้ที่บริเวณโค้งหนุมาน ชายหาดจอมเทียน พัทยา สาเหตุที่ต้องขยายสาขา เป็นเพราะจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ประกอบ กับการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวเริ่มรุนแรง การสร้างภาพที่มีบริการ ครบวงจร และการมีร้านเช่าอุปกรณ์ครอบคลุมในจุดสำคัญจึงเป็นสิ่ง จำเป็นอย่างมาก

ที่สำคัญชื่อเสียงของ "พาราไดส์ สคูบา" เริ่มเป็นที่รู้จักจากผลของการทำตลาดในต่างประเทศ และการเผยแพร่เว็บไซต์ www. tauchen-thailand.de ซึ่งบอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการดำน้ำ และ ค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งรายการโปรโมชั่น ในแต่ละช่วงของทางร้าน ทำให้กลุ่มลูกค้าเริ่มขยายวงกว้างจากกลุ่ม ลูกค้าในเยอรมนี เป็นกลุ่มผู้เรียนในประเทศแถบเอเชีย อย่างญี่ปุ่น และไต้หวัน

และก่อนหน้าที่จะเปิดสาขาที่ 2 Leander ใช้เวลา 2 ปีในการศึกษารูปแบบและมาตรฐานการเป็น ร้านอุปกรณ์ดำน้ำ และโรงเรียนสอนดำน้ำระดับ 5 ดาว ตามมาตรฐาน PADI เพื่อนำมาปรับปรุงสาขา แห่งใหม่ที่กำลังจะเปิด ทำให้รูปโฉมของ "พาราไดส์ สคูบา" สาขา 2 สมบูรณ์ทั้งการตกแต่งหน้าร้าน, ห้อง เรียน รวมทั้งการเปิดให้บริการในส่วนซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำ ที่สำคัญการได้มาตรฐาน 5 ดาว ของ PADI ร้านดำน้ำจะต้องมีเรือให้บริการนักดำน้ำ และมีสระว่ายน้ำสำหรับฝึกดำน้ำก่อนลงทะเลจริง การทำสัญญาเช่าเรือจากเจ้าของบริษัทเรือเอกชนในพัทยา และติดต่อขอเช่าสระว่ายน้ำเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกสอน ก่อนลงทะเล จึงเริ่มขึ้นในการบริหารงานสาขา 2 "ทำสัญญาเช่าเรือรับส่งลูกค้ารายปี กับบริษัท เดอะรีเวอร์ จำกัด และขยายขนาดการเช่าเรือ จากเดิมเรา เช่าเรือขนาดเล็กที่สามารถโดยสารลูกค้าได้เพียงครั้งละ 10-20 คน เป็น 60 คนต่อการออกทะเลหนึ่งครั้ง และเรือที่ทำสัญญาเช่ายังเป็นเรือที่สามารถบรรจุก๊าซออกซิเจนให้กับนักดำน้ำได้บนเรือ ทำให้การอำนวยความสะดวกสำหรับนักดำน้ำมีมากขึ้น ที่สำคัญการขยายขนาด เรือ ทำให้การบริการบนเรือทั้งอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับกลุ่มลูกค้า ที่ไม่ต้องการลงดำน้ำแต่ต้องการนั่งเรือชมวิวทะเลสามารถทำได้มาก ขึ้น" Mr.Leander กล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเช่าเรือจากบริษัท เดอะรีเวอร์ จำกัด ที่ "พาราไดส์ สคูบา" จะต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณปีละ 1-2 แสนบาท ต่อการนำเรือออกทะเล 5 เที่ยว/สัปดาห์ หรือ 20 เที่ยวต่อเดือน

ส่วนสระว่ายน้ำทำสัญญาเช่าจากวิวทะเล วิลล่า กลุ่มบ้านพัก ตากอากาศบริเวณชายหาดจอมเทียน ที่มีสระน้ำเปิดให้บริการนักท่อง เที่ยวที่เข้ามาใช้บริการบ้านพักตากอากาศ

"สระว่ายน้ำแห่งนี้อยู่ใกล้กับ "พาราไดส์ สคูบา" สาขาที่ 2 เพื่อที่นักเรียนของเราจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลมากในการเรียนระหว่าง ห้องเรียนและสระว่ายน้ำเราทำสัญญาเช่าเป็นรายปีเช่นกัน จากเดิมที่เมื่อก่อนเราจะนำนักท่องเที่ยวอาศัยสระว่ายน้ำในโรงแรมต่างๆ เราก็ไม่ต้องทำอย่างนั้นแล้ว ส่วนห้องเรียน เราเปิดชั้น 2 ของอาคารเป็นที่ทำการสอน ซึ่งมีทั้งหมด 2 ห้องเรียน แต่ละห้องจะจุนักเรียนประมาณ 10 คน"

สำหรับโรงแรม ซึ่งจะใช้เป็นที่พักสำหรับลูกค้าที่ติดต่อขอเรียน ดำน้ำผ่านทางเว็บไซต์ และ "พาราไดส์ สคูบา" โดยตรง จะไม่มีการ ทำสัญญาผูกขาด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถระบุอัตราค่าเช่าได้ตามที่ต้องการ ในเรื่องของรถยนต์สำหรับรับส่งลูกค้าก็เช่นกัน เราไม่มีผูกขาดแต่จะเลือกเช่าจากบริษัทต่างๆ ตามจังหวัดที่สะดวก

ในที่สุด PADI ได้ให้เครื่องหมายไฟว์สตาร์ IDC (Instructer Development Cross) เครื่องหมายที่การันตีได้ว่า "พาราไดส์ สคูบา" (ปัจจุบันร้านดำน้ำในพัทยาที่ได้เครื่องหมายดังกล่าวมี 3 แห่งคือ พาราไดส์ สคูบา, ซีฟารีน ไดวิ่ง เซ็นเตอร์ และเมอร์เมท ไดว์ สคูล) สามารถสอนดำน้ำได้ตามมาตรฐานของ PADI และรูปแบบการจัดร้าน อยู่ในมาตรฐาน PADI เช่นกัน

Leander บอกว่าหลังจากได้ไฟว์สตาร์ IDC จาก PADI ทำให้บริษัทสามารถเปิดสอนดำน้ำ ได้อย่างเต็มรูปแบบและในแต่ละปี "พารา ไดส์ สคูบา" สามารถผลิตบุคลากรในระดับครูสอนดำน้ำได้ถึง 40 คน

ในปีที่ 4 ของการดำเนินงาน Leander และวัชรี มีเงินทุนจากการดำเนินกิจการมากพอ ที่จะว่าจ้างครูสอนดำน้ำ เพื่อช่วยในการดูแลลูกค้า โดยคัดเลือกครูสอนดำน้ำที่เป็นผลผลิตจากการเรียนการสอนของทางร้าน แต่การเป็นครูฝึกดำน้ำของ "พาราไดส์ สคูบา" จะ ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานการเป็นครูจากบริษัทอีกขั้น ด้วยการทดสอบความอดทน และจิตใจในด้านการบริการว่ามีความอดทนมาก พอที่จะให้บริการนักท่องเที่ยวได้หรือไม่ ในวันนี้ "พาราไดส์ สคูบา" มีครูสอนว่ายน้ำทั้งสิ้น 3 คน สำหรับมาตรฐานการสอนของ "พาราไดส์ สคูบา" นั้น แบ่งสัดส่วนการดูแลนักเรียน 6 คนต่อครูฝึกสอน 1 คน

และในวันนี้แม้ว่าธุรกิจที่เกิดจากการร่วมทุนของ Leander และ วัชรี ที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนเพียง 2 ล้านบาท จะยังไม่สามารถสร้างเม็ดเงินหรือกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะรายได้ที่ได้ในแต่ละปี จะหมดไปกับการจัดซื้ออุปกรณ์ดำน้ำให้ทันสมัย และปรับปรุงหน้าร้านอยู่ตลอดเวลา แต่ Leander และวัชรี ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจของเขาและเธอ มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในปีที่ 5 ของการดำเนินกิจการ คือจากเดิมที่ "พาราไดส์ สคูบา" มีสินทรัพย์จากอุปกรณ์ดำน้ำต่างๆ ในระยะเริ่มแรกเพียง 2 ล้านบาท แต่ในวันนี้ได้ขยายตัวเป็น 5-6 ล้าน บาท ต่อ 1 สาขา

ในปีที่ 5 ของการดำเนินงาน "พาราไดส์ สคูบา" สามารถ ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดำน้ำ จากบริษัท SEE MANN SUB จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ดำน้ำรายใหญ่ในเยอรมนีแต่เพียง ผู้เดียวในประเทศไทย รวมทั้งนำสินค้าจากบริษัท AQUA LUNG ในเยอรมนี และประเทศอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายได้อีกด้วย

ขยายการลงทุนเพิ่ม เปิดบริการครบวงจร

Mr.Leander ผู้เปรียบเสมือนกลไกหลักในการบริหาร ธุรกิจของ "พาราไดส์ สคูบา" บอก ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า "พาราไดส์ สคูบา" จะสามารถสร้างกำไรจาก การดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ และ แผนการดำเนินงานของบริษัทนับจากนี้ ก็คือการเปิดให้ผู้ต้องการร่วมทุนได้เข้ามาลงทุนร่วมเพื่อนำ เงินที่ได้จากการร่วมทุนมาขยายกิจการทั้งในด้านการเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ต่างๆ, จัดซื้อรถตู้สำหรับรับส่งนักท่องเที่ยว และลูกค้าที่ต้องการใช้บริการกับบริษัทจากสนามบินดอนเมืองสู่พัทยา

ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะจัดทัวร์นำนักดำน้ำที่ต้องการหาจุดดำน้ำใหม่ๆ ทั้งในภาคตะวันออกและพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ เพื่อเพิ่มการบริการให้ครบวงจรยิ่งขึ้น และหากกิจการสามารถขยายตัวได้ อย่างต่อเนื่อง ก็อาจมองทำเลใหม่ในการเปิดสาขาที่ 3 หรือซื้อตึกสำหรับดำเนินกิจการเอง แทนการเช่าพื้นที่ในโรงแรมสยามเบย์วิว และอาคารพาณิชย์บริเวณโค้งหนุมาน สาขาที่ 1 และ 2 โดยเงินลงทุน ที่ "พาราไดส์ สคูบา" ต้องการสำหรับพัฒนาระบบการบริการในขณะนี้ก็คือ 2.5 ล้านบาท

"จากการเปิดเว็บไซต์ของเรา ทำให้ในแต่ละวันมีทั้งผู้สมัครเป็นครูฝึกสอนว่ายน้ำจากทั่วโลก สมัครเข้ามาทำงานกับเราไม่น้อย กว่า 5 รายต่อวัน แต่เรามีนโยบายคัดเลือกครูฝึกจากการผลิตของเรา เองเท่านั้น ที่สำคัญในแต่ละวันยังมีนักลงทุนต่างชาติขอร่วมทุนกับเราจำนวนมาก ทำให้เราเกิดประกายขึ้นมาว่าเราน่าจะขยายการลงทุน แต่ผู้ร่วมทุนเราก็มีเงื่อนไขในการคัดเลือก"

เงื่อนไขในการคัดเลือกผู้ร่วมทุนของ Leander และวัชรี ก็คือ
1. ต้องมีใจรักในการพัฒนาธุรกิจว่ายน้ำร่วมกับเขาและเธออย่างจริงจัง
2. ผู้ร่วมทุนต้องไม่มุ่งเน้นในเรื่องของธุรกิจจนเกินไป และ
3. ผู้ร่วมทุนจะต้องมีความรู้ในเรื่องการใช้อุปกรณ์ดำน้ำ และสามารถดำน้ำ ได้ และหากสามารถหาลูกค้าในต่างประเทศได้ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจ ให้กับทั้งสองได้เป็นอย่างดี

Mr.Gunter Zanger คือ ผู้ร่วมหุ้นคนใหม่ที่ Leander และวัชรีกำลังจะดึงเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการขยายงาน โดย Gunter ทำงานอยู่ในส่วนซ่อมอุปกรณ์ของ "พาราไดส์ สคูบา" มาได้ปีเศษ ที่ สำคัญ Gunter เป็นชาวเยอรมันที่มีความรู้ในเรื่องการซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำจนชำนาญ และยิ่งกว่านั้นคือ Gunter มีธุรกิจสอนดำน้ำอยู่ในประเทศเยอรมนี ดังนั้น ลู่ทาง การจัดทัวร์ดำน้ำจากเยอรมนีสู่ พัทยาจึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นจริงได้

Leander บอกว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม ตนจะเดินทางกลับไป เยอรมนี และจะใช้เวลาอยู่ที่นั่น 3 เดือนเพื่อเดินทางไปเปิดตลาด ดำน้ำในเมืองต่างๆ ซึ่งการไปครั้ง นี้ ยังไม่ทราบผลลัพธ์ที่จะออกมาว่า คุ้มค่ากับการเดินทางหรือไม่ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาด ที่ "พาราไดส์ สคูบา" จะ แนะนำชื่อเสียงกิจการให้เป็นที่รู้จักของเอเยนซีทัวร์ ในเยอรมนีได้มากขึ้น และ สาเหตุที่ต้องบุกตลาดนักดำน้ำในเยอรมนีอย่างหนักก็เพราะในแต่ละปีนักดำน้ำชาวเยอรมัน จะนิยมเดินทางไปดำน้ำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวนมาก และนักดำน้ำ กลุ่มนี้ก็คือเป้าหมายใหญ่ ของ "พาราไดส์ สคูบา"

"จุดดำน้ำที่เรานำไปเสนอ ขายก็คือ บริเวณเกาะไผ่, เกาะลิ้น และเกาะแสมสาร แต่เราไม่เน้นเรื่องความสวยงามใต้ท้องทะเลเท่ากับ ความพร้อมในการเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำที่เราได้จาก PADI เพราะอย่างไรธรรมชาติใต้ทะเลของพัทยาก็สู้เกาะสมุย และภูเก็ตไม่ได้ แต่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีนักดำน้ำจำนวนมาก ต้องการเดินทางมาดำน้ำ ดูเรือรบที่จมอยู่บริเวณหาดแสมสาร อำเภอสัตหีบ แต่เราไม่สามารถนำไปได้ เพราะบางครั้งหากทหารเรือฝึกรบ เราก็ต้องนำลูกค้ากลับ"

Leander บอกว่าจุดขายสำคัญที่ตนเองต้องการเปิดตลาดในต่างประเทศก็คือ การนำนักดำน้ำจากทั่วโลก ให้เดินทางเข้ามาสำรวจ เรือ Vertical Wreck ซึ่งเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่มีเพียง 2 ลำในโลก ซึ่ง 1 ใน 2 ลำจมอยู่ใต้ทะเลบริเวณเกาะช้าง จ.ตราด มานานกว่า 50 ปี อีกลำหนึ่งคาดว่าจมอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่เป็นเพราะการสนับ สนุนธุรกิจดำน้ำในพัทยายังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องในพื้นที่เท่าที่ควร ในวันนี้จึงยังไม่มีแนวทางว่าจะประสานงานกับ หน่วยงานใด เพื่อขออนุญาตนำนักดำน้ำเข้าไปสำรวจเรือดังกล่าวได้

สาเหตุของการเน้นหนักที่ตลาดนักดำน้ำในประเทศเยอรมนีเป็นสำคัญ ก็เพราะนอกจากกีฬาดำน้ำจะเป็นที่นิยมอย่างมากในเยอรมนีแล้ว ความเป็นเยอรมันของ Leander สามารถสื่อสาร ให้กลุ่มนักดำน้ำเข้าใจถึง ความน่าสนใจของพัทยาได้เป็นอย่างดี ในแต่ละปีแผนเปิดตลาดด้วยการเปิดบูธในประเทศต่างๆ แถบเอเชีย และยุโรป ซึ่งในแต่ละปีจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับการดำน้ำ เปิดอยู่เสมอๆ ก็จะมีบูธของ "พาราไดส์ สคูบา" รวมอยู่ด้วยเช่นกัน และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า "พาราไดส์ สคูบา" ก็จะร่วมเปิดบูธในงาน เทศกาลดำน้ำที่มาเลเซียอีกด้วย

ปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจของ 2 นักร่วมทุนคือการ ไม่สามารถเพิ่มทางเลือกให้นักดำน้ำได้มากนัก จากการสำรวจแหล่ง ดำน้ำในภาคตะวันออกแต่ละครั้ง จะพบแต่พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่อง จากใต้ท้องทะเลส่วนใหญ่ น้ำขุ่น รวมทั้งแนวปะการังถูกทำลาย

"เท่าที่สำรวจจุดดำน้ำก็พบเพียงเกาะเดิมๆ ขณะที่ในเมืองนอก บางแห่งลงทุนซื้อเรือเก่าไปทิ้งทะเล แล้วหลอกนักดำน้ำว่ามีเรือรบจม ทำให้สามารถทำเงินได้มหาศาล ในภาคตะวันออกก็มีเรือรบที่สำคัญ จมอยู่ แต่หน่วยงานทางการท่องเที่ยวกลับไม่ประชาสัมพันธ์เพื่อเปิดตลาดดำน้ำของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เราก็ไม่รู้ว่าควรจะประสานงานกับหน่วยงานใดเพื่อให้เปิดจุดขายที่น่าสนใจนี้ได้ ที่สำคัญทะเลในภาค ตะวันออกอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ บางครั้งมีการซ้อมรบ ก็ไม่อนุญาตให้นำนักท่องเที่ยวเข้าไปดำน้ำ" Leander กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.