The Digital Economy


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าจะว่าไปแล้วหนังสือแนวนี้มีอีกมาก แต่ถ้ามองในแง่การบรรจุแนวคิด, วิธีการ และการนำเสนอรวมทั้งยกกรณีศึกษามาประกอบก็คงมีหนังสือที่สู้เล่มนี้ได้ยาก ออกมาร่วม 5 ปี แล้ว แต่ความสดของประเด็นเป็นความใหม่ในสังคมไทยขณะนี้

มีเรื่องต้องเรียนรู้มากกับเศรษฐกิจยุคดิจิตอล ทุกวันนี้ในหลายประเทศเดินรุดหน้าไปแล้ว แต่ในบ้านเรายังไปไม่ถึงไหนและดูเหมือนไม่มีทิศทาง ไม่ว่าในระดับรัฐ และเอกชน แต่เราพูดถึงมันมาก และเน้นหนักในเรื่องกฎหมาย ทั้งๆ ที่สังคมไทย เศรษฐกิจดิจิตอล ตั้งแต่ อี-คอมเมิร์ซ ยังก้าวช้า

โดยพื้นฐานแล้วดอน แทบสคอท ปูพื้นเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของ "วิธีการจัดการเศรษฐกิจยุคดิจิตอล" โดยวางแนวคิดระบุว่าการเติบโตของธุรกรรมอินเทอร์เน็ต ขยายผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านกลไกทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา ถือได้ว่าการพัฒนาด้านดิจิตอลช่วยให้เกิดกระบวนการปฏิวัติต่อเนื่อง ตั้งแต่บริบทของวิธีคิด ภาคปฏิบัติ ตลาดทุน และการขยายฐานกลไกของดิจิตอล ในแง่เป็นผลผลิตที่กระเทือนสู่วงการสื่อสารและอุปกรณ์การสื่อสารครั้งใหญ่ ภาพ เสียง และสัญญาณ ไม่แต่ชัดเจน แต่การถ่ายทอดยังถอดแบบออกมาได้ไม่แตกต่างและโครงสร้างเครือข่ายสัญญาณปกคลุมทั่วโลก ตลาดขยายตัวเร็ว วิถีการเคลื่อนย้ายทุน, ข้อมูล, ข่าวสาร มีรูปแบบมัลติมีเดีย การสื่อสาร ทำให้เกิดเปลี่ยนมิติกลายเป็นสื่อสารทางตรงในที่สุด

ผู้เขียนมองว่าโลกทั้งใบต้องเปลี่ยนองค์ประกอบของการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่ และเครือข่าย อินเทอร์เน็ตได้สร้างใยแห่งความรู้ ข่าวสารทุกรูปแบบ, ธุรกรรมเกือบทุกรูปแบบ ส่งถ่ายโอนข้ามชาติ กระทั่งคลุมไปยังมิติทางความคิด รสนิยม การแลกประสบการณ์ การรุ่งเรืองของภาษากระทั่งภาษากลางขยายตัว เช่น ภาษาอังกฤษมีบทบาทโดยตรง

โลกเข้าสู่ "ระเบียบใหม่" ผ่าน "ความปั่นป่วน" จากการปฏิวัติในแง่มุมที่เขาชี้ว่า โลกทั้งโลกเปลี่ยนผ่านยุคที่กำแพงทางการเมืองในแง่ลัทธิการเมืองหมดสมัยที่ต้องปิดกั้นทุกอย่างที่เป็น "ข้อจำกัด" แต่โลกเปิดสู่สังคมที่เข้าถึงทุกผู้ทุกนาม

สังคมเก่า การหลั่งข้อมูลเป็นเรื่อง ข้อจำกัดทางกายภาพ ยุคนี้ปราศจากข้อจำกัด

เศรษฐกิจยุคใหม่จึงเป็นเศรษฐกิจที่เน้นลงไปยัง "ความรู้ และความรู้นี้ทะลุผ่านพรมแดน เช่นแม้แต่กระบวน การผลิตและเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม เช่น ภาคการเกษตรและภาคการผลิตอื่นๆ ที่เคยคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ แต่เวลานี้กลับใช้ความรู้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

อย่างน้อยก็ในด้านวิทยาการ ซึ่งเทียบย้อนไป 100 ปี การเรียนรู้ที่ใช้เวลา แพร่ขยายตัว มีอัตราความเร็วต่ำกว่าปัจจุบันหลายเท่า

กลไกการทำงานตามโครงสร้างใหม่มีศูนย์กลางอยู่กับมัลติมีเดียที่ติด ต่อสองทางหรือหลายทาง โดยพื้นฐานมี อยู่ 3 ส่วนเป็นแรงขับคือ "เนื้อหาสาระ" การติดต่อสื่อสาร และระบบประมวลผล การที่ประชากรอินเทอร์เน็ตเข้าสู่กระบวนการเดียวกันโดยเลือกความต้องการเฉพาะตัวได้ ถือได้ว่าแต่ละบุคคลสามารถจำแนก "ตลาด" ที่หลากหลายมี "ทางเลือก" ในปริมาณมหาศาล และใช้ "ข้อมูลรวมทั้งความรู้" หรือ "ตรวจสอบ" การตัดสินใจได้

หนังสือให้ข้อมูลว่าปริมาณผู้ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี จากประมาณ 2 ล้าน ไปเป็นพันล้านถือว่าก้าวในเชิงปริมาณมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผมตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้ออกมา 2-3 ปีแล้ว สถาน การณ์มีความต่างกัน แต่ knowledge economy นั้นเป็นเพียงสมมติฐาน แต่เรามี digital economy กลายเป็น fun economy เป็น entertaining มากเหลือเกิน กระทั่งจะหวังว่าเป้าหมายของแรงงานระดับผู้บริหารชั้นกลางถึงบนก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวไกลของ digital economy ในการประกอบการ สำหรับข้อดีที่สุดของหนังสืออยู่ตรงมีกรณีศึกษา เช่น ในบท ที่ 5 ว่าด้วยอินเทอร์เน็ตเวิร์ค กล่าวถึงบทบาทของการใช้ศักยภาพ ในสังคมเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำงานเกือบทุกประเภทงานให้บริการไม่เว้นแม้แต่การแพทย์, การขนส่ง ฯลฯ บทเรียนและการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค จากตัวอย่างกรณีศึกษากลับน่าสนใจและเป็นจุดเด่น

ที่ผมชอบมากคือ การเปรียบเทียบวิธีคิดของผู้ผลิตซึ่งเปลี่ยนจากผู้ผลิตกำหนด ไปเป็นวิธีการใหม่ โดยบริษัทโบอิ้งทำไว้ดังตาราง

ที่น่าสนใจมากเช่นกันคือ รูปแบบ การตั้งเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในบทเดียวกัน โดยเครือข่ายนี้จะเชื่อมต่อกับข้อมูลภาครัฐทั้งหมดตั้งแต่การเสียภาษี, สวัสดิภาพและการคุ้ม ครองเหยื่อจากอาชญากรไปจนถึงการบริการภาครัฐ ซึ่งทำได้ตั้งแต่การขยายเครือข่ายเชื่อมต่อทั้งประเทศในทุกระบบ

นี่คือความโปร่งใสที่แท้จริง และจะลดปริมาณของความล่าช้าในภาคบริการจากรัฐ ตัดทอนส่วนงานข้าราชการ ที่ไม่จำเป็นออกไป และช่วยทำให้การตรวจสอบรัฐกับเอกชนมีลักษณะ 2 ทาง กระทั่งนำไปสู่การ "ใช้สิทธิประชาธิปไตย ทางตรง" ซึ่งสามารถเก็บสถิติข้อมูล การ ทำประชามติ และพฤติกรรมในการใช้สิทธิต่างๆ ได้

แม้ว่าระยะผ่านไปสู่ขั้นตอนดังกล่าวดูเป็นเรื่องใหญ่และทำยาก แต่เห็น ชัดว่าในแง่วิธีคิดนี่ไม่ใช่เรื่องซึ่งทำไม่ได้ และคงจะต้องเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน

ถ้าผมอยู่ในรัฐบาลอย่างน้อยก็ต้องริเริ่มส่งเสริมการวางแผนเช่นนี้ไว้ และหากลงมือทำกันจริงแค่ 5 ปีก็น่าจะสำเร็จอย่างน้อยก็ขั้นต้น

หนังสือเล่มนี้ขณะนี้กลายเป็นเหมือนคู่มือตรวจสอบและดูความคิดใหม่ๆ ว่ามีแนวโน้มเช่นไร

ยังคงน่าอ่าน และน่าคิดเพื่อเตรียมการใช้มันเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาที่ให้ประโยชน์และมีคุณค่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.