แจ๊ก เวลช์Jack Welch's GE

โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

แจ๊ก เวลช์คือจีอี และจีอีคือ แจ๊ก เวลช์

คงเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิด สำหรับช่วงเวลา 20 ปีที่เวลช์ขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของจีอี (GE-General Electric) และนำบริษัทอเมริกันที่เก่าแก่แห่งนี้ ยืนหยัดเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

เมื่อปีที่แล้ว จีอีมีรายได้สูงกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้านั้นถึง 11 เปอร์เซ็นต์ และในปี ที่แล้วเช่นกัน ที่เวลช์ได้รับการยกย่องจากนิตยสารฟอร์จูน (Fortune) ให้เป็น "ผู้บริหารแห่งศตวรรษ - Manager of the Century"

ท่ามกลางความสำเร็จดังกล่าว เวลช์ได้ประกาศการเกษียณอายุของเขา ซึ่งจะมีผลในเดือนเมษายน ปีหน้า

พร้อมๆ กันนี้ เวลช์ก็จะมีหนังสือใหม่ออกมาเล่มหนึ่ง ซึ่งไทม์ วอร์เนอร์ เทรด พับลิชชิง (Time Warner Trade Publishing) ในเครือของไทม์ วอร์เนอร์ ชนะประมูลได้ลิขสิทธิ์หนังสือที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อเล่มนี้ของเวลช์ ด้วยจำนวนเงินที่สูงถึง 7 ล้าน 1 แสนเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 284 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ เฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น ไม่รวมถึงลิขสิทธิ์ทั่วโลก นับเป็นค่าลิขสิทธิ์หนังสือซึ่งไม่ใช่นวนิยาย (non-fiction) ที่สูงที่สุด

เวลช์บอกว่า เงินค่าลิขสิทธิ์นี้เขาจะนำไปบริจาคเพื่อการกุศลทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิตกแทนผู้ประมูลว่าจะคุ้มทางธุรกิจละหรือ แต่ไทม์ วอร์เนอร์ เทรด พับลิชชิงก็เชื่อว่า หนังสือเล่มใหม่ของเวลช์ น่าจะเป็นหนังสือคลาสสิกอีกเล่มหนึ่งทางด้านบริหารธุรกิจ

แจ๊ก เวลช์ หรือ จอห์น ฟรานซิส เวลช์ จูเนียร์ (John Francis Welch Jr.) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2478 ที่เมืองซาเลม รัฐแมสซาชูเซตส์ ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวชนชั้นกลาง บ้านหลังใหญ่ที่ครอบครัวเวลช์อาศัยอยู่นั้น ล้อมรอบด้วยสุสานถึง 3 ด้านด้วยกัน ซึ่งพ่อของ เขาบอกว่า นั่นแหละคือ เพื่อนบ้านที่ดีที่สุด!

พ่อของเขาทำงานรถไฟกับ Boston & Maine Railroad ขณะที่แม่เป็นแม่บ้าน ซึ่งเวลช์บอกว่า จุดนี้เอง ที่ทำให้เขากับแม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างมาก และแม่ได้สอนบทเรียนที่สำคัญ 3 ประการให้เขา คือให้เป็นคนพูดจาเปิดเผย เผชิญกับความจริง และควบคุมให้ชีวิตดำเนินไปตามจุดมุ่งหมาย

เวลช์ชอบกีฬามาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเบสบอล บาสเกตบอล และฮ็อกกี้ กีฬานี่เองที่ทำให้แววการเป็นผู้นำของเขาฉายออกมา

ในสมัยเด็ก เวลช์ได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่ช่างพูดและชอบส่งเสียงดังที่สุดในชั้นเรียนอีกด้วย

แจ๊ก เวลช์กับเพื่อนร่วมชั้นอีกคนหนึ่ง เคยถูกเสนอชื่อให้ได้ทุนของโรงเรียนนายเรือ แต่ปรากฏว่าเวลช์พลาด ทุนดังกล่าว แม้จะทำให้เขาและครอบ ครัวผิดหวังอย่างมาก แต่ก็นับเป็นจุดหักเหที่สำคัญในชีวิตของเขา

ถึงแม้เวลช์จะเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เลว แต่เขาก็ไม่เลือกเรียนที่สถาบันซึ่งมีชื่อเสียงอย่างเอ็มไอที (MIT - Massachusetts Institute of Tech-nology) กลับเลือกที่จะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ (University of Massachusetts - UMass) แทน ด้วยเหตุผลเฉพาะตัวที่น่าสนใจทีเดียว เขาบอกว่า ถ้าเรียนที่เอ็มไอที เขาก็จะกลายเป็นเพียงนักศึกษาระดับหัวปานกลางคนหนึ่งในหมู่นักเรียนระดับสุดยอดของประเทศ แต่การไปเรียนในมหา วิทยาลัยอย่าง UMass ทำให้เขาสามารถ เปล่งประกายได้อย่างเต็มที่

เวลช์เป็นคนแรกของตระกูลที่ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย

แต่กระนั้น เวลช์ก็ไม่ได้เรียนอย่างที่ครอบครัวของเขาฝันหรือต้องการ แม่น่าจะพอใจมากกว่า ถ้าหากว่าลูกชาย คนเดียวจะเป็นพระหรือเป็นหมอ แต่เวลช์ก็กลับไปหลงรักวิชาเคมีและเลือกเรียนทางด้านวิศวกรรมเคมี เมื่อจบจาก UMass เขาก็ได้รับการส่งเสริมจากบรรดาคณาจารย ์ด้วยการจัดหาทุนให้เขาไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) และที่นี่เองที่ทำให้เขาได้ พบกับ แคโรลิน ออสเบิร์น (Carolyn Osburn) ภรรยาคนแรก และร่วมชีวิตกันในปี 2502 ทั้งคู่มีบุตรชาย 2 คน หญิง 2 คนและครองชีวิตคู่กัน 26 ปี

หลังจากแยกทางกับภรรยาคนแรก 4 ปี เวลช์ได้แต่งงานใหม่กับเจน บีสลี (Jane Beasly) นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการควบกิจการ

เมื่อเวลช์จบปริญญาเอกในปี 2503 เขาได้รับการเสนองาน 3 แห่งด้วย กัน แต่เขาเลือกจีอี เพราะจะได้กลับมาทำงานที่แมสซาชูเซตส์ - ความรู้สึกว่าได้ กลับบ้าน ทำให้เขาเลือกจีอี เขาขับรถโฟล์คเต่าที่เป็นของขวัญในโอกาสจบปริญญาเอกจากพ่อ พาเจ้าสาวคนแรกของเขาไปเริ่มงานทางด้านพลาสติกกับ จีอีที่เมืองพิตส์ฟิลด์

เวลช์ทำงานเต็มที่ ถึงสิ้นปีแรก เขาได้เงินเดือนขึ้นเท่ากับคนอื่นๆ ซึ่งทำให้เขาไม่พอใจกับระบบดังกล่าว ยื่นใบลาออกและจะไปทำงานที่อื่น แต่นาทีสุดท้าย รองประธานจีอีในสมัยนั้นก็ได้ดึงให้เขากลับมาอยู่กับจีอี โดยมอบหมายงานให้รับผิดชอบมากขึ้นและให้เงินเดือนสูงขึ้น...

ทำให้เวลช์ไปไหนไม่รอด ต้องกลับมาตายรังจีอี!

ในปี 2511 ด้วยวัย 33 ปี เวลช์ขึ้นเป็นระดับผู้จัดการที่อายุน้อยที่สุดของจีอี พออายุ 37 เขาก็ได้เป็นผู้บริหาร กลุ่ม และดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการเติบโตของเวลช์ในจีอีได้ ในปี 2524 ขณะที่อายุได้ 45 ปี เวลช์ได้เป็นเบอร์หนึ่งของจีอี นับเป็นประธานบริษัทที่มีอายุน้อยที่สุด

เวลช์เริ่มต้นวันของเขาด้วยการเดินบนเครื่องออกกำลังกายเป็นระยะทาง 3 ไมล์ ก่อนที่รถจะมารับเขาไปยังที่ทำงานเมื่อหลัง 7 โมงเช้า และหลังจากนั้น ชีวิตเขาก็เลื่อนไหลไปกับการงานของ จีอี บางครั้งเขาก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังหน่วยงานต่างๆ เวลช์จะเดินทางไปยุโรป ปีละครั้ง ซึ่งมักจะเป็นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เพื่อพูดคุยกับบรรดาผู้บริหารของจีอีในภาคพื้นยุโรป ส่วนตะวันออกไกลนั้น เขามักจะมาในช่วงฤดูใบไม้ร่วง โดยใช้เวลาครั้งละหลายสัปดาห์ด้วยกันในการดูงานของจีอีในย่านนี้

เวลช์ชอบที่จะได้ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานของเขาเสมอ

ไม่มีระบบราชการในจีอี!

ว่ากันว่า เวลช์พยายามทำให้จีอีเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกา ด้วยการให้พนักงานธรรมดาๆ มีสิทธิ์มีเสียง ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้จีอีกลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลก

แม้จะมีบางเสียงค่อนแคะว่า เขาคือเผด็จการตัวจริงก็ตาม

เวลช์เชื่อว่า การสื่อสารที่ดีภายในองค์กรจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะควรมี "ข้อเท็จจริง" หนึ่ง ที่ทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด มีโอกาสรับรู้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนั้น เวลช์เชื่อในการฝึกอบรม โดยเฉพาะในการเตรียมสร้างทีมผู้บริหาร รุ่นใหม่ให้กับจีอี

เวลช์เคยพูดเสมอว่า มีบริษัทอยู่ 2 ประเภท พวกแรกเป็นพวกที่บอกว่า อนาคตจะทำให้เราประหลาดใจก็จริง แต่เราจะไม่ประหลาดใจกับสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจดังกล่าว ขณะที่พวกที่สอง เป็นพวกที่ต้องประหลาดใจจริงๆ เพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะเผชิญกับความประหลาดใจ อีกทั้งยังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย เวลช์บอกว่าจีอีอยู่ในพวกแรก...

หัวใจสำคัญคือ จงเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลง!

หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนใหญ่ของบทความ นี้มาจาก Jack Welch Speaks โดย Janet Lowe



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.