Great Fire Sale?

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาในไทยอย่างกระตือรือร้น พวกเขามาในนามนักลงทุนข้ามชาติ และกองทุนพร้อมกับเงินสดแล้วค้นหากิจการที่มีอนาคตรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจ

นักลงทุนเหล่านี้มีเหตุผลที่ดีต่อความหวังในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่รัฐบาลไม่ต้องการมีภาระทาง การเงินอีกต่อไป และดูเหมือนว่ารัฐวิสาห- กิจบางแห่งต้องการเงินสดอีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ หลังจากไทยเจอวิกฤติ รัฐวิสาหกิจต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนัก ซึ่งจำเป็น อย่างยิ่งที่มีความต้องการทางเทคโนโลยี และประสบการณ์จากต่างประเทศในการ เพิ่มผลผลิตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงาน โทรคมนาคม และขนส่ง

มีหลายคนรู้สึกยินดีกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเกี่ยวกับการแปรรูป รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติซึ่งเป็นหลักการที่ดีในเชิง กลยุทธ์

"รัฐบาลชุดนี้เน้นการแปรรูปรัฐ วิสาหกิจ การปรับโครงสร้างของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนก็มีความคิดเช่นเดียวกันแต่ความคืบหน้าทางรูปธรรมยังเห็นได้ไม่ชัดนัก" ไซมอน เลียรี่ กรรมการสายงานที่ปรึกษาด้าน การปรับโครงสร้างภาครัฐและการจัดหาเงินทุน สำหรับโครงการ ประจำประเทศไทยและ อินโดจีน ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สกล่าว

ความหมายของคำว่าการแปรรูปโดยทั่วไปอาจจะทำให้นึกถึงว่าเป็นการขายทรัพย์ สิน แต่ประสบการณ์ของทั่วโลกรวมถึงการปรับโครงสร้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจด้วย "การแปรรูปกิจการเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการปรับโครงสร้าง" เลียรี่ชี้ "รวมไปถึงการทำให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจดำเนินการเป็นเชิงพาณิชย์ ที่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเปิดเสรีในกิจการที่ผูกขาด หรือปรับโครงสร้างองค์กรโดยรวม"

หากพิจารณาถึงสภาพโดยรวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแผนแม่บทแปรรูป รัฐวิสาหกิจรายสาขาแล้ว ซึ่งความจริงยังไม่มี การขายทรัพย์สิน แต่ไม่ได้หมายความว่า การ ดำเนินการไม่มีความคืบหน้า เพราะรัฐวิสาห-กิจหลายแห่งได้มีการปรับโครงสร้างไปแล้ว

ดังนั้น 3 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการสร้างรากฐานไว้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือ การขายทรัพย์สิน บางอย่าง ไม่จำเป็นต้องขายแต่บางอย่างอาจต้องขาย

เลียรี่อธิบายถึงประเด็นสำคัญที่ควรต้องคำนึงถึง คือ นักลงทุนที่เข้ามาจะให้อะไรกับประเทศไทยนอกจากให้เงินมา เพราะ การแปรรูปไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินสิ่งสำคัญคือการปรับโครงสร้างและวัฒนธรรมด้านการบริหาร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร หรือเกิดแรงจูงใจในพนักงาน เพื่อจะทำให้ฐานะการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้น

"ที่ผ่านมาไม่มีการพูดถึงในรายละเอียดของเรื่องนี้กันมากนัก และก็ยังไม่เห็น ว่าจะมีใครที่พูดถึงเลย"

อย่างไรก็ตาม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่จำเป็นเสมอไปว่าผู้ร่วมทุนต้องเป็นต่างชาติ หรือรายย่อยต้องเป็นคนไทยเท่านั้น เนื่องจาก ปัจจุบันมีบริษัทไทยหลายแห่งที่มีความมั่นคง และเป็นบริษัทข้ามชาติซึ่งทำให้เริ่มมีบทบาทในต่างประเทศมากขึ้น ฉะนั้น จึงไม่ได้หมาย ความว่าต้องเป็นต่างชาติเท่านั้นที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการแปรรูปกิจการ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ยังมีบางสาขาที่บริษัทไทยอาจจะยังไม่มีความรู้หรือเทคโนโลยีที่สูงพอ ธุรกิจ การบิน โทรคมนาคม ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้อง มีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาสูงบ้าง

ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการขายหุ้นในประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็น National Solution ของ รัฐบาลชุดนี้ อาจจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เพราะเท่าที่ผ่านมาปัญหาอย่างกรณีรัฐบาลที่แล้วก็มีการต่อต้านนักลงทุนต่างชาติ แต่ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่จะทำให้เกิดการปิดตลาดไม่ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามา

เท่ากับว่าไทยปิดทางไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยี วิธีบริหารหรือความคิด สร้างสรรค์ริเริ่มแปลกใหม่ ผลประโยชน์เหล่านี้จะไม่มีถ้าจะขายในประเทศเพียงอย่างเดียว

อย่างกรณีการแปรรูปในเชคโกสโลวะเกียที่รัฐบาลเลือกขายหุ้นให้คนในประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ส่งผลให้ไม่ก่อให้เกิดการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี และไม่มีเงินเข้ามา จนบริษัทต้องขาดทุนหรือล้มละลายหลังการแปรรูป 3-4 ปี

ขณะที่โปแลนด์รัฐบาลเลือกวิธีขายหุ้น ให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนด สัดส่วนที่เหมาะสมขึ้นมา ทำให้เกิดผลตรงกันข้ามกับเชคโกฯ และหลังดำเนินการ 6-7 กิจการขยายตัวได้ดี ที่สำคัญโปแลนด์สามารถ เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เปิดเสรีได้

"เราไม่ควรกำหนดตัวเลขการถือหุ้นต่างชาติว่า เพราะตัวเลขไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมาก ไปกว่าความโปร่งใสที่ต้องแสดงให้นักลงทุนเห็น ตัวเลขหรือสัดส่วนที่เหมาะสมน่าจะเป็นตัวเลขที่ทำให้นักลงทุนมีอำนาจในการบริหาร งานมากกว่า" เลียรี่ชี้

กระนั้นก็ดี การดำเนินการแปรรูปยังมีความเสี่ยงอยู่หลังจากมีการต่อต้านในเรื่องความรักชาติ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ดูเหมือนว่าจะเห็น ด้วยว่าหากเป็นไปได้ควรขายให้กับนักลงทุนท้องถิ่นก่อน

หากนายกรัฐมนตรีดำเนินงานตามที่สัญญาเอาไว้ รัฐวิสาหกิจจะต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความโปร่งใสและสภาพคล่องของตลาดอีกด้วย

แต่หลายคนยังมีความกังวลต่อตัวนายกรัฐมนตรีถึงการทำงาน เนื่องจากภาพของความเป็นนักธุรกิจและนักการเมือง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.