เชษฐ เชษฐสันติคุณ กับงานอีคอมเมิร์ซ

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากใช้เวลา 2 ปีเต็มในการสร้างยอดผู้เข้าชมบน เว็บไซต์ จนมีตัวเลขเป็นที่น่าพอใจ เอ็มเว็บก็เริ่มใช้ประโยชน์จากยอดทราฟฟิกของผู้เข้าชม ขยายผลเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

เชษฐ เชษฐสันติคุณ รองประธานด้านอีคอมเมิร์ซ เอ็มเว็บ (ประเทศไทย) เล่าว่า พวกเขาใช้เวลา 6 เดือนเต็มในเรื่องของเทคโนโลยีและการติดตั้งระบบ แต่ต้องใช้เวลาศึกษามาแล้วก่อนหน้านี้ถึง 1 ปี เต็ม เกี่ยวกับระบบภาษี และกฎหมาย

การลงทุนในเรื่องของการให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซ โครงสร้างพื้นฐานในการทำ "ธุรกรรม" เริ่มตั้งแต่การทำแค็ตตาล็อก ออนไลน์ การมีหน้าร้านไว้เป็นช่องทางจัดจำหน่าย และการทำหน้าที่เป็นตัวกลางใน การสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และธนาคาร

บริการอีคอมเมิร์ซจะมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างความสะดวกให้กับร้านค้า หรือเจ้าของสินค้า จะสามารถเริ่มให้บริการ b to c ได้ทันที

กลไกการทำงานของระบบอีคอมเมิร์ซ จะเริ่มตั้งแต่การ นำข้อมูลเจ้าของสินค้า และบริการ ที่ทำเป็นแค็ตตาล็อกออนไลน์จากนั้นบรรจุลงบนหน้าร้าน mshop ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ที่จะใช้เป็นช่องทางจัดจำหน่าย ให้ลูกค้ามาเลือกชมและซื้อสินค้า จะเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ mweb

เมื่อมีลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า คำสั่งซื้อเหล่านี้จะส่งไปที่ร้านค้า ทั้งนี้การเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตที่ธนาคารเป็นผู้ตัดบัญชี จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่สินค้าถูกส่งออกไปให้ลูกค้า ดังนั้นเมื่อร้านค้าส่งแล้วจะต้องมีการอัพเดทข้อมูลจึงจะได้เงินค่าสินค้า

นอกเหนือจากนั้น จะเป็นเรื่องการทำออนไลน์โปรโมชั่น ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการบริการภายใต้เครือข่ายของเอ็มเว็บ ไม่ว่าจะเป็นการทำโฆษณาแบนเนอร์และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

เจ้าของสินค้าและบริการ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายปี จะรวมตั้งแต่การจัดทำระบบ การจัดทำข้อมูลในการทำแค็ตตาล็อกออนไลน์ จากนั้นจะคิดเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นสินค้าและบริการประเภทไหน หากเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันมากๆ จะคิดเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าสินค้าและบริการที่มีการแข่งขันน้อย

ปัจจุบัน มีเจ้าของสินค้า 8 รายที่มาใช้บริการอยู่ในร้าน mshop และจะเพิ่มเป็น 18 รายภายในเดือนถัดมา

เชษฐบอกว่าจุดแข็งของบริการอีคอมเมิร์ซ อยู่ที่การใช้ ประโยชน์จากชื่อของเอ็มเว็บ ที่มีฐานในเรื่องของยอดสมาชิก ผู้เข้าชม การต่อยอดด้วยบริการอีคอมเมิร์ซ จึงอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นเป็นหลัก

"ใครสนใจจะดูชอปปิ้งมาที่ mweb เพราะว่าในโฮมเพจของเรา คือ มันเห็นชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งของ mweb เราไม่จำเป็นต้องทำแบรนด์ใหม่"

เชษฐยกตัวอย่าง กรณีของ เอโอแอล และยาฮู ที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารดึงดูดยอดผู้เข้าชม จากนั้นจะขยายผลในเรื่องของการค้าอย่างเห็นผล ซึ่งเอ็มเว็บ เองจะใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน

"คนเราซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ต เขาบริโภคข้อมูลข่าวสารไปด้วยในเวลาเดียวกัน อย่างเว็บไซต์ ไทยกอล์ฟเฟอร์ เขาเข้ามาดูข้อมูลจากเว็บไซต์นี้ และมีความเชื่อถือกันระดับหนึ่ง มีความสัมพันธ์กันและนำไปสู่ธุรกรรม"

เชษฐสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้ด้วยการหยิบเอางานวิจัยของบริษัทในต่างประเทศที่ทำการสำรวจบริการ อีคอมเมิร์ซ ในส่วนของ b to c พบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภค บนอินเทอร์เน็ต ไม่แตกต่างจากโลกของความเป็นจริง นั่นก็คือ ผู้ซื้อจะเลือกดูสินค้าก่อน จนกว่าจะแน่ใจแล้วจึงตัดสินใจซื้อ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ เว็บไซต์นั้นจะต้องมีความน่าเชื่อถืออยู่ด้วย "มันไม่ใช่ว่า พอเราไปเจอเว็บไซต์หนึ่งแล้วจะซื้อของ มันต้องมีความเชื่อถือ มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและเว็บไซต์ และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา"

เชษฐเป็นผู้บริหารคนไทยคนแรก ที่ร่วมก่อตั้งเอ็มเว็บ ประเทศไทย มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกกิจการอินเทอร์เน็ตในไทย

ก่อนหน้าจะเข้าร่วมงานกับเอ็มเว็บ เขาทำงานด้านบริหารงานขายและการตลาดในธุรกิจไอทีมาตลอด 10 กว่าปี จากนั้นไปทำงานด้านพัฒนาธุรกิจ เคยทำงานร่วมอยู่ในโครงการเปย์ทีวี ของโครงการดาวเทียมลาวสตาร์ และเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เข้ามาร่วมงานใน MIH ที่ต้องการคนที่ผ่านประสบการณ์ในธุรกิจอินเทอร์เน็ต และเปย์ทีวี

เชษฐเข้ามาร่วมงานกับ MIH ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่ MIH กำลังมองหาลู่ทางการลงทุนในย่านเอเชีย

"ผมมาทำงานตั้งแต่ยังไม่มีสำนักงานในไทย ต้องติดต่อกับสำนักงานที่ฮ่องกง"

เชษฐเป็นหนึ่งในทีมงานที่ต้องเข้าไปสำรวจการลงทุนในฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ก่อนจะมาจบลงที่การลงทุนธุรกิจ อินเทอร์เน็ตในไทย

จากประสบการณ์ในธุรกิจด้านต่างๆ เขาถูกเลือกให้เป็น ผู้รับผิดชอบธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซให้กับเอ็มเว็บมาตั้งแต่ต้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.