หลังจากที่ อาร์โนลด์ โทบัค ได้พิสูจน์ผลงานการบริหารในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ
Siam Makro และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ makro ประสบความสำเร็จมาตลอดระยะเวลากว่า
3 ปี วันนี้ เขาได้ตัดสินใจ ที่จะยุติบทบาทดังกล่าวลง ด้วยการเกษียณอายุตัวเอง
และเดินทางกลับเบลเยียม แผ่นดินถิ่นเกิด ในฐานะผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง
อาร์โนลด์ โทบัค ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 55 ปี เลือกที่จะ early retired หลังจากร่วมงานกับ
Makro มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี โดยผ่านการทำงาน ในหลายประเทศทั้ง เบลเยียม
ฮอลแลนด์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย
เขาเริ่มต้นการทำงานกับ Makro ครั้งแรกในปี 2513 และในปีถัดมาก็ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้จัดการศูนย์จำหน่ายของ
Makro ในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ใน Makro เบลเยียม
เขายังได้รับการไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และผู้อำนวย
การฝ่ายปฏิบัติการเป็นลำดับ
ในช่วงระหว่างปี 2532-2534 โทบัค รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการขยายธุรกิจให้กับคณะกรรมการบริหารของเอสเอชวี
โฮลดิ้งส์ ซึ่งเขาเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขยายการลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยในช่วงระหว่าง 2536-2540 ซึ่งเขาได้ร่วมงานอยู่ใน Makro อินโดนีเซียนั้น
กิจการของ Makro อินโดนีเซียได้เติบโตรุดหน้าอย่างรวดเร็วจากศูนย์จำหน่ายสินค้าเพียง
1 แห่งเพิ่มขึ้นเป็น 9 แห่งภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี
เขารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Siam Makro ในประเทศไทยเมื่อปี 2541
ซึ่งแม้จะประสบกับปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกที่หนักหน่วงรุนแรง
แต่ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โทบัค สามารถสร้างผลกำไรให้กับ Makro ได้มากขึ้นกว่า
103% จากระดับ 506 ล้านบาท มาเป็น 1,027 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
การตัดสินใจเกษียณอายุตัวเองของอาร์โนลด์ โทบัค ส่งผลให้ คณะกรรมการบริหารของ
Siam Makro แต่งตั้ง สุชาดา อิทธิจารุกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่ว่างลงนี้แทน
โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป
แม้ว่า สุชาดา อิทธิจารุกุล จะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา ตรีสาขาบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่เธอมิใช่มือใหม่ในวงการค้าปลีก เพราะนับตั้งแต่ปี 2527 เธอได้ร่วมงานกับอินช์เคป
(ประเทศไทย) ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการเงิน ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแผนกผลิต
ภัณฑ์พิเศษ ในปี 2531 โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะผันตัวเองเข้าร่วมงานกับ
Makro นั้น เธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและปฏิบัติการของอินช์เคป
(ประเทศไทย) ด้วย
สุชาดาเข้าร่วมงานใน Siam Makro ในปี 2538 ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน
และเป็นผู้ที่มีส่วนอย่างสำคัญ ในการทำงานร่วมกับทั้ง อาร์โนลด์ โทบัค และผู้บริหารระดับสูงของ
Makro ในการ นำพาองค์กรแห่งนี้เผชิญกับช่วงเวลาอันหนักหน่วงจากผลของวิกฤติเศรษฐกิจในปี
2540 และสร้างเสริมความเติบโตให้กับองค์กรแห่งนี้
การแต่งตั้งสุชาดา ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ Siam Makro ในครั้งนี้
นอกจากจะมีความน่าสนใจในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงและคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว
ทักษะและความสามารถทางการเงินและระบบบัญชีของเธอ ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เธอมีคุณสมบัติเหมาะสมในการเป็นผู้นำของ
Makro ในห้วงเวลา ปัจจุบัน
เพราะภายใต้การแข่งขันที่ทวีความหนักหน่วงขึ้นนั้น Siam Makro กำลังดำเนินความพยายามอย่างเต็มที่ในการลดต้นทุนปฏิบัติ
การให้ต่ำลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Makro Cross-Docking
ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับ supplier ในการลดค่าใช้จ่ายการขนส่งและการ stock
สินค้า และโครงการ Makro B2B ซึ่งล้วนแล้ว แต่เป็นไปเพื่อให้ Makro สามารถดำรงสถานะนำในการเป็นผู้จำหน่าย
สินค้าราคาต่ำที่สุด ซึ่งถือเป็นปัจจัยในความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของ Makro
ในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาจากมิตินี้แล้ว ภารกิจของสุชาดา ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
Siam Makro ในห้วงเวลานับจากนี้ ดูจะไม่ใช่บทบาท ที่สามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวกและประสบผลสำเร็จโดยง่าย
หาก แต่เป็นบททดสอบพิสูจน์ครั้งสำคัญ ซึ่งชวนให้ติดตามว่าเธอจะสามารถ ฝ่าผ่านไปอย่างไร