ผู้นำคนใหม่ มัทสุชิตะ ประเทศไทย กับภารกิจครั้งสำคัญ

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

19,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขเป้าหมายยอดการส่งออกของกลุ่ม มัทสุชิตะ อิเลคทริคในประเทศไทย ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในปี 2546

ตัวเลขดังกล่าว หากเปรียบเทียบกับยอดการส่งออกของกลุ่ม ซึ่งทำได้ 8,896 ล้านบาท ในรอบปีบัญชี 2543 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนา คมที่ผ่านมา ถือว่าจะต้องเพิ่มสูงขึ้นอีกถึงกว่า 2 เท่าตัว

"เพื่อให้มองเห็นภาพมูลค่าการส่งออกดังกล่าวชัดเจนขึ้น ผม จะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ยอดส่งออกสินค้ารวมของอุตสาห-กรรมรองเท้าทั้งระบบจากประเทศไทย จะมีมูลค่าใกล้เคียงกับยอดส่งออกจากกลุ่มของเรา "โยชิมาซา ทามูระ อดีตหัวหน้าผู้แทนกลุ่มมัทสุชิตะ อิเล็คทริคในประเทศไทย กล่าวไว้ในการแถลงเป้าหมายการส่งออก ก่อนประกาศอำลาจากตำแหน่ง เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม

ตัวเลขนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทิ้งไว้ให้กับชูเฮอิ โอกาตะ ซึ่ง เข้ามารับตำแหน่งแทน ต้องสานต่อให้เสร็จ

ชูเฮอิ โอกาตะ ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าผู้แทนกลุ่มมัทสุชิตะ อิเล็คทริค ในประเทศไทย กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่ บริหารของบริษัทเนชั่นแนล ไทย และบริษัทซิว-เนชั่นแนล ต่อจาก โยชิมาซา ทามูระ เมื่อเดือนพฤษภาคม

เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยโกเบ และเริ่มทำงานกับมัทสุชิตะ อิเล็คทริค อินดัสเตรียล ตั้งแต่ปี 2512

ชูเฮอิ โอกาตะ นับเป็นบุคลากรของมัทสุชิตะอีกผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์ทำงานนอกประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี โดยเขาได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี 2516 อาทิ คูเวต บาห์เรน ออสเตรเลีย โดยตำแหน่งนอกประเทศล่าสุด เขาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเนชั่นแนล พานาโซนิค มาเลเซีย

ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ชูเฮอิ โอกาตะปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานขายประจำภาคพื้นเอเชีย และโอเชียเนีย ในแผนกบริหารองค์กรภาคพื้นเอเชีย และโอเชียเนีย ของมัทสุชิตะ อิเล็คทริค อินดัสเตรียล

รอบบัญชีปี 2543 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2544 กลุ่มมัทสุชิตะ อิเล็คทริค ในประเทศไทย มียอดขายรวมทั้งสิ้น 31,399 ล้านบาท เพิ่ม ขึ้น 30% เมื่อเปรียบเทียบกับรอบบัญชีปีก่อนหน้า ซึ่งมียอดขาย 24,156 ล้านบาท

ในยอดขายรวม 31,399 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดส่งออก 8,896 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นถึง 74.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมียอดส่งออก 5,100 ล้านบาท

ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่มัทสุชิตะ อิเล็คทริคค่อนข้างจะให้ความสำคัญ เพราะเป็นฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นแห่ง แรกของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้ จากการตัดสินใจเข้า มาลงทุนตั้งโรงงานในปี 2504 โดยในช่วงแรกเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศเป็นหลัก และเพิ่งเริ่มขยายเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

"ตอนผมเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2537 ยอดส่งออกรวมของกลุ่มมัทสุชิตะในประเทศไทย มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 ของยอดที่สามารถส่งออกได้ในทุกวันนี้เท่านั้น ดังนั้นจึงถือเป็นความท้าทายครั้ง ใหญ่ที่สุดของผม ที่จะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่ง ออกทั่วโลกของมัทสุชิตะ อิเล็คทริค ด้วยการเร่งการถ่ายทอดเทคโน โลยี และเพิ่มการลงทุนในโครงการใหม่ๆ" โยชิมาซา ทามูระ กล่าว

เมื่อปีที่แล้ว มัทสุชิตะ อิเล็คทริค ได้ลงทุนสร้างฐานการผลิตแห่งใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง แห่งแรก ได้แก่ บริษัทมัทสุชิตะ คอมมูนิเคชั่น อินดัสเตรียล เพื่อผลิตและส่งออกซีดี เชนเจอร์ติดรถยนต์ ขนาด 6 แผ่น และเป็นโรงงานแห่งเดียวในโลกของมัทสุชิตะ มีตลาดส่งออกสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี ใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท

แห่งที่ 2 คือ บริษัทมัทสุชิตะ อิเล็คทริค เอวีซี (ประเทศไทย) เป็นโรงงานผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ ขนาด 25 นิ้ว เพื่อการส่งออก 100% มีตลาดอยู่ที่ญี่ปุ่น และรัสเซีย ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท "โครงการนี้ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ ฐานการผลิตเพื่อส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์ของมัทสุชิตะอยู่ที่มาเลเซีย" ทามูระย้ำ

และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มัทสุชิตะได้มีการขยายการลงทุนใน ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก เริ่มจากการลงทุน 350 ล้านบาท เพื่อขยายสายการผลิตถ่านอัลคาไลน์ ของบริษัทมัทสุชิตะ แบตเตอรี่ ประเทศไทย และเมื่อเดือนมีนาคมมัทสุชิตะก็ได้ประกาศให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังตลาดโลก ด้วยการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีก 2 แห่ง ได้แก่ มัทสุชิตะ โฮม แอพพลาย แอนซ์ (ประเทศไทย) เพื่อผลิตเครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว กับมัทสุชิตะ เรกิ รีฟริเจอเรเตอร์ (ประเทศไทย) เพื่อผลิตตู้เย็น โดยใช้เงินลงทุนรวม 680 ล้านบาท

"เป้าหมายต่อไปของเรา คือ พยายามตั้งศูนย์วิจัย และพัฒนา ขึ้นในประเทศไทย" ทามูระกล่าว

โครงการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยุคของโยชิมาซา ทามูระ ถือเป็นการวางรากฐานให้กับชูเฮอิ โอกาตะ สานงานต่อได้โดยไม่ลำบากนัก

ผลงานหลังจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับความสามารถของชูเฮอิ โอกาตะ ว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ต้องคอยติดตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.