ดับฝันนักขุดทองที่ซิลิกอนแวลลีย์ แรงงานต่างชาติเก็บกระเป๋าหลังเศรษฐกิจซบ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

"นาคราช" (นามสมมติ) เป็นวิศวกรชาวอินเดียที่อพยพครอบครัวไปทำงานที่อเมริกาโดยมีวีซ่าประเภท H-1B ติดมือ วีซ่าประเภทดังกล่าวมีอายุ 6 ปี ออกให้กับแรงงานมีฝีมือที่เข้าไปทำงานในบริษัททางด้านเทคโนโลยี ในย่านซิลิกอนแวลลีย์

ทุกอย่างควรจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย แต่ราวเดือนเมษายนที่ผ่านมา นาคราชกับเพื่อนร่วมงานชาวอินเดียอีก 6 คน ถูกเรียกตัวเข้าประชุมบริษัทที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีในซานฟรานซิสโกแจ้งให้ทราบว่า พวกเขาถูกปลดออกจากงาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในแถบซิลิกอนแวลลีย์ นาคราช เล่าว่า "เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึกช็อก"

นาคราชและเพื่อนเหลือทางเลือก เพียงสองทางคือ เก็บกระเป๋าเดินทางกลับอินเดีย หรือไม่ก็หางานใหม่ให้ได้ในตลาดงานอันฝืดเคือง และภาวนาให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยอมเปลี่ยนวีซ่าการทำงานของเขาให้เป็นชื่อบริษัทใหม่ ตามกฎหมายสหรัฐฯ พวก เขาจะไม่ได้รับเงินค่าจ้างใดๆ หากเอกสารยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทผู้ว่าจ้างให้ถูกต้อง "ผมจะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีงานไม่มีเงิน" นาคราชปรับทุกข์

ก่อนหน้านี้ บริษัทในซิลิกอนแวลลีย์ได้ร่วมกันกดดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่มีความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน เช่น โปรแกรมเมอร์และวิศวกร โดยการออกวีซ่า H-1B ให้แรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานประเภทนี้ได้ตั้งแต่ปี 1992 ทำให้มีผู้หวังไปขุดทองในตลาดแรงงาน สหรัฐฯ เป็นจำนวนมากโดยหอบหิ้วครอบครัวไปด้วย จนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว จำนวนชาวต่างชาติที่เข้า ไปทำงานในแถบซิลิกอนแวลลีย์มีเป็นจำนวน ถึงราว 81,000 คน

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดธุรกิจประเภท ดอทคอมทรุดตัว มีการปลดพนักงานในกิจการประเภทนี้เป็นจำนวนมาก แรงงานต่างชาติกลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบด้วย อีกทั้ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็ถือว่าวีซ่าประเภท H-1B จะหมดสภาพทันทีเมื่อผู้ถือวีซ่าต้องออกจากงาน ทางการสหรัฐฯ แก้ไข ปัญหาโดยใช้ท่าทีผ่อนปรน และแถลงว่าผู้ถือวีซ่าประเภทนี้สามารถอยู่ในสหรัฐฯ ต่อได้หากมีคุณสมบัติ พิเศษบางประการหรือหาบริษัทใหม่รับรองต่อวีซ่าให้ได้

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นนัก โอกาส ในอาชีพการงานของแรงงานกลุ่มนี้ยิ่งมืดมนลง เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอินเทล (Intel) ซิสโก (Cisco) และฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard) พากันประกาศปลดพนักงานออกอีกเรือนพันในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลถึงพนักงานที่ถือวีซ่าประเภท H-1B ด้วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเผยตัวเลขจำนวนแรงงานที่เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ โดยถือวีซ่าดังกล่าวในเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่ามีเพียง 16,000 คน นับเป็นสถิติที่ลดจากจำนวน 32,000 คนในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

ตามกฎหมาย ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ ทำงานประเภทพาร์ตไทม์ แต่เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีรายได้สำหรับใช้จ่ายของครอบครัวทั้งระหว่างที่ยังพักอยู่ในสหรัฐฯ และเตรียมเดินทางกลับ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงถูกละเลยไปโดยปริยาย

หญิงชาวไต้หวันวัย 22 รายหนึ่ง ซึ่งถูกปลดออกจากงานในตำแหน่งเว็บ ดีไซเนอร์ในบริษัทดอทคอมแห่งหนึ่งในนิวยอร์กเมื่อเดือนมกราคม ต้องดิ้นรนทำงานหลายอย่างเพื่อความอยู่รอด เธอเป็น พนักงานเสิร์ฟ สอนพิเศษเด็ก และสอนภาษาอังกฤษให้ผู้อพยพสูงอายุ และยอมเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมในการวิจัยศึกษาทางด้านประสาทวิทยา เธอทำงานทุกประเภทเพื่อให้มีรายได้และเล่าว่า "งาน เสิร์ฟเป็นงานหนักที่สุดแต่เป็นงานที่หาได้ง่ายที่สุด เจ้าของร้านไม่ค่อยถามเรื่องเอกสารการทำงาน เขาอยากรู้แค่ว่าฉันเรียกค่าแรงเท่าไร"

เดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็ได้แจ้งกับผู้ถือวีซ่า H-1B ว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนก" เนื่องจาก จะมีการกำหนดระยะเวลาผ่อนปรนให้ก่อนที่ผู้ถือวีซ่ากลุ่มนี้จะต้องเดินทางกลับประเทศของตนจริง โดยจะมีการชี้แจงรายละเอียดในภายหลัง ไอลีน ชมิดท์ (Eyleen Schmidt) โฆษกของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบอก "เรากำลังพยายาม จะผ่อนปรนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่"

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในแถบซิลิกอนแวลลีย์ในทำนองว่า ระบบการออกวีซ่าดังกล่าวนี้มีจุดบกพร่องอยู่ กันวาล เรกกิ (Kanwal Rekki) ผู้ประกอบการชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียรายหนึ่งให้ความเห็นว่า "ผู้ที่ถือวีซ่า H-1B ทำงานเหมือนทาสที่มีข้อผูกมัดกับบริษัทผู้ว่าจ้าง" ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาต้องพึ่งพา ผู้ว่าจ้างในการรับรองวีซ่าและกรีนการ์ดนั่นเอง และแม้จะมีกลุ่มผู้สนับสนุนผู้อพยพคอยช่วยเหลือผลักดันให้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว แต่การผลักดันก็คืบหน้าไปน้อยมาก โดยทำได้เพียงแค่ให้มีการโอนการรับรองวีซ่าหรือกรีนการ์ดให้กับบริษัทผู้ว่าจ้างรายอื่น

มูราลี กฤษณะ เทวราคนธ์ (Murali Krishna Deverakonda) ซึ่งทำงานในเครือข่ายสนับสนุนผู้อพยพ ด้วย กล่าวว่าเป้าหมายของกลุ่มคือไม่ต้องการให้บริษัทผู้ว่าจ้างมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการรับรองวีซ่า H-1B "เราพุ่งประเด็นไปที่เรื่องเสรีภาพ ผู้ว่าจ้างจำเป็นต้องอาศัยเรา ระบบเศรษฐกิจก็ต้องอาศัยเรา แล้วทำไมกฎหมายจึงวางข้อกำหนดไปในทางที่ว่าเราจำเป็นต้องอาศัยผู้ว่าจ้าง?" นี่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาและต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ปัญหาก็คือชีวิตของผู้ถือวีซ่า H-1B คงวุ่นวายกันอีกไม่น้อย นับจากนี้เป็น ต้นไป

เรียบเรียงโดย เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ Newsweek May 14, 2001



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.