"คุณ" ก็เป็นคนหนึ่งที่มี "สิทธิ" รับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ??


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ในอดีตทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นข้อมูลทางราชการถือว่าเป็น "ความลับ" วันนี้สิ่งที่เคยถูกประทับตราว่าเป็น "ความลับ" กำลังจะถูกทำไม่ให้เป็น "ความลับ" อีกต่อไป ภายใต้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่การจะกะเทาะหินปูนที่ฝังลึกอยู่ในระบบวิธีการทำงานของราชการไทยไม่ใช่เรื่องง่าย กรณีของ "น้องพลอย" เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่าไม่ง่ายนักที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงข้อมูลของราชการได้ แต่ก็ยัง ไม่สาย ทุกอย่างล้วนต้องอาศัย "เวลา" และ "ความตั้งใจจริง" ของทุกฝ่าย

เรื่องโดย มานิตา เข็มทอง

manita@manager.co.th,Internet

เหตุเกิดเมื่อประมาณต้นปีที่แล้วหลัง จากผ่านช่วงฤดูกาลสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่อยังโรงเรียนต่างๆของรัฐบาล และกำลังเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ "น้องพลอย" หนูน้อยวัยอนุบาล บุตรสาวคนเดียวของสุมาลี-พ.ต.อ.ปรีชา ลิมปโอวาท ก็เป็นหนึ่งในเด็กหลายพัน คนที่เข้าร่วมสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

และเมื่อผลประกาศออกมา ปรากฏว่า ในจำนวนเด็กที่สอบได้ 120 คนจาก 2,500 คนไม่มีชื่อของ "น้องพลอย"

ตามประวัติ "น้องพลอย" เป็นเด็กเรียนดี สอบได้ที่หนึ่งในชั้นอนุบาล และก่อนที่เธอจะไปสอบ ผู้ปกครองของเธอได้เตรียมตัวและติวให้เธอทุก วัน วันละ 20 นาทีเป็นเวลา 2 ปีเต็ม จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะตั้งความหวังไว้ ถึงแม้จะรู้อยู่เต็ม อกว่า คู่แข่งของลูกนั้นมากเพียงใด

"เราไม่ได้มั่นใจขนาดหนักว่าลูกเราจะต้องสอบได้ เพียงแต่เรามีเหตุอันควรสงสัย และหากปล่อยไว้ก็จะค้างคาใจเราไปตลอด" สุมาลีกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

เหตุอันควรสงสัยดังกล่าวก็คือ ในบรรดารายชื่อนักเรียนที่สอบได้ 120 คน มีนามสกุลดังๆ กว่า 70% ซึ่งสุมาลี คิดว่าไม่น่าจะเยอะมากมายขนาดนี้ และจุดนี้เองที่เธอคิดว่า ผลการสอบของลูกเธอต้องมีสิ่งที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ความมั่นใจที่ว่า "น้องพลอย" จะต้องสอบได้กลับมาอีกครั้ง เพราะเธอคิดว่า หากลูกสาวของเธอแข่งขันกับเด็กอื่นทั่วไป ความสามารถของน้องพลอยต้องติดอยู่ใน 120 คนด้วยแน่ๆ

แต่เมื่อมีข้อสงสัยดังกล่าว เธอ จึงไม่แน่ใจแล้วว่า กระบวนการสอบคัดเลือกครั้งนี้ใสสะอาดจริง เดิมทีเธอเข้าใจว่า มีการแยกเด็กระหว่างเด็ก โควตาของอาจารย์และข้าราชการเรียบ ร้อยแล้ว ไม่ใช่รวมอยู่ในเด็กกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งหากเธอรู้ตั้งแต่แรกว่า "เด็กฝาก" จะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ เธอก็คงไม่ให้ลูกเธอมาสอบอย่างแน่นอน

"เราตกเป็นเหยื่อของระบบการศึกษา ถ้าเรารู้ข้อมูลตั้งแต่แรก เราคงไม่ให้ลูกไปลงในสนามนี้ และมีผู้ปกครองอีกมากที่ต้องตกเป็นเหยื่อการสอบคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส" เป็นความรู้สึกของเธอ ณ ขณะนั้น

วันที่ 3 เมษายน 2541 เธอจึงได้ทำหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขอตรวจดูและถ่ายสำเนากระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของน้องพลอย และเด็กที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2541 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจะได้หายสงสัยและสามารถอธิบายเหตุผลให้น้องพลอยรับรู้ได้ว่า "เพราะอะไรหนูถึงสอบไม่ได้" ไม่ใช่บอกลูกไปทันทีว่า "ที่หนูไม่ได้ เพราะมีเด็กฝาก" ซึ่งอาจจะไม่ยุติธรรมกับเด็กอีกส่วนหนึ่งที่สามารถสอบได้ด้วยฝีมือจริงๆ แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบหายไปกับสายลม โดยไม่ได้รับคำตอบหรือ คำชี้แจงใดๆ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

"ตอนขอเข้าไปดูข้อมูลครั้งแรก ได้ใช้อำนาจพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แต่เนื่องจากพ.ร.บ.นี้ไม่ได้ระบุระยะเวลาในการขอดูเอกสาร จึงทำให้ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา" สุมาลีเล่า แต่เธอยังไม่ยอมถอย เธอและสามีจึงได้พยายามศึกษา ค้นหาตัวบทกฎหมาย เพื่อจะนำมาใช้อ้างในการขอดูข้อมูลที่เธอต้องการให้ได้ จน กระทั่งเธอได้ดูรายการหนึ่งทางช่อง 11 ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ พูดเรื่องพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

นับเป็นการจุดประกายให้เธอยื่นหนังสือไปยังคณะกรรมการข่าวสารของราชการ ซึ่งมีคุณหญิงสุพัตรา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 41 โดย ถือเป็นการอุทธรณ์ และทางคณะกรรมการฯ ได้ส่งเรื่องของเธอไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดข้อมูลข่าวสาร ด้านสังคม ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอ.ชูเชิด รักตบุตร์ เป็นประธาน

ต่อมาในวันที่ 19 มิ.ย.ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีหนังสือมาถึงสุมาลี แจ้งผลการพิจารณาว่า การขอตรวจดูและถ่ายสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการสอบดังกล่าว ยังไม่มีเหตุอันสมควรที่ทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินตามความต้องการของสุมาลีได้ ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ที่มีความเห็นว่า "ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 วรรค 2 (6) ประกอบกฎกระทรวงฉบับ
ที่ 2 (พ.ศ.2540) ให้สิทธิแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะใช้ดุลยพินิจในการเปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้ผ่านการสอบคัดเลือกทั้ง 120 คน และของ "น้องพลอย" ดังนั้นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมฯจึงมีมติว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้สอบคัดเลือกทั้งหมดได้"

เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีความเห็นออกมาเช่นนี้ ครอบครัว "ลิมปโอวาท" แทบจะสิ้นหวัง

"ดิฉันเดินเข้าไปใช้สิทธิอย่างชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้เอาหน้าที่การงานเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ถ้าชาวบ้านธรรมดายังใช้สิทธิไม่ได้ ก็แสดงว่าพ.ร.บ.นี้ล้มเหลว" สุมาลีกล่าวอย่างท้อแท้

แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อเรื่องราวออกไปสู่หน้าหนังสือพิมพ์ และ "สื่อ" นี่เองที่ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจอย่างจริงจังมากขึ้น

21 ก.ย. 41 สุมาลีได้ยื่นหนังสือ กลับไปยังอ.ชูเชิด ผู้เป็นประธานคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมฯอีกครั้ง เพื่อขอให้ทบทวนข้อพิจารณาดังกล่าวใหม่ เมื่อทางคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้รับเรื่องอีกครั้ง จึงมีการพิจารณาทบทวนกันใหม่ ซึ่ง รายละเอียดในส่วนนี้อ.ชูเชิดได้เล่าว่า "ในชั้นแรกที่ทางคณะกรรมการลงความเห็นว่า ให้สิทธิมหาวิทยาลัยเกษตรไม่เปิดเผยข้อมูลได้ โดยเขาได้อ้างพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เราได้นำพ.ร.บ.นี้มาดูในรายละเอียด และหาเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็พบว่า พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่ประกาศ ใช้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองขึ้นมาเท่า นั้นเอง ฉะนั้นจะเห็นว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่กฎหมาย ยกเว้นว่าหน่วยราชการไม่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ปัญหาต่อไปก็ดูว่ามีกฎหมายอื่นที่ระบุห้ามหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี ฉะนั้นคณะกรรมการจึงมีมติว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องเปิดเผยข้อมูล" เป็นอันจบกระบวนการวินิจฉัย

แม้ว่าจะมีประธานคณะกรรมการพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะมีคำสั่งให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 41 แล้ว ก็ตาม แต่ทางมหาวิทยาลัยก็เลี่ยงไป เลี่ยงมา จนเรื่องจะครบ 1 ปี ใกล้เวลาที่จะมีการเปิดการสอบคัดเลือกในปีการศึกษาใหม่อีกรอบหนึ่งแล้ว ทางครอบครัว "ลิมปโอวาท" ก็ยังมิได้ดูข้อมูลใดๆ

ยังเป็นที่กังขาอยู่ว่า เหตุใด จึงไม่มีการพิจารณาหาเจตนารมณ์ของพ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตั้งแต่การพิจารณาคำอุทธรณ์ครั้งแรก เหตุใดต้องรอให้ยื่นเรื่องมาเป็นครั้งที่ 2 พร้อมๆ กับเรื่องนี้เป็นข่าวในหน้าหนัง สือพิมพ์ขึ้นมา จึงมีการพิจารณาใหม่ว่า ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และเหตุใด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงต้องบ่ายเบี่ยง ดึงเวลา หากบริสุทธิ์จริง...เชื่อว่ากรณีนี้ยังมีเกิดขึ้นได้อีกในหลายสถาบัน เพียงแต่ยังไม่ถึงคิวเท่านั้น...

"เราได้ทำหน้าที่ในฐานะประชา ชนคนหนึ่ง ซึ่งคุ้มกว่าการเป็นนักกฎหมายที่เอาคนเข้าคุก เพราะนั่นคือ การแก้ที่ปลายเหตุ แต่กรณีนี้เป็นระบบป้องกันการเกิดเหตุที่ดี" เป็นความเห็นของเธอที่ได้แปรเปลี่ยนจากการเป็น "แม่" คนหนึ่งที่สู้เพื่อขอความ ยุติธรรมและความบริสุทธิ์ต่อลูกน้อยของเธอ กลายมาเป็น "ประชาชน" คน หนึ่งที่สู้เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องและยุติธรรมของระบบกฎหมายไทย ซึ่งเธอรู้อยู่เต็มอกว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" เพราะ สังคมไทยยังคุ้นเคยอยู่กับ"ระบบ อุปถัมภ์"

"ต้นทุนในการดำเนินการครั้งนี้เยอะมาก ต้องใช้เวลา ต้องทุ่มทุกอย่าง ต้องดูกฎหมายเยอะมาก ต้องช่วยกันร่วมมือกันทั้งพ่อ แม่ ลูก" สุมาลีกล่าว และเธอยังไม่ยอมแพ้

เรื่องนี้ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่หลายฝ่ายต้องการเข็นให้สำเร็จ อย่าง ราบรื่น ชนิดที่ไม่ต้องมีการฟ้องร้อง ไม่ต้องมีการดำเนินคดีกัน เพื่อใช้เป็นตัวอย่างสำหรับประชาชนรายอื่นที่ต้อง การทราบข้อมูลของหน่วยงานราชการต่อไป

เหตุผลที่ขึ้นต้นเรื่องนี้ไว้ว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกะเทาะหินปูนที่ฝังลึกอยู่ในระบบวิธีการทำงานของราชการไทย" จุดเฉลยก็คือ กรณีของ "น้องพลอย" ที่เล่าเสนอมาทั้งหมดนั้น ผู้ปกครองของเธอล้วนเป็นนักกฎหมายด้วยกันทั้ง 2 คน ทั้งคุณสุมาลีและคุณพ่อของน้องพลอยต่างมีความรู้และคลุกคลีอยู่กับวงการกฎหมายเป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่ให้ช้ำใจได้อย่างไรใน เมื่อเรื่องนี้จะกลายเป็นการต่อสู้ของ"นัก กฎหมาย" ต่อ "นักกฎหมาย" ด้วยกันเองไปเสียแล้ว เนื่องจากในหน่วยงานที่สุมาลีทำงานอยู่ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเธอ และยังมีอีกหลายคนที่มีลูกหลานที่สอบคัดเลือกผ่าน คงไม่มีใครอยากให้เปิดเผย เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อลูกหลานของตนเองด้วย

นับเป็นความโชคดีของ "น้องพลอย" ที่คุณพ่อคุณแม่ของเธอเป็นนักกฎหมาย เพราะหากเป็นคนอื่นคงปล่อยให้เป็นเรื่องแล้วก็แล้วกันไป คงไม่มีใครอยากเสียเวลาเป็นปีๆ เพียงเพื่อขอดูข้อมูลว่า ทำไมลูกถึงสอบไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า โรงเรียนนี้ไม่ได้ ไปเรียนโรงเรียนอื่นก็ได้เหมือนกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต่อไป การพัฒนา ปฏิรูประบบราชการ การเมือง การปกครองของไทยจะไม่มีวันสำเร็จได้ เนื่องจากพ.ร.บ.นี้เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นได้ โดยมีประชาชนเป็นผู้ก้าวไปสู่จุดนั้นด้วยกัน


ต้องให้ "เวลา" กับเรื่องใหม่ๆ

ในช่วงระยะเวลา 1 ปี (10 ธ.ค. 40-30 พ.ย. 41) มีคำร้องเรียน และคำอุทธรณ์ยื่นเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทั้งสิ้น 32 เรื่อง เป็นเรื่องที่ยุติแล้ว 18 เรื่อง ซึ่งเรื่องของสุมาลีก็รวมอยู่ใน 18 เรื่องนี้ด้วย, เป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยฯด้านสังคมฯ จำนวน 4 เรื่อง, เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ด้านเศรษฐกิจการคลัง จำนวน 1 เรื่อง, เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรม การพิจารณาให้ความเห็นเรื่องร้องเรียน จำนวน 1 เรื่อง และเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของสขร.จำนวน 8 เรื่อง

สำหรับกรณีคำร้องของสุมาลียื่นเข้ามาเป็นคำร้องแรก และเป็นเรื่อง ที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุด เนื่องจาก ทางคู่กรณีคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ด้วยการอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อประวิง เวลา ซึ่งกรณีนี้ทางอ.ชูเชิด ในฐานะประธานคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ด้านสังคมฯ ได้ให้ความเห็นว่า

"เหตุที่มหาวิทยาลัยเกษตรยังไม่ยอมให้ดู โดยอ้างอย่างโน้นอย่างนี้ ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่เพราะว่าทางมหาวิทยาลัยจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และผมคิดว่า ในที่สุดแล้วมหาวิทยาลัย เกษตรก็ต้องเปิด และกรณีนี้ไม่เห็นจะกระทบต่อระบบมหาวิทยาลัยเลย ถ้าทุกอย่างทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่ มีอะไร อยากขอดูก็ให้ดู แต่เมืองไทย แย่มานาน ทุกอย่างที่เราทำกันเป็นความลับหมด จะซุกซิกอะไรก็ไม่มีใครรู้ แต่ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง หน่วยราชการเองต้องมีการปรับตัว และงุบงิบทำอย่างในอดีตไม่ได้แล้ว"

สำหรับข้อจำกัดที่อ.ชูเชิดได้สรุปให้แก่ "ผู้จัดการรายเดือน" ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา "ประการแรกคือ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอกับงาน ประการที่สอง คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่จะมีงานประจำอยู่แล้ว เวลาว่างจึงไม่ค่อยตรงกันแต่ ทางคณะกรรมการฯด้านสังคมฯ ก็สรุป ให้มีการประชุมทุกวันพุธ และต้องเข้ามาพิจารณาวินิจฉัยให้ครบทั้ง 7 คน ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่น กรณีของคุณสุมาลี ที่การพิจารณาครั้งแรก กรรมการมาไม่ครบ พอครั้งที่ 2 มาครบ 7 คน จึงมีการลงมติกัน และประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ บางทีจะให้ตอบทันทีเลยก็ตอบไม่ได้ ต้องไปค้นไปศึกษาก่อนว่าปัญหาข้อนี้จะตอบอย่างไร แม้กระทั่ง เรื่องๆ เล็กก็มีปัญหาอยู่เสมอ"

จากกรณีดังกล่าวทำให้มองเห็น ข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งในแง่ของพ.ร.บ. และในแง่ของคนทำงาน คือ ในแง่ของตัวพ.ร.บ.เอง ยังไม่มีการระบุระยะ เวลาที่ชัดเจนในการให้หน่วยงานราชการ เปิดเผยข้อมูล หลังจากมีคำสั่งวินิจฉัย ว่าให้เปิดแล้ว จึงเป็นช่องว่างที่หน่วยงานราชการนำมาใช้ เพื่อถ่วงเวลาได้ รวมทั้งช่องว่างอื่นที่อาจยังมองไม่เห็น ซึ่งต้องอาศัยเวลา และหาทางแก้ไขต่อไป ส่วนในแง่ของคนทำงาน คือ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.นี้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธียืมตัวมาจากหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งอาจจะทำงานได้ไม่คล่องตัวนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สำนักงานพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ (สขร.) ยังสังกัดอยู่ภายใต้สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้การดำเนิน การต่างๆ ล่าช้าตามระบบราชการและไม่เป็นอิสระ หากสามารถทำให้เป็นองค์กรที่ปลอดจากระบบราชการและนักการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ รวดเร็ว และเป็นกลาง มากที่สุด น่าจะเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.