สิริวัฒน์ พรหมบุรี กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ถูกกระหน่ำซัดด้วยข้อร้องเรียนและข้อกล่าวหาในเรื่องของการทุจริตมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา
1 ปีเต็มของการขึ้นไปรับตำแหน่ง ถึงแม้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศึกแย่งเก้าอี้ภายในจะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เรื่องบานปลายขึ้น
แต่บางเรื่องที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องก็มีความเป็นไปได้ จนต้องยอมรับว่า สิริวัฒน์เป็นผู้บริหารที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดรายหนึ่งในปี
2541
ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2541 ที่ผ่านมา สิริวัฒน์ พรหม-บุรี กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์
(ธอส.) ได้ทำหนังสือฉบับหนึ่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ชุดที่มีสมชัย
ฤชุพันธุ์ เป็นกรรมการบริหาร หนังสือฉบับนั้นได้ชี้แจงข้อกล่าว หาซึ่งเป็นเรื่องร้องเรียนของพนักงานของธนาคารที่ได้ยื่นไปยังสำนักงานคณะ
กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) เรื่องราวเหล่านั้นถึงแม้ส่วนหนึ่ง
จะมีที่มาจากปัญหาของศึกสงครามภาย ในองค์กร (ดูล้อมกรอบ) ที่ยังไม่ได้มี
คำตัดสินออกมาชัดเจนว่า ใครถูก ใคร ผิดอย่างไร แต่มันได้สร้างความกดดัน ในการทำงานให้แก่สิริวัฒน์อย่างมาก
ทีเดียว
ท่ามกลางความคลุมเครือของคำตอบ และภาระหนักในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในช่วงเกิดภาวะวิกฤติ
ทางการเงิน กระทรวงการคลังได้มี คำสั่งให้ส่งสิริวัฒน์ไปเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
(วปอ.) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถึงกันยายน 2542 โดยกำหนดวันเรียนอังคาร
พุธ พฤหัส ปล่อยบทบาทในการบริหารงานให้อยู่ในมือของรองกรรมการอาวุโส กรองสิญจน์
กนิษฐสุต แทนเป็นการชั่วคราว
ประเด็นหลักๆ ของเรื่องร้องเรียนที่น่าสนใจ เช่น ในกรณีของข้อกล่าวหาที่ระบุว่าสิริวัฒน์ร่ำรวยผิดปกติ
ในขณะที่ขึ้นมารับตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการเพียง 3 เดือน
เมื่อพลิกดูบัญชีทรัพย์สินทั้ง หมดในชื่อของสิริวัฒน์และสุมาลีผู้เป็นภรรยา
ซึ่งยื่นต่อ ป.ป.ป. นั้นพบว่า มีขุมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินเปล่า ทาวน์เฮาส์
ห้องชุด และรถยนต์ รวมราคาทั้ง หมดประมาณ 41 ล้านบาท และยังมี หนี้สินประมาณ
24 ล้านบาท (รายละเอียดของบัญชีทรัพย์สินอยู่ในตาราง)
สิริวัฒน์ปฏิเสธในข้อกล่าวหาดังกล่าว และถือโอกาสชี้แจงว่าตนและ ภรรยามาจากครอบครัวที่มีฐานะของ
บิดามารดาให้ที่ดินและบ้านเป็นทุนในการสร้างครอบครัว และทั้ง 2 คนก็มี ความก้าวหน้าในฐานะการงานมาโดยตลอด
ปูมหลังของ สิริวัฒน์ นั้นเป็นบุตรพลตำรวจตรีเสวก พรหมบุรี มารดา ชื่อ เจ้าแววดาว
พรหมบุรี (ณ เชียงใหม่) เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เริ่มการทำงาน ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ เมื่อปี 2519 ในปี 2525
ได้เข้าทำงาน ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดูแลหลักทางด้านสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อโครงการมาโดยตลอด
และได้รับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส.เมื่อเดือนตุลาคม
2540
สิริวัฒน์ มีภรรยาชื่อสุมาลี เป็น บุตรนายประสาน นรินทรางกูร ณ อยุธยา
เคยทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นเวลา 21 ปี ตำแหน่งสุดท้าย คือหัวหน้าส่วนพัฒนาพนักงาน
ฝ่ายการพนักงาน ปี 2535 และจากนั้นได้เปลี่ยนมาทำงานตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงาน
บมจ.ตะวันออกไฟแนนซ์ ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ดูแลงานด้านการพนักงานและฝึกอบรม
นอกจากนั้นยังมีประเด็นในเรื่องของสิริวัฒน์ และภรรยาเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการจัดสรรอีกหลายโครงการ
เช่น โครงการแม่รำพึงแลนด์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการ ลำปางสักทอง
ตำบลห้างฉัตร ที่จังหวัด ลำปาง ถือหุ้นและทำการจัดสรรอาคารชุดคริสตัลสแควร์
เกือบทุกโครง การดังกล่าว มีข้อกล่าวหาว่านำลูกค้าปลอมและเอกสารปลอมมากู้เงิน
และยังแจ้งราคาขาย และราคาประเมินสูงเกินความจริงทั้งสิ้น
สิริวัฒน์ได้มีตำแหน่งสำคัญในการดูแลสินเชื่อของธนาคารมาตลอด เมื่อมาลงมือเป็นผู้ทำธุรกิจจัดสรรเสียเอง
จึงเป็นเป้านิ่งให้ถูกโจมตีได้โดยง่าย
เขาเองก็ยอมรับว่าเข้าไปเกี่ยว ข้องกับทุกโครงการที่ร้องเรียนเข้ามา แต่เขาปฏิเสธในทุกเรื่องของข้อกล่าวหาอื่นๆ
เช่น ในโครงการแม่รำพึงแลนด์ นั้นสิริวัฒน์รับว่า โครงการนี้เขาเป็น ผู้ถือหุ้นและเป็นผู้วางโครงการเมื่อช่วงเริ่มต้น
และยื่นขอวงเงินกู้รายย่อยระยะยาวจาก ธอส.จริง แต่ไม่ได้ใช้อิทธิพลใดๆ บังคับให้มีการอนุมัติ
ทุก อย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธอส. ส่วนในเรื่องของลูกค้าปลอมนั้นเขาชี้แจงว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อที่ดิน
73 ราย นั้นเป็นลูกค้าทั่วไป 49 ราย เป็นพนัก งานในฝ่ายประเมิน 24 ราย ซึ่งพนักงานเหล่านี้ใช้เงินกู้สวัสดิการของธนาคาร
และ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2541 มีลูกหนี้ที่จำนองกับธนาคารค้างชำระ 16 ราย
แบ่งเป็นตั้งแต่กู้ไปผ่อนชำระเพียง 6 งวด 1 ราย นอกจากนั้นเป็น การผ่อนชำระมากกว่า
10 งวด
ในโครงการสวนป่าสักทองที่ ลำปางนั้น ภรรยาเป็นเพียงผู้ร่วมลงทุน ด้วยประมาณ
10% เนื่องจากหวังว่าจะ ได้ปันผลกำไรในส่วนที่ดินสวนสักไว้ สัก 2 แปลงให้บุตร
เช่นเดียวกับโครงการคริสตัลสแควร์ สิริวัฒน์เป็นผู้ร่วมลงทุนด้วยก็จริง แต่ไม่ได้เป็นผู้บริหารงาน
นอกจากเรื่องการมีกิจการส่วนตัวแล้ว สิริวัฒน์ก็ยังเจอข้อร้องเรียนทางด้านการบริหารงานอีกหลายเรื่อง
เช่น การทุจริตรับบุคคลภายนอกโดยมีการปลอมแปลงคะแนน การบรรจุและ แต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นพนักงานโดยมิชอบ
และไม่เป็นประโยชน์ต่อ ธอส. การประพฤติเลือกปฏิบัติในการจัดสรรโควตานิติกรรมให้โครงการตนเองและพรรคพวก
และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การแต่งตั้งบริษัทเซ็ดจวิคไทย จำกัด
ให้เป็นบริษัทตัวแทนต่อรองเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ที่มาของเรื่องนี้ก็คือธนาคารอาคารสงเคราะห์
ได้ทำประกันภัยทรัพย์สินของธนาคาร การประกันเงินสด และการประกันภัย อีกหลายประเภทต่อเนื่องกันมานาน
กำหนดอายุกรมธรรม์ปีต่อปี ปรากฏว่ากรมธรรม์ของธนาคารส่วนหนึ่งจะหมดอายุในวันที่
31 ธันวาคม 2541 สิริวัฒน์จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะทบทวนและปรับปรุงรูปแบบกรมธรรม์ใหม่ให้เป็นมาตรฐานสากล
จึงได้แต่งตั้งบริษัทดังกล่าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางด้านประกันภัย
ปัจจุบันธนาคารได้ทำประกันภัยทรัพย์สินอาคาร 1 และอาคาร 2 ของสำนักงานใหญ่
ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 864 ล้านบาท ประกันอัคคีภัยในส่วนของสำนักงานสาขาต่างๆ
ประกันภัยเงินสด ประกันภัยการเสี่ยง ภัยทุกชนิดของเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ
ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และการประกันภัยทรัพย์สินที่ธนาคารซื้อจากการประมูลทรัพย์
ตัวเลขจากการคำนวณเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินทั้งหมด และเงินสดที่ธนาคารจะต้องจ่ายในปี
2541 กรณีไม่เปลี่ยนรูปแบบกรมธรรม์ทำกันตามแบบเดิมๆ จะเป็นจำนวนเงิน ถึง
2,748,342 บาท แต่เมื่อมีบริษัท ที่ปรึกษาเข้ามาทำหน้าที่ตัวแทนแล้ว ปรากฏยอดการจ่ายเบี้ยประกันที่ธนาคารต้องจ่ายจริงเพียง
1,754,259 บาท เท่านั้น จึงเท่ากับธนาคารได้ลดค่าใช้จ่ายไปถึง 994,083 บาท
ดังนั้นข้อร้องเรียนที่มีขึ้นกล่าวหาว่าบริษัทเซ็ดจวิคดำเนินการมีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์จากเบี้ยประกันนั้น
สิริวัฒน์ได้ยืนยันว่าธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้ที่ได้ไม่ใช่บริษัทเซ็ดจวิคได้
ซึ่งถ้ามองกันมุมนี้มุมเดียวต้องยอมรับว่าเขาได้พิทักษ์ ผลประโยชน์ให้กับ
ธอส.จริงๆ เสียด้วย โดยเซ็ดจวิคนั้นก็อาจจะได้ค่าคอมมิชชั่นในฐานะบริษัทตัวแทนไปตามกฎหมายเพียงบางส่วนจากบริษัทประกัน
ภัยเท่านั้น
แต่ลึกๆ ลงไปมันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะนอกจากบริษัทนี้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการประกันทรัพย์
สินของธนาคาร งานชิ้นต่อไปที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ก็คือการเข้าไปเป็น ที่ปรึกษาทางด้านประกันภัยในส่วนของ
ลูกค้ารายย่อยของธนาคารด้วย ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าที่กู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยทุกรายจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยผ่านทาง
ธอส. ทุกปี และก่อนหน้านี้ธนาคารจะส่งงานไปยังบริษัทประกันภัยต่างๆ เลย โดยไม่ผ่านบริษัทตัวแทน
บริษัทประกันภัยทั้งหมดที่รับงานจาก ธอส. ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 21 บริษัทแต่ละบริษัทจะได้รับค่าเบี้ยประกันภัยจาก
ธอส. เฉลี่ยแล้วเดือนละประมาณ 500,000 บาท รวมทุกบริษัทประมาณ 10.5 ล้านบาทต่อเดือน
บริษัทเซ็ดจวิคจะได้ค่าคอมมิชชั่นจากส่วนนี้ตามกฎหมายประมาณ 23% หรือประมาณเดือนละ
2.5 ล้านบาท หรือปีละ 30 ล้านบาท เม็ดเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมกับเงินที่ได้จากค่าคอมมิช-
ชั่นในการเป็นที่ปรึกษาในส่วนของการประกันทรัพย์สินธนาคาร
แต่ไม่ทันที่บริษัทนี้จะเริ่มฟันงานชิ้นที่ 2 ตามที่หวัง จุดสุดยอดของ
เรื่องนี้ก็ถูกเปิดเผยออกมาเสียก่อนว่าผู้บริหารในบริษัทเซ็ดจวิคนี้มี กิตติ
พัฒนพงศ์พิบูลย์ รองผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทยคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นเจ้านายเก่าของสิริวัฒน์
สมัยนั่งเก้าอี้เป็นกรรมการผู้จัดการ ธอส. รวมอยู่ ด้วย นอกจากนั้นก็ยังมี
สมนวล เลาห- ประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทย ประเมินราคา ผู้รับงานประเมินราคาจาก
ธอส. มานาน และผู้บริหารจากกลุ่มบริษัทไพบูลย์ประกันภัย ซึ่งเมื่อกลุ่มผู้บริหารนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใกล้ชิด
สิริวัฒน์ก็ถูกสงสัยทันทีเหมือนกันว่ามีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน ถึงแม้เขาจะออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่รู้เรื่องว่ามีใครเป็นกรรมการอยู่ด้วยก็ตาม
ผู้บริหารบริษัทประกันภัยรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่าทางธนาคารเคยมีการพูดคุยว่าต่อไปจะ
ส่งงานให้กับบริษัทประกันภัยโดยผ่านทางเซ็ดจวิคจริง แต่ต่อมาหลังจาก มีการขุดคุ้ยมาว่าเซ็ดจวิคเป็นบริษัท
ที่มีใครเป็นกรรมการบ้าง เรื่องนี้ก็เลยเงียบหายไป
จริงๆ แล้ว ถึงจะไม่มีบริษัทตัว กลาง ตามประเพณีที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยที่เข้ามารับงานก็มีการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้เจ้าหน้าที่กันตามปกติอยู่แล้ว
แต่เมื่อมีการแบ่งมีการจัดสรร อย่างลงตัว ทุกคนมีส่วนได้กับเงิน ตรง นี้มันก็ไม่มีปัญหา
แต่คราวนี้เมื่อกลาย เป็นปฏิบัติการกินรวบ ไม่ยอมกินแบ่ง โดยตั้งบริษัทตัวแทนขึ้นมาเพื่อรับเงินไปทั้งหมด
เรื่องมันก็เลยอื้อฉาวขึ้น
เรื่องของธุรกิจประกันภัยกับ ธอส. ยังไม่จบ ทุกวันนี้ในขณะที่เบี้ยประกันภัยของทุกบริษัทตกลงอย่างฮวบฮาบ
การประกันการก่อสร้างโครง การใหม่ๆ ทางด้านอาคารที่อยู่อาศัยแทบ จะไม่เกิดขึ้น
แต่ ธอส.ยังเป็นแหล่งเงิน สำคัญที่ยังปล่อยกู้ลูกค้ารายย่อยอยู่เป็นปกติ
และเป็นสถาบันการเงินที่ไม่มีบริษัทประกันภัยในเครือ บริษัทประกันภัยทั้งหมดที่มีอยู่
60 บริษัท จึง ต้องพยายามวิ่งเต้นทุกวิถีทางเพื่อจะเข้าไปรับงานของ ธอส.
ให้ได้ ในขณะเดียวกันกับที่บริษัทประกันภัยต้องการรับงาน สิริวัฒน์เองก็ต้องการทำยอดเงินฝาก
เงื่อนไขหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้นหลังจากที่เขาเข้ามารับตำแหน่งก็คือบริษัทใดที่จะเข้ามารับงาน
จะต้องเปิดบัญชีเงินฝากประมาณ 50-100 ล้านบาท
ว่ากันว่าเป็นธรรมเนียมของบริษัทประกันภัยว่านอกจากเงินฝากจำนวนดังกล่าวแล้ว
ก็จะมีการจ่ายใต้โต๊ะกันอีกจำนวนหนึ่ง อาจจะเป็นสิ่งของหรือเงินสด ในปีที่แล้วมีบริษัทประกันภัยบางบริษัทยอมทุ่มสุดตัวพาเจ้าหน้าที่ของ
ธอส. บางรายไปทัวร์ ยุโรปด้วยซ้ำไป แน่นอนเป็นการลงทุน เพื่อเป็นการกรุยทางสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีไว้
ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนงานที่ส่งเข้าบริษัทนั้นๆ มากขึ้นตามไปด้วยในระยะยาว
นอกจากประเด็นข้อร้องเรียนดังกล่าวที่พุ่งเป้าไปยังสิริวัฒน์โดยตรงแล้ว
สิ่งที่ได้เกิดขึ้นในองค์กรแห่งนี้โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถาบันการเงิน ขาดสภาพคล่อง
เป็นที่รู้กันอยู่ว่าในห้วงเวลานั้นถนนทุกสายได้พุ่งตรงมาพึ่งที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อย
และ ลูกค้าโครงการ การจ่ายค่าลัดคิว และ การจ่ายค่าธรรมเนียมในการวิ่งเต้นในการขออนุมัติสินเชื่อก็เป็นเรื่องที่ธอส.
เองปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้เกิดขึ้น
"ก็ยังดีที่ช่วงนี้การเงินเริ่มคล่อง ขึ้น แบงก์ทั่วไปปล่อยกู้มากขึ้น
ไม่อย่างนั้นแล้ว เม็ดเงินที่จะต้องจ่ายให้ธอส. จะยิ่งเป็นก้อนโตเพิ่มขึ้นๆ"
ผู้ประกอบการรายหนึ่งให้ความเห็น
รวมทั้งเรื่องของบัญชีผี และเอก สารปลอมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ผีเหล่านี้อาจจะเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่มีรายได้
แต่มาขอยื่นกู้ โดยปลอม แปลงเอกสารทุกอย่าง และเจ้าของโครงการที่ยังขายไม่ได้
แต่สร้างลูกค้าปลอมขึ้นมา
"เท่าที่ตรวจพบมีบางหมู่บ้านจ้างวินมอเตอร์ไซค์ทั้งวินเลยมาเป็นลูกค้าผี"
สิริวัฒน์ เคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิด
การแสงหาผลประโยชน์ดังกล่าว ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สิริวัฒน์พยายามเข้ามาแก้ไข
เช่นเรื่องดึงอำนาจ การอนุมัติสินเชื่อของผู้จัดการสาขาเข้ามาสู่ส่วนกลาง
ใช้คอมพิวเตอร์บันทึกคิวการโอน เพื่อไม่ให้เกิดการลัดคิวในการโอน รวมทั้งเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบหลักฐานในการขอกู้มากขึ้น
แต่ในปัญหาส่วนตัวของตนเองนั้น สิริวัฒน์ คงต้องรอเวลาพิสูจน์ตนเอง !!
ในปี 2542 จึงเป็นปีที่หนักอีกปีหนึ่งของสิริวัฒน์ นอกจากปัญหาของเรื่องร้องเรียนต่างๆ
ยังรุมเร้า กดดันอยู่รอบตัว ปัญหาหลักในการบริหารงานก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเผชิญ
โดยเฉพาะในเรื่องของการเพิ่มทุนขึ้น เป็น 3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มี
อยู่เพียง 1.1 หมื่นล้านบาทนั้น เพื่อจะ ได้ใช้เป็นฐานในการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น
โดยตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อใน ปี 2542 ไว้ จำนวน 5-5.5 หมื่นล้าน บาท ในขณะที่มีปัญหาของการขาดทุน
สะสมประมาณ 8 พันล้านบาท มี NPL ประมาณ 14% ก็ต้องเร่งหากลยุทธ์ใน การแก้ไขอย่างเร่งด่วน
สำหรับในปี 2541 ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2541 ปล่อยไปแล้ว
83,000 ราย เป็นยอดเงิน 45,342 ล้านบาท นับว่าต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ประมาณ
8 พันล้านบาทอยู่อีกมาก
ว่าแต่ว่าเขายังจะมีโอกาสได้บริหารงานที่องค์กรแห่งนี้อยู่อีกหรือ ไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม !!