พฤติกรรมของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กล้าแกร่งและดุดันที่แสดงออกมาจนล้น แต่ภายใต้เปลือกที่ดูแข็งกร้าว
ประชัย คือ คนที่เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผู้มองการณ์ไกลที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
มิใช่เพียงช่องทางการทำมาหากินให้กับตัวเอง แต่ยังมีผลสำคัญต่อผู้คนอย่างมาก
หากเป็นคนอื่น แค่นี้คงเพียงพอ แต่ไม่ใช่ประชัย การเดินทางครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้เขาประสบความสำเร็จมากมาย
แต่หลังจากเศรษฐกิจไทยพังทลาย อาณาจักรของเขาก็สั่นสะเทือน คนอย่างประชัย
ถอยหลังแล้วหกล้ม จะชอบหรือเกลียดเขาก็ตาม เขานี่แหละนักสู้ตัวยงขนานแท้คนหนึ่ง
"ปากร้าย ใจดี" ถ้าใครอยู่ในวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย จะต้องนึกถึงชายชื่อ
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
หรือ TPI ปัจจุบันกำลังวุ่นวายอยู่กับการเจรจาประนอมหนี้ให้กับ กลุ่มบริษัทของเขาหลังจากความล่มสลายของเศรษฐกิจไทยเมื่อช่วงปลายปี
2539
เส้นทางสู่ภาวะขาดทุนของกลุ่ม TPI เริ่มขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งไม่เป็นที่แปลกประหลาดใจสำหรับบุคคลภายนอก
เพราะธุรกิจของกลุ่ม TPI จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอย่างมหาศาล ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืม
เมื่อโดนกระหน่ำด้วยพิษต้มยำกุ้งที่โด่งดังไปทั่วโลก กลุ่ม TPI ก็ได้รับผลกระทบพร้อมๆ
กับธุรกิจหลายๆ กลุ่มที่ต้องกลับมานั่งทบทวนการทำธุรกิจของตัวเองใหม่
การรุกด้านธุรกิจของประชัย มีคนมักกล่าวว่า "กล้าแกร่งและดุดัน" เพราะนี่คือสไตล์การบริหารงานของประชัย
อย่างแท้จริง ความโดดเด่นที่มีอยู่ในตัวของประชัย ก็คือ การกระหายความสำเร็จในธุรกิจตัวเอง
ครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า "ในโลกนี้ผมไม่เคยกลัวใคร ขอให้เล่นอยู่ในเกมเท่านั้น"
เมล็ดพันธุ์ที่เจริญงอกงามและแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปจนกลายเป็นกลุ่ม TPI
ถูกนำมาเพาะตั้งแต่ปี 2521 โดยมี ดร.ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ น้องชายประชัย
เป็นโต้โผใหญ่ในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมพลาสติก
ซึ่งช่วงนั้นไม่มีนักลงทุนรายใดกล้าเข้ามาบุกเบิกในอุตสาหกรรมนี้อย่างแท้จริง
มีเพียง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ที่รู้จักกันในฐานะปูนใหญ่ ได้จ้างให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
หรือ IFCT ศึกษาความเป็นไปได้ ผลออกมาปรากฏว่าไทยยังไม่มีความพร้อมในการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ๆ
อย่าง นี้ แต่ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ นำโดย ดร.ประมวล-ประชัย-ประทีป กลับมองว่าถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมปิโตร
เคมีต้องเกิดในประเทศไทย
นี่คือจุดเริ่มต้นของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ที่สร้างสีสันให้กับวงการอุตสาหกรรมไทย
เนื่องจากตระกูลนี้เติบโตมาจากธุรกิจภาคเกษตรกรรม
ประชัย จบปริญญาตรี วิศว-กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพียงปีเดียวได้ทุนโคลัมโบ
ไปศึกษาต่อสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ นิวซีแลนด์ จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโท
วิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ เบอร์กเลย์
แม้วันนี้เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงบทบาทพี่ใหญ่ของกลุ่ม TPI ให้การประนอมหนี้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามที่หลายๆ
ฝ่ายต้องการเห็น หลังจากที่วิกฤติเศรษฐกิจได้เข้าหลอกหลอนประชัยเมื่อประมาณ
2 ปีที่ผ่านมาแต่อีกบทบาทหนึ่งที่เขาตื่นขึ้นมาแล้วต้องคิดถึง คือ ธนาพรชัยค้าข้าว
ซึ่งเป็นกิจการดั้งเดิมของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ เพราะช่วงเวลาตอนเช้าประชัยจะเข้าไปทำงานที่ธนาพรชัยค้าข้าว
แล้วช่วงบ่ายเขาจึงจะเข้ามาทุ่มเทพลังให้กับกลุ่ม TPI บุคคลสำคัญที่ถือว่าเป็นแม่แบบในการทำงานให้ประชัยประสบความสำเร็จอันรวดเร็วหนีไม่พ้นบิดาของเขา
พร เลี่ยวไพรัตน์
การปรากฏตัวของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ เกิดขึ้นจากความโกลาหลช่วงสงครามโลกครั้งที่
2 โดยอาศัยความเป็นเจ้าของโรงสีขนาดใหญ่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการส่งมอบข้าวเปลือกจำหน่าย
ให้กับบริษัทข้าวไทยที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และการผูกขาดอำนาจของนักค้าข้าวที่ตกอยู่ในมือของต่างประเทศ
บุคคลที่กล่าวถึงในการช่วยเหลือรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาข้าว อีกทั้งเป็นผู้จุดประกายให้ภาพของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ส่องสว่างขึ้นมานั่นคือ
พร เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเป็นลูกชายของนายเปี้ยยู้และนางไน้ แซ่เลี้ยว ผู้มีฐานะดีจาก
จ.สระบุรี
ชีวิตของพร เริ่มหักเหเมื่อพ่อแม่ต้องการจะส่งไปศึกษาต่อที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
แต่บังเอิญเกิดสงครามขึ้นมาก่อน พรจึงหมดโอกาสที่จะเป็นนักเรียนนอกจึงตัดสินใจหันมาช่วยเหลือกิจการของครอบครัวที่มีทั้งโรงสีข้าว
โรงฆ่าสัตว์ โรงเหล้า และจากแนวความคิดของพรที่ต้องการขยายกิจการโรงสีข้าวให้มีกำลังการผลิตสูงถึง
40 เกวียน เพื่อต้องการเป็นผู้ผลิตขนาด ใหญ่ในการส่งมอบข้าวให้กับบริษัทไทย
ในที่สุดทัพหน้าของตระกูลอย่างพรก็สามารถนำธุรกิจเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ยังได้ลงไปคลุกคลีในธุรกิจภาคเกษตรอย่างเต็มตัวไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด
มัน ปอ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกในแถบ จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลอย่างพร แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนอะไรมากนัก
แต่ด้วยแนวความคิดที่ต้อง การเป็นนักธุรกิจระดับชาติยังคงแฝงตัวอยู่ในร่างกายของเขาตลอดเวลา
ดังนั้นการขยายงานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ จึงมุ่งขยายฐานมายังกรุงเทพฯ
ด้วยการชักชวนเพื่อนข้างบ้าน คือ ตระกูลแต้พิสิฐพงษ์ ที่ได้โยกย้ายเข้ากรุงเทพฯ
ด้วยการร่วมกันเปิดร้านขายผ้า "ฮ่งเอี้ยะเซ้ง" แถวเยาวราช โดยมีคู่แข่งสำคัญอย่างสุกรี
โพธิรัต-นังกูร เจ้าพ่อสิ่งทอ ที่ได้ตั้งร้าน "กิมย้งง้วน" และในปี
2494 ได้ร่วมกันตั้ง บริษัท ธนาพรชัย จำกัด เพื่อทำธุรกิจ ส่งออกข้าว โดยมีเจ้าสัว
ชิน โสภณ- พณิช เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย
นอกจากนี้ด้วยความเป็นนักธุรกิจมากขึ้นของพร จึงได้เข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มฮ่วยชวนค้าข้าวภายใต้การนำของสมาน
โอภาสวงศ์ โดยตั้งโรงงานทอผ้าลักกี้เท็กซ์ขึ้นมา หลังจากนั้น เป็นต้นมาตระกูลเลี่ยวไพรัตน์
ก็เงียบ หายไปจนกระทั่งหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงร่วมกับเพื่อนๆ ในวงการ
ค้าข้าวตั้ง บงล.คาเธ่ย์ ไฟแนนซ์ ในปี 2509 พร้อมทั้งกระโจนเข้าสู่วงการประกันภัยในปี
2510 ด้วยการเข้าไปเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด
ปัจจุบันมีมาลินี เลี่ยวไพรัตน์ พี่สาวของประชัย เป็นผู้บริหาร
ในปีเดียวกันตระกูลแต้พิสิฐพงษ์ มุ่งสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ร่วมกับตระกูลก่อนันทเกียรติ
ซึ่งพรก็ได้เข้า ไปร่วมลงทุนด้วยการตั้งบริษัท เบทา โกร จำกัด และร่วมลงทุนกับตระกูลเหล่าวรวิทย์
ตั้งบริษัท เซนทาโก จำกัด กระทั่งธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กลุ่มซีพี
อย่างไรก็ตามในปี 2521 แม่ของพรมีความรู้สึกว่าตลาดอาหารสัตว์ยิ่งโต การฆ่าสัตว์ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
จึงขอร้องให้ลูกหลานหยุดการทำธุรกิจอาหารสัตว์ ในที่สุดตระกูลเลี่ยวไพรัตน์
จึงได้ถอนตัวจากธุรกิจอาหารสัตว์ในปีนั้น และพรก็มุ่งมั่น กับธุรกิจของธนาพรชัย
ด้วยความเป็น คนที่ทำธุรกิจแบบ aggressive กล้าที่จะทดลองกับตลาดชนิดที่คนอื่นๆ
ไม่กล้า ส่งผลให้ธนาพรชัยค้าข้าวเติบใหญ่จนกลายมาเป็น 4 เสือแห่งวงการค้าข้าวและผงาดก้าวขึ้นสู่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในประเทศ
และความมั่นคงทางด้านเงินทุนก็มีความแข็งแกร่ง อย่างมาก พร้อมกับการเข้าไปตั้งโรงงานทอกระสอบที่บ้านเกิดซึ่งสามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
ในปีเดียวกันประชัย ก็ได้เดินทางกลับจากอเมริกาเพื่อเข้ามาสานต่อกิจการของบิดา
แม้ว่าประชัยจะจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ความโดดเด่นในการบริหารงานด้านการตลาดมีอยู่ไม่แพ้กัน
และด้วยสายเลือดที่เข้มข้นที่สืบทอดมาจากพร ดังนั้นสไตล์การบริหารงานในธนาพรชัยภายใต้แม่ทัพคนใหม่จึงดูไม่แตกต่างกันมากนัก
เพราะสิ่งที่ประชัยดำเนินการดูไม่ธรรมดา ที่ไม่ธรรมดาชนิดที่ว่านักธุรกิจคนอื่นๆ
ไม่คิดจะกระทำกัน เช่น การเข้าไปประมูลขายข้าวล็อตใหญ่ๆ ได้ติดต่อกันหลายปี
การค้าขายข้าวกับแอฟริกา และแถบตะวันออกกลาง ถือได้ว่าประชัยเป็นผู้สร้างสรรค์
หรือในปี 2530 การสต็อกข้าวถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย แต่ปรากฏว่าธนาพรชัยค้าข้าวสามารถทำกำไรได้หลายร้อยล้านบาท
เพราะตอนที่สต็อก ข้าวราคาเพียง 5,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ขายออกไปราคาถีบตัวขึ้นไปสูงถึง
6,000 บาทต่อตัน
"ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าพวกเรากะเก็งอะไรไม่เคยผิดพลาด" ประชัย เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ
"ผู้จัดการ" และเขาสามารถจัดการเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และนี่คือสิ่งที่ประชัยนำเสนอและสิ่งที่นำเสนอออกมาจะวิ่งผ่านไปสู่สังคมในวงกว้างแทนที่จะจำกัด
อยู่เฉพาะในธนาพรชัยค้าข้าว
ประกอบกับในปี 2521 น้องชายของประชัย คือ ดร.ประมวล ผู้ที่มีดีกรีปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเคมี
จากเอ็มไอที อเมริกา เดินทางกลับมาพร้อมกับโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกที่ไม่มีรายไหนเอาจริงเอาจังกับโครงการดังกล่าว
จากจุดนี้เองที่ทำให้สามพี่น้อง ประชัย-ประมวล-ประทีป ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์
ถือว่าเป็นผู้เปิดประตูไปสู่โลกกว้างในวงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติกอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ดร.ประมวลจะเป็นผู้จุดประกายในโครงการยักษ์ แต่ความเด่นของตระกูลนี้ต้องยกให้ประชัย
ในฐานะพี่ชายคนโต
การพลิกประวัติศาสตร์ครั้งนั้นของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ก็มีอุปสรรคเช่นกัน
โดยเฉพาะแหล่งเงินทุนที่ต้องนำมาสานฝันให้เป็นจริง เนื่องจากสถาบันการเงินในประเทศไม่ให้ความร่วมมือ
เพราะยังมองไม่เห็นอนาคตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และหลังจาก ประชัยอกหักจากการปฏิเสธของสถา
บันการเงินในประเทศ ทำให้เขาต้องออกไปหาแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ ด้วยการส่งจดหมายกว่า
60 ฉบับถึงสถาบันการเงินทั่วโลก ในที่สุดผู้ที่มอง เห็นความสำคัญโครงการของประชัย
คือบริษัทเงินทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐบาล เยอรมนี Kreditanstalt Fur Wiederaufbau
(Kfw) ปล่อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยีของบริษัท Imhausen ในวงเงิน
2,000 ล้านบาท นี่คือจุดเริ่มต้นในการเปิดประตูไปสู่การเงินระหว่างประเทศของประชัยอีกด้วย
และในเวลาต่อมา TPI ได้กลาย เป็นลูกหนี้เอกชนรายใหญ่ที่สุดของ Kfw หลังจากโครงการผลิตเม็ดพลาสติกของ
TPI เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ขณะที่สถาบันการเงินในประเทศเริ่มรู้สึกเสีย
ดายขึ้นมา
ปี 2525 โรงงานผลิตเม็ดพลาส ติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE :
Low Density Polye-thylene) แห่งแรกในไทยและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกตั้งขึ้นด้วยเงินทุนเริ่มแรก
300 ล้านบาท และในปี 2529 ได้ขยายโรงงานและเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง
(HDPE : High Density Polyethylene) ด้วยโครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยให้ไทยลดการนำเข้าพลาสติกได้จนสามารถประหยัดเงินตราของประเทศได้ถึงปีละ
300 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมถือหุ้นรายหนึ่งของ บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ
(NPC) ทั้งโครงการ NPC 1 และ NPC 2
การตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกของประชัยหลายๆ คนบอกว่าเป็นการตัดสินที่ถูกเหมือนกับการบริหารที่โลดโผนในธนาพรชัยค้าข้าวของเขา
ซึ่งได้สร้างผลประกอบการ ให้กิจการในเวลาอันรวดเร็ว เช่นเดียว กับโรงงานเม็ดพลาสติกที่ภายหลัง
2 ปีให้หลังผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างมาก
จากการบริหารงานของประชัยที่แบบถึงลูกถึงคนจนบางครั้งเพื่อนร่วมงานตามไม่ค่อยทัน
แต่ทุกคนเข้าใจว่านี่คือตัวจริง เสียงจริง ของประชัยและคือตัวแทนของกลุ่ม
TPI ในช่วงนั้นอาณาจักร TPI กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ครหาว่านี่คือการผูกขาดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ยากที่ใครจะเข้ามาต่อกรด้วย และแล้วสิ่งที่ประชัยไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้น
เมื่อปูนซิเมนต์ไทยประกาศจะเข้ามาด้วยการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิด
HDPE, LDPE และ MDPE โดยการตั้งบริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด หรือ TPE ซึ่งถือว่าเป็นการเข้ามาเหยียบจมูกของประชัยชนิดที่ประชัยเคยให้สัมภาษณ์กับ
"ผู้จัดการ" ว่า "อยู่ๆ ปูนใหญ่คิดจะมาลงทุนเม็ดพลาสติกได้อย่างไร"
จากสาเหตุนี้เองที่มองกันว่าเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ประชัยตัดสินใจรุกคืบเข้าไปในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์อย่างเต็มตัว
เพราะในอดีตเขามี บริษัท โพลีน จำกัด ที่ได้นำปูนซีเมนต์เข้ามา จำหน่ายในประเทศ
โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL โดยประชัยให้ TPI เข้าไปถือหุ้น
49% ซึ่งการเข้ามาในวงการปูนซีเมนต์ของประชัยครั้งนั้น เป็นการประกาศต่อสู้เชิงธุรกิจกับปูนใหญ่ด้วยการประกาศว่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญกับปูนใหญ่ให้ได้
ด้วยการตั้งเป้ากำลังการผลิตไว้ 10 ล้านตัน ต่อปี ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตได้แล้ว
9 ล้านตันต่อปี ขณะที่การปะทะกันของสองค่ายนี้ก็มีให้เห็นออกมาอย่างต่อเนื่องและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนลิ้นกับฟัน
ประชัยไม่ได้เก่งเพียงแต่ในด้าน ลีลาและสำบัดสำนวนเท่านั้น ผลงานแต่ละชิ้นที่ได้ฝากไว้กับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็มีให้เห็น
เช่น การประชา-สัมพันธ์ในทีพีไอ โพลีน ในช่วงแรกๆ ใช้เครื่องหมายการค้าผู้ชายขี่หลังสิงโตแล้วเล็งปืนไปที่นกอินทรี
และนกอินทรี ก็เป็นเครื่องหมายการค้าของ บมจ.ปูนซี เมนต์นครหลวง หรือ SCCC
ที่รู้จักในนามปูนกลาง ต่อมาประชัยก็ได้ยอมเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าเป็นตัวอักษรทีพีไอ
นอกจากนี้ประชัยเข้าไปสร้างธุรกิจน้ำมันด้วยการเข้าไปสร้างโรงกลั่นน้ำมัน
ซึ่งประชัยถือว่าจำเป็นต้องเกิดเพราะจะสามารถช่วยเหลือรัฐบาลในด้านที่จะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง
จึงได้ตั้งบริษัทน้ำมันทีพีไอ จำกัด โดย TPI ถือหุ้น 99.99% และยังเปิดสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ
นั่นทำให้ประชัยภูมิใจอย่างยิ่งที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายแรกของคนไทย
100%
ปัจจุบันกลุ่ม TPI จึงมีธุรกิจหลักอยู่ 3 ธุรกิจ คือ ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์
และพลังงาน ตลอดช่วงปี 2535 เป็นต้นมา กลุ่ม TPI ได้มีการเคลื่อนไหวการระดมทุนทั้งจากผู้ถือหุ้นและจากสถาบันการเงินอย่างหนัก
อย่างในปี 2535 TPIPL เรียกชำระทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 1,933.33 ล้านบาท กลางปี
2536 TPIPL ออกหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาท ปี 2537 TPIPL ออกหุ้นกู้จำนวน 999.99
ล้านบาท ส่วน TPI กู้เงินจำนวน 300 ล้านบาท หรือระดมทุนในรูปแบบใหม่ในสัญญาเงินกู้แปลงสภาพแบบไม่มีหลักประกัน
(Subordinate Convertible Loan) มูลค่า 2,400 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจากการที่
TPIPL ขาดทุนจากสัญญาอนุพันธ์ที่ซื้อบริการของ UBS ในสิงคโปร์ในปี 2538 ส่งผลกระทบมาถึง
TPI อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เหตุผลของประชัยในการระดม ทุนอย่างหนักเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเปิดเสรีทุกอย่าง
ดังนั้นการอยู่รอดได้ในการแข่งขันระดับประเทศจำเป็นต้องมีการระดมทุนสูง มิฉะนั้นจะไม่สามารถสู้กับบริษัทใหญ่ๆ
ได้ และนอกเหนือจากการระดมทุนแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2538 TPI ได้เข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และครั้งนั้นประชัยได้เงินประมาณ 9,185 ล้านบาท
ในที่สุดจากการขยายงานอย่างบ้าคลั่งตามสไตล์ประชัย เพราะเขามองเศรษฐกิจของโลกดีเกินไป
ซึ่งก็ไม่ ผิดที่เขาจะคิดอย่างนั้นเพราะหลายๆ คนเชื่อว่าศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจะเคลื่อนย้ายมาที่เอเชียและในศตวรรษที่
21 เอเชียจะกลายเป็นผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจโลก แต่ในที่สุดภาพมายาเหล่านั้นได้ลอยหายเป็นอากาศธาตุเมื่อ
ปลายปี 2539 ส่งผลสะเทือนมาถึงกลุ่ม TPI อย่างหนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความผันผวนทางด้านราคารุนแรง
เพราะราคาของผลิตภัณฑ์จะปรับขึ้นลงตามภาวะอุปสงค์อุปทานในตลาดโลก และโครงการขยายปิโตรเคมี
ครบวงจรของบริษัทได้เริ่มเดินเครื่อง ในช่วงที่ธุรกิจอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลงและ
ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ด้านการเงินในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่อุต-สาหกรรมปูนซีเมนต์เกิดภาวะล้นตลาด
(over supply) อย่างหนัก ผลพวงเหล่านี้ทำให้ TPI ขาดทุนสุทธิด้วยตัวเลข 69,261
ล้านบาท TPIPL ขาดทุน สุทธิ 26,088 ล้านบาท ในปี 2540
การขาดทุนครั้งนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ในชีวิตการทำงานของประชัย แม้ว่าในอดีตเขาจะต่อสู้มาอย่างโชกโชนทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
แต่นั่นเป็นช่วงของการเริ่มต้นเท่านั้นแต่ในครั้งนี้ เมื่อทุกอย่างกำลังลงตัวและพร้อมที่จะกระโจนลงไปในธุรกิจระดับประเทศ
เมื่อมีเหตุการณ์เข้ามาฉุดให้ประชัยต้องกลับมาทบทวนใหม่ทำให้เขารู้สึกไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจของไทยพอสมควร
ดังนั้นประชัยจึงไม่สงวนคำพูดหลังจากอาณาจักรเขาดิ่งเหว ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่ต้นเหตุ
"ที่ธุรกิจผมขาดทุนครั้งนี้ไม่ใช่เพราะตัวธุรกิจไม่ดี แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม"
เพราะโดยธรรมดาแล้วผลิตภัณฑ์พลาสติกจะเติบโตประมาณ 1.6-2 เท่าของ GDP ของประเทศ
ถึงวันนี้ประชัยกับอาณาจักร TPI จำต้องประกาศการปรับโครงสร้างหนี้ที่เขาก่อขึ้นมา
ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ทุกอย่างจะเรียบร้อยเพราะ เจ้าหนี้ที่มีอยู่ในมือเขาตอนนี้มีถึง
148 รายทั่วโลก ด้วยจำนวนหนี้มูลค่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามจากการที่ต้องมานั่งเคลียร์ปัญหาเงินกู้ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าบัลลังก์ของประชัย
จะสั่นสะเทือนพอสมควร เมื่อมีเจ้าหนี้ บางรายต้องการเปลี่ยนผู้ทรงอิทธิพล
ใน อาณาจักร TPI จากเดิมเป็นของประชัย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ประชัยได้ประกาศ
ในใจอย่างเงียบๆ แล้วว่าจะไม่ยอมให้ใครเข้ามาสวมบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์แทน
เขาอย่างแน่นอน