บุญคลี ปลั่งศิริ บ่มจนได้ที่


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเป็นมืออาชีพคนหนึ่งที่เข้ามาสู่องค์กรชินวัตร ในช่วง ของการเสาะแสวงหามืออาชีพ เพื่อสร้างระบบการจัดการบริหารงานองค์กรอย่างเป็นมาตรฐานในระดับสากล บุญคลีก้าวเข้ามาในชินวัตร ด้วยตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย สำหรับคนที่ผ่านชีวิตการทำงานในรัฐวิสาหกิจมาเกือบตลอดชีวิต

อันที่จริงแล้ว บุญคลีเป็นคนหนึ่งที่มีเส้นทางที่เรียบง่าย ไม่โลดโผน เฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในรัฐวิสาหกิจ ทำให้เขาจึงไม่เคยผ่านพ้นความยากลำบากในการต่อสู้ในเชิง ของธุรกิจมาก่อน

หลังจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุญคลีบินลัดฟ้าไปต่อระดับปริญญาโท สาขาวิศวะคอมพิวเตอร์ ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ อิลินอยส์ จากนั้นกลับมาทำงานเป็นนายช่างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 3 ปี และย้ายมาเป็นนายช่างโท ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จากนั้นก็มาทำงานที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกมาทำงานที่ชินวัตร คือ ผู้อำนวยการกองโทรศัพท์ ระหว่างประเทศ

แต่สำหรับชินวัตรการมาของบุญคลีเท่ากับเป็นการเชื่อมต่อสายสัมพันธ์ของชินวัตรไปยังการสื่อสารฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สำคัญอีกแห่ง ที่ชินวัตรยังไม่สามารถ เจาะทะลวงเข้าไปได้มาก เพราะค่ายยูคอมเกาะเกี่ยวไว้อย่าง เหนียวแน่น ซึ่งบุญคลีก็เป็นผู้บริหารหนุ่มที่อัศวิน เสาวรส ผู้ว่าการสื่อสารฯ ให้ความไว้วางใจ และเอื้อเอ็นดูไม่น้อย

ทักษิณ ชินวัตรรู้ดีว่า ช่วงเวลาของการเสาะแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ของชินวัตรผ่านพ้นไปแล้ว สัมปทานสื่อสารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ ไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้มากเท่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ดาวเทียมไทยคม วิทยุติดตามตัว บริการสื่อสารดาต้าเน็ทที่ชินวัตรถืออยู่ในมือ

สภาพการแข่งขันที่กำลังเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปิดเสรีของกิจการโทรคมนาคม ภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและไอเอ็มเอฟ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชินวัตรนับจากนี้เป็นต้นไป

การรักษาและสร้างประโยชน์จากธุรกิจที่มีอยู่ในมือ คือ ภาระอันยิ่งใหญ่สำหรับองค์กรอย่างชินวัตรในช่วง 5-6 ปีมานี้

การเปิดเสรีโทรคมนาคม คำง่ายๆ นี้มีผลต่อการปฏิวัติโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมลงอย่างสิ้นเชิง ระบบสัมปทานแบบดั้งเดิมจะล่มสลายไป พร้อมกับอำนาจหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่ดูแลกิจการโทรคมนาคม จะถูกแทนที่ด้วยการลงทุนของบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติที่พรั่งพร้อมด้วยเงินลงทุน เทคโนโลยี และเครือข่ายสื่อสารอยู่ทั่วโลก

การมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางการเมืองของทักษิณที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของชินวัตรในเวลานี้

และมีความหมายโดยตรงต่อโครงสร้างการบริหารใหม่ของชินวัตรในปัจจุบัน

โครงสร้างใหม่ของกลุ่มชินวัตรครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีนัยที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มชินวัตรหลายประการด้วยกัน

โครงสร้างการบริหารใหม่ของชินวัตรมุ่งไปที่การลดความสลับซับซ้อนการทำงาน ธุรกิจที่ไม่ทำกำไรจะถูกยุบทิ้ง เช่น คอมพิวเตอร์ และธุรกิจต่างประเทศ คงเหลือไว้แต่ธุรกิจที่ทำรายได้

ธุรกิจที่เหลืออยู่ จะถูกจัดแบ่งออกเป็น 4 สายธุรกิจ ประกอบไปด้วย ธุรกิจสื่อสารไร้สาย สายธุรกิจดาวเทียม สายธุรกิจสื่อโฆษณา และสายธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจทั้ง 4 สายงาน จะมีการบริหารงาน การจัดการ และพนักงานที่แยกออกจากกันเป็นเอกเทศ จะต้องรับผิดชอบรายได้ ผลกำไรขาดทุนเอง ไม่มีหน่วยงานสนับสนุนที่จะร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายให้อีกต่อไป เพราะหน่วยงานสนับสนุนจะถูกยุบลง

ธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มนี้ จะวัดผลด้วยการสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในสายธุรกิจเดียวกันทั้งในและต่างประเทศเพื่อ รองรับกับการแข่งขันที่จะเปิดเสรีในอนาคต

ผลที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างใหม่นี้ก็คือ เป็นครั้งแรกที่ชินวัตรเลย์ออฟพนักงาน

ชินวัตรก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ขยายองค์กรรองรับกับงานที่ขยายตัวออกไป แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ องค์กรที่อ้วนท้วนก็ถูกลดไขมันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ก่อนหน้านี้ชินวัตรทำแค่ลดเงินเดือน แต่ไม่ใช่สำหรับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ พนักงานส่วนหนึ่งจะต้องถูกออกเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่

"เท่ากับเป็นการกวาดบ้านของตัวเอง และให้รางวัลแก่คนดี เราจะประเมินผลงานของทุกคนใหม่หมด เพื่อที่ต้องการบอกว่า คนเลวต้องออกไป คนไม่มีผลงานจะอยู่ไม่ ได้ คนดีเท่านั้นที่จะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม" แหล่งข่าวกล่าว

ทักษิณ และผู้บริหารชินวัตรมีความเห็นตรงกันก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจของไทยครั้งนี้จะทอดระยะเวลาออกไปอีกหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2542 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจจะตกต่ำที่สุด

"มันมีหลายทฤษฎีในเวลานี้ แต่สิ่งที่เราเห็นตรงกันคือ ตัวเลขของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ของธนาคาร ยังคงเพิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตรงจุดนี้เราเชื่อว่า เศรษฐกิจจะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง" แหล่งข่าวในชินวัตรกล่าว

ภายใต้โครงสร้างการบริหารใหม่นี้ บุญคลี คือ เจ้าของเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารกลุ่มชินวัตรและกรรมการผู้จัดการ บริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะต้องรับผิดชอบกำหนดนโยบายและเป้าหมายของธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม

นั่นเท่ากับว่า บุญคลี ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นแม่ทัพคนใหม่ของชินวัตรอย่าง แท้จริง

แต่เป็นแม่ทัพในยุคที่ชินวัตรกำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบาก จากทั้งสภาพของเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก และจาก การแข่งขันเสรีที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจโทรคมนาคมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย ที่บุญคลีจะรั้งเก้าอี้สำคัญตัวนี้ จากผลงานการต่อสัญญาสัมปทานโทรศัพท์สมุดหน้าเหลือง หรือ ไดเร็คเทอรีส์ กับองค์การโทรศัพท์ฯ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่สามารถเอาชนะบริษัททีพีพีของชาติชาย เย็นบำรุง ลูกน้องและคู่แค้นเก่าของทักษิณ

รวมทั้งการต่ออายุสัญญาสัมปทานของเอไอเอส เพื่อ แลกกับการที่ทศท.จะให้สัมปทานพีซีทีแก่ทีเอ รวมทั้งกรณีของการรวมกิจการระหว่างไอบีซีของชินวัตร และยูบีซี
ของทีเอ

ผลงานทั้งหมดนี้ คือ ใบการันตีที่บุญคลีได้รับจากทักษิณ โดยมีเก้าอี้แม่ทัพเป็นรางวัล

และนับจากนี้ จะเป็นระยะเวลาของการพิสูจน์ฝีมือของการเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.