3 ธุรกิจในมือของคนหนุ่มชื่อ "จิรพงษ์ สกุลชาติ"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

คนหนึ่งคนไม่ควรทำธุรกิจ เพียงธุรกิจเดียว เพราะการทำเพียงธุรกิจเดียวจะมีความเสี่ยงสูง และประสิทธิภาพของงานที่ได้จะต่ำ" เป็นมุมมองของนักธุรกิจหนุ่มวัย 30 ต้นๆ จิรพงษ์ สกุลชาติ ผู้เป็นเจ้า ของธุรกิจที่แตกต่างกันถึง 3 ธุรกิจ หากแต่สามารถเสริมประสานกันได้อย่างลงตัว ภายใต้การบริหารที่แบ่งออกเป็น 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ศรีอริยเทพ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ วอเตอร์ทรีทเม้นท์ ของโรห์ม แอนด์ ฮาสส์ เคมีคัล (ประ-เทศไทย) จำกัด หรือ ROHM AND HASS CHEMICAL (THAILAND) LTD. ที่ร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ และบริษัท ศรีสักเทพ จำกัด ที่ลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนชีวิตของเขาเองทำธุรกิจรับเหมางานตกแต่งภายใน, ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ "เซนจูรี่" เฟอร์ นิเจอร์ระดับหรู แบรนด์ดังจากอเมริกา และตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ CRABTREE & EVELYN โดยทั้ง 2 บริษัทนี้เริ่มต้นพร้อมๆ กันเมื่อประมาณต้นปี"40 ขณะนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 2 ของธุรกิจแล้ว

จิรพงษ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรม (เครื่องกล) รั้วจามจุรี และเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้านการขายที่บริษัท ดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) อยู่ประมาณปีกว่าๆ และย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่บริษัท เอซีเค เอ็นจิเนียริ่ง อีกประมาณ 3 ปี จึงไปศึกษา ต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ชิคาโก จากนั้นก็กลับมาร่วมงานกับบง.เอกธนกิจ ที่ฝ่ายวาณิชธนกิจอยู่ได้ประมาณปีครึ่ง เขาก็อำลาจากเอกธนกิจด้วยเหตุผลที่ว่า "ทนการเมืองไม่ไหว" ช่วงนั้นก็ประมาณปี 2534-2535 ซึ่งเป็นช่วงที่เอกธนกิจกำลังเริ่มต้นเบ่งบานเต็มที่ และหลังจากนั้นไม่ถึง 5 ปีก็ดับสนิท หลังจากที่ออกจากเอกธนกิจ เขาก็มาร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติ โรห์ม แอนด์ ฮาสส์ บริษัทเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลกได้อีกประมาณ 3 ปี ทางบริษัทแม่ที่อเมริกาต้องการให้เขาไปประจำที่อเมริกา แต่เขาไม่อยากไปจึงขอต่อรอง โดยขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยแทน ซึ่งทางอเมริกาก็ยินยอม จึงเป็นที่มาของบริษัท ศรีอริยเทพ ดังกล่าว ขณะเดียวกันระหว่างที่ออกจากโรห์มแอนด์ฮาสส์และมาก่อตั้งบริษัทศรีอริยเทพร่วมกับเพื่อนๆ เขาก็ได้เปิดร้านเฟอร์นิเจอร์ขึ้นที่สยามดิสคอฟเวอรี่เซ็นเตอร์ โดยก่อนหน้านั้นเขาได้ทำธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในเป็นอาชีพเสริมมาตลอด และร้านเฟอร์นิเจอร์ถูกเปิดขึ้นมาเพื่อเป็นการนำทางให้แก่ธุรกิจตกแต่งภายในของเขา

"เราเป็นเพียงผู้รับเหมารายเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จักแต่ ฝีมือเราดี และหากจะเปิดเป็นร้านรับทำบิลท์อินอย่างเดียวก็คงไม่มีใครสนใจ เราจึงต้องดึงเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังเกรด A มาเป็นสินค้านำร่องให้แก่เรา เวลาเราไปคุยกับนักออกแบบตกแต่งภายใน เราก็อาศัยเฟอร์นิเจอร์เป็นตัวนำเข้าไป เขาก็เปิดกว้างที่จะคุยกับเรามากขึ้น พอคุยกันถูกคอเราก็เสนองานตกแต่งภายในของเราเข้าไป" นี่คือกลยุทธ์การทำธุรกิจของชายหนุ่มคนนี้

ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม จิรพงษ์เฝ้าดูผลประกอบการของธุรกิจอย่างใกล้ชิด และแม้ว่ารายได้ของ 2 บริษัทนี้จะแยกกันโดยเด็ดขาด แต่ก็มีสิ่งที่เสริมกันอยู่ในเชิงการทำงาน คือ ในขณะที่บริษัท ศรีสักเทพ ซึ่งรับเหมางานตกแต่งภายในได้รับงานมา 1 งาน เขาก็จะนำเสนองานการ จัดระบบชลประทานสำหรับสวนภายในบ้านด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ศรีอริยเทพอีกทางหนึ่ง และเขากำลังจะขยายธุรกิจของศรีอริยเทพเข้าสู่การรับเหมาทำระบบ ชลประทานของพืชไร่ให้แก่เกษตรกรที่สนใจด้วย เนื่องจากเขาคิดว่าในยุคที่เศรษฐกิจซบเซานี้ อุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีการชะลอการขยายตัวลงไปมาก ในขณะที่ภาคการเกษตรได้รับความสนใจมากขึ้น เขากับเพื่อนๆ จึงมีแนวคิดที่จะทำโครงการนี้อย่างจริงจังในปีนี้

"ผมมีความฝันที่จะทำไร่เป็นของตนเอง แต่ผมยังมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก การที่บริษัทของเราก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการเกษตรก็จะเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้งานนี้ได้อย่างดีที่สุด" เขากล่าว

ขณะเดียวกัน งานเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายในของศรีสักเทพเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง บางเดือนบริษัทมีรายได้เข้ามามาก บางเดือนก็มีเข้ามาน้อยหรือไม่มีเลยทำ ให้พนักงานของเขากังวลกับสถานภาพของตนเอง เกรงว่าจะถูกลดเงินเดือนหรือลอยแพได้ทุกเมื่อ จึงเป็นหน้าที่ของเขาที่จะหาหนทางสร้างความแข็งแกร่งและมั่นคงทางธุรกิจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เขาคิดว่า ศรีสักเทพน่าจะมีอีกสักธุรกิจ ที่มีรายได้ที่แน่นอนสม่ำเสมอทุกเดือน และธุรกิจใหม่ที่จะทำนั้นจะต้องเป็นส่วนเสริมและเอื้อซึ่งกันและกันกับธุรกิจที่มีอยู่ได้ด้วย และสาเหตุนี้เองที่เป็นที่มาของเคาน์เตอร์ CRABTREE & EVELYN ที่ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม และร้าน CRABTREE & EVELYN เต็มรูปแบบที่ชั้น 2 สยามดิสคอฟเวอรี่เซ็นเตอร์ เป็นสาขาแรกในประเทศไทย

"CRABTREE & EVELYN" เริ่มก่อตั้งในปี 1970 โดยเปิดเป็นร้านขายสบู่ที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ในนามของ THE SOAP BOX ณ เมือง CAMBRIDGE มลรัฐ MASSACHUSETTS ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้ CRABTREE & EVELYN กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงหลากหลายประเภท ได้แก่ TOILETTRIES ,FRAGRANCES และ FINE FOOD ชื่อดัง แห่งอังกฤษ และนับเป็นความภูมิใจสูงสุดของ CRABTREE & EVELYN ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากเจ้าชายแห่งเวลส์ ให้เป็นผู้จัดหา TOILETTRIES ในส่วนพระองค์ ทำให้ CRABTREE & EVELYN ได้รับตรา ROYAL WARRANT จากราชวงศ์อังกฤษ เพื่อเป็นเกียรติประวัติในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย TOILETTRIES ที่มีคุณภาพในประเทศอังกฤษ โดยตรานี้ได้ถูกตรึงอยู่เหนือทางเข้าของร้าน CRABTREE & EVELYN บนถนน KENSINGTON CHURCH ในลอนดอน

ความโดดเด่นของ CRAB-TREE & EVELYN อยู่ที่บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะดุดตาที่มีการคิดค้นและพัฒนาในลอนดอน ส่วนขบวนการผลิตนั้นทำในหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอเมริกา โดยผลิตภัณฑ์ส่วนนี้จะมีส่วนผสมและกรรมวิธีการผลิตแบบสูตรโบราณดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของ CRABTREE & EVELYN และปัจจุบัน ร้าน CRABTREE & EVELYN มีสาขามากกว่า 270 แห่งใน 37 ประเทศ ทั่วโลก

จากชื่อเสียงที่มีมานานและคุณภาพที่เป็นเลิศของผลิตภัณฑ์นี้ จิรพงษ์ในฐานะที่เป็นลูกค้าคนหนึ่งของ CRABTREE & EVELYN จึงคิดที่จะเป็นตัวแทนจำหน่าย CRABTREE & EVELYN ในประเทศไทย และเขาคิดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะมาช่วยเสริมรายได้ จากการขายเฟอร์นิเจอร์และงานตกแต่งภายในได้อีกทางหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น เป็นการสร้างงานให้แก่พนักงานที่มีอยู่ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเหตุผลสำคัญที่เขากล้าเปิดร้านนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซานี้เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านของเขาต่ำมาก จากการใช้ธุรกิจและวัตถุดิบที่มีอยู่ในเครือให้เป็นประโยชน์คือ บริษัท ศรีสักเทพเป็นผู้ตกแต่งภายในของร้านเองทั้งหมด โดยไม่ต้องเสียค่าจ้างให้ผู้อื่น

"หลายคนอาจจะคิดว่าไม่น่าเปิดในช่วงนี้ แต่ผมกลับคิดว่า ช่วงนี้เป็นเวลาในการทำดีลที่ค่อนข้างดี เพราะการต่อรองด้านค่าเช่าก็จะดีกว่าในช่วงเศรษฐกิจดี และที่สำคัญเราทำเฟอร์นิเจอร์เอง ทำให้ค่าใช้จ่าย ลดลงมาก ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ" เป็นความเห็นของจิรพงษ์ และในภาวะเช่นนี้หากเป็นคนอื่นทำอาจจะมีต้นทุนในการตกแต่งร้านประมาณสาขาละ 1-1.5 ล้านบาท เป็นหลักล้าน แต่ที่เขาทำเองกลับมีต้นทุนตกแต่งร้านเพียงหลักแสนเท่านั้น

เป็นที่สังเกตว่า ธุรกิจแต่ละประเภทของจิรพงษ์จะมีกลุ่มลูกค้าระดับ B ขึ้นไปเป็นกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เขาไม่ต้องกังวลกับราคามากนัก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการคุณภาพและความพึงพอใจเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการ ตัดสินใจ

"ถ้ามองในแง่กลยุทธ์ทางการตลาด สินค้าที่เป็น NICHE MARKET จะทำการตลาดง่ายกว่า MASS MARKET เพราะ MASS MARKET จะมีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีวอลุ่มใหญ่และมีความยืดหยุ่นด้านราคามากกว่า ในขณะที่ NICHE MARKET จะไม่สนใจเรื่องราคา กลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะมีความพร้อมในทุกด้าน แต่ตลาดนี้ก็ไม่ใช่ตลาดใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าเราคงเปิดสาขาของ CRABTREE & EVELYN สูงสุดประมาณ 8-9 สาขาทั่วประเทศก็เพียงพอแล้ว" จิรพงษ์กล่าว

หัวใจการทำธุรกิจของจิรพงษ์คือ "ธุรกิจจะใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญ สำคัญที่จะต้องมีความมั่นคงในทุกสภาวะ" ทุกย่างก้าวของการทำธุรกิจของเขาจึงต้องมีการวางแผนและดำเนินงานอย่างรอบคอบ และการมีแนวทางการดำเนิน ธุรกิจที่มุ่งมั่นเช่นนี้ ทำให้เขากล้าที่จะกล่าวว่า "พนักงานของผมทุกคนจะจนจะรวยไม่สำคัญ สำคัญที่แต่ละคนพอกินพอใช้และสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างไม่มีวันสะดุด" ทั้งๆ ที่เขาเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่นาน ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่มีใครคาดคิด และอาจเป็นความโชคดีของเขาที่ยังไม่ทันได้ขยายธุรกิจมากมายใหญ่โต แตกต่างจากอีกหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมานานหลายปี และกำลังประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้ต้องลอยแพพนักงานจำนวนมาก ผลพวงจากการเติบโตของธุรกิจแบบกลวงๆ

"การขยายธุรกิจของผม ถ้าไม่มี SYNERGY ผมจะไม่ทำ ผมจะดูว่าธุรกิจที่ผมจะขยายออกมาสามารถใช้ RESOURSE ร่วมกับธุรกิจอื่นที่มีอยู่ได้ ผมถึงจะทำ อย่าง CRABTREE & EVELYN เป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากในด้านการตกแต่งหน้าร้าน เพราะต้องมี OUTLET เยอะมาก หากเปิด 10 ร้าน ร้านละ 1 ล้าน ก็ปาเข้าไป 10 ล้านแล้ว ซึ่งตรงนี้ถ้าผมไม่ได้ทำเฟอร์นิเจอร์เองผมก็คงไม่เปิดหรอก อีกอย่างคือ ทรัพยากรบุคคล ถ้าเราทำเพียงธุรกิจเดียว และธุรกิจนั้นคำนวณออกมาแล้วว่าใช้คนเพียง 1.5 คนก็ครอบคลุมงานทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงเราต้องจ้างคน 2 คน ซึ่งหากเราเพิ่มมาอีกธุรกิจหนึ่งให้ 2 คนดูแลหรืออาจจะจ้างคนเพิ่มอีก 1 คน เป็น 3 คน เพื่อดูแล 2 ธุรกิจ อย่างนี้จะถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า" จิรพงษ์อธิบาย และกลยุทธ์การทำธุรกิจนี้เขาก็มิได้สงวนไว้ใช้เพียงคนเดียวเท่านั้น หากธุรกิจอื่นที่มีลักษณะรายได้เช่นเดียวกันนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ความละเอียดรอบคอบและไม่ทำอะไรที่เกินตัว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.