อมเรศ ศิลาอ่อน มักมีท่าที และคำพูดที่แข็งกร้าวแสดงถึงความ เชื่อมั่นในการกระทำของตนเองมากที่สุดมาโดยตลอด
นับตั้งแต่การเข้ามาทำงานเพื่อชาติด้วยการรับตำแหน่ง ประธานกรรมการ องค์การ
เพื่อการปฎิรูประบบสถาบันการเงินหรือปรส. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเพื่อดำเนินการขายสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง
56 แห่งที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ นำเงินที่ได้ไปใช้หนี้ให้เจ้าหนี้ของกิจการเหล่านี้
แต่ในวันที่รู้ผลการประมูลเบื้องต้นการจำหน่ายสินเชื่อธุรกิจและการจำหน่ายสินทรัพย์
โดยผ่านกระบวนการเสนอราคาเป็นกรณีพิเศษมูลค่า 3.71 แสนล้านบาท เมื่อกลางเดือนธันวาคม
2541 นั้น อมเรศ ลดท่าทีดังกล่าวลง สื่อมวลชนหลายฉบับเขียนว่า อมเรศแถลงข่าวน้ำตาคลอ
การประมูลในครั้งนั้นนับว่าเป็นการประมูลครั้งใหญ่ที่สุดของปรส. อมเรศเองหวังว่าหากราคาการประมูลออกมาสูงก็เท่ากับว่าเขาทำหน้าที่ครั้งนี้ได้สมบูรณ์แบบที่สุด
แต่เมื่อผลปรากฏออกมาว่าส่วนใหญ่ราคาที่เสนอมาต่ำกว่าราคากลาง ที่ปรส.กำหนดเอาไว้มากทำให้อนุมัติการขายได้แค่
9 กลุ่มจากทั้งหมด 49 กลุ่ม ได้เงินแค่ 1.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น นั่นคือสิ่งแรกที่พลิกล็อกและสร้างความผิดหวังให้กับอมเรศ
อย่างมาก
ความผิดหวังในเรื่องที่ 2 ก็คือใน 4 บริษัทที่ชนะการ ประมูลในครั้งนี้ได้แก่
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทเงินทุนธนชาติ บริษัทพระนครยนตรการ
เป็นบริษัทคนไทย 3 บริษัท และเป็นบริษัทต่างชาติ 1 บริษัทคือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โกลบอลไทย
ความหวังที่ว่าจะได้ดึงเงินนอกเข้ามาก็ต้องสลายไปอีก !
ส่วนกลุ่มนักลงทุนนอกรายใหญ่ที่ยื่นการประมูลเข้ามา เช่น เดอะ พาวิลเลียน
ฟันด์ แอล.แอล.ซี., บริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ เรียลเอสเตท ฟันด์, บริษัท จี.อี.แคปปิตอล
ล้วนแล้วแต่เสนอราคามาต่ำเกินไปทั้งสิ้น
แน่นอนอมเรศนอกจากจะรู้สึกผิดหวังแล้วเขาต้องเสียหน้าอย่างเป็นที่สุด และเป็นครั้งแรกที่เขายอมรับกับสื่อมวลชนว่าผลของการประมูลในครั้งนี้ประสบความล้มเหลวจริงๆ
และย้ำว่าเป็นความผิดของเขาเพียงคนเดียว
ว่ากันว่าก่อนที่จะออกแถลงข่าวได้วันนั้นอมเรศมีความกดดันและเครียดอย่างมาก
เพราะหลังจากปิดรับซองเมื่อเวลาบ่ายโมงของวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งมีผู้ยื่นประมูลเข้ามา
12 บริษัท เขาใช้เวลาทั้งคืนในการพิจารณาท่ามกลาง การรอคอยฟังผลอย่างใจจดจ่อของผู้ยื่นประมูล
บรรดาลูกหนี้ และสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติเกือบ 100 ชีวิตที่มารอฟังผลตั้งแต่
9 โมงเช้าของวันที่ 16 ธันวาคม โดยมีกำหนด การแถลงข่าวเวลาบ่าย 3 โมงตรง
จนถึงเวลา 5 โมงเย็นการประชุมระหว่างอมเรศและกรรมการปรส. ก็ยังไม่เรียบร้อย
แน่นอนตัวเลขที่ยื่นเข้ามาของต่างชาติซึ่งได้กดราคาลงต่ำสุดๆ นั้น ทำให้เขาต้องคิดหนัก
เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวหนาหูว่าปรส.ขาดวิธีการประมูลที่ดี เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาฮั้วกันกับนักลงทุนชาวไทย
โดยกลุ่มทุนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นแค่เพียงนายหน้าประมูลสินทรัพย์ให้ลูกหนี้เดิมของ
56 ไฟแนนซ์ เพื่อหวังกำไรจากค่าหัวคิวเท่านั้น โดยจับมือลูกหนี้เซ็นสัญญาเพื่อซื้อหนี้ตัวเองกลับคืนภายหลัง
ถ้าอมเรศยอมอนุมัติให้ราคาที่ต่ำเกินไปพวกนั้น หลุดออกมา เขาก็ต้องเป็นเป้าถูกโจมตีไม่รู้จบอีกแน่นอนเช่นกัน
เวลาผ่านไปจนถึง 5 โมงเย็น ช่างภาพและนักข่าวหลายคนเริ่มกระวนกระวายว่าจะส่งข่าวไม่ทัน
และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือวันนั้นเป็นวันแข่งฟุตบอลเอเชี่ยนเกมส์ระหว่างทีมชาติไทยกับคูเวต
ในที่สุดเจ้าหน้าที่ของปรส.ออกมาบอกว่า อมเรศจะใช้เวลาอีกนานในการพิจารณา
ขอเลื่อนการแถลงข่าวไปเป็นวันที่ 17 ธันวาคม 2541 แทน
แต่จากนั้นให้หลังเพียง 20 นาทีอมเรศก็ให้เจ้าหน้า ที่เรียกเพจเจอร์ตามนักข่าวมาร่วมฟังแถลงข่าวทันที
ทางออกของอมเรศก็คือยอมเสียหน้าออกมาประกาศ ว่าขายไปได้เพียงแค่จำนวนดังกล่าว
ส่วนที่เหลือบางกลุ่มจะต้องมีการเจรจาต่อรองราคาและปรับวิธีการขาย ใหม่ แน่นอนว่าการเจรจาคงจะสำเร็จ
ไปเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ในส่วนที่เหลือคงต้องจัดกลุ่มประมูลกันใหม่อีกรอบ
ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของปี 2542 และน่าจะก่อนที่จะมีการประมูล
ในลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งคราวนี้บบส.
หรือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ของสถาบันการเงินมีสิทธิเข้าร่วมประมูลด้วย
รัฐบาลเองก็ต้องจำให้ดีว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 ที่ผ่านมานั้น
ปรส.ได้เอาอสัง-หาริมทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์มาประมูลขายเป็นครั้งแรกจำนวน 319
รายการ วันนั้นทำการประมูลไปได้เพียง 197 รายการเท่านั้น ยังเหลืออีก 122
รายการ ซึ่งสินค้าเหล่านั้นกำลังรอการประกาศประมูลรอบ 2 และ 3 ต่อไปเหมือนกัน
แน่นอนเวลา ที่ทอดออกไปเนิ่นนานเท่าไหร่คงหาคนซื้อยากขึ้น และราคาก็คงยิ่งต่ำลง
เช่นกัน นี่ยังไม่รวมถึงมีทรัพย์สินบางส่วนที่ยังเหลืออยู่ แต่ยังไม่ได้นำออกมาประมูลเลยเมื่อรวมมูลค่ากันแล้วประมาณ
5 แสนล้าน
คราวนี้เมื่ออมเรศยอมรับความผิดพลาด ก็คงต้องรีบทบทวนวิธีการทำงานของปรส.อย่างเร่งด่วน
แทนที่ในที่สุดจะโบ้ยงานนี้ไปให้บบส.รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเท่ากับโยนภาระโครมใหญ่ให้กับประชาชนผู้เสียภาษีนั่นเอง
และความหวังของท่านที่ว่าหน้าที่ใกล้จะเสร็จสิ้นอย่างที่ให้สัมภาษณ์บ่อยๆ
คงเป็นไปได้ยากเสียแล้ว นอกจากจะน้อยใจชิงลาออกเสียก่อนเองเพราะ ในที่สุดภารกิจของปรส.ที่รับมาครั้งนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง