วิชัย พันธุ์โภคา มาและจะไปแบบเงียบ เงียบ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

คนไทยใจฝรั่ง คือ สมญานาม ที่คนในวงการการเงินของไทยตั้งให้กับชายชื่อ วิชัย พันธุ์โภคา กรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการ ใหญ่ธนาคารเดรสเนอร์ เอจี สาขาประเทศไทย ที่มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ที่แฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

ชีวิตส่วนตัวของผู้บริหารแบงก์ เดรสเนอร์ เอจี คนนี้หลายๆ คน ไม่ค่อยรู้จักเพราะวิชัย ไม่ค่อยเปิดเผยความเป็นส่วนตัวของเขาให้สา-ธารณชนรับทราบเท่าไหร่ รู้แต่เพียง ว่าเขาเป็นผู้บริหารแบงก์ เดรสเนอร์ เอจี เท่านั้น

"ผมเข้ามาทำงานในเดรสเนอร์ เอจี สาขาประเทศไทยแบบเงียบๆ เพราะไม่รู้ว่าจะประกาศไปทำไม" วิชัย กล่าวถึงการเริ่มเข้ามาในวงการการเงินสั้นๆ แต่ได้ใจความ

เดือนสิงหาคม ปี 2507 วิชัย เดินทางไปศึกษา ณ เยอรมนี ในระดับ High School ที่ เนินแบร์ก เมืองโคโลญจ์ จากนั้นเดือนมิถุนายน ปี 2509 ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโคโลญจ์ และศึกษาต่อที่เดียวกันจนได้รับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ในปี 2515

ชะตาชีวิตการทำงานของวิชัย ดูเหมือนว่าจะถูกกำหนดให้ทำงานที่แบงก์เดรสเนอร์ เอจี เพียงเแห่งเดียว เพราะตั้งแต่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เขาก็วนเวียนอยู่ในอาณาจักรแบงก์เดรสเนอร์ เอจี เป็นส่วนใหญ่ เริ่มจากเป็น Traineeship ในสำนักงานใหญ่ที่แฟรงเฟิร์ต จากนั้นในปี 2518 เข้าทำงานในฝ่าย Risk management/Credit department จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน ปี 2527 เป็นครั้งแรกที่วิชัยเดินออกจากแบงก์เดรสเนอร์ เอจี ที่เขาผูกพันมานานถึง 11 ปี เพื่อไปรับงานในแบงก์กรุงเทพ (BBL) สาขาเมืองฮัมบรูก ประเทศเยอรมนี ฝ่าย Head of Loan & Credit department แต่ทำงานได้เพียง 4 ปี ก็ทนคิดถึงองค์กรเก่าไม่ได้จึงกลับมารับตำแหน่ง Assistant Vice president & Head of Credit Analysis ที่แบงก์เดรส เนอร์ เอจี สำนักงานใหญ่ ในปี 2530

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ประเทศเยอรมนีนานถึง 28 ปี ในที่สุดวิชัย ได้รับความไว้วางใจจากแบงก์ เดรสเนอร์ เอจี สำนักงานใหญ่ให้เข้ามาทำงานในแบงก์เดรสเนอร์ เอจี ประจำประเทศไทยในปี 2535 และปีต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จากนั้นในปี 2538 แบงก์ เดรสเนอร์ เอจี ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นธนาคารสาขาประจำ ประเทศไทย จากที่เคยเป็นเพียงระดับตัวแทน ทำให้วิชัย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการใหญ่ธนาคารเดรสเนอร์ เอจี สาขาประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

นอกจากจะทำงานในธนาคารเดรสเนอร์ เอจี แล้วเขายังเข้าไปเป็นคณะกรรมการในฐานะกรรมการหอการค้า
เยอรมัน-ไทย, คณะกรรมการ บริษัท Siemens Business Communication Systems และเป็นสมาชิกในสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

นี่คือเส้นทางการศึกษาและการทำงานของชายชื่อวิชัย ที่โลดแล่นอยู่ในวงการการเงินในประเทศไทยอย่างเงียบๆ หลายคนที่เคยสัมผัสหรือได้คุยกับวิชัย จะรู้สึกได้เลยว่าบุคลิกของเขาเป็นคนที่ชอบให้ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร ในเชิงวิชาการ แต่ถ้าเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวหรือการดำเนินงานของแบงก์เดรสเนอร์ เอจี เขาจะไม่ค่อยเปิดเผยมากนัก

"ช่วงที่กลับจากเยอรมนีใหม่ๆ เพื่อนหลายคนเป็นห่วงผมในเรื่องการทำธุรกิจในประเทศไทยเพราะเขามองว่ายังมือใหม่อยู่ในขณะนั้น จึงได้เตือนให้ระวังเล่ห์เหลี่ยมของ นักธุรกิจไทย เช่น เวลาจะปล่อยสินเชื่อให้กับใครก็โทรมาปรึกษาก่อนเพราะกลัวว่าผมจะไม่ทันคน แต่เดี๋ยวนี้เพื่อนๆ ทุกคนเลิกเป็นห่วงแล้ว" วิชัย กล่าว

สาเหตุที่เพื่อนๆ ของเขาเป็นห่วงในเรื่องนี้นอกจากจะเป็นมือใหม่แล้ว การเข้ามาในวงการการเงินของวิชัยเป็นไปอย่างเงียบเชียบ ซึ่งแปลกกว่าผู้บริหารรายอื่นๆ ที่เข้ามาแบบอึกทึกครึกโครม แต่ปัจจุบันวิชัย คือ นักบริหารมืออาชีพที่คนในวงการการเงินให้การยอมรับ

อย่างไรก็ตามด้วยบุคลิกที่เรียบง่ายนั้น แต่อีกด้านหนึ่งของวิชัย กลับเป็นนักบริหารที่สร้างความตกตะลึงให้กับหลายๆ คนได้เหมือนกัน ด้วยความมีใจรักชาติ ดังนั้นสิ่งไหนที่เห็นว่าประเทศไทยเสียเปรียบหรือสิ่งไหนที่ได้เปรียบเขาจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง การปรากฏ ตัวของวิชัย พันธุ์โภคา ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการและเห็นตัวจริงของเขามากขึ้น คือ การออกมาสนับสนุนการขุดคอคอดกระ ในครั้งนั้นเขามองว่าถ้าประเทศไทยสามารถ ขุดสำเร็จจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล

"เวลาจะออกมาพูดอะไรผมต้องมีเหตุและมีผลประกอบกัน ถ้ามีเหตุด้านเดียวแต่ไม่มีผลหรือข้อสรุปให้เห็นจริงแล้วจะไม่ออกมาพูด" วิชัย กล่าว

ล่าสุดได้ออกมาโจมตีการทำงานขององค์กรการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) ในเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะ เรื่องการประนอมหนี้ที่เขามองว่าแบงก์พาณิชย์ไทยเอาเปรียบ ขณะที่แบงก์ต่างประเทศได้สูญเสียความเป็นธรรมอย่างมาก อีกทั้งยังวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ ปรส. อย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะกับอมเรศ ศิลาอ่อน ประธาน ปรส. ที่ทั้งสองบุคคลมักจะมีความคิดแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เช่น วิชัย แนะนำว่าควรจะนำแนวทางการแก้ปัญหาจากสวีเดนและอเมริกามาใช้ในประเทศไทย แต่อมเรศ สวนกลับทันควันว่าประเทศไทยไม่สามารถนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ได้เพราะความเสียหายต่างกันอย่างมาก หรือในเรื่องการขายสินทรัพย์ ของ ปรส. วิชัย วิจารณ์ว่า ราคาประมูลสินทรัพย์ของ ปรส. ไม่ถึง 50% ของมูลค่าจริง ความจริง อยู่ที่ระดับ 15-20% เท่านั้น

ผลจากการตีแผ่การทำงานของ ปรส. จนทำให้มีข่าวลือว่ากระทรวงการคลัง จะแต่งตั้งให้วิชัย เป็นประ-ธานตรวจสอบการทำงานของ ปรส. แต่เรื่องนี้เขาเล่าว่า "ไม่เป็นความจริงและไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ให้ข่าว" ดังนั้นเมื่อคำพูดออกจากริมฝีปากของตัวเขาเองแล้วย่อมเป็นที่แน่ชัดว่าประธานตรวจสอบการทำงาน ปรส. ไม่ใช่ชายชื่อ วิชัย อย่างแน่นอน

ปัจจุบันชีวิตการทำงานของ
วิชัย ยังคงทุ่มเทให้กับแบงก์ที่เขารัก แม้ว่าจะมีงานข้างนอกบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเป็นวิทยากรตามคำเชิญขององค์กรต่างๆ

"ผมทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ถ้ามีคนเชิญผมไปพูดก็จะไม่ปฏิเสธ ถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่คนภายนอก เพราะช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน" นั่นหมายความว่า ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวก็จะเห็นวิชัย ออกมานำเสนอแง่มุมที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคมโดยรวมแม้ว่าจะไม่เป็นที่ถูกใจต่อหลายๆ คนอยู่ก็ตาม

"แต่ถ้าหากเมื่อใดที่เศรษฐกิจ ดีขึ้นแล้วผมก็จะออกไปอย่างเงียบๆ เช่นเดียวกับตอนที่ผมเข้ามาใหม่ๆ โดยคิดไว้ว่าจะไปสอนหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนที่มีคนสงสัยว่าจะไปเล่นการเมืองนั้นบอกได้เลยว่าไม่มีความคิดเลย" วิชัย กล่าวตบท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.