ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ยังมีผู้ มองเห็นโอกาสการลงทุนและขยายกิจการ ทั้งนี้
CNN- ผู้นำในการรายงานข่าวโทรทัศน์ของโลก โดย มร.คริส เครเมอร์ ประธาน CNNI
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CNN ดูแลรับผิดชอบการผลิตข่าวนอกสหรัฐฯ ประกาศขยายตัวด้านการผลิตราย
การเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นในปี 2542 นี้
CNNI เริ่มเข้ามาดำเนินการผลิตรายการข่าวในเอเชีย-แปซิฟิกเมื่อ 3 ปีก่อน
และจนถึงปัจจุบัน CNNI ใช้งบประมาณเพื่อการเพิ่มรายงานข่าวจากระดับภูมิภาคไปแล้วทั้งสิ้น
30 ล้านเหรียญฯ และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ CNNI จะเพิ่มการผลิตรายการข่าว
รายงานธุรกิจ และสารคดีต่างๆ ที่เป็นมุมมองและความคิดของคนเอเชีย รายการด้านเทคโนโลยี
ด้านการท่องเที่ยว การกีฬา ผลิตขึ้นโดยศูนย์ผลิตรายการของ CNNI ที่ฮ่องกงมากขึ้น
สำหรับในปีที่ผ่านมา แผนการผลิตรายการจากมุมมองของคนในท้องถิ่นได้ทำให้
CNNI ยุโรป มีผู้ชมเพิ่มขึ้นและมีรายได้จากการโฆษณาเพิ่มขึ้นถึง 56% ขณะที่ในเอเชียนั้น
CNNI มีรายได้จากค่าโฆษณาในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% และมีลูกค้าผู้ลงโฆษณาใหม่มากกว่า
25 รายซึ่งล้วนแต่เป็นพาร์ตเนอร์โฆษณาข้ามชาติรายใหญ่ๆ ทั้งสิ้น โดยลูกค้าไทยที่ลงโฆษณา
CNN ได้แก่ การบินไทย กรมส่งเสริมการส่งออก บีโอไอ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ส่วนลูกค้าในเอเชียอื่นๆ ได้แก่ สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์, สายการบินคาเธย์
แปซิฟิก, ซัมซุง, น้ำมันคาลเท็กซ์ และฮุนได เป็นต้น
ปัจจุบัน CNNI เข้าถึงผู้ชมจำนวน 29 ล้านครัวเรือนในเอเชียแปซิฟิก และเป็นสถานีเครือข่ายข่าวที่เสนอข่าวเด่นจากสำนักงานข่าวของ
CNN 36 แห่งทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง การจัดโปรแกรมต่างๆ ได้ใช้มุมมองจากท้องถิ่น
ในการนำเสนอข่าวต่างประเทศ โดย CNNI มีการแบ่งการกระจายเสียงและภาพออกเป็น
4 ช่องตามลักษณะภูมิภาคคือ เอเชียแปซิฟิก, ยุโรป/ตะวันออกกลาง/แอฟริกา, ละติน
อเมริกา และสหรัฐฯ
ในเอเชียแปซิฟิก CNN มีสำนักข่าว 7 แห่ง(กรุงเทพฯ ปักกิ่ง ฮ่องกง จาการ์ตา
นิวเดลี โซล และโตเกียว) และมีศูนย์ผลิตรายการ 1 แห่งที่ฮ่องกง มีพนักงานในภูมิภาคนี้ทั้งหมด
54 คน
มร.เครเมอร์กล่าวว่า "เมื่อ CNNI เปิดตัวครั้งแรกในปี 1995 เนื้อหาสาระที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสหรัฐอเมริกา
ในปัจจุบันเนื้อหา 90% ของรายการผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อมุ่งให้บริการแก่ผู้ชมทั่วโลกเป็นหลัก
ส่วนอีก 10% เป็นรายการ CNN ที่ได้รับความนิยมจากสหรัฐฯ เช่น รายการ แลรี่
คิง ไลฟ์ เป็นต้น" ทั้งนี้ ข่าวและเรื่องราวในสหรัฐฯในขณะนี้ถือว่าน้อยลงมากเมื่อเทียบกับเมื่อ
2-3 ปีก่อน ซึ่งเป้าหมายของเครเมอร์คือการปรับปรุงให้ CNNI เป็น "เครือข่ายเพื่อภูมิภาคนี้"
เขากล่าวด้วยว่า "ในอนาคตเรากำลังมองว่าจะเพิ่มช่อง การออกอากาศ (channel)
ในเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ตอนนี้เรามีแค่หนึ่งช่องเท่านั้น สิ่งที่เราจะทำคงเหมือนกับที่เราทำในยุโรป
เพราะผมมองว่าเอเชียมีความแตกต่างในเรื่องวัฒนธรรม ภาษา มีประเทศจำนวนมากในภูมิภาคนี้
และยังมีความต่างกันในอีกหลายรูปแบบ รวมทั้งมุมมองที่คนท้องถิ่นมองโลกภายนอกด้วย
ผมจะผลิตช่องรายการที่เป็นเรื่องเฉพาะเอเชียและทันต่อความเป็นไปในภูมิภาคนี้"
หากจะพิจารณาคู่แข่งของ CNN ในภูมิภาคนี้แล้ว ก็มีอยู่ 2 รายหลักๆ คือ
CNBC และ BBC ซึ่งทั้งสองรายเป็นคู่แข่งกับ CNN ในหลายระดับ เช่น แข่งขันในเรื่อง
general news and information channel ส่วน CNBC นั้น แข่งขันในเรื่องธุรกิจ
และ general information programming
ในส่วนของตัวเครเมอร์นั้น เขามีประสบการณ์การทำงานกับ BBC มา 25 ปีเต็ม ซึ่งเขากล่าวว่าเวลาส่วนมากที่
BBC เป็นช่วงที่ดีของเขา และเขาเปรียบเทียบสององค์กรนี้ว่า มีสิ่งที่เหมือนกันหลายอย่างในสองหน่วยงานนี้เช่น
เรื่องโครงสร้างองค์กร ทั้ง CNN และ BBC มีโครงสร้างหน่วยงานที่ใหญ่มาก พวกเขาให้ความสนใจกับความเป็นไปในโลก
ให้ความสำคัญกับวิชาสื่อสารมวลชน การเก็บรวบรวมข้อมูลข่าว ใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อทำการรวบรวมข้อมูลข่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก
และส่งนักข่าวไปทำงานในสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทุกแห่งทั่วโลก
ในแง่จุดต่างนั้น เครเมอร์เห็นว่า BBC มีระบบการทำงานที่เชื่องช้าคล้ายหน่วยงานราชการ
เป็นบริษัทที่ใหญ่ มากมีพนักงานถึง 23,000-24,000 คน และมีแหล่งรายได้มา
จากค่าธรรมเนียมที่ผู้ชมรายการจ่าย ไม่ได้มาจากลูกค้าผู้ลง โฆษณา ซึ่งที่มาของรายได้เช่นนี้ถือเป็นจุดอ่อนของ
BBC
เครเมอร์กล่าวถึงรายได้ของ CNNI ว่าในปี 1998 นี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ
200 ล้านเหรียญ และในปี 1999 ก็คาดว่าจะไม่ต่ำกว่านี้ เพราะรายได้มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี
อย่างรายได้โฆษณาในปี 1998 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจเอเชียตกต่ำลงนั้น
ปรากฏว่ารายได้ค่าโฆษณายังได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เครเมอร์กล่าวว่าครึ่งหนึ่งของรายได้มาจากค่าโฆษณาและอีกครึ่งหนึ่งมาจากค่าธรรมเนียมสมาชิก
(subscribtion)
เขายังได้กล่าวถึงจุดแข็งของ CNNI ในภูมิภาคนี้ว่า "เราอยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานานและเรามีโครงสร้างของสำนักข่าวที่ดี
คนอื่นอาจจะไม่ค่อยอยากลงทุนในยามนี้ แต่ เราต้องการลงทุนขยายตัว เพราะเราเป็น
world broadcast นอกจากนี้เอเชียแปซิฟิกยังเป็นแหล่งรายได้อันดับสองของ CNNI
ถัดมาจากยุโรป และยังเป็นภูมิภาคที่จะขยายได้อีกมาก (fantastic potential)
แม้ว่าในตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีนัก แต่เราก็มีความตั้งใจที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ลงทุนในเรื่องการเก็บข้อมูล ข่าว (news gathering) ผมขอบอก ว่าเราสนใจภูมิภาคนี้
เราจะลงทุนอย่างต่อเนื่องและขยายปริมณฑลการครอบคลุมข้อมูลข่าวสารด้วย"
CNNI มองหาโอกาสที่จะร่วมลงทุนในการผลิตรายการต่างๆ จากภูมิภาคนี้ด้วย
เครเมอร์กล่าวว่าเขากำลังดูลู่ทางเช่นนี้อยู่เหมือนกับที่ CNNI เพิ่งเปิดสถานีภาคภาษาสเปนไปเมื่อต้นปี
1998 ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับ แคเนล พลุส-บริษัทสื่อสารท้องถิ่นรายใหญ่ที่มีฐานในฝรั่งเศสและสเปน
นอกจากนี้ก็มีการร่วมลงทุนกับบริษัทสื่อสารในเยอรมนี เพื่อออกอากาศรายการภาษาเยอรมัน
ทั้งนี้ CNNI มีฐานธุรกิจในยุโรป 60%-65% ในเอเชีย 25% และในละตินอเมริกา
10% ซึ่งมี 2 ภาษาคืออังกฤษและสแปนิช