ว่าด้วยคุณอมเรศและบทบาทปรส.


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

อมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) กลายเป็นบุคคลที่ถูกจับตามองมากที่สุดในสังคมธุรกิจเวลานี้ และภาพพจน์ของปรส.ภายใต้การนำของเขาก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ขณะที่ผู้คนภายนอกต่างมองว่าการดำเนินงานตลอด 1 ปีเต็มที่ผ่านมาของปรส.ล้มเหลวผิดพลาดโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการประมูลขายสินทรัพย์ครั้งล่าสุดเมื่อ 15 ธันวาคม 41 มูลค่ารวม 3.88 แสนล้านบาท (สินเชื่อธุรกิจ 42 กลุ่มมูลค่า 3.71 แสนล้านบาท และสินเชื่อผ่านกระบวนการเสนอราคา เป็นกรณีพิเศษอีก 3 กลุ่มมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท) ปรากฏว่ามีการประมูลออกไป 1.55 แสนล้านบาท และประมูลได้ในวงเงิน 3.9 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็น 25.16% ของยอดเงินต้นคงค้างของสินทรัพย์

ทั้ง 15 กลุ่ม (แยกเป็น 11 กลุ่มแรกได้เงินประมูล 1.54 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 33.5% ของยอดเงินต้นคงค้าง และ 4 กลุ่มหลังที่บริษัทโกลด์แมน ซาคส์ (เอเชีย) ไฟแนนซ์ ประมูลไปด้วยเงิน 2.36 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 21.52% ของยอดเงินต้นคงค้าง ซึ่งกรณีหลังนี้จ่ายเงินสด 90% อีก 20% ที่เหลือจะจ่ายในลักษณะ transferable notes หรือหน่วยลงทุนที่โอนสิทธิได้)

แรกสุดหลังการประกาศผลการประมูลนั้น อมเรศยอมรับว่าเขาประเมินพลาดไป เพราะผู้เข้าประมูลเสนอซื้อในราคาที่ต่ำมาก อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน อมเรศ "คนเดิม" ก็กลับมาพร้อมกับมาดเดิมๆ ที่มีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่าเขามีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติยิ่งนัก

ทั้งนี้การประกาศผลการประมูลในรอบแรกเมื่อ 16 ธ.ค.นั้น ผู้ประมูลให้ราคาในระดับ 30-43% ของยอดเงินต้นคงค้าง ส่วนการประกาศผลถัดมาอีกรอบหนึ่งในวันที่ 18 ธ.ค.หลังจากที่มีการเจรจารอบสองกับผู้เข้าประมูลบางกลุ่ม ซึ่งเดิมเสนออัตราผลตอบแทนระหว่าง 18-25% ปรากฏว่าต่อรองได้มากขึ้นเป็น 30-40%

อมเรศกล่าวถึงความล้มเหลวเพราะขายได้จำนวนน้อยแค่ 18% แต่ในเรื่องราคา เขารับได้ เขากล่าวว่า "ราคาพอรับได้ ประมาณ 37% ใกล้ 40% ส่วนที่ใช้ได้เราก็รับได้ ที่บอกว่าล้มเหลวเพราะขายได้จริง 18% แต่เรามาเจรจารอบสอง สัดส่วนที่ขายได้ทั้งหมดขึ้นมาเป็น 41% เราก็ยังไม่พอใจ แต่จะบอกว่าล้มเหลวคงไม่ได้หรอก เพราะขายได้เกือบครึ่ง"

นั่นเท่ากับว่า ปรส.ก็ยังสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ ตามที่ได้เคยประกาศว่า "ประสบความสำเร็จในการสร้างตลาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เกิดขึ้น เป็นตลาดที่มีความ น่าเชื่อถือและมีระดับการแข่งขันในประเทศไทยดังที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน"

ปรส.คงจะประเมินความสำเร็จของตัวเองในหลายๆ ด้าน แม้ว่าภาพพจน์ภายนอกที่มีต่อประชาชนจะขัดแย้งกับความเชื่อมั่นที่มีต่อตัวเองของหน่วยงานนี้ก็ตามที ในเบื้องแรก อมเรศอาจจะหวั่นไหวต่อการคาดหมายของคนในวงธุรกิจที่มีต่อการทำงานของเขา แต่จุดยืนของเขามั่นคงยิ่งนัก นั่นเองที่ทำให้อมเรศคนเดิมหวนกลับมาอีกครั้ง

เขากล่าวไว้ในรายการสัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุแห่งหนึ่งว่า "ในการทำงานกลไกต่างๆ เราพร้อมที่จะปรับได้ แต่หลักการปรับไม่ได้ หลักการที่จะให้คนล้มบนฟูกเรายอมไม่ได้ หลักการที่จะให้ลูกหนี้มาซื้อไปถูกๆ เรายอมไม่ได้ หลักการที่จะทำให้ผลประโยชน์คนบางกลุ่ม แล้วให้คนส่วนใหญ่เสียเปรียบ เรายอมไม่ได้ คนต้องรู้จักแยกว่าอะไรคือหลักการ อะไรคือรายละเอียด รายละเอียดผมพร้อมที่จะปรับ ผมทำงานให้ส่วนรวม ผมไม่ได้ทำงานเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะทำให้ทุกคนทุกกลุ่มถูกใจไม่ได้ แต่ว่าผมเชื่อมั่นสิ่งที่ผมทำดีที่สุด สูงสุดสำหรับส่วนรวม"

การให้คะแนนผลการทำงานของอมเรศใน 1 ปีที่ผ่านมาในปรส. เป็นเรื่องประเมินยากยิ่ง

สมมติว่าปรส.ได้คนที่ไม่มีบุคลิกแข็งกร้าวและยึดมั่นหลักการอย่างอมเรศมาดำเนินงาน จะเกิดอะไรขึ้นในการนำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ 56 ไฟแนนซ์มาขาย ปรส.จะสามารถสร้าง ตลาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีความน่าเชื่อถือและมีระดับการแข่งขันให้เกิดขึ้นเช่นนี้ได้หรือไม่

แต่ข้อที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ ปรส.เคยกล่าวเสมอว่านักลงทุนที่มีกำลังจะเข้ามาประมูลสินทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์นั้นเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในครั้งนี้ ปรากฏว่าสถาบันในประเทศก็เข้ามาประมูลกันหลายราย แม้วงเงินจะน้อยกว่าบริษัทยักษ์อย่างเลแมนฯ โกลด์แมนฯ และจีอี ก็ตาม

มันก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าเม็ดเงินในประเทศก็ยังมีอยู่ และพร้อมที่จะเข้ามาประมูล ซึ่งสถาบันในประเทศเหล่านี้ก็ให้วงเงินประมูลสูงตั้งแต่รอบแรก

สิ่งที่อยากจะพูดถึงต่อไปคือ ในการประมูลในปีนี้ที่จะอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เสี่ยงหรือ บบส.สามารถเข้าร่วมประมูลได้นั้น อมเรศกล่าวไว้ว่าสินทรัพย์ที่เหลืออยู่กว่า 5 แสนล้านบาทนี้ อยู่ในวิสัยที่ บบส.ซึ่งมีเงินทุน 15,000 ล้านบาทและสามารถกู้ได้ถึง 180,000 ล้านบาท สามารถรับไปได้ "บบส.อยู่ในฐานะที่จะซื้อสินทรัพย์ของปรส.ที่ถือไว้ทั้งหมด ถ้าหาก การประมูลครั้งหน้าเสนอราคาระหว่าง 35-40% ในแง่นี้เรามีเงินพอที่จะแก้ปัญหา 56 ไฟแนนซ์แล้ว"

เช่นนี้แล้ว บทบาทของปรส.อาจจะจบยุติลงได้ หากอมเรศต้องการราคาที่ 35-40% และบบส.สามารถหาเม็ดเงินมาได้จริง มันเป็นการประเมินที่ผิดพลาดแต่ต้นหรือไม่ ที่เห็นว่าเม็ดเงินจากต่างชาติจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ โดยเข้ามาซื้อสินทรัพย์ในประเทศซึ่งอยู่ในสถานะที่เจ้าของไม่อาจเจรจาต่อรองอะไรได้มาก เพราะเศรษฐกิจล่มจม

บบส.น่าจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและชูบทบาทให้เด่นมากกว่าที่ผ่านมาเสียที หากจะมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวตัวจริง!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.