อนาคตไฟแนนซ์ไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาวะวิกฤติสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้เกิดการปิดกิจการบริษัทเงินทุนจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ในเวลานั้น ซึ่งในช่วงปี 2541 ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นภาพการพยายามที่จะขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนเหล่านี้ เพื่อนำไปชำระคืนแก่เจ้าหนี้ในปี 2542 นี้

ส่วนกิจการเงินทุนที่เหลืออยู่อีกประมาณ 24 ราย ต่างพยายามที่จะรักษาสถานะการดำเนินธุรกิจของตนเองเอาไว้ แม้จะต้องเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจที่โหดร้ายมากก็ตาม ทั้งนี้มีปัจจัยแวดล้อมในเชิงลบต่างๆ รุมกระหน่ำและสั่นคลอนฐานะกิจการของบริษัทเงินทุนเหล่านี้ค่อนข้างมาก และคาดว่าปัจจัยเหล่านี้ ก็จะยังคงคุกคามบริษัทเงินทุนในระบบที่ยังเหลืออยู่อย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2542 นี้ด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่อง (อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจดำดิ่งจากระดับ -0.4% ในปี 2540 มาอยู่ที่ระดับ -8.2% ในปี 2541), สภาพคล่องที่ตึงตัวโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2541, การไร้เสถียรภาพของค่าเงิน, ความตกต่ำของตลาดหุ้น, รวมถึงปัจจัยภายนอกอันได้แก่ วิกฤติการณ์เศรษฐกิจการเงินของบรรดาประเทศต่างๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับผลประกอบการบริษัทเงินทุนงวด 9 เดือนแรกปี 2541 และแนวโน้มปี 2542 ซึ่งเผยให้เห็นว่าแม้ทางการจะได้มีการประกาศมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการประกาศหลักเกณฑ์การเข้าขอรับความช่วยเหลือ เพิ่มทุนจากทางการ ในส่วนของเงินกองทุนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 แต่การตอบรับเข้าร่วมโครงการของบริษัทเงินทุนเป็นไปอย่างล่าช้ามาก แม้ทางการจะมีการกำหนดให้จัดทำแผนเพิ่มทุนให้เสร็จภายในเดือนม.ค. 2542 นี้ก็ตาม

นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 17 แห่งที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ไทยที่ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการศึกษา ก็ยังปรากฏผลที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้เห็นว่าบริษัทเงินทุนที่เหลืออยู่ในระบบจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวขอรับความช่วยเหลือจากทางการแน่

สำรองพอปี42 แต่ปีถัดไปน่าเป็นห่วง

ศูนย์วิจัยฯ ศึกษาพบว่าการตั้งสำรองของบริษัทเงินทุนในระบบส่วนใหญ่จะเกินสัดส่วนขั้นต่ำที่ 20% (ซึ่งจะต้องตั้งให้ครบภายในสิ้นปี 2541 นี้) และโดยเฉพาะในบางแห่ง จำนวนการตั้งสำรอง ณ สิ้นเดือนกันยายน สูงเกือบเท่า 100% ที่กำหนดให้ตั้งให้ครบภายในสิ้นปี 2543 ด้วยซ้ำ โดยหากพิจารณาจากตัวเลขการตั้งสำรองของบริษัทเงินทุนจดทะเบียนทั้ง 17 แห่งในตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นกันยายน 2541 จะเห็นได้ว่ามีการกันสำรอง สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ทางการกำหนดให้ต้องดำรงภายในสิ้นปี 2542 ทั้งในกรณีที่สมมติให้หักหลักประกันได้ 40% และ 50% ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นการซ้ำเติมให้รายได้สุทธิหลังหักการกันสำรองลดจำนวนลง หรือติดลบมากขึ้นเหมือนในกรณีที่กันสำรองยังไม่ครบแต่อย่างใด

ศูนย์วิจัยฯ คาดหมายด้วยว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ การตั้งสำรองในงวดสุดท้ายของปี 2541 ไม่น่าส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของระบบบริษัทเงินทุนในปี 2541 แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในกรณีที่ต้องการกันสำรองให้ครบถ้วนทั้งจำนวน 100% (ซึ่งตามเกณฑ์คือต้องทำ ให้ได้ในปี 2543) จะต้องดำรงเงินทุนสำรองเป็นมูลค่า 109,710.86 ล้านบาท และ 91,762.52 ล้านบาท สำหรับกรณีที่สามารถเอาหลักประกันมาหักได้ในสัดส่วน 40% และ 50% ตามลำดับ จะเห็นว่าการกันสำรองที่ได้ตั้งไว้แล้วของ 17 บริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2541 ยังไม่เพียงพอ หรืออยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในทั้งสองกรณี

หากดูในข้างของส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด 17 บริษัท ก็มีจำนวนน้อยกว่าเงินสำรองที่ขาดไป คือส่วนของผู้ถือหุ้นมีเพียง 27,620.22 ล้านบาท เทียบกับเม็ดเงินกันสำรองที่ขาดไป 33,939.60 ล้านบาท(ในกรณีหักหลักประกันได้ 40%)

อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนของผู้ถือหุ้นจะพอเพียงเมื่อพิจารณาในกรณีของการหักหลักประกันได้ 50% แต่เม็ดเงินที่เหลือหลังหักประกันแล้วจะน้อยมาก แสดงให้เห็นความจำเป็นว่าบริษัทเงินทุนเหล่านี้จำเป็นต้องเพิ่มทุน

นอกจากประเด็นเรื่องการกันสำรองแล้ว บริษัทเงินทุนยังมีปัญหารุนแรงในเรื่องของการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

ปัจจุบันโครงสร้างหนี้จัดชั้นของบริษัทเงินทุน 17 แห่งอยู่ในระดับ 30% เป็นหนี้ปกติ, 9% เป็นหนี้ที่ถูกกล่าวถึง, 11% เป็นหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน, 20% เป็นหนี้จัดชั้นสงสัย และ 30% เป็นหนี้จัดชั้นสูญ ดังนั้นภาระค่าใช้จ่าย ในการตั้งสำรองหนี้ของไฟแนนซ์ในอนาคตยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป เพราะหนี้ที่อยู่ระดับต่ำกว่าหนี้จัดชั้นสูญนั้นพร้อมจะเลื่อนไปเป็นหนี้จัดชั้นสูญได้ทุกเมื่อ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือเกณฑ์ของทางการที่เข้มงวดมากขึ้น ในการระงับการรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยค้างรับ ที่จะเปลี่ยนจากเดิม 6 เดือนมาเป็น 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป และอีกประเด็นคือเรื่องส่วนของผู้ถือหุ้นที่ลดทอนลงทุกขณะ เพราะขณะที่มีการตั้งสำรองเพิ่มทุกวันทุกเดือนนั้น ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากมีการเรียกเพิ่มทุนกันน้อยมาก

ศูนย์วิจัยฯ คาดหมายว่าบริษัทเงินทุนทุกแห่งน่าจะเข้าร่วมโครงการขอรับความช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุนขั้นที่ 2 รวมทั้งขั้นที่ 1 ก็คงจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ก็เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกแล้ว ที่ขอเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุนขั้นที่ 1 จากทางการ นอกจากนี้สถาบันการเงินทุกแห่งมีกำหนดที่จะต้องทำ MOU เรื่องการเพิ่มทุนกับทางการภายในสิ้นเดือนนี้ ศูนย์วิจัยฯ จึงมองว่ารายละเอียดการเพิ่มทุนจะออกมาหลังการทำ MOU ดังกล่าว และกว่าที่จะดำเนินการได้ตาม ที่เสนอไว้ ก็คงจะเป็นกลางปีนี้ ซึ่งนั่นจะเป็นภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบบริษัทเงินทุนอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยฯ ได้คาดหมายแนวทางอีกด้านหนึ่งคือ หากมีบริษัทเงินทุนขอรับความช่วยเหลือเรื่องการเพิ่มทุนจากทางการมาก โดยเฉพาะในกองทุนขั้นที่ 1 ก็มีความเป็นไปได้ว่าทางการอาจตัดสินใจเรื่องการควบรวมกิจการมากขึ้น เพื่อยุบจำนวนไฟแนนซ์ในระบบให้น้อยลง และสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดแก่โครงสร้างของระบบบริษัทเงินทุน รวมทั้งอาจจะพัฒนารูปแบบการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนไปสู่การเป็นธนาคารที่จำกัดการทำธุรกิจ (Restricted Bank) เป็นการขยายขอบข่ายการทำธุรกิจให้กว้างกว่าการทำไฟแนนซ์แบบเดิม

ค่าใช้จ่ายเพิ่ม รายได้ลด

ปัญหาหลักการขาดทุนของไฟแนนซ์

ในระยะ 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา บริษัทเงินทุน 17 แห่งที่ศูนย์วิจัยฯ ทำการศึกษามีผลการดำเนินงาน ขาดทุนถึง 59.84 พันล้านบาท หรือขาดทุนเกือบ 2 หมื่นเปอร์เซ็นต์ เทียบกับไตรมาส 1 และ 2 ของปีเดียวกันยังขาดทุนในระดับพันเปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมาจากรายได้ลดขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

รายได้ที่ลดลงนั้นสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่บั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และการหดตัวของสินเชื่อ ซึ่งทำให้ในที่สุดฐานดอกเบี้ยรับได้หดตัวแคบลง ภาวะตลาดหุ้นและความผันผวนของค่าเงินก็ทำให้บริษัทเงินทุนต้องเผชิญกับ ผลขาดทุนอันเกิดจากการปริวรรตและการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก

ส่วนค่าใช้จ่ายที่อยู่ในระดับสูงนั้น ก็มาจากปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินแพงมาก นอกจากนี้ก็มีปัจจัยเกี่ยวกับเรื่องเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการ การกันสำรอง และการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ

แนวโน้มธุรกิจยังถดถอย

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในอาการถดถอย ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพยังกัดกร่อนฐานะกิจการบริษัทเงินทุน และแม้ว่าบริษัทเงินทุนส่วนใหญ่ไม่ต้องพะวงกับการตั้งสำรองในงวดสุดท้ายของปี 2541 เพราะมีการตั้งไว้เกินกว่าระดับ 60% ไปแล้ว แต่การขยายตัวของ NPL รวมทั้งการเลื่อนระดับความรุนแรงของหนี้ที่มีปัญหามาสู่ระดับที่ต้องตั้งสำรองมากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่พลิกฟื้น จึงยังคงเป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเงินทุนอย่างมาก

นอกจากนี้ ข้อตกลงที่ทางการทำไว้กับ IMF ในเรื่องการเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน ก็เป็นการผูกมัดเงื่อนเวลาที่ทำให้สถาบันการเงินต้องตัดสินใจเรื่องการเพิ่มทุนอย่างรวดเร็วภายในเดือนนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ต่างๆ จะบีบรัดให้บริษัทเงินทุนต้องขอรับความช่วยเหลือจากทางการอย่างแน่นอน

สำหรับการคาดการณ์เรื่องผลประกอบการในอนาคตนั้น ศูนย์วิจัยฯ มองว่าในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลยังคงต้องชะลอตัวต่อไป เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้และการขยายสินเชื่อ ส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ แน่นอนว่าต้องการตั้งเพิ่มสูงขึ้น เพราะหนี้ที่ไม่จัดชั้นสูญนั้น ในที่สุดก็มีความเป็นไปได้ว่าคงต้องจัดชั้นตั้งสำรองในวันใดวันหนึ่ง ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เคยเฟื่องฟูเป็นกอบเป็นกำ ของบริษัทเงินทุนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น แม้ภาวะตลาดหุ้นปีนี้ไม่น่าจะทรุดหนักอย่างปีที่ผ่านมา แต่โอกาสฟื้นตัวคงต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง การจัดการสะสางปัญหาในระบบการเงิน ซึ่งคงต้องใช้เวลา รวมถึงสภาพทางการเมืองที่ต้องมีเสถียรภาพมากพอควร ดังนั้น รายได้ในส่วนนี้ของบริษัทเงินทุนไม่น่าจะปรับตัวดีอย่างชัดเจนในเวลาอันใกล้ แต่บริษัทอาจจะมีกำไรเรื่องการปริวรรตดีขึ้นบ้าง เพราะค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.