การเคลื่อนไหวของชินวัตรนับจากนี้ จะต้องติดตามกันแบบตาไม่กะพริบ เพราะนี่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชินวัตร
การขายหุ้นให้กับสิงค์เทล และการปิดฉากธุรกิจเคเบิลทีวี เป็นแค่ยกแรก ที่ไม่ได้มีความหมายแค่การขาย
หุ้นเพื่อกำเงินสดเท่านั้น แต่นี่คือการเปิดกระดานใหม่ของชินวัตร และทักษิณ!!
เรื่องโดย ไพเราะ เลิศวิราม
pairoh@manager.co.th,Internet
ทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่ได้ ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของเมือง ไทย
จากการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้ง ทางตรง และทางอ้อมจากสัมปทานไปเต็มๆ ตลอด
10 กว่าปีที่ผ่านมานี้
ถึงแม้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้จะกระหน่ำใส่ธุรกิจต่างๆ ที่พากันเจ็บตัวกันไปถ้วนหน้า
แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มชินวัตรยังอยู่ในสภาพที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทโทรคมนาคมด้วยกัน
ที่ต้องประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หนี้สินก้อนโตเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณและขาดเงินทุนหมุนเวียน
ตัวของดร.ทักษิณเอง ก็กำลังโลดแล่นอยู่บนถนนการเมืองอย่างเข้มข้น ในช่วงที่เจ้าสัวคนอื่นๆ
ในวงการนี้กลับต้องก้มหน้าก้มตาหาเงินทุนมาใช้หนี้ที่กู้มาขยายกิจการในช่วงเศรษฐกิจ
ฟองสบู่
ทว่าตั้งแต่ปลายปที่ผ่านมา ชินวัตรกลับออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุด เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างการบริหาร
และองค์กร จนมาถึงการขายหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)
ให้กับสิงคโปร์เทเลคอม ตามมาด้วยการขายหุ้นที่ถืออยู่ในยูบีซีเคเบิลทีวี
เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา !
เพราะสิ่งที่ชินวัตรทำในเวลานี้ตรงกันข้ามกับภาพความแข็งแกร่ง ที่แทบจะไม่มีความจำเป็นในการเงินเท่าไหร่นัก
เอไอเอส เป็นบริษัทลูกของชินวัตรที่มีความสำคัญมากที่สุดในธุรกิจทั้งหมด
จากธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ที่ทำเงินให้กับชินวัตรอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
จากในรูปของธุรกิจที่ทำตลาดแบบครบวงจร ทั้งขายเครื่อง ให้บริการ และยังเป็นแหล่งทำรายได้จากตลาดหลักทรัพย์
ราคาหุ้นของเอไอเอสจะเป็นตัวนำในกระดานทั้งหมดของหุ้นโทรคมนาคม รวมเวลาเกือบ
11 ปีเต็ม สัมปทานได้มาตั้งแต่ 27 มีนาคม 2533
สิงค์เทลเองก็เป็นพันธมิตรมานาน แต่ชินวัตรก็เปิดโอกาสให้ลงทุนอยู่แค่โฟนลิ้งค์
และดาต้าเน็ทเท่านั้น ยังไม่เคยได้เข้ามามีส่วนร่วมในสัมปทาน ขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน
การขายหุ้นให้กับสิงคโปร์ เทเล-คอม อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรเวท ลิ-มิเต็ด
หรือ STI บริษัทในกลุ่มของสิงคโปร์ เทเลคอม หรือ สิงค์เทล จึงมีความหมายต่อชินวัตรยิ่งนัก
ข้อตกลงที่ชินวัตรขายหุ้นเอไอเอสให้กับสิงคโปร์ เทเลคอม อินเตอร์ เนชั่นแนล
ไพรเวท ลิมิเต็ด หรือ STI เป็นบริษัทในกลุ่มของสิงคโปร์ เทเลคอม หรือ สิงค์เทล
จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
ส่วนแรก เอไอเอสจะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับ STI จำนวน 36 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ
230 บาทรวม เป็นเงิน 8,280 ล้านบาท
ส่วนที่สอง ชินวัตรจะขายหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ในเอไอเอส จำนวน 18 ล้านหุ้น
ราคาหุ้นละ 230 ล้านบาท
ส่วนที่สาม สิงค์เทลจะซื้อหุ้นโดยให้ชินวัตรกู้เงินจำนวน 851 ล้านบาท โดยชินวัตรจะโอนหุ้นของเอไอเอส
จำนวน 3.7 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.4% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดให้แก่สิงค์เทลในเวลาถัดมา
ซึ่งในส่วนนี้นักวิเคราะห์บอกว่า เป็นเพราะเพดานของ สัดส่วนการลงทุนต่างประเทศของชินวัตรเต็มเพดานที่กำหนดไว้แล้ว
จึง ต้องใช้วิธีนี้แทน
นั่นก็หมายความว่า โครงสร้างใหม่ของเอไอเอส จะมีสิงค์เทลเข้ามาเป็นหุ้นส่วนประมาณ
20% ชินวัตรจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 53.35% เหลือ 40.94% ที่เหลือเป็นของนักลงทุนทั่วไป
40.43% (ดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น ของเอไอเอส)
การเข้ามาถือหุ้นของสิงค์เทลในครั้งนี้ ยังส่งผลให้มีการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทชินวัตรเพจจิ้ง
ทำธุรกิจวิทยุติดตามตัว ซึ่งชินวัตรและสิงคโปร์ร่วมทุนกันมานานนับ 10 ปี
โดย สิงค์เทลจะขายผลประโยชน์ 40% ที่มีอยู่ในชินวัตรเพจจิ้ง ให้กับเอไอเอส
มูลค่าประมาณ 949.6 ล้านบาท (ประ มาณ 45.2 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์) ซึ่งการที่สิงค์เทลขายผลประโยชน์
40% ในชินวัตรเพจจิ้ง จะส่งผลให้ชินวัตร เพจจิ้ง กลายเป็นบริษัทย่อยหนึ่งของเอไอเอส
แต่การบริหารงานในชินวัตร เพจจิ้งยังคงเหมือนเดิม
ผลจากการขายหุ้น 20% ของเอไอเอสให้กับสิงค์เทล ทำให้ชินวัตรได้เงินมาทันที
11,569 ล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 550.9 ล้านสิงคโปร์ ดอลลาร์
จริงอยู่ แม้เงินก้อนนี้จะมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับความสามารถ ในการทำรายได้ของธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเอไอเอส
เรียกว่า ยังไม่มีความ จำเป็นต้องใช้เงิน
แต่บรรดานักวิเคราะห์ รวมทั้งคนในวงการโทรคมนาคมแล้ว ต่างก็ให้ความเห็นตรงกันว่า
เป็นการขายที่เหมาะแก่เวลาและโอกาสมากที่สุด
"ถึงแม้ว่าเอไอเอสจะไม่มีปัญหา อะไรในเวลานี้ และอยู่ในฐานะที่ดีที่ สุดเมื่อเทียบกับบริษัทโทรคมนาคมด้วยกัน
แต่ถ้าปล่อยไว้ในระยะยาวแล้ว เอไอเอสไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่ดีแน่ เพราะยังมีหนี้สินที่ต้องชำระ
การขายหุ้นครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นความสามารถของผู้บริหารของชินวัตรที่มองการณ์ไกลอย่างแท้จริง"
ดร.ก้องเกียรติ โอ-ภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร ของแอ็คเซ็สพลัส ให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการรายเดือน"
บุญคลีกล่าวว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นให้กับสิงค์เทลในครั้งนี้จะนำไปชำระหนี้ครึ่งหนึ่ง
และอีกครึ่งหนึ่งจะเก็บสำรองเอาไว้ใช้ในการขยายโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูลาร์
900 และจีเอสเอ็ม
ในแต่ละปีเอไอเอส ต้องใช้เงินลงทุนขยายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบเอ็นเอ็มที
900 และระบบดิจิ-ตอลจีเอสเอ็มจำนวนไม่น้อย เพื่อรองรับกับการใช้งานของลูกค้า
ในปีที่แล้วเอไอเอสใช้เงินไปประมาณ 10,000 ล้านบาท
"ปัจจุบันเอไอเอส มีหนี้ระยะสั้นและระยะยาวรวมกัน ทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท
และมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในปี 2542 นี้ 1,700 ล้านบาท เงินที่ได้จากการขายหุ้นให้กับสิงค์เทลจะนำไปชำระหนี้ครึ่งหนึ่ง
อีกครึ่งหนึ่งจะใช้เป็นเงินสำรอง" บุญคลี ปลั่งศิริกล่าว
งบการเงินของเอไอเอส สิ้นสุด ไตรมาสที่ 3 ปี 2541 ระบุไว้ว่า เอไอเอส มีหนี้ระยะสั้นที่ต้องชำระ
1,008 ล้านบาท และยังมีหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระคืนในวันที่ 25 มกราคม 2542
ประมาณ 20 ล้านบาท
ในด้านของชินวัตรเองก็ไม่เบามีหนี้สินไม่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากขยายการลงทุนในธุรกิจต่างประเทศในช่วง
3-4 ปีที่แล้ว ทั้งในฟิลิปปินส์ อินเดีย ลาว เขมร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ทำให้ชินวัตรมีหนี้สินที่ไปค้ำประกันเอาไว้กว่า 5,000 ล้านบาท
การขายหุ้นที่ถืออยู่ในเอไอเอส ชินวัตรนำเงินไปชำระหนี้สิน เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ของชินวัตร
หลังจากเปลี่ยนชื่อจากชินวัตร คอม พิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เป็นชินคอร์ปอเรชั่นแล้ว
ก็ทำตัวเป็นแค่โฮลดิ้งคอมปานี มีหน้าที่แค่เป็นผู้ลงทุนเท่านั้น จะไม่มีธุรกิจที่ดำเนินเองอีกต่อไป
ในด้านของตัวธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเอไอเอสนั้น จากการมาถือหุ้นของสิงค์เทลในเอไอเอสครั้งนี้
เท่า กับเป็นการติดอาวุธให้กับเอไอเอสทั้ง ในด้านของเงินทุน และกลยุทธ์การตลาด
"เชื่อว่าสิงคโปร์เทเลคอมจะต้องลงมาเล่นที่เครื่องลูกข่ายราคาถูก จะต้องหั่นราคากันหนักแน่
เพราะเขาเคยใช้กลยุทธ์นี้ในสิงคโปร์มาแล้วเพื่อ แข่งกับคู่แข่งขันอีกราย
ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็กังวลใจอยู่" จาตุรนต์ หิมะทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
ระบบพีซีเอ็น 1800 กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น การขายหุ้นในครั้งนี้เท่าเป็นการยอมรับสภาพความเป็นจริงอย่างชัดเจนที่สุดของชินวัตรเท่าที่เคยเป็นมา
ทักษิณรู้ดีว่า ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเปลี่ยนแปลง สภาพตลาดที่เคยผูกขาดในอดีตกำลังหมดไปแล้ว
กติกาใหม่กำลังจะเกิดขึ้น จากการเปิดเสรีโทรคมนาคมที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ซึ่งกติกานี้จะไม่เหมือนกับในอดีตอีกต่อไป
ทักษิณรู้อีกว่า ชินวัตรเติบโตมาจากธุรกิจสัมปทานผูกขาด ตลาดที่อยู่ได้ด้วยเงื่อนไขของการคุ้มครองไม่มีคู่แข่ง
แต่นับจากนี้แล้วไม่ใช่ ชินวัตรต้องเผชิญกับคู่แข่ง ข้ามชาติ ที่มีความพร้อม
ทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน
จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีมานี้ ทักษิณระดมมืออาชีพ เพื่อสร้างระบบการจัดการสมัยใหม่ให้กับชินวัตร
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการ บริหารครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีมานี้ ก็เป็น การปัดกวาดบ้านครั้งสำคัญของชินวัตร
เพราะมันเป็นการปัดกวาดบ้านครั้งแรก ที่ทำกันอย่างจริงๆ จังๆ ชนิดที่พยายามเก็บกวาดขยะออกไปให้มากที่สุด
(ดูตารางโครงสร้างของชินวัตร)
ธุรกิจที่ไม่ทำเงิน หรือไม่มีอนาคต จะถูกยุบเลิกไป หรือขายทิ้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจคอมพิวเตอร์
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานประมูล ธุรกิจต่าง ประเทศ และล่าสุดคือ การขายทิ้งธุรกิจเคเบิลทีวี
คงเหลือไว้แต่เพียงธุรกิจโทร-ศัพท์มือถือ ธุรกิจดาวเทียมไทยคม เรียกว่า
เป็น 2 ธุรกิจหลักที่ทำเงินเท่านั้น
ยังเป็นครั้งแรกที่ชินวัตรปลดพนักงานลงกว่า 200 คน อันเป็นผลมาจากการยุบเลิกธุรกิจเหล่านี้ลง
ต้องไม่ลืมว่า ทักษิณสร้างชินวัตรให้เติบโตขึ้นมาจากสายสัมพันธ์ เป็นที่รู้กันดีว่า
พนักงานของชินวัตร บางส่วนก็เป็นผลพวงจากสายสัมพันธ์นี้ โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกสรรอย่างที่ควรจะเป็น
เป็นจุดอ่อนที่ทักษิณย่อมรู้ดี
"คนทำไม่ดีต้องได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง ส่วนคนทำดีจะต้องได้รางวัลเป็นการตอบแทน"
คำกล่าวของ บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มชินวัตร ที่บอกถึงที่มาของการลดพนักงานจำนวน
200 คน เป็นผลพวงจากการปัดกวาดบ้านของชินวัตรในครั้งนี้
การได้สิงค์เทลที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องเทคโนโลยี โนว์ฮาว และระบบการจัดการแบบใหม่จะมาช่วยให้ชินวัตรมีความแข็งแกร่ง
พูดง่ายๆ ก็คือสิงค์เทลจะเป็นผู้ล้างระบบเก่าสร้าง ระบบใหม่ที่มีความเป็นสากลยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
เพราะข้อตกลงในการมาถือหุ้นในเอไอเอส 20% ครั้งนี้ สิงค์เทลจะมีส่วนร่วมในการบริหารของเอไอเอส
โดยจะมีตำแหน่งคณะกรรมการ บริษัท เอไอเอส 2 คน และมีตำแหน่งในทีมบริหาร 2
คน รวมทั้งตำแหน่งในคณะ กรรมการบริษัทชินวัตรอีก 1 คน
เรียกง่ายๆ ไม่ได้ใส่เงินมาอย่าง เดียว แต่ยังเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานด้วย
ซึ่งเป็นสิ่งที่ชินวัตรต้องการมากที่สุดในเวลานี้
เหตุผลที่ บุญคลี ปลั่งศิริ ขุนพลคนสำคัญของกลุ่มชินวัตรบอกเอาไว้ ความแข็งแกร่ง
และความชำนาญ ในเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งประสบ การณ์ในธุรกิจของ STI ที่ผ่านมาจะมาช่วยเสริมศักยภาพให้กับเอไอเอส
เพื่อรองรับกับการเปิดเสรีในอนาคต
เพราะสนามแข่งขันในวันข้างหน้าของชินวัตร ไม่ใช่สนามที่มีคู่แข่งอย่างยูคอม
ทีเอ แต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริติชเทเลคอม เอทีแอนด์ที และสิ่งที่บริษัทข้ามชาติเหล่านี้อยากได้
ไม่ใช่เอกชน แต่เป็นรัฐวิสาหกิจอย่างองค์การโทรศัพท์ฯ หรือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย
เพราะทั้งสองคือผู้ที่กุมเครือข่ายโทรคมนาคม
นี่คือ ความจริงที่ชินวัตรรู้ดี !
ปิดฉากเคเบิลทีวี
กำเงินหมื่นล้าน
การตัดสินใจขายหุ้นในยูบีซีเคเบิลทีวีทั้งหมดทิ้ง เป็นส่วนหนึ่งของ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ
ที่เป็นการล้างกระดานใหม่ที่หวังผลทั้งในแง่ของธุรกิจและการเมือง
ชินวัตรขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 13.95% ในยูบีซี ให้กับสองพันธมิตร คือ
บริษัทเทเลคอมโฮลดิ้ง (ทีเอช)ในเครือ เทเลคอมเอเซีย และบริษัท MIH จำกัด
ฝ่ายละ 4.99% ส่วนที่เหลืออีก 3.97% นั้น ชินวัตรได้ขายให้กับผู้ลงทุนชาวต่างชาติ
ในราคาหุ้นละ 13 บาท ได้เงินมาทั้งสิ้น 1,343 ล้านบาท บุญคลี ให้เหตุผลว่า
กลุ่มชินวัตร หรือ ชิน คอร์ปอเรชั่น ต้อง การเน้นธุรกิจให้บริการเครือข่ายอย่างเดียว
(NETWORK PROVIDER) ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของบริษัท เพราะที่ผ่านมา กลุ่มชินวัตรไม่มีความถนัดด้านธุรกิจให้บริการรายการ
(CONTENT PROVIDER) เนื่องจากที่ผ่านมาการทำธุรกิจทั้งสองด้านพร้อมกันอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับการทำงานได้
นอกจากนี้การขายหุ้นในยูบีซีครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน
ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทชินวัตรเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สินอีกต่อไป และเป็นบริษัทโฮลดิ้งทำหน้าที่ของนักลงทุนอย่างเดียวตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
แต่การขายหุ้นของชินวัตรในครั้งนี้ ในราคาเพียงแค่ 13 บาท เป็นราคาที่ต่ำมาก
เมื่อเทียบกับราคาหุ้นของไอบีซี ที่มีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่ในช่วงระหว่าง
21-25 บาท ซึ่งถ้าถามผู้บริหารทีเอชแล้ว ราคาหุ้น 13 บาท ทีเอชคงไม่ยอมขายแน่นอน
"ชินวัตรติดต่อมาทางทีเอ ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม บอกจะขายหุ้นในราคา 13
บาท ตอนแรกเรายังนึกว่า ดูผิดเลย เพราะถ้าเป็นทีเอราคานี้เราคงไม่ขายแน่"
แหล่งข่าวจากทีเอกล่าว
การขายหุ้นยูบีซีเพื่อให้ได้เงินมา 1,343 ล้านบาท จึงดูขัดแย้งกับภาพความแข็งแกร่งของชินวัตรอย่างสิ้นเชิง
แต่ใครจะรู้ว่านี่เป็นการปิดฉากที่สวยงามยิ่งนักของชินวัตร และตัวทักษิณ!
จะว่าไปแล้ว ชินวัตรเริ่มถอยออกจากธุรกิจเคเบิลทีวีมาตั้งแต่ปี 2539 ด้วยการขายหุ้นในไอบีซีให้กับช่อง
7 และแกรมมี่ ในราคา 78 บาทต่อหุ้น ตามมาด้วยบริษัท MIH ที่ขายในราคา 80
บาทต่อหุ้น และการรวมกิจการกับยูบีซี จนกระทั่งมาปิดฉากด้วยการเทขายหุ้นทั้งหมดทิ้ง
ในราคาหุ้นละ 13 บาท
ผลจากการถอยฉากจากธุรกิจเคเบิลทีวีตั้งแต่ต้นจนถึงเวลานี้ชินวัตร มีเงินเข้ากระเป๋าไปแล้วทั้งสิ้น
3,463 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)
นอกจากนี้ชินวัตรยังมีรายได้จากการให้บริการระบบดาวเทียมดีทีเอชให้กับยูบีซีอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นหุ้นส่วนอีกแล้วก็ตาม
บริษัทซี.เอส.คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือชินวัตร ได้ทำสัญญาให้บริการอัพลิงค์แก่ยูบีซี
มีอัตราค่าบริการ 31 ล้านบาทต่อปี สัญญา เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2540
สัญญา สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2545 รวมเป็นรายได้ประมาณ 134 ล้านบาท
บริษัทชินวัตรแซทเทลไลท์ ได้ทำสัญญาให้บริการให้บริการเช่าช่องสัญญาณทรานสปอนเดอร์
แบบเคยูแบนด์ จำนวน 6 ทรานสปอนเดอร์แก่ยูบีซี มีอัตราค่าบริการ 54 ล้านบาท
ต่อเดือน บวกอีก 203.9 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ (จ่ายตามใช้จริง แต่ไม่เกิน 6 ทรานสปอนเดอร์)
สัญญานี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 สิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน
2551
รวมรายได้ที่ชินวัตรจะได้จากการให้บริการเหล่านี้จนถึงสิ้นสุดสัญญา เป็นตัวเลข
14,000 ล้านบาท และทั้งหมดนี้เป็นรายได้แน่นอนตายตัว โดยไม่ต้องรอส่วนแบ่งจากผลกำไรหรือ
ขาดทุนของยูบีซีเหมือนกับการอยู่ในฐานะของผู้ถือหุ้น
นี่คือสิ่งที่ชินวัตรมองเห็น !
การรวมกิจการกันระหว่างไอบีซีและยูทีวี แม้ว่าทุกฝ่ายจะเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ของธุรกิจเคเบิลทีวีน่าจะดีขึ้นมากจากสภาพตลาดที่ไร้การแข่งขัน
ทำให้ต้นทุนต่างๆ ทั้งในเรื่องรายการ อุปกรณ์ และกำลังคนลดลงได้มาก แต่จริงๆ
แล้วกลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด
ทุกวันนี้ยอดสมาชิกหลังรวมกิจการยังอยู่แค่ 290,000 รายเท่านั้น หากจะให้ถึงจุดคุ้มทุนยูบีซีจะต้องทำยอดสมาชิกให้เพิ่มขึ้นเป็น
430,000 ราย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในสภาพเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเคเบิลทีวี
ซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่มีความจำเป็นเหมือนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ
และยูบีซีก็ยังต้องใช้เงินเพื่อซื้อรายการ เป็นต้นทุนคงที่ที่ยังไม่คุ้มกับจำนวนสมาชิกที่มีอยู่เวลานี้
ทางออกของยูบีซีในเวลานี้หากไม่ขึ้นราคาค่าสมาชิก ภายในสิ้นปีนี้ไอบีซีอาจต้องใช้วิธีเพิ่มทุนเพื่อหาเงินมาใช้ดำเนินธุรกิจ
ซึ่งเป็นทางออกที่ไม่เป็นผลดี และไม่สอดคล้องกับทิศทาง ของกลุ่มชินวัตรที่ไม่ต้องการแบกรับธุรกิจที่มีผลขาดทุนอีกต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารภายใน ของยูบีซีก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารของทีเอช
ภายใต้การนำของสุภกิต เจียรวนนท์ และ MIH ที่มี เนวิลล์ ไมเยอร์ส เป็นหัวเรือใหญ่
ที่ปีนเกลียวกันมาตลอดตั้งแต่รวมกิจ การกันมา
สาเหตุก็มาจากวัฒนธรรมการทำงานและดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการแย่งชิงอำนาจการบริหารระหว่างกัน
แน่นอนว่าย่อมไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของยูบีซี
แต่นี่ก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ผลักดันทั้งทีเอชและ MIH ต่างก็ต้องรีบหาเงินมาซื้อหุ้นจากชินวัตร
เพราะทั้งทีเอช และ MIH ต่างก็ต้องการเป็น ผู้ถือหุ้นหลัก และเตรียมปัดกวาดยูบีซี
ครั้งใหญ่
แต่นี่คือความแยบยลของชินวัตร
10 ปีที่ค่ร่ำหวอดในธุรกิจเคเบิล ทีวี ทำให้ทักษิณรู้ดีว่า ธุรกิจเคเบิลทีวียังคงไม่ง่ายตราบใดที่ยังแก้ปัญหาเรื่องการลักลอบดูสัญญาณ
และยังไม่สามารถโฆษณาได้ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะจะมาช่วยในเรื่องของรายได้นอกเหนือจากรายได้ที่มาจากยอดสมาชิก
เพราะแนวโน้มของทั่วโลกเคเบิลทีวีก็มีโฆษณา ซึ่งครั้งหนึ่งผู้บริหารของชินวัตรก็เคยผลักดันเรื่องนี้
แต่ก็ยังติดข้อกำหนดของ อ.ส.ม.ท. ที่ห้ามไม่ให้มีโฆษณา
ผู้บริหารของทีเอชก็เชื่อด้วยว่า การไม่มีชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร เจรจา
กับอ.ส.ม.ท.น่าจะง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
แม้ว่าชินวัตรจะถอนตัวจากยูบีซี แต่มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าชินวัตร
และทีเอ จะมีข้อตกลงในทางอื่นๆ ร่วม กันในอนาคต เพราะสิ่งที่บุญคลีตอกย้ำ
มาตลอด นั่นก็คือ การที่โอเปอเรเตอร์ ในประเทศต้องร่วมมือกัน และทั้ง ทัก-ษิณ
และ ธนินท์ เจียรวนนท์ ก็เคยคุยกันในเรื่องเหล่านี้ไปแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในระยะเวลาสั้นๆ
ทั้งชินวัตร และทีเอ ก็เป็นคู่พันธมิตรที่ค่อนข้างลงตัวในหลายๆ ด้าน ชินวัตรมีดาวเทียม
มีโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ทีเอมีเคเบิลใยแก้วนำแสง มีโทรศัพท์พื้นฐาน และเรียกว่าเป็นการ
เติมในส่วนที่อีกฝ่ายหนึ่งยังขาดอยู่
การขายทิ้งธุรกิจในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าชินวัตรจะไม่เหลืออะไรเลย สไตล์ของทักษิณนั้นไม่ใช่นักธุรกิจที่ยอมเสี่ยง
เมื่อเห็นว่าธุรกิจไม่ทำกำไร หรือมีปัญหาก็พร้อมจะตัดได้ทันที
เพราะการหาซื้อธุรกิจใหม่ๆก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่มีเงินในกระเป๋า เท่านั้นก็พอ
ล้างภาพสู่การเมือง
พรรคไทยรักไทย เป็นอีกเงื่อน ไขสำคัญที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นกับชินวัตร
พรรคไทยรักไทย และทักษิณ เข้ามาสร้างสีสันทางการเมืองได้ไม่น้อย จากการเป็นแหล่งรวมของนักวิชาการในสาขาต่างๆ
รวมทั้งบรรดานักหนังสือ พิมพ์ ที่เข้ามาร่วมกันอยู่ในสังกัดนี้
ที่สำคัญพรรคไทยรักไทย ในเวลานี้คือคู่แข่งอันดับ 1 ของพรรคประ-ชาธิปัตย์
โดยเฉพาะในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และระยะหลังพรรคไทยรักไทยก็ยังบุกหนักในแถบภาคใต้
ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์
อีกทั้งทักษิณ และประชาธิ-ปัตย์เองก็เคยมีอดีตอันขมขื่นกันมาแล้วในช่วงที่ทักษิณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
สมัยของ รัฐบาลชวน หลีกภัย 1 จากการชักชวน ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในที่สุดทักษิณก็ต้องถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล
หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกอภิปรายอย่างหนักกรณีของสปก.4-01 จนต้องยุบสภาไปในที่สุด
นี่ก็เป็นจุดร้าวที่ทำให้ทั้งทักษิณ และประชาธิปัตย์ ยากจะลืมเลือน
ก่อนหน้านี้ทักษิณก็เคยคิดจะร่วมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อเห็นว่าต้องผ่านระบบอาวุโสภายในพรรค
และตัวเองก็ไม่ต้องการรอขนาดนั้น จึงหันไปสร้างดาวคนละดวง ไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมต่อจากจำลอง
ศรีเมือง ซึ่งนับเป็นการเดินเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มขั้น
การขายหุ้นในเอไอเอส และยูบีซี การปรับโครงสร้างองค์กร และการเปลี่ยนชื่อจากชินวัตร
คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น นอกจากเหตุผลทางธุรกิจแล้ว ยังเกี่ยวพันโดยตรงกับทางการเมือง
การสร้างความร่ำรวยจากสัมป-ทาน เป็นบาดแผลใหญ่ที่ทำให้ถูกหยิบ ยกมาโจมตีทุกครั้ง
จะเห็นได้ว่า เอไอเอสและยูบีซี ที่ชินวัตรขายหุ้นออกไปก็ล้วนแต่เป็นสัมปทานที่ผูกขาดทั้งสิ้น
ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะบอกว่าธุรกิจนี้ไม่ผูกขาด
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ทุกวันนี้เอไอเอส มีเพียงแค่ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส
คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ แทคของกลุ่มยูคอมเท่านั้น ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า
ทั้งเอไอเอสและแทคแม้จะเป็นคู่แข่งขัน แต่ก็พร้อมที่จะสงบศึกหากเห็นว่า การแข่งขันนั้นจะกระทบธุรกิจ
พรรคประชาธิปัตย์ โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม
เองก็พยายามอาศัยจุดเหล่า นี้โจมตีเอไอเอส ด้วยการหยิบเอาเรื่องลดค่าบริการรายเดือนจาก
500 บาทมาเป็น 400 มาเป็นประเด็นในการโจมตี โดยพุ่งเป้าไปที่เอไอเอสโดยเฉพาะ
แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่อย่างน้อยก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทักษิณโดยตรง
โดยเฉพาะฐานเสียงในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
การตัดสินใจขายหุ้นเอไอเอสให้กับสิงคโปร์เทเลคอม นอกจากจะส่งผลดีต่อธุรกิจโดยตรงแล้ว
ยังจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของทักษิณในธุรกิจโทรศัพท์มือถือเบาบางลงบ้าง หากประชาธิปัตย์หยิบเรื่องดังกล่าวมาผลักดันอีกครั้ง
ทักษิณก็สามารถอ้างได้ว่า ในฐานะชินวัตรไม่ได้เป็นเจ้าของเอไอเอสแต่เพียงรายเดียวแล้วในเวลานี้
แต่ยังมีสิงคโปร์เทเลคอมเป็นหุ้นส่วนด้วย การไม่ยอมเลือกที่จะลดราคาลงไม่ได้เป็นเพราะชินวัตรคนเดียว
แต่ต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นด้วย
ในด้านของยูบีซีก็เช่นกัน การขายหุ้นในครั้งนี้เป็นการปิดฉากที่สวยงามทั้งในแง่ของธุรกิจและตัวของทักษิณ
เพราะผลจากการรวมกันระหว่าง ไอบีซี และยูทีวี เท่ากับว่ายูบีซีมีสภาพ ผูกขาดตลาดเคเบิลทีวีไปทันที
เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายผูกขาดสำหรับกิจการ
และย่อมไม่เป็นผลดีทางการเมืองต่อตัวทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งไอบีซี ที่จะถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหยิบขึ้นมาโจมตีได้
ปัจจุบัน ยูบีซี จัดว่าเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีเพียงรายเดียวในตลาด ส่วนไทยสกายทีวีนั้น
แม้ว่าจะมีการแพร่ภาพอยู่ แต่ก็ไม่มีการตลาด และ ไม่ได้จ่ายค่าสัมปทานให้กับอ.ส.ม.ท.
นานแล้ว แต่ที่อ.ส.ม.ท. ยังคงให้ทำธุรกิจต่อไป ก็เพื่อไม่ให้ถูกโจมตีว่าเป็นผู้อนุมัติให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจ
เคเบิลทีวี ส่วนสัมปทานของกรมประชา สัมพันธ์ก็เป็นแค่รายย่อยๆ ในตลาดต่างจังหวัด
หากสังเกตให้ดี ธุรกิจที่เหลืออยู่ อย่างดาวเทียมไทยคม ก็กำลังจะหมดอายุคุ้มครองในสิ้นปี
2542 นี้แล้ว เท่ากับว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องการโจมตีว่าผูกขาดสัมปทานอีกต่อไป
และธุรกิจ ดาวเทียมก็ยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักเป็นที่
2 การ ปลดล็อกสัมปทานในปีนี้ ก็ไม่ได้หมาย ความว่าทักษิณจะมีคู่แข่งในทันทีจาก
ภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้
ส่วนธุรกิจโทรศัพท์มือถือนั้น ในการต่ออายุสัมปทานครั้งล่าสุดระหว่างเอไอเอสและองค์การโทรศัพท์ฯ
ก็ได้มีการยกเลิกสัญญาคุ้มครองสัมป-ทานไปแล้ว นั่นหมายถึงว่าองค์การโทรศัพท์ฯ
มีสิทธิเปิดให้บริการโทร ศัพท์มือถือได้อีก เพียงแต่ก็รู้กันดีว่า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
คงไม่มีเอกชนรายไหนที่จะมีเงินมาลงทุนเท่าใดนัก
ขณะเดียวกันบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชิน
คอร์ ปอเรชั่น และมีสถานภาพเป็นแค่โฮล ดิ้งคอมปานี
เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ต้องการล้างภาพทักษิณออกจากบริษัทชินวัตร ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า
เป็นของทักษิณ ชินวัตรนั้นร่ำรวยมาจากสัมปทานผูกขาด บริษัทชินวัตรก็จะหายไปเหลือเพียงแค่
บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น และเป็นเพียง แค่บริษัททำหน้าที่ลงทุนอย่างเดียว
ไม่มีธุรกิจอะไร เพราะเอไอเอส และธุรกิจดาวเทียมจะถูกดันขึ้นมาเป็นทัพหน้าแทนที่
แม้ว่า การล้างภาพครั้งนี้จะยัง ไม่ส่งผลในระยะสั้นๆ แต่การทำครั้งนี้เป็นการทำเพื่อปูทางให้กับเส้นทางการเมืองของทักษิณ
และพรรคไทยรักไทยในระยะยาว
และทั้งหมดนี้คือ สาเหตุที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทักษิณต้องออกมาล้างกระดานใหม่