"ISO 9002" คลังยา 103: ดีทแฮล์มปั้นเองกับมือ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเวชภัณฑ์ 103 ของฝ่ายเภสัชกรรม บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เพิ่งได้รับ ISO 9002 ไปเมื่อปลายปี"41 ที่ผ่านมาจากบริษัท RWTUV (ประเทศไทย) ซึ่งงานนี้ได้สร้างความภูมิใจแก่ชาวดีทแฮล์ม เป็นอย่างมาก เนื่องจากทางบริษัทได้จัดคณะกรรมการบริหารคุณภาพขึ้นมาดำเนินการทุกอย่างเองทั้งหมด โดย ไม่ต้องจ้างที่ปรึกษามาทำระบบมาตรฐานคุณภาพให้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการครั้งนี้จึงอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งเป็นค่าจ้าง RWTUV ให้มาทำการตรวจ ประเมินและมอบใบประกาศให้เท่านั้น

"ก่อนลงมือทำ เรามีการศึกษาก่อน เริ่มจากการที่เราไม่รู้จักว่า ISO คืออะไร เราก็ศึกษาหาข้อมูล และส่งคนไปฝึกอบรม จากนั้นเราก็เริ่มทำแผนต่างๆ ออกมา เอง เพื่อควบคุมการทำงานของเรา เราเริ่มลงมือทำจริงเมื่อ 16 มี.ค.41 ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 9 เดือน นับว่าเร็วมาก" ประยุทธ์ เจียรจินดา หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติการ ISO 9002 เล่า และสาเหตุที่ดีทแฮล์มใช้เวลาค่อนข้างน้อยในการจัดทำระบบ เนื่องจาก คลังเวชภัณฑ์ แห่งนี้มีการสร้างระบบคลังสินค้าที่ทันสมัยอยู่แล้ว นับตั้งแต่ ระบบการลำเลียง บรรจุหีบห่อ และระบบการขนส่งที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว จึงง่ายต่อการปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระบบ ISO 9000

หลังจากที่ ดีทแฮล์มยื่นความจำนงขอรับมาตรฐาน ISO 9002 ไป ทาง RWTUV ได้เข้ามาทำ PREAUDIT ครั้ง แรกคือเดือน ก.ค.41 ก็พบว่าเอกสารที่ทางทีมงานเขียนส่วนใหญ่ยังผิดพลาดอยู่ ทางทีมงานจึงได้กลับไปแก้ไข โดยใช้เวลาแก้ไขประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นในวันที่ 19-20 ต.ค. ทาง RWTUV ก็ได้ส่งคณะผู้ตรวจสอบเข้ามาทำการตรวจสอบเป็นครั้งสุดท้าย และในเดือนพ.ย.ก็ได้มีการมอบใบประกาศนียบัตร ISO 9002 อย่าง เป็นทางการ

"เราเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมและจ้างผู้ตรวจประเมินของ RWTUV เท่านั้น โดยไม่ได้เสียค่าจ้าง ที่ปรึกษาสักบาทเดียว" ประยุทธ์กล่าวอย่างภูมิใจ

สำหรับกระบวนการในการตรวจสอบ อ้อยทิพย์ กุลวัลลภ ผู้จัดการทั่วไปของ RWTUV ได้เล่าว่า การตรวจสอบจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะตรวจสอบเบื้องต้น (PREASSESSMENT AUDIT) ระยะตรวจสอบ ณ สถาน ที่ทำงานจริง (ON SITE AUDIT) และระยะตรวจติดตาม ผลทุกๆ 6 เดือน (SURVEILLANCE AUDIT) ซึ่งการตรวจสอบในที่นี้คือ การตรวจสอบเอกสารที่ทางลูกค้าเขียน มาว่าสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ หากไม่สอดคล้องกัน ต้องแก้ไขใหม่จนกว่าจะสอดคล้อง และหลังจากเอกสารผ่านแล้ว ผู้ตรวจสอบจะไปดูการปฏิบัติงานจริงของพนักงานว่าตรงตามที่เขียนไว้ในเอกสารหรือไม่ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยผู้ตรวจประเมินที่มีประ-สบการณ์ เพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด จากนั้นจึงจะมีการมอบใบประกาศ และทุกๆ 6 เดือนทาง RWTUV จะส่งผู้ตรวจสอบกลับมา ตรวจสอบอีกครั้งว่า การทำงานของบริษัทนั้นๆ ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานอยู่หรือไม่ หากไม่เป็น ก็ต้องมีการ คุยกับผู้บริหารว่า ทางบริษัทนั้นยังต้องการใบประกาศอยู่หรือไม่ ถ้าต้องการก็ต้องมีการแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ต้องการ ทาง RWTUV ก็จะยกเลิกใบประกาศดังกล่าว

"ทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขที่เราวางไว้ แต่ในความจริง ผู้ที่ขอ ISO ส่วนใหญ่ได้ลงทุนในการสร้างระบบไปมาก ส่วนใหญ่ก็จะพยายามรักษาเอาไว้ เรายังไม่เคยเจอรายไหนที่รุนแรงขนาดต้องถอนใบประกาศ แต่ก็มีหลายราย ที่เราต้องเตือน ซึ่งการไปตรวจสอบของเรา จะนัดวันเวลากับลูกค้าก่อน เราไม่แคร์ว่า ลูกค้าจะปลูกผักชี เพราะอย่างน้อยคือเขาได้ปลูก ดีกว่าไม่ได้ปลูกเลย และในทางปฏิบัติหากเราไม่นัดหมาย อาจจะทำให้ธุรกิจเขาติดขัด เพราะต้องมาเตรียมตัวเพื่อเรา" อ้อยทิพย์ กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.