อนาคตของบลจ. กำลังจะกลับมา


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม บลจ. ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจกับผลตอบแทนที่ได้รับกลับคืน และเริ่มพิจารณาความเสี่ยงหลายๆ อย่างที่ได้รับ โดยเฉพาะการยกเลิกกองทุน แต่แนวโน้มในอนาคต อุตสาหกรรมนี้จะกลับคืนมาพร้อมกับการเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ เพื่อต้อนรับนักลงทุนที่หวังผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ที่แน่ๆ ตอนนี้ กองทุนตราสารหนี้ หรือ fixed income fund เริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เหตุเพราะมีเม็ดเงินค้างเติ่งไม่มีที่ลงทุนอยู่มากในระบบ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงตามนโยบายรัฐบาลนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนประเภทนี้จึงน่าสนใจยิ่ง อนาคตของ บลจ.จะกลับคืนมาจากการออกหน่วยลงทุนประเภทนี้หรือไม่ ต้องติดตาม!

หลังจากประเทศไทยเกิดความผัน ผวนทางด้านเศรษฐกิจหลายๆ เหตุการณ์นับตั้งแต่ปลายปี 2539 ล่าสุดเมื่อ 14 สิงหาคม 2541 บริษัทเงิน
ทุน (บง.) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพิ่มอีก 40 แห่ง รวมกับสั่งปิดรอบแรก 16 แห่ง รวมทั้งสิ้นที่สถาบันการเงินโดนสั่งปิดไป 56 แห่ง บวกกับการสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ที่บริหารผิดพลาดเข้ามาอยู่ในอ้อมแขนของรัฐบาล หรือบางแห่งเตรียมขายให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ

การล่มสลายระบบสถาบันการเงินครั้งประวัติศาสตร์ของไทยครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อระบบธุรกิจอื่นอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งคนธรรมดาๆ ก็หนีไม่พ้นบ่วงกรรมอันนี้ ธุรกิจอย่างหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรง คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เนื่องจากโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นของ บลจ. ส่วนมากจะมีบรรดาสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นแขนขาให้ บลจ. ในการดำเนินธุรกิจ แต่เมื่อสถาบันการเงินเหล่า นั้นถูกปิดกิจการอนาคตของ บลจ. จึงถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย โดยเฉพาะ บลจ. ที่อยู่ในการควบคุมขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และรอการประมูลซึ่งไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

ปัจจุบัน บลจ. ในไทยที่เปิดดำเนินการมีอยู่ทั้งสิ้น 13 แห่ง และ บลจ. จำนวน 10 แห่งมีผู้ถือหุ้นที่ถูกระงับการดำเนินกิจการรวมอยู่ด้วย และอุตสาหกรรมดังกล่าวถือว่ามีการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ ก็คือการที่ บลจ.บัวหลวง ที่มีผู้ถือหุ้นอย่างธนาคารกรุงเทพ ในอดีต บลจ.บัวหลวง เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมนี้ติดอันดับ 2 ในปี 2540 แต่ในปี 2541 ได้ หล่นลงไปอยู่ที่อันดับ 12 หลังจากตัดสินใจปิดกองทุนในกองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) ของตัว เองลง 4 กองทุน เนื่องจากประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง จากนั้นก็มีกองทุนตราสารหนี้ทยอยกันปิดเพิ่มอีก 18 กองทุน

สถานการณ์อุตสาหกรรม บลจ. เริ่มโคลงเคลงมาตั้งแต่ปี 2540 เนื่อง จากมีจำนวนกองทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2539 เพียงแค่ 3 กองทุนเท่านั้น และมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) เพียง 102.46 ล้านบาท เทียบกับปี 2539 ที่มี NAV สูงถึง 246.43 ล้านบาท ลดลง 58.42% สาเหตุของการซบเซา ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ NAV ของกองทุนปรับตัวลดลงตามไปด้วย ปัญหาสภาพคล่องของตราสารหนี้และการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของผู้ออกหุ้นกู้ อัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นและระยะ ยาวในประเทศอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการซื้อขายตราสารหนี้จึงลดลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น การลงทุนในตราสารหนี้จึงไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทน ที่สำคัญการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งพักผู้จัดการกองทุน 4 คน ส่งผลให้นักลงทุนหมดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุน ประกอบกับภาพรวม ของเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้น ทำ ให้ธุรกิจ บลจ. ยังอยู่ในมุมมืดจนถึงปัจจุบัน

ภาพรวมของอุตสาหกรรม บลจ. ในขณะนี้ คือ นักลงทุนอกหักจากการลงทุนในกองทุนหุ้นทุน (Equity Fund) และกองทุนตราสารหนี้ อีกทั้งการที่ผู้บริหารกองทุนที่บริหารงานผิดพลาด แม้ว่าจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แต่สิ่งที่ผิดพลาดอย่างมาก คือ การรีบขายหน่วยลงทุนโดยที่นักลงทุนไม่เข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ เช่น ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้โดยไม่เข้าใจว่าหุ้นกู้คืออะไร

ในอดีตต้องยอมรับว่าธุรกิจ บลจ. เติบโตขึ้นมาจาก Equity Fund ด้วยข้อกำหนดของ ก.ล.ต. ที่ให้ บลจ. เปิดใหม่หลังจากปี 2535 จะต้องออกกองทุนปิดที่เป็น Equity Fund ให้ได้ภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้รับอนุญาต และการลงทุนจะถูกกำหนดโดย ก.ล.ต. ว่าต้องมีหุ้นอยู่ไม่ต่ำกว่า 75% ของขนาด ของพอร์ต ในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และนักลงทุนได้เข้ามาลงทุนโดยไม่เลือกอะไรมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ฝากเงินที่ไม่เข้าใจในผลิตภัณฑ์ และซื้อไปเพื่อหวังว่าเมื่อหุ้นเข้าไปในตลาดแล้วจะให้ผลตอบแทนที่ดี แต่เมื่อตลาดหุ้นซบเซาก็เริ่มผิดหวัง และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ที่เรียกว่ากองทุนตราสารหนี้และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก NAV ได้ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ และตราสาร หนี้ที่ต้องลงทุนก็ถูกบังคับด้วย ก.ล.ต. ในที่สุดเมื่อมาเจอปัญหาสภาพคล่อง ไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เล่นและการลงทุนก็ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ปัญหา จึงเกิดอย่างที่เห็น

แล้วอุตสาหกรรม บลจ. จะกลับมารุ่งเรืองได้อีกหรือไม่??? เป็นความกังขาของบรรดาตัว บลจ.หรือแม้แต่นักลงทุนที่ต้องการคำตอบ

คำตอบในขณะนี้คืออุตสาห-กรรม บลจ. จะกลับมาอีกครั้ง เพียงแต่ความรุ่งเรืองได้หยุดลงชั่วคราว ซึ่ง ขึ้นอยู่กับตัว บลจ. ว่าจะทำอะไรให้ดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากในปี 2540 ผู้ถือ หน่วยลงทุนทั้งอุตสาหกรรมนี้มีเพียงประมาณ 8 แสนบัญชีเท่านั้น โดยมีสัดส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนในกรุงเทพฯ 45.37% อีก 54.63% กระจายอยู่ต่างจังหวัด และถ้าดูสัดส่วนระหว่างนักลงทุนคนไทยกับต่างประเทศอยู่ที่ 99.61:0.39 และสิ่งที่น่าสนใจคือขณะที่มีคนในวัยทำงานที่สามารถเข้าถือหน่วย ลงทุนได้สูงถึงประมาณ 22 ล้านคน อีกทั้งในหลายๆ ปีที่ผ่านมาอัตราการซื้อหน่วยลงทุนต่อเงินฝากทั้งประเทศมีประมาณ 4% เท่านั้น ซึ่งการถือหน่วย ลงทุนเติบโตสูงสุดอยู่ในปี 2538 โดยมีสัดส่วน 18% ของเงินฝากทั้งประเทศ สาเหตุที่อุตสาหกรรม บลจ. ไม่ค่อยเติบโตเนื่องจากพฤติกรรมคนในเอเชีย ส่วนใหญ่ชอบลงทุนในระยะสั้น ดังนั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคตก็จะยังต่ำเมื่อเทียบกับเงินฝากของแบงก์พาณิชย์

สัญญาณการเปลี่ยนแปลง...เริ่มแล้ว

นับจากปีนี้เป็นต้นไปสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม บลจ. ได้เริ่มต้นขึ้นมาบ้างแล้ว ซึ่งการเปลี่ยน โฉมครั้งนี้จะมีผลกระทบวงการธุรกิจนี้ สิ่งหนึ่งที่แทบทุกบริษัทที่อยู่ในตลาดปรับโฉม คือ การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น บางแห่งมีผู้ร่วมทุนคนไทยมากขึ้น เช่น บลจ.ออมสิน (GSAM) และ บลจ. วรรณ (OAM) ซึ่งเดิมเคยมีพาร์ต เนอร์จากต่างประเทศเข้ามาเป็นเสาหลักในการดำเนินการ ขณะที่บางแห่งกลับเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ โดยวิธีซื้อผ่านทางผู้ถือหุ้นที่เป็นไฟแนนซ์ที่ถูกปิดไปแล้วเช่น บลจ.นครธนชโรเดอร์ (NSAM) และ บลจ.สยามซิตี้ (SCIBAM) การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้คาดว่าในอนาคตจะมี บลจ. อีกหลายๆ แห่งดำเนินการ เนื่องจากความจำเป็นต้องพึ่งพาความแข็งแกร่งของพาร์ตเนอร์หน้าใหม่สำหรับการแข่งขัน

อีกทั้งยังมี บลจ. บางแห่ง ที่นำภาวะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้มาสร้างเป็นโอกาสเพื่อเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่รอดในตลาด ดูได้จากหลังการมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Pro-perty Fund) ออกมาให้แข่งขันกันจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังมีราคาตกต่ำ โดยนักลงทุนที่เข้ามาแข่งขันตัวหลักๆ ก็มีนักลงทุนจากต่างประเทศและผู้ถือหุ้นใน บลจ. แต่การที่จะประสบความสำเร็จในด้านส่วนแบ่งตลาดในยุคนี้ได้ขึ้นอยู่กับค่าธรรมเนียมบริหารต่ำที่สุด และความสามารถที่จะซื้อสินทรัพย์ในราคาที่มีส่วนลด (Discount) เป็นที่ยอมรับได้ในหมู่ของผู้บริหารกองทุน นักลงทุนและลูกค้า ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมการบริหารต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 0.1% ของ ขนาดกองทุน โดยมีเพดานจ่ายไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้พฤติกรรมของนักลงทุนเองต้องการผลตอบแทนสูงสุด เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของแบงก์พาณิชย์ที่อยู่ที่ระดับ 6% ของเงินฝาก 3 เดือน อีกทั้งจากการที่ความเสี่ยงการลงทุนในกองทุนตราสาร หนี้ (fixed income fund) ค่อนข้าง ต่ำและมีสภาพคล่องสูงทำให้กองทุนประเภทนี้เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นโดยเฉพาะนักลงทุนประเภทแบงก์ ไฟ-แนนซ์ ซึ่งพวกนี้มีเงินสดอยู่ในมืออย่างล้นเหลือ ส่วนนักลงทุนรายย่อยเริ่มเข้ามาลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจาก NAV ดีกว่าเงินฝากของแบงก์ รวมทั้งนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทยอยเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ เพราะคาดกันว่าผลตอบแทนจะดีกว่าการซื้อหุ้นสามัญ จากตัวเลขล่าสุดสิ้นปี 2541 ยอดการลงทุนในกองทุนตรา สารหนี้ขยายตัวเป็น 48,736 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2540 สูงถึง 131.54%

สัญญาณอีกอย่างที่ตัว บลจ. กำลังนำออกมาบริการใหลูกค้า ถือว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ คือ การซื้อหน่วยลงทุนผ่านเทเลโฟนแบงกิ้ง, เอทีเอ็มและอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตามขณะนี้นักลงทุนให้ความสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้น้อยมาก ส่วนแนวโน้มอย่างหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และเสริมสร้างจรรยาบรรณให้พนักงานขายหน่วยลงทุน คือ ก.ล.ต. จะบังคับให้มีใบอนุญาตในการทำงาน ซึ่งข้อกำหนดนี้คาดว่าจะเริ่มใช้ไม่เกิน ปี 2543 อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจ จัดการกองทุนอาจรวมการบริหารกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลไว้ด้วยกันและอยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ บลจ. ในแง่การขยายธุรกิจเนื่องจากธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีขนาดเล็กอยู่ ดังนั้น บลจ.จะได้เข้ามาแข่งขันกับแบงก์พาณิชย์และไฟแนนซ์ในธุรกิจนี้ได้

แม้ว่าในขณะนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรม บลจ. ยังอยู่ในมุมมืด แต่ในอนาคตจะเห็นการกลับมาของธุรกิจนี้อย่างแน่นอนแต่จะเร็วแค่ไหนคนในวงการไม่กล้าฟันธง แต่ที่แน่ๆ การกลับมาครั้งใหม่นี้หน้าตาของ บลจ. จะไม่เหมือนเดิม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.