จุดเปลี่ยนโค้ง CRA หลังเกิดวิกฤติในเอเชีย


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

นับแต่เกิดวิกฤติสถาบันการเงิน ในประเทศไทยและลุกลามออกไปจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ และยังระบาดไปประเทศข้างเคียงในภูมิภาคนี้ด้วยนั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกต กันมากว่าบทบาทของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือ Credit Rating Agency (CRA) ที่คอยประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ลงจนเป็น เหตุให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนทั้งหลาย และเกิดการถอนเม็ดเงิน ลงทุนออกจากภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็น การกระหน่ำซ้ำเติมให้ภาวะวิกฤติต่างๆ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกนั้น บทบาทของสถาบันเหล่านี้สมควรมีการทบทวนพิจารณาใหม่ หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของมาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถาบันเหล่านี้ เพราะก่อนหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียจะออกไปโรดโชว์เพื่อกู้เงินในตลาดต่างประเทศจำนวน 3,000-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพียง 2 วันเท่านั้น ปรากฏว่าสถาบันจัดอันดับฯ ประกาศลดอันดับเครดิตประเทศของมาเลเซีย ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกแผนการกู้เงิน เพราะตลาดปิดสนิทสำหรับมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ถึงกับกล่าวโจมตีสถาบันฯเหล่านี้ว่า "รวมหัวกันทำร้ายมาเลเซีย"

แน่นอนว่าจะต้องมีการทบทวนบทบาทของสถาบันฯเหล่านี้ ดร.วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเรทติ้งอินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด หรือ ทริส เปิดเผย ว่า "ธุรกิจเรทติ้งกำลังถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในปีนี้"

ธุรกิจนี้มีอายุเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่ปรากฏว่าใน 2 ปีที่ผ่านมานี้เกิดกระแสครหา CRA ใหญ่ๆ ของโลกว่าเป็น สาเหตุหลักอันหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ในเอเชียและโลก ทั้งนี้ CRA เหล่านี้ทำการลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือ downgrade ประเทศเหล่านี้ ทั้งช้าและเร็วเกินไป

ดร.วรภัทรอธิบายว่า "เมื่อประเทศเหล่านี้ถูก down grade ทั้งที่ยังไม่ทำอะไรผิดพลาด เพียงเริ่มมีอาการส่อเค้าเท่านั้น ซึ่งเขาอาจจะตั้งหลักได้ ก็โดนลดอันดับฯ ทำ ให้ต้นทุนทางการเงินแพงขึ้นมาทันที ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหายไปทันที และมีการถอนเงินออกไป ดังนั้นแทนที่จะเป็นผลดี กลับยิ่งดิ่งเลวลงไป" ดังนั้นการที่บอกว่าลดอันดับฯ นั้นถือเป็นสัญญาณ แต่ปฏิกิริยาของนักลงทุนจะออกมาในลักษณะ over re-act นักลงทุนถอยหมด จึงเกิดภาวะที่เลวร้ายขึ้นมาจริงๆ "เพราะคนเชื่อสัญญาณ และ over re-act"

อีกอย่างคือการลดอันดับฯ ช้าเกินไป เหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้ว และประเทศนั้นอาจจะพอตั้งตัวได้แล้ว แต่ CRA เพิ่งจะประกาศ ซึ่งคราใดที่บริษัทเหล่านี้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือลง ตลาดจะขานรับในทางลบทุกครั้งไป ทำให้ประเทศเหล่านี้มีสถานะย่ำแย่ลง

ดังนั้นในการประชุมประเทศสมาชิกกลุ่ม APEC เมื่อปีที่แล้ว ได้มีมติในเรื่องนี้ออกมาในระดับรัฐบาล ซึ่งดร.วรภัทรเปิดเผยว่า " CRA ทั่วโลกต้องทบทวนบทบาทและ วิธีการของตัวเอง ว่าวิธีการจัดอันดับ การประเมินการประกาศ เหล่านี้ ยังใช้ได้อยู่หรือไม่กับสังคมโลกในปัจจุบันนี้ เพราะดูเหมือนมีส่วนอาจจะมากด้วย ในการทำให้วิกฤตเลว ร้ายมากยิ่งขึ้น"

ทั้งนี้ TRIS ก็ได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมประชุมที่จัดโดย Asian Development Bank หรือ ADB ที่กรุง มะนิลาในวันที่ 8-9 ก.พ. การประชุมครั้งนี้ชื่อ APEC Con sultative Group Workshop on the Credit Rating Industry in APEC Economies จะมีตัวแทนของ CRA ทั่วโลกและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เพื่อมาทบทวนตรวจอุตสาหกรรมการจัดอันดับความน่าเชื่อถือกันในทุกแง่มุม

ตัวดร.วรภัทรได้รับเชิญเป็น speaker ในหัวข้อ Role of Sovereign ratings in Developing Capital Markets

ด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยนั้น ทั้ง S&P"s และ Moody"s ซึ่งต่างเป็นสถาบันจัดอันดับฯรายใหญ่ในตลาดโลก เริ่มเข้ามาจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1989 สำหรับ S&P"s นั้นจัดอันดับเครดิตของไทยไว้โดยเริ่มด้วยอันดับ AA สำหรับ ตราสารระยะสั้น(มีอายุไม่เกิน 1 ปี/Short term) และระดับ A สำหรับตราสารระยะยาว (มีอายุตั้งแต่ 1-5 ปี/Long Term)

S&P"s ให้ความน่าเชื่อถือในตราสารระยะสั้นไว้ที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลายาวนานถึง 8-9 ปีจนถึงเดือน ต.ค. 1997 คือหลังเกิดวิกฤติการณ์ลอยตัวค่าเงินบาท S&P"s จึง
ได้ downgrade ความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้นลง จนกระทั่งมาอยู่ในอันดับ A-2 ซึ่งถือว่ามีความน่าลงทุนค่อนข้างต่ำ (เมื่อ 9 ม.ค. 1998)

ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวนั้นก็ได้ความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับ A- เป็นเวลายาวนาน จนมาในเดือนธ.ค.ปี 1994 มีการ upgrade ด้วยซ้ำเป็น A ซึ่งก็ค่อนข้างสูง และยืนอยู่หลายปีจนมาเจอวิกฤติเรื่องค่าเงินในปี 1997 จึงเริ่มถูกลดอันดับลงมาเป็นระยะๆ อันดับล่าสุดตอนนี้คือ BBB- (เมื่อ 9 ม.ค. 1998) ซึ่งถือเป็นอันดับที่ต่ำสุดของความน่าลงทุน หากหลุดจากตรงนี้ไปก็เป็นระดับ junk bond แล้ว

ด้าน Moody"s จะมีลักษณะการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ aggressive กว่า S&P"s โดย Moody"s ให้อันดับตราสารหนี้ระยะยาวที่ A2 และตราสารหนี้ระยะสั้นที่ Aaa แต่มาในเดือนก.ย. 1996 Moody"s ก็เริ่มลดอันดับความน่าเชื่อถือในตราสารหนี้ระยะสั้นลงเป็นรายแรก และในเดือนเม.ย. 1997 ก็ลดอันดับลงอีก และเมื่อไทยประกาศลดค่าเงิน Moo-dy"s ก็ลดอันดับตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยลงไปอยู่ที่อันดับ B และดิ่ง ลงไปเรื่อยๆ จนตอนนี้(9 ม.ค. 1998) อยู่ในอันดับ Baa1 ซึ่งถือเป็นตราสาร Junk bond เป็น Speculative grade มีความเสี่ยงสูง (ดูตารางอันดับเครดิตประเทศต่างๆ ณ 31 ธ.ค. 2541)

ในแต่ละครั้งที่มีการลดอันดับ ความน่าเชื่อถือของประเทศนั้น ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจต่างๆ (ดูตารางต้นทุนทางการเงิน) ซึ่งจะเห็นว่า spread ที่บวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร สหรัฐฯ นั้นสูงสุดถึง 8.7%-6.4% ในช่วงปลายปี 2541 นอกจากนี้ก็มีผลกระทบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แม้จะไม่ชัดเจนมากก็ตาม (ดูตาราง อัตราแลกเปลี่ยน)

อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้ก็มีข่าวดีในเรื่องของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือคือได้รับการเปลี่ยน outlook จากมีเสถียรภาพ(stable) มาเป็นบวก (positive) แต่ระดับความน่าเชื่อถือยังอยู่ที่เดิมคือ BB+ (S&P"s) และ Ba1(Moody"s) ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่าและประเทศ ไทยจะได้รับการปรับปรุงอันดับความ น่าเชื่อถือบ้างหรือไม่

หากมองย้อนดูว่าเหตุผลที่ไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P"s อ้างว่าเพราะไทยเกิดวิกฤติ การณ์การเงินที่เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ มีความกดดันอย่างมากในเรื่องการปรับโครงสร้างการเงินของประเทศและด้านดุลการชำระเงินของประเทศ

ส่วน Moody"s มองว่าประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือและพื้นฐานทางการเงินที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ มีปัญหาทางการเมืองที่อาจเป็นข้อจำกัดในการสร้างเสถียรภาพตามแนวทางของไอเอ็มเอฟ

เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุให้ 2 สำนัก CRA ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลง ครั้นในช่วงกลางปีที่แล้ว S&P"s มองว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ทั้งระบบจะเท่ากับ 35% ในกลางปี 2542 และสถาบันการเงินทั้งระบบต้องเพิ่มทุนจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ซึ่งในเวลาต่อมาสถาบันฯแห่งนี้ก็มองว่า NPL จะเพิ่ม
เป็น 40% และภาคการเงินมีการระดมทุนคืบหน้าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

นั่นเท่ากับความกังวลหลักของ S&P"s ยังอยู่ในเรื่องการแก้ปัญหาในสถาบันการเงิน ซึ่งหาก S&P"s จะปรับ อันดับหรือ outlook ของประเทศไทย ก็ต้องมาดูว่าความ กังวลในประเด็นนี้ได้คลี่คลายออกไปมากน้อยเพียงใด

ปรากฏว่าทางการมีการแถลงออกมาว่า NPL ของระบบทั้งหมดตอนนี้อยู่ในระดับ 40%-42% คิดเป็นมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้ที่อยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างประมาณ 5.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้ที่ปรับโครงสร้างสำเร็จแล้วมี 3.7 หมื่นล้านบาทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากของหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง นั่นเท่ากับว่าความคืบหน้าในเรื่องนี้มีน้อยมาก

ด้านการเพิ่มทุนสถาบันการเงินก็อาจจะมีความคืบหน้าบ้างเล็กน้อย ส่วนเรื่องกฎหมายสำคัญทางเศรษฐกิจอาจมีผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือไม่มากพอ เมื่อเทียบกับกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาซื้อธุรกิจ เพราะต้องพึ่งพากฎหมายเหล่านี้มากกว่า

ในที่สุดดร.วรภัทรสรุปในเรื่องนี้ว่า "มันก็ผ่านมา 1 ปีแล้วสำหรับ S&P"s และ Moody"s ในการที่จะเริ่มปรับการจัดอันดับความน่าเชื่อของไทย ซึ่งปัจจัยที่จะดูนั้นก็มีหลายตัว บางตัวก็ดูดีขึ้น บางตัวก็อาจต้องใช้เวลารอดูอีกสักหน่อย"

แต่หากไม่มีอะไรเลวร้ายลงไปกว่านี้ "มันก็น่าจะมีเหตุผลได้พอสมควรที่เขาจะพิจารณาว่าจะมีการทำอะไรกับเรทติ้งของเราหรือเปล่า ซึ่งมันก็มี 2 ระดับที่เขาจะทำได้คือ ปรับเรทติ้งขึ้นไปเลย หรือปรับ outlook ที่วันนี้ยังเป็น negative อยู่"

ก็ต้องรอดูใจของ CRA เหล่านี้ อย่างน้อยก็ในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.