Credit Bureau กับดักนักเบี้ยวหนี้


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาคำว่า ศูนย์ข้อมูลเครดิต หรือ Credit Bureau ที่ทางการต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าและสถาบันการเงินที่ต้องการตรวจสอบข้อมูลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะธุรกรรมด้านสินเชื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยลดความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นกับระบบสถาบันการเงินไทยได้ถูกเอ่ยขึ้นมาอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่การจัดตั้ง Credit Bureau ก็ได้แค่ "เกือบ" เท่านั้น

เมื่อเกิดความล่มสลายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ คำว่า Credit Bureau ก็ได้เป็น หัวข้อหนึ่งที่หยิบขึ้นมาถกอีกครั้ง โดยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง ธารินทร์ นิมมาน-เหมินท์ ได้นำเข้าไปไว้ในหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการ ฉบับที่ 6 ที่มีต่อกองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ (IMF) กำหนดให้มีการจัดตั้ง Credit Bureau เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง เจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน (บง.) เจ้าหนี้การค้าและสาขาธนาคารต่างประเทศ ที่สำคัญต้องการเห็นระบบสถาบันการเงินไทยเป็นระบบสากลมากขึ้น

"เท่าที่ตกลงกับ IMF ไว้ เราจะพยายามทำให้ Credit Bureau เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ตอนนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การอนุมัติในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ในการนี้จะต้องมีการออกกฎหมายการจัดตั้ง Credit Bureau เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าหนี้ ซึ่งในเจตจำนงนโยบายการพัฒนาของธนาคาร โลก (world bank) กำหนดไว้ว่าร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบริการข้อมูลเครดิตต้องเสนอ ครม. ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2542 และภายในวันที่ 30 กันยายน 2542 Credit Bureau จะต้องเริ่มดำเนินการ" เกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว

ขณะนี้สถาบันการเงินด้วยความร่วมมือของสมาคมธนาคารไทย กำลังพิจารณาจัดตั้ง Credit Bureau ซึ่งมีแนวทางว่าจะมีเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยในระยะสั้นยังไม่ลงทุนในด้าน software เอง หากแต่จะนำมาจากบริษัทที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีการประมวล ผลข้อมูลเพื่อทำหน้าที่ไปก่อน และในระยะเริ่มต้นจะมีข้อมูลเฉพาะ consumer credit ก่อน จึงขยายไปใน corporate ต่อไป

"หมายความว่าหลังจากแบงก์ชาติจัดตั้ง Credit Bureau แล้วภายใน 1 เดือน หากไม่มีผู้ใดขอเข้ามาจัดตั้ง แบงก์ชาติจะลงทุนเองหลังจากนั้นก็จะขายออกให้ภาคเอกชนภายใน 2 ปี ซึ่งในต่างประเทศ Credit Bureau เป็นของภาคเอกชน และสาเหตุที่องค์กรนี้เกิดขึ้นยาก เนื่องจากสถาบันการเงินจะต้องนำข้อมูลที่ตัวเองมาแชร์กันและถ้าเขามีความรู้สึกระดับหนึ่งว่า ตัวเองมีข้อมูลมากจะเกิดการเสียเปรียบเมื่อนำมาแชร์กับสถาบันการเงินที่มีข้อมูลน้อยกว่า อีกทั้งยังมองว่าสถาบันการเงินรายใหม่จะได้ผลประโยชน์จากการเข้ามาใช้ข้อมูลตรงนี้" เกียรติชัย กล่าว

ข้อมูลที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับลูกค้าหรือผู้มาขอสินเชื่อ โดย Credit Bureau จะเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ "ดังนั้นต่อไปนี้ถ้าสถาบันการเงินไหนต้องการตรวจสอบข้อมูล ก่อนการปล่อยสินเชื่อหรือเข้ามาใช้บริการอาจจะต้องเสียค่าบริการเป็นรายปี หรือใช้ข้อมูลจำนวนกี่ครั้งก็จ่ายตามการใช้บริการ แต่ว่า Credit Bureau ไม่ใช่บริษัทตั้งขึ้นเพื่อทำกำไร ดังนั้นต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการใช้ข้อมูล และในระยะแรกๆ ต้องเป็นสมาชิกถึงจะเข้ามาใช้บริการได้"

แม้ว่าในช่วงแรกๆ สถาบันการเงินต่างๆ ยังมองเป็นเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ แต่เกียรติชัย แนะทางออกให้อย่างง่ายๆ ว่าสถาบันการเงินแห่งไหนมีข้อมูลมากก็มีสิทธิที่จะเข้ามาใช้บริการได้มากกว่าสถาบันการเงินที่มีข้อมูลน้อย "นี่คือกติกาที่เรากำหนดในช่วงระยะสั้นๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการใช้ Credit Bureau"

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าการที่ประเทศไทยมีหนี้เสียหรือ NPL พอกพูนมากขึ้นทุกวันๆ คือ ไม่มี Credit Bureau ไม่มีการแชร์ข้อมูลกันต่างคนต่างหวงข้อมูลและไม่เคยคุยกัน ซึ่งตามกฎหมายก็ห้ามคุยกันอยู่แล้ว ดังนั้นสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะไม่มีทางรู้เลยว่าลูกหนี้ตนเอง มีหนี้เสียที่สถาบันการเงินอื่นหรือไม่ แต่ถ้ามี Credit Bureau จะเป็นการป้องกันเรื่องหนี้เสียได้ "เพราะถ้าลูกหนี้มีหนี้เสียขึ้นมา ถือว่าเครดิตได้หมดไปแล้ว"

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีระบบข้อมูลลูกหนี้ที่ทำหน้าที่คล้ายกับ Credit Bureau คือ ศูนย์ทะเบียนเครดิตกลาง ที่มี ธปท. เป็นผู้ดำเนินการโดยไม่คิดค่าบริการข้อมูลจะเป็นลักษณะ positive list เฉพาะลูกค้ารายละ 5 ล้านบาท ขึ้นไป ข้อมูลเหล่านี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง บง. บางส่วนเป็นผู้ส่งข้อมูลให้ แต่ไม่มีธนาคารต่างประเทศและไม่แสดงยอดค้างชำระหรือยอดจัดชั้นเจ้าหนี้ ส่วนทางภาคเอกชนก็มีศูนย์ลูกหนี้เครดิตการ์ดและศูนย์ลูกหนี้เช่าซื้อ มีบริษัทพีซีซี ที่มีธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกร-ไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้ดำเนิน การโดยคิดค่าบริการเป็นรายครั้ง ข้อมูลจะเป็น negative list ที่สมาชิกรายงานโดยครอบคลุมลูกค้าทุกราย แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร "เพราะถ้ามัน work ปัญหาหนี้เสียคงไม่มากมายขนาดนี้ อีกทั้งเรื่องวัฒนธรรมคนไทยที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ข้อมูลของตัวเองเพราะกลัวจะเสียเปรียบ ที่สำคัญการทำธุรกรรมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้จะมีเรื่อง connection เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย"

อีกทั้งการดำเนินการของศูนย์ เครดิตกลาง ศูนย์ลูกหนี้เครดิตการ์ดและศูนย์ลูกหนี้เช่าซื้อ ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อโต้แย้งจากลูกค้าผู้เสียประโยชน์เท่านั้น ดังนั้นการจัดตั้ง Credit Bureau จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ เพราะการประกอบธุรกิจบริการข้อมูลเครดิตเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล

โดยภาพรวมแล้วถ้ามี Credit Bureau ความโปร่งใสของระบบสถาบันการเงินไทยจะมีมากขึ้นและ หนี้ที่กำลังจะเสียจะลดน้อยลงด้วย "ปัญหาของมันอีกอย่าง คือ การปรับโครงสร้างหนี้ เรามีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่มีฐานะการเงินดี ธุรกิจยังเดินต่อไปได้แต่ไม่ยอมชำระหนี้และลูกค้ากลุ่มนี้ก็ไปมีดอกเบี้ยเงินต้นค้างอยู่กับสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง ขณะที่ตัวเองเดินบัญชีดีมากกับสถาบันการเงินอีกแห่ง หรือบางรายมีเงินฝากที่สถาบันการเงินแห่งอื่นด้วย ขณะเดียวกันอาจผิดการชำระหนี้ไปหมด แต่ถ้ามี Credit Bureau จะไม่มีการหลอกลวงกันอีกต่อไป ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงตามเวลา เพราะถ้าเครดิตเสียที่หนึ่งก็ไม่สามารถกู้ที่อื่นได้เลย คือ เป็นคนดีมากขึ้น" เกียรติชัย กล่าว

เขายังกล่าวถึงประโยชน์ของการมี Credit Bureau ว่าอัตราดอกเบี้ยการปล่อยกู้น่าจะลดต่ำลงสำหรับลูกค้าที่มีเครดิตดี "เพราะว่าต้นทุนในการทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินขณะนี้สูงมาก เนื่องจากมีหนี้เสียมาก ทำให้ต้องตั้งสำรองสูงขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อเกิด Credit Bureau หนี้เสียลดลงการตั้งสำรอง จะลดตาม ความสามารถของสถาบัน การเงินต่างๆ ที่จะลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าก็จะเกิดขึ้นทันที ซึ่งเป็นผลทางอ้อมของการมีองค์กรนี้"

อย่างไรก็ตาม Credit Bureau ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยถ้า เปรียบเทียบกับ Credit Bureau ในต่างประเทศจะมีความแตกต่างกัน เพราะในต่างประเทศหน้าที่ขององค์กรนี้ใช้สำหรับลูกค้าที่เป็นรายย่อย เช่น ข้อมูลลูกค้าบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เนื่องจากต้นทุนในการวิเคราะห์สินเชื่อในต่างประเทศสูงมาก ดังนั้น Credit Bureau คือศูนย์ข้อมูลที่ถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุด แต่ในไทยกลับตรงกันข้ามเพราะ Credit Bureau จะมาใช้กับลูกค้ารายใหญ่ เนื่องจากลูกค้ารายย่อยมีขอบเขตจำกัดในการใช้บริการกับสถาบันการเงิน

"ที่เราเจอปัญหาตอนนี้เป็นลูกค้ารายใหญ่เพราะมีอำนาจการต่อรองสูงที่ไปขอกู้กับสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง เมื่อมีความเสียหายขึ้นมาขนาดของมันก็จะใหญ่ด้วย ตรงข้ามกับต่างประเทศเพราะลูกค้ารายใหญ่สถาบันการเงินจะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์นานซึ่งไม่คุ้มกับวงเงินขั้นต่ำ" เกียรติชัย กล่าว

นอกเหนือจาก Credit Bureau ที่ ธปท. ต้อง การให้เกิดขึ้นมาแล้ว ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็มีแนวความคิดที่จะก่อตั้ง Credit Bureau ของตัวเองขึ้นโดยมีธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารศรีนคร และธนาคารนครหลวงไทยร่วมกันจัดตั้ง และมีกระทรวงการคลังเป็น organizer นโยบายดังกล่าวมาจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ขณะนี้ได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมาเพื่อออกกฎกระทรวงรองรับการจัดตั้ง แต่ Credit Bureau แห่งนี้จะจำกัดข้อมูลเฉพาะด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น "และประเทศหนึ่งสามารถมี Credit Bureau มากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้" เกียรติชัย กล่าว

คงจะต้องจับตากันต่อไปว่าแนวความคิดการจัดตั้งองค์กร เพื่อสร้างความสะอาดให้กับระบบสถาบันการเงินไทยอย่าง Credit Bureau จะสามารถดำเนินได้ในระยะเวลาตามที่กำหนดได้หรือไม่ เพราะแนวความคิดการทำงานของคนไทยที่ยังต้องการรักษาวัฒนธรรมการบริหารแบบเดิมๆ เอาไว้ยังมีอยู่อีกมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.