รักษาตาด้วยวิธีเลสิก เจ็บตัวน้อยได้ผลเร็ว


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เทคโนโลยีทางการแพทย์ยุคใหม่ช่วยรักษา อาการเจ็บป่วยของผู้คนได้มากขึ้น ทำให้ เจ็บตัวน้อยและไม่ยุ่งยากเสียเวลาด้วย ในระยะ 4-5 ปีมานี้ วิธีการรักษาแบบใหม่สำหรับผู้ที่มีอาการสายตาสั้นได้มีความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น วิธีดังกล่าวเรียกว่า Laser Assisted in-situ Kera-tomileusis หรือ LASIK คือการนำเอา Excimer laser มาใช้ในขั้นตอนที่เรียกว่า Photorefractive Keratectomy หรือ PRK วิธีนี้จะทำงานโดยการเปิดชั้นบางๆ ที่กระจกตา และฉายแสงเลเซอร์เข้าไปเพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา

วิธีเลสิกเป็นวิธีที่แก้ปัญหาสายตาได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่ำ อาจมีอาการเจ็บปวดเคืองตาเพียงเล็กน้อย และอาการจะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เทคนิคใหม่นี้สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีสายตาเอียงด้วย

ทั้งนี้ นายแพทย์ สุพงษ์ วงศ์วรเศรษฐ จักษุแพทย์จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เปิดเผยกับ"ผู้จัดการรายเดือน" เกี่ยวกับประชากรที่มีสายตาสั้นว่า "ผู้ที่มีอาการสายตาสั้นนั้น มีการสำรวจและเก็บสถิติพบว่าเกิดโดยกรรมพันธุ์ถึง 70% เกิดเอง 30% ดังนั้นประเทศไหนที่มีคนสายตาสั้นมาก มันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ฮ่องกง ประชากร กว่า 70% ใส่แว่น รองลงมาคือเกาหลี ญี่ปุ่น (40%) และจีน ( 30% กว่า) ไทยอยู่ในราว 20-30% ยุโรปประมาณ 18% อเมริกา 19-20% ดังนั้นฮ่องกงจึงไม่มีทางลดจำนวนประชากรสายตาสั้นลงได้เลย"

นอกจากนี้ยังมีการทำการทดลองด้วยว่า สมัยก่อนเราไม่เชื่อว่าการอ่านหนังสือมากๆ ทำให้สายตาสั้น ได้มีการ ทดลองเด็กอนุบาลกับเด็กประถม 2 กลุ่ม จากจีนและฮ่องกง โดยให้กลุ่มประชากรที่สำรวจดังกล่าวนี้มีสายตาสั้นเท่ากันเมื่อเริ่มต้นทำการศึกษา หลังจากเวลาผ่านไป 2-3 ปี ปรากฏ ว่า กลุ่มฮ่องกงสั้นเพิ่มขึ้น เพราะเรียนเยอะ ใช้คอม พิวเตอร์เยอะ การอ่านหนังสือมาก แต่จีนแผ่นดินใหญ่ใช้ตาน้อย การเปลี่ยนแปลง 2 กลุ่มนี้จึงต่างกันมาก จึงมีการ สรุปว่าการใช้สายตามากมีผลต่อการที่จะสายตาสั้นมากขึ้นด้วย และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีประชากรสายตาสั้นมากกว่ากลุ่มประเทศที่ยังไม่พัฒนา

"สำหรับประเทศไทยนั้นผมเคยคำนวณปรากฏว่ามีประชากร 1 ล้านกว่าคนที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องแก้ไขปัญหาสายตา สั้น หรือคิดเป็นประมาณกว่า 20%"

อย่างไรก็ดีผู้ที่เหมาะจะทำการรักษาปัญหาสายตาสั้นคือ ผู้ที่ต้องอายุอย่างน้อย 20 ปีขึ้นไป และขึ้นอยู่กับความสั้น พวกที่มีความสั้นคงที่แล้วจึงควรจะเข้ารับการผ่าตัดแก้ปัญหาสายตาสั้นได้

ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เปิดให้การรักษาเกี่ยวกับสายตาสั้นมาตั้งแต่ปี 2528 ด้วยวิธีการผ่าตัด ใช้มีดที่ทำจากเพชรที่เรียกว่า Diamond knife โดยใช้มีดกรีดบนตาดำเป็น 8 แฉก จนมาในปี 2535 จึงก่อตั้งเป็นศูนย์ เลเซอร์สายตาและใช้การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์

การใช้วิธีผ่าตัดแบบเดิมนั้นมีข้อเสียคือ วิธีเดิมสามารถแก้ปัญหาสายตาสั้นได้จำกัด ตั้งแต่ 150 ถึง 500 ทีนี้เมื่อมีเลเซอร์แล้ว ค่าความแม่นยำก็จะดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นวิธีเลสิก คือเลเซอร์ เข้ามาทดแทนการผ่าตัดเพราะว่าการผ่าตัด 8 แฉกนั้นแก้ได้แค่ 500 และมันต้องปิดตา จะมีแผลเป็นที่ตาดำ ดังนั้นเวลาขับรถตอนกลางคืนจะเห็นเป็นแฉกๆ ได้ในบางราย จึงมีการพยายามคิดค้นเลเซอร์ชนิดใหม่ที่เรียกว่าเลเซอร์ชนิดเย็น เป็นเลเซอร์เฉพาะใช้กับตาดำโดยตรง

เลเซอร์เป็นการแก้สายตาสั้นโดยการยิงที่ผิว เพื่อกลึงให้ผิวแบนลง แต่ข้อเสียของเลเซอร์คือมันแก้ได้ประมาณ 600-700 และในบางรายเกิดการฝ้าได้บนผิวตา บางแห่ง claim ประมาณ 10% บางแห่งก็ claim 7% ดังนั้นในวงการ แพทย์จึงมีการพยายามมาคิดค้นกันใหม่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดฝ้า และยิงได้สั้นมากขึ้น ก็เลยคิดค้นวิธีเลสิกขึ้นมา

วิธีเลสิกเริ่มนำมาใช้แพร่หลายในประเทศต่างๆ ประมาณ 4-5 ปีก่อน วิธีการคือต้องเปิดชั้นตาดำ โดยมีเครื่องมือใบมีดพิเศษเพื่อเปิดชั้นของตาดำ เป็นฝาขึ้นมา ใช้เลเซอร์ยิง เสร็จแล้วก็ปิด ข้อดีคือจะไม่เกิดฝ้าเลยและ มีการเจ็บน้อยมาก (ใช้ยาชาหยอด ไม่มีการดมยาหรือฉีด ขณะที่วิธีเลเซอร์นั้นคนไข้จะปวดมาก เพราะเรายิงที่ผิว เหมือนคนผิวถลอก จะเจ็บมาก แสบมาก ต้องปิดตา 3 วัน แต่อันใหม่คือเลสิกนี่จะไม่เจ็บเลย เพราะมันเป็นรอยตัดที่คมมาก ไม่มีแผล จะสมานแผลทันทีภายใน 24 ชม. ไม่มีการปิดตา และเนื่องจากความคมของใบมีดที่ตัด จะไม่มีการเจ็บ อาจจะเคืองตานิดหน่อย) นอกจากนี้ยังสามารถแก้ได้จนถึง 1,400-1,500 ซึ่งเยอะมาก

นายแพทย์สุพงษ์กล่าวว่า "วิธีแบบใหม่นี่คือเลสิก คนไข้จะชอบมาก เพราะเจ็บตัวน้อยลง คนไข้จะเห็นได้เร็วขึ้น จะเข้าที่ประมาณ 4-5 วันหรือ 1 อาทิตย์ แต่วันรุ่งขึ้นก็สามารถมองได้ แต่ยังไม่ชัด"

"คนไข้ที่เคยถูกปฏิเสธการทำเลเซอร์ (เพราะสายตาสั้นมากเกินกว่าจะทำเลเซอร์ได้) ตอนนี้ก็ขอกลับมาทำเลสิกแล้ว" คุณหมออธิบาย

ส่วนการทำในทุกวิธีจะให้ผลถาวรตลอดไปหรือไม่นั้น หมอสุพงษ์อธิบายว่า "ทุกวิธีให้ผลถาวร เพียงแต่ว่ามีขีดจำกัดในการแก้ อย่างไรก็ดี การถาวรหรือไม่ก็อยู่ที่หมอเลือก เคสด้วย เช่นคนไข้ที่ยังตาสั้นไม่หยุด อายุ 18 สายตาสั้น เราจะไม่ทำ เพราะเขายังมีสิทธิที่จะสั้นอีก หากเราทำให้ตอนนี้เขาก็ต้องทำซ้ำอีกในอนาคต"

ปัจจุบัน วิธีเลสิกเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น เพราะมีข้อดีหลายประการดังที่กล่าวมา แต่อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะรักษาสายตาสั้นด้วยวิธีการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์หรือเลสิก พึงระลึกไว้อย่างหนึ่งว่าการรักษาเหล่านี้เป็นการผ่าตัดแบบหนึ่ง ซึ่งควรจะระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นการรักษาจึงควรทำในห้องผ่าตัด (OR) เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องการติดเชื้อมากที่สุด

นายแพทย์เจตน์ เกียรติสุนทร จักษุแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กล่าวว่า "ในหลายแห่งจะทำในห้องตรวจคนไข้นอกธรรมดา แต่เราเน้นว่าต้องทำในห้องผ่าตัดมาแต่ต้น ตั้งแต่สมัยที่เราทำการผ่าตัด 8 แฉก เราก็ทำใน OR ต่อมาเมื่อใช้เลเซอร์และเลสิก เราก็ยังทำในห้องผ่าตัด เพราะเป็นสถานที่ที่ปลอดเชื้อมากที่สุด แม้ว่าวิธีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นนั้นโอกาสติดเชื้อจะน้อย แต่เราก็ไม่อยากให้มีการเสี่ยง เป็นความปลอดภัยอย่าง หนึ่งที่คนไข้จะพอใจในจุดนี้ คนไข้เข้ามานี่ต้องเปลี่ยนเสื้อสะอาด ห้องฉายแสงเลเซอร์จะมีการตรวจความสะอาด และปลอดเชื้อ ทำตามมาตรฐานของห้องผ่าตัดใหญ่ ในต่างประเทศนั้นมีรายงานออกมาว่า มีเปอร์เซ็นต์ การติดเชื้อประมาณ 0.02%-0.05% "

ทั้งนี้เพราะความเสี่ยงเรื่องตาบอด ในทางทฤษฎีนั้นเป็นไปได้ เพราะหากติดเชื้ออย่างหนักก็อาจจะควบคุมเชื้อไม่ได้ "เราจึงห่วงในเรื่องนี้มาก เพราะการที่คนไข้จะตาบอดได้ก็เพราะเหตุเรื่องการติดเชื้อ แต่ของเราไม่เคยเจอเลย" คุณหมออธิบาย

การติดเชื้ออันเนื่องมาจากการทำเล-เซอร์หรือเลสิกนั้นพบน้อยหรือต่ำมาก เพราะการทำเลสิกเป็นการทำที่ผิวตาดำเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปในตา ในบางกรณีคนที่ตาสั้นมากๆ เช่น สั้น 1,000 ขึ้นไป หลังจากการทำเลสิกแล้วอาจจะมีสายตาสั้นเหลืออยู่บ้าง ซึ่งในบางรายอาจจะต้องยิงเลเซอร์ซ้ำ แต่ไม่ต้องฝานตาซ้ำ เปิดกระจกตาดำที่เดิมและยิงเลเซอร์ซ้ำได้เลย จะทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ การรักษาด้วยวิธีเลสิกจะใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีและผู้เข้ารับการรักษาสามารถกลับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องมีผ้าปิดตาและไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ผลการรักษาจะเห็นได้อย่างชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์หลังเข้ารับการรักษา

แม้วิธีเลสิกและเลเซอร์ต้องอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์เข้าช่วยอย่างมาก แต่ประสิทธิผลของการรักษาก็อยู่ที่ฝีมือของแพทย์เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะแพทย์ต้องเป็นผู้พิจารณาว่าคนไข้มีความพร้อมสมบูรณ์ ในการรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว บวกกับเทคนิคที่ทำและการที่จะต้องคำนวณว่าจะยิงเลเซอร์เท่าไหร่ นี่คือปัจจัยหลักนอกเหนือไปจากเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ใช้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.