ไม่เพียงเฉพาะธุรกิจภัตตาคาร อาหาร ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ แฟรนไชซิ่ง การลงทุนเปิดร้านอาหาร
ในต่างประเทศ ธุรกิจค้าส่ง ปลีก ของ บมจ.เอสแอนด์พี ซินดิเคท (S&P) เท่านั้นที่เปิดดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน
แต่เอสแอนด์พียังมีธุรกิจอีกอย่างหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
แม้ว่าจะไม่โด่งดังหรือทำรายได้ให้กับบริษัทมากนัก นั่นคือ ธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่
หรือ Catering Service ที่บริษัทพร้อมจะให้บริการไม่ว่าจะเป็นลูกค้าต้องการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์
งานเลี้ยงสัมมนาต่างๆ
"ธุรกิจจัดเลี้ยงแบบนี้มีมานานแล้วเริ่มกันที่ในโรงแรม ภัตตาคารอาหารจีน
โดยพวกนี้จะเข้าไปจัดเลี้ยงให้ลูกค้านอกสถานที่ แต่เขาอาจจะไม่ทำเหมือนเอสแอนด์พี
คือ ไม่จัดเป็นแบบนิติบุคคลหรือในแง่บริษัท ฉะนั้น Catering Service ที่เราทำตอนนี้ถือได้ว่าเป็นเจ้าแรกที่ได้ดำเนินการมาเมื่อประมาณ
10 ปีที่ผ่านมา" ยุพดี ดำริห์อนันต์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ซึ่งดูแลด้าน
Catering Service ของเอสแอนด์พี กล่าว
ลักษณะที่ยุพดี เล่าก็คือบริษัทได้ทำการจัดตั้ง บริษัท เอสแอนด์พี แคเทอริ่ง
จำกัด ขึ้นมาดูแลงานด้านธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่โดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงแรกเริ่มจากการเข้าไปจัดเลี้ยงอาหารทั่วๆ
ไป โดยเน้นในรูปแบบบุฟเฟต์ และ เข้าไปสู่งานเลี้ยงแบบค็อกเทล หรือการจัดงานแบบ
set menu ตามที่ลูกค้าต้องการ
"ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางฟองสบู่ถือว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจ Catering
Service เจริญเติบโตมากที่สุด เราทำงานแบบล้นมือ เช่น ถ้าเป็นงานบุฟเฟต์จะมีเข้ามาประมาณ
10 งานต่อวัน แต่หลังจากโดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานธุรกิจ Catering Service อาจจะซบเซาลงไปบ้าง"
ยุพดี กล่าว
หมายความว่ารายได้ที่เคยรับแบบเต็มๆ กับธุรกิจ Catering Service ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น
ปัจจุบันได้หล่นหายไปบ้างพอสมควร อีกทั้งลักษณะการให้บริการแก่ลูกค้าก็เปลี่ยนไปจากเดิมที่ลูกค้าสั่งอาหารชนิดที่เรียกว่า"ไม่
อั้นแถมราคาไม่เกี่ยง" ปัจจุบันเอสแอนด์พีเริ่มดูกำลังทรัพย์ของลูกค้าเป็นหลัก
เนื่องจากการจัดเลี้ยงแบบบุฟเฟต์จะคิดเป็นหัว ซึ่งถ้าเป็นยุครุ่งเรืองงานจัดเลี้ยงบางงานอาจจะคิดต่อหัวสูงถึง
275 บาท แต่ในปัจจุบันราคาหัวละ 165 บาทก็ให้บริการได้แต่สัดส่วนอาหารก็ต้องลดไปด้วย
"หมายถึงให้บริการตามงบประมาณของลูกค้าแต่เราต้องอยู่ได้ด้วย คือ เรากับลูกค้าสามารถพูดกันได้"
นอกจากนี้เอสแอนด์พีก็ได้รุกคืบเข้าไปให้บริการจัดเลี้ยงน้ำชา สัมมนา หรือแม้กระทั่งสวดพระอภิธรรมตามวัด
ต่างๆ หรือจัดงานบุญถวายภัตตาหารที่มีบริการจัดอาหารทั้งมื้อเช้าและมื้อเพล
ซึ่งการให้บริการแบบนี้เริ่มขยายวงกว้างขวางมากขึ้นเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา
สังเกตได้จาก ไม่เฉพาะแต่ค่ายเอสแอนด์พีเท่านั้นที่ดำเนินการ แม้กระทั่ง
ครัวการบินไทย หรือร้านแมคโดนัลด์ ต่างพาเหรดกันเข้ามาบริการอย่างเต็มที่
แม้ว่ากลยุทธ์นี้จะดูไม่คึกคัก เท่าไหร่แต่ถือว่าเป็นการพลิกแพลงกลยุทธ์การตลาดรูปแบบหนึ่งของการให้บริการ
เนื่องจากเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมมองเห็นถึงความสะดวกไม่ต้องไปกังวลในการหาอุปกรณ์จำพวกแก้วน้ำ
จาน ชาม อีกทั้งยังประหยัดอีกด้วย ซึ่งลักษณะการให้บริการนี้เป็นการดำเนินการแบบ
one stop service ซึ่งมีการคาดกันว่าแต่ละบริษัทจะยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น
เพราะในอดีต ที่ผ่านมางานสวดพระอภิธรรมตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ จะมีผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารคาวและหวาน
เสิร์ฟกันหนาตาขึ้น ถ้าเป็นครัวการบินไทยจะจัด มาในรูปแบบ package มีทั้งอาหารว่าง
น้ำดื่ม และทิชชู ด้านแมคโดนัลด์ ก็จะมีอาหารของบริษัทเข้าไปให้บริการ เช่น
ครั้งหนึ่งวัดธรรมกายได้สั่งให้แมคโดนัลด์ทำพายไปถวายที่วัด ขณะที่เอสแอนด์พีจะเป็นพวกอาหารสำเร็จรูป
เค้ก
"งานศพแรกที่เราเข้าไปให้บริการอยู่ที่วัดธาตุทอง ต่อมาก็ไปเกือบทุกแห่งทั้งวัดลาดปลาเค้า
วัดลาดพร้าว ซึ่งการให้บริการก็จะคล้ายๆ กับนอกวัด แต่การจัดอาหารจะเป็นแบบง่ายๆ
อาจจะใส่กล่อง กระดาษพร้อมทั้งน้ำดื่ม เช่น เบเกอรี่ ขนมไทย พวกนี้ราคาจะถูกเพราะไม่มีอาหารหนักโดยเริ่มต้นที่ราคา
55 บาท แต่ถ้าเป็นระดับวีไอพีราคาจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 75 บาท" ยุพดี
กล่าว
ยุพดียังกล่าวต่อไปว่าธุรกิจ Catering Service แม้ว่ารายได้จะไม่ค่อยมากเท่าไหร่
แต่บริษัทยังคงดำเนินการต่อไป เพราะเห็นว่าการกระจายสินค้าออกไปเพื่อให้ลูกค้าติดตาและติดใจ
ซึ่งในแง่การทำตลาดแล้วจะเป็นไปในลักษณะปากต่อปาก "ซึ่งเราได้ลูกค้าและ image
และธุรกิจนี้ถือว่าบริษัทค่อนข้างเป็นผู้นำ ลูกค้าจะเป็นลูกค้าประจำและอยู่ในระดับ
B+ ส่วนรายได้ของ Catering Service เทียบได้เท่ากับรายได้ของร้าน 1 สาขา
คือ ประมาณ 5% ของรายได้ทั้งหมด และนโยบายของเอสแอนด์พีจะยังคงให้บริการอยู่ต่อไป"
สำหรับการแข่งขันธุรกิจ Catering Service ในยุคปัจจุบันมีอยู่บ้างเนื่องจากบางราย
ไม่สามารถเรียกลูกค้าเข้ามานั่งในร้านได้ก็จำเป็นต้องออกไปหาลูกค้านอกสถานที่
แต่ท่ามกลางยุคฝืดเคืองเช่นนี้การจัดเลี้ยงน้อยลง ฉะนั้นประเด็นหนึ่งที่เอสแอนด์พีดำเนินการ
คือ พยายามเข้าไปหาลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งกลยุทธ์การแข่งขันในยุคนี้สำคัญที่ราคาที่ลูกค้ามองเป็นอันดับแรกต่อมาคือการบริการ
"เป้าหมายธุรกิจ Catering Service ของบริษัทไม่มีอะไรมาก เพียงแต่อย่าให้ยอดขายตกไปจากนี้ก็แล้วกัน"
ยุพดี กล่าว
ไม่เฉพาะที่เอสแอนด์พีเท่า นั้นที่มีแนวความคิดแบบนี้ เพราะในยุควิกฤติเช่นนี้หลายๆ
บริษัทก็พากันรักษายอดขายตนเองไม่ให้ทรุดลงไปมากกว่านี้ ดังนั้นกลยุทธ์แบบ
Catering Service คือหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้เข้ามาชดเชยรายได้ส่วนอื่นๆ
ที่หายไปได้บ้าง แม้ ว่าจำนวนเม็ดเงินจะเป็นเพียงเศษเสี้ยว แต่เมื่อลูกค้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
จากที่เคยออกมารับประทานอาหารนอกบ้านเป็นการรับประทานในบ้าน ดังนั้นเมื่อลูกค้าไม่ออกมาพบความจำเป็นที่แต่ละค่ายต้องบุกถึงบ้านเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น