Kipling กลยุทธ์เด็ดทางตลาดที่ไม่คาดคิด


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยแผนการตลาดที่แยบยล ศิริกาญจน์สามารถทำให้กระเป๋า "Kipling" ดังข้ามศตวรรษ ด้วยการเปิดสาขาใหม่อีกหลายแห่ง

เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2542 มีข่าวสังคมเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง กล่าวถึงคุณแม่ และลูกชายของตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง ที่ร่ำรวยนักหนาในจังหวัดภูเก็ตว่า กำลังชื่นชอบกระเป๋า Kipling อย่างมาก และมีสะสมไว้หลายรุ่น ซึ่งแน่นอนแม้เป็นเพียงข้อความสั้นๆ แต่ย่อมมีผลทำให้หลายๆ คนที่ไม่รู้จักกระเป๋ายี่ห้อนี้ต้องพูดถึง และถามไถ่กันต่อๆ ไปแน่ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในแวดวงสังคมคนชั้นสูงในจังหวัดภูเก็ตเอง

ข่าวเล็กๆ ชิ้นนี้อาจจะเป็นข่าวซุบซิบธรรมดา หรือเป็นแผนการตลาดที่แยบยลของศิริกาญจน์ ศักดิเดชน์ ภานุพันธ์ ณ อยุธยา เจ้าของลิขสิทธิ์ Kipling ในเมืองไทยหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่เรื่องจริง ที่"ผู้จัดการ" ยืนยันได้ก็คือ ในเดือนมกราคมปี 2543 ร้าน Kipling สาขาภูเก็ต ซึ่งเป็นการร่วมทุนของศิริกาญจน์ และเศรษฐีภูเก็ตรายหนึ่งจะเปิดตัวขึ้นแน่นอน

จุดที่น่าสนใจอยู่ ที่ว่าข่าวสังคม ที่มักจะเขียนถึงว่า คุณหญิงคนโน้น คุณนายคนนี้ หรือดาราหนังชื่อดังบางคนมี "ลิง" รุ่นนี้ กี่สีๆ กี่ใบ น่าจะเป็นตัวจุดประกาย ที่สำคัญทำให้สินค้าชิ้นนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในกทม.

Kipling เป็นกระเป๋าจากประเทศเบลเยียม ซึ่งผลิตขายมานานประมาณ 12 ปีแล้ว ศิริกาญจน์เป็นผู้นำมาขายในเมืองไทยเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันประสบความสำเร็จในการขายเป็นอย่างมาก

ศิริกาญจน์เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าภาวะวิกฤติทางการเงิน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้สินค้าตัวนี้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และยังค้างฟ้าอยู่จนถึงวันนี้เพราะเมื่อมีปัญหาทางการเงิน ไลฟ์สไตล์ของคนไทยก็เปลี่ยนไปเป็น การใช้ชีวิต ที่ง่ายๆ สบายๆ ขึ้น ซึ่งเหมาะกับกระเป๋าไนล่อนรูปทรงเยเย ไม่มีฟอร์ม ที่ทนแดดทนฝน และมีสีสันให้เลือกมากมายอย่างกระเป๋ายี่ห้อนี้ กระชากใจเพิ่มขึ้นด้วยลิงตัวน้อย ที่ห้อยมาเป็นสัญลักษณ์นั้น มันโดนใจสาวใหญ่ สาวน้อยทั้งหลาย และ ที่สำคัญราคา ที่เริ่มจากหลักพันต้นๆ นั้น ถูกกว่ายี่ห้อแบรนด์เนมชื่อดังอื่นๆ จากอเมริกา และยุโรป

อย่างไรก็ดีราคาของกระเป๋ายอดนิยมนี้ก็ยังสูงเกินไปสำหรับลูกค้าทั้งหลาย ที่รายได้ต่ำแต่คลั่งไคล้ยี่ห้อนี้ตามอย่าง พวกไฮโซฯ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดกระเป๋าปลอมลอกเลียนแบบขึ้นมากมาย เกือบทั่วทุกหัวถนน ซึ่งของปลอม เองก็อาจจะมีหลายระดับราคาขึ้นอยู่กับวัสดุ ที่ทำขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากราคาเพียง 299-ราคาเป็นพันกว่าบาทเช่นกัน

และเมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2542 นักข่าวหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายวัน" ไปสืบเสาะมาได้เพิ่มว่า บำรุง แซ่ตั้ง ได้ไปทำการจดทะเบียนเครื่องหมายยี่ห้อนี้มาตั้งแต่ 22 พ.ค.2532 โดยมีสัญลักษณ์ ที่เป็นตัวหนังสือ และลิงหางยาว เป็นตราการค้า เหมือนกับของจากประเทศเบลเยียม ไม่ผิดเพี้ยนเพียงแต่สินค้า ที่ระบุไว้ รองเท้า เสื้อ และเสื้อ กีฬาเท่านั้น และเมื่อบำรุง คนไทย ที่เกิดปีวอกมีอาชีพขายของ ที่คลองถมคนนี้ ไปขอจดทะเบียนเพิ่ม เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีคนจดทะเบียนเครื่องหมายนี้ในหมวดกระเป๋าไปแล้ว คือ บริษัทวอลเดอร์สตร้าท ซึ่งดำเนินกิจการกระเป๋ามาร่วม 12 ปี ผลิต และจำหน่ายประมาณ 100 ประเทศทั่วโลก โดยขอจดในเดือนต.ค.40 และมีนาคม 41

หลักฐานในเรื่องนี้อาจพิสูจน์กันได้ไม่ยาก แต่มันน่าคิดตรง ที่ว่าหาก Kipling เป็นของคนไทยเอง ความดังของมันจะได้รับการยอมรับอีกหรือไม่ เพราะพื้นฐานทางจิตสำนึกของคนไทยบางส่วนไม่ได้ภูมิใจในความเป็นไทยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาในเรื่องการฟ้องร้องเกิดขึ้น และศิริกาญจน์เจ้าของลิขสิทธิ์ในเมืองไทยเองก็ยังเดินหน้าขยายสาขา ตามแผนการที่วางไว้อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อต้านรับกับของปลอม ที่มีทุกหัวถนน โดยปัจจุบันเปิดไป แล้ว 5 สาขาคือ ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็มโพเรียม ตึกมณียา เซ็นทรัลชิดลม และ ที่อิเซตัน ส่วน ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และเซ็นทรัล บนถนนพระราม 3 รวมทั้งสาขา ที่จังหวัดภูเก็ตกำลังอยู่ในช่วงตกแต่งบูท และคงทยอยเปิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 แน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.