ผู้ที่อ่านข่าวการให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ ของนงนาท สนธิสุวรรณ - ผู้ซึ่งถูกยื้อยุดไว้ไม่ให้กลายเป็นอดีตผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันเงิน
หรือ FIDF และอดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งต้องใช้คารมนายกฯ ชวนมาเจรจา)
คงจะรู้สึกสะท้อนอยู่ในหัวอก หากกำลังนึกถึงความ ล่มจมทางเศรษฐกิจของประเทศชาติในยามนี้
เพราะข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีบริหารงานที่คุณนงนาทให้สัมภาษณ์ออกมานั้น
มันสะท้อนให้เห็นวิธีคิดและระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานราชการ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการเงินไทยเวลานี้
ที่นอกจากไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศชาติในยามวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ยังกลับเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมให้ปัญหาที่มีอยู่จมปลักและพัวพันลึกเข้าไปจนยากจะแก้ไขได้
การประกาศลาออกของนงนาทเผยให้เห็นถึงวิธีคิดและระบบการทำงานของผู้บริหารสถาบันการ
เงินโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ กองทุนฟื้นฟูฯ
12 ไฟแนนซ์ที่ทางการยึดและสั่งให้ควบรวมกับบงล.กรุงไทยธนกิจ รวมทั้งผู้บริหารบงล.แห่งนี้ด้วย
ทุกคนต่างทำงานด้วยความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยและความรับผิดที่ตัวเองต้องเผชิญ
หากเกิดความเสียหาย ซึ่งแน่นอนว่าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤติสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นเวลานี้
มันต้องมีผลขาดทุนอยู่แล้ว
การประกาศลาออกเพราะเกิดความขัดแย้งนั้นได้สะท้อนให้เห็นสาระเบื้องหลังหลายอย่าง
เช่น
เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของไฟแนนซ์ 12 แห่งที่ทางการได้เข้าแทรกแซงและมีมาตรการให้ดำเนินการควบรวมกับบงล.กรุงไทย
ธนกิจและธนาคารสหธนาคาร ซึ่งตอนนี้การควบรวมได้ดำเนินการไปแล้วและมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคาร
ไทยธนาคาร โดยมีนายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ อดีตกรรมการผู้จัดการบงล.กรุงไทยธนกิจ
นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ไทยธนาคาร
แนวทางของผู้ว่าการแบงก์ชาติคือต้องการให้ FIDF ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ใน
12 ไฟแนนซ์เหล่านี้ ยอมลงนามอนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ของ
12 ไฟแนนซ์ได้ แต่อดีตผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯมองว่า ในเมื่อเจ้าหนี้ส่วนมากลงนามอนุมัติแล้ว
มากกว่า 75% (ในนสพ. The Nation ฉบับวันที่ 7 ม.ค. หน้า B8 อ้างว่าเจ้าหนี้จำนวน
95% อนุมัติแผนปรับโครงสร้างหนี้แล้ว) การปรับโครงสร้างหนี้ก็สามารถทำได้เลย
ไม่จำเป็นต้องรอการลงนามจากกองทุนฟื้นฟูฯ
นอกจากนี้ อดีตผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ยังมองด้วยว่าประเด็นนี้ผู้บริหารของธนาคารควรจะดำเนินการได้เลย
ไม่จำเป็นต้องมาขอการอนุมัติจากกองทุนฯซึ่งแม้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่ก็เป็นผู้ถือหุ้นด้วย
นงนาทยังมองด้วยว่าผู้บริหารธนาคารไม่กล้าตัดสินใจเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบ
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างของลูกหนี้ไฟแนนซ์ดังกล่าวจะต้องเกิดผลขาดทุนขึ้นอย่างมาก
ในอนาคตและอาจจะถึงกับต้องมีการลดหนี้ให้ลูกหนี้เหล่านี้ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอนว่า
FIDF ในฐานะเจ้าหนี้ก็ต้องรับภาระผลขาดทุนจำนวนมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ในฐานะที่เป็นข้าราชการ นงนาทจึงพยายามที่จะทำตามหลักการความปลอดภัยและระมัดระวังอย่างมากที่สุด
แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติมองประเด็นว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีบทบาทนำในการปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งที่แบงก์ชาติเองนั้นพยายามที่จะให้แนวทางนี้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
"เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ก็ต้องแบ่งกันคนละนิดคนละหน่อย มันก็ควรต้องยอม
ถ้าเขาเป็นฝ่ายข้างมาก เราเป็นฝ่ายข้างน้อย และก็เกิดประโยชน์กับเราเหมือนกัน
ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ก็สำคัญ หากกองทุนฟื้นฟูฯเป็นคนไม่ยอม" (อ้างจากประชาชาติ
ฉบับ 7-10 ม.ค. 2542 หน้า 16)
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของแนวทางและกรอบเวลาในการทำงาน ปัญหาหนึ่งที่นงนาทสะท้อนออกมาคือ
เรื่องการปล่อยสินเชื่อเพิ่มของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเธอมองว่าประเด็นนี้เป็นจุดหักเหใหญ่
(ในการตัดสินใจลาออกของเธอ?) "ในความคิดของคนที่อยู่บันไดขั้นล่างต้องมีความระวังมากๆ
ก่อน แต่ความคิดของท่านคือความเชื่อกับผู้ว่าจ้างข้างนอก" (ทั้งนี้ผู้ว่าการฯได้ว่าจ้างนายสุชาติ
เจียรานุสสติ ซึ่งเคยอยู่แบงก์ชาติ แต่ลาออกไปอยู่เจพีมอร์แกนมาระยะหนึ่ง
ให้มาเป็นที่ปรึกษาของกองทุนฟื้นฟูฯ ด้านการประนอมหนี้และการวิเคราะห์การลงทุน-อ้างจากไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 7 ม.ค. 2542 หน้า 8)
โดยแนวการดำเนินการของนงนาทนั้นคือ หากกองทุนฟื้นฟูฯ จะปล่อยสินเชื่อออกไปนั้น
ก็สามารถทำได้ "แต่กองทุนฯ จะต้องมีส่วนร่วมในการดูและปกป้องก่อนที่จะปล่อยสินเชื่อออกไป
ถ้าปล่อยแล้วขอให้มีระบบตรวจสอบได้ เพราะตรงนี้ไปปล่อยให้พวกหนี้เก่า"
ภารกิจที่กองทุนฟื้นฟูฯ ได้รับมอบหมายก็มีมากและให้เวลาสั้นจนกองทุนฟื้นฟูฯ
ไม่สามารถวางหลักเกณฑ์ปฏิบัติได้ทัน เช่น เรื่องการปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อใหม่
หรือเรื่องการอนุมัติปล่อยกู้ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์เสี่ยง(บบส.)ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
กองทุนฟื้นฟูฯต้องใช้ความระมัดระวังในการวางหลักเกณฑ์ อาจใช้เวลามากกว่าที่กำหนดมา
เธอกล่าวอีกว่า "งานของกองทุนฟื้นฟูฯ ก็เหมือนอยู่ในถ้ำมืด มีหินทับลงมาเรื่อยๆ
กองทุนฯเพิ่งทำแผนงบประมาณปี 2542 กะว่าจะยุติกองทุนฟื้นฟูฯ ลงได้ ไม่ใช่แค่ปล่อยกู้และขายทรัพย์สิน
ปรส.ให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย ซึ่งตอนนี้เป็นภาระที่ต้องแก้ปัญหาเยอะมาก ทุกเรื่องพุ่งมาที่พี่หมด
ในที่สุดประชาชนก็มารุมด่า เรามั่นใจว่าถ้าปล่อยเงินกองทุนฟื้นฟูฯ ออกไป
ก็ต้องตอบคำถามประชาชน ได้แน่นอน" (อย่างไรก็ดี กฎหมายใหม่ได้อนุญาตให้กองทุนฯมีอายุยาวนานออกไปอีกถึง
30 ปี ไม่ใช่จะยุติบทบาทลงได้โดยง่าย)
พวก "หนี้เน่า" ที่นงนาทพูดถึงในที่นี้ อาจจะโยงเข้ากับกรณีที่กองทุนฟื้นฟูฯ
จะต้องไปเพิ่มทุนให้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่กำลัง "เละเทะ"
ที่สุดในเวลานี้เป็นจำนวนที่สูงมาก โดยที่ธนาคารฯ เองนั้นก็ไม่ยอมลดทุนลงก่อนเพื่อให้สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของสินเชื่อของธนาคาร
ซึ่งว่ากันว่ามีอัตรา NPL สูงที่สุดในระบบเวลานี้ นอกจากนี้กองทุนฯก็ขอดูแผนการใช้จ่ายเงินของธนาคารฯด้วย
นงนาทมองว่าหน้าที่ของกองทุนฟื้นฟูฯ คือ "เรากำลังพยุงระบบอยู่ แต่จะพยุงได้ถึงระดับไหน
ก่อนพยุงต้องมีการวางแผนรับด้วยหรือไม่ และเราจะเป็นคนพยุงคนสุดท้ายได้ไหวแค่ไหน"
ซึ่งประเด็นนี้เธออาจจะพอทราบอยู่ก็ได้ เพราะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เธอได้ขอ
"...คุมคนสั่งเปิดเซฟซึ่งหมายถึงขอมีส่วนในการออกความเห็นและมีเงินเข้ามาเติมเซฟมากน้อยแค่ไหน
เงินออกจากเซฟต้องมีการตามเงิน แต่โครงสร้างไม่มีหน่วยตามหนี้ หลักฐานที่ปล่อยไปก็ไม่มีการติดตาม
เวลานี้ก็ ได้มีการปรับ จัดโครงสร้างให้มีการตรวจสอบหลักประกัน และเม็ดเงินที่นำไปใช้ถูกตามวัตถุประสงค์
หรือไม่ ซึ่งอยากให้วางระบบตรงนี้ให้ดีก่อน ในเรื่องนี้ได้ต่อสู้มาตลอด"
หากพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ คนย่อมเข้าใจได้ว่าทำไมนงนาทต้องลาออก และที่เธอพูดเรื่องวาจาที่มีลักษณะเหน็บแนมของผู้ว่าแบงก์ชาตินั้นก็เป็นเรื่องจริง
ที่ว่าพนักงานแบงก์ชาติก็โดนกันทั้ง
นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทนไม่ได้
นั่นอาจจะเป็นการชดใช้กรรมของพนักงานแบงก์ชาติ หลังจากที่ผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศชาติครั้งนี้หลุดจากตำแหน่งไป
อย่างไรก็ดี วิธีการทำงานต่างๆ ที่สะท้อนออกมาในคำพูดของนงนาทนั้น ทำให้ผู้เขียนกลับรู้สึกเศร้าใจในชะตากรรมของคนไทยทั้งประเทศ
มากกว่าความสงสารในกรรมเวรของพนักงานแบงก์ชาติ เพราะผู้บริหารในสถาบันการเงินที่กล่าวถึงทั้งหลายกำลังทำงานในลักษณะที่ไม่มีความรับผิดชอบ
และไม่ผูกพันตัวเองเข้ากับงานด้วย ดังที่นงนาทกล่าวว่าข้าราชการก็ต้องพยายาม
safe ตัวเองกันทั้งนั้น
ลองย้อนดูผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติเวลานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคนนอกที่เพิ่งเข้ามารับหน้าที่กันทั้งนั้น
และยังมีที่ปรึกษาอีกมากมายที่ก็เป็นคนนอกอีก ครานี้วิธีปฏิบัติและแนวทางต่างๆ
ที่อาจจะเคยเป็น "ความลับ" ก็ย่อมไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป
แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อ จริยธรรมในการทำงานอันสูงส่ง ที่อดีตผู้ว่ายุคแรกๆเคยยึดถือมานั้น
ได้ถูกทำลายลงด้วยฝีมือของผู้บริหารในรุ่นหลังทั้งสิ้น
ก็น่าที่คนแบงก์ชาติในเวลานี้ต้องชดใช้กรรม
ความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีพลันแตกมลายลงเสียแล้ว
ผู้บริหารเหล่านี้ก็ไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
พวกเขาไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน หน้าที่ใครหน้าที่มัน ผู้บริหารแต่ละหน่วยก็ต้องรับผิดชอบกันเอาเอง
งานที่ควรจะเดินได้เร็ว มันก็ต้องช้า
เรื่องที่ควรจะปรึกษาขอความเห็นกัน กลับเป็นเรื่องที่มาดูว่าใช่หน้าที่ฉันหรือไม่
หน้าที่เธอทำไมไม่ทำ ฉันไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ ฯลฯ
ชะตากรรมคนไทยแขวนอยู่บนลักษณะการทำงานและความตึงเครียดของคนเหล่านี้
ไม่ใช่นงนาทคนเดียวที่เป็น "เหยื่อ"
คนไทยทั้งหมดก็เป็น "เหยื่อ" ของระบบการบริหารและวิธีคิดของผู้บริหารเหล่านี้ด้วยเช่นกัน