แป้งปฏิวัติ เงื่อนปมที่รัดแน่น


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ถูกเอ่ยถึงมากที่สุดคนหนึ่งในวงการโทรทัศน์ในช่วง 3 ปีมานี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโฉมสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 จากระบบราชการไปสู่การ บริหารงานแบบเอกชน แต่แล้วเขาก็กลับต้องมาสะดุดกับผลงานที่เขาสร้างไว้ ทำให้เขาลุกจากเก้าอี้ผู้อำนวยการอย่างไม่งดงามนัก อะไรคือเบื้องหลังปัญหาเหล่านี้ !

เรื่องโดย ไพเราะ เลิศวิราม

pairoh@manager.co.th,Internet

17 พฤษภาคม 2542 จะเป็นวันที่ พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ส่งมอบเก้าอี้ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 5 ให้กับพลโทสมพงษ์ ใหม่วิจิตร หลังจากใช้เวลาบนเก้าอี้นี้มาถึง 3 ปีเต็ม

เป็น 3 ปีที่เต็มไปด้วยความหมายต่อพลเอกแป้ง, สถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 และกองทัพบกอย่างมาก

พลเอกแป้งขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้อำนวย การสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ในปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างเต็มที่ การขยายตัวจนถึงขีดสุดของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการ เงิน สื่อสารโทรคมนาคม ก่อนที่หลาย คนจะเริ่มบ่ายหน้ามายังธุรกิจเอ็นเตอร์ เทนเมนต์

ธุรกิจทีวี นับเป็นตลาดเอ็นเตอร์ เทนเมนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ที่มียอดบิลลิ่งโฆษณานับหมื่นล้าน และเคยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 หมื่นล้านบาทในช่วงเศรษฐกิจดีๆ

แต่ธุรกิจทีวี เป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด มีผู้ประกอบการในตลาดเพียงแค่ 5 รายเท่านั้น ตอนหลังถึงเพิ่มไอทีวี อีก ช่อง ในจำนวนนี้มีเพียง 3 ราย ที่เป็น การดำเนินงานของเอกชน คือ ช่อง 3 ช่อง 7 และไอทีวี ที่เหลืออีก 3 ช่อง คือ 5, 9 และ 11 ยังอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ

และนี่เป็นเหตุให้ใครก็อยากกระโดดใส่ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้านี้

กลุ่มยูคอม เป็นทุนสื่อสารที่มีความพยายามอย่างมากในการรุกสู่ ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพื่อหวังจะใช้เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในการขยายอาณา เขตทางธุรกิจ การรุกของยูคอมก็ทำกันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นขอสัมปทานคลื่นวิทยุ 40 สถานีทั่วประเทศ จากกรมประชาสัมพันธ์ การยื่นขอใบอนุญาตเคเบิลทีวี และการร่วมทุนกับกลุ่มสหมงคลฟิล์มเพื่อสร้างโรงภาพยนตร์

การถือกำเนิดของกลุ่มสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ในการคว้าสัมปทานโทรทัศน์ ระบบยูเอชเอฟ ที่มีแบงก์ไทยพาณิชย์ และสำนักงานทรัพย์ สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทัพหลัง ทำให้เกิดมีคู่แข่งรายใหม่อีกรายในวงการทีวี

การรุกขยายเข้าสู่ธุรกิจทีวี ของ สื่อสิ่งพิมพ์สู่ธุรกิจทีวีทั้งทางตรงและทางอ้อม กลุ่มวัฏจักรที่จับมือ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เดินเข้าสู่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ในสมัยของปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ในกรณีของกลุ่มผู้จัดการ ที่มองการณ์ไกลกับโครงการดาวเทียมลาวสตาร์ ซึ่งเป็นดาวเทียมที่เน้นหนักในเรื่องของบรอดคาสติ้ง การผลิตข่าว ยิงผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก

ช่วงเวลานั้นเอง ช่อง 9 และ ช่อง 11 ต่างก็มีนโยบายที่จะแปรรูปไปสู่ระบบการบริหารงานแบบเอกชน เพื่อ หนีจากระบบราชการที่อุ้ยอ้าย ให้เกิดความคล่องตัว

เป็นปรากฏการณ์ที่พลเอกแป้ง และคนในกองทัพก็มองเห็น และรู้ดี ว่าช่อง 5 ในเวลานั้นมีความล้าหลังช่อง อื่นๆ อยู่มาก ช่อง 5 ก็มีความพร้อมในเรื่องของสถานีเครือข่ายที่มีครอบ คลุมทั่วประเทศ อุปกรณ์ถ่ายทอด และ มีจุดอ่อนอยู่ คือ ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน ขาดซอฟต์แวร์ดีๆ บุคลากรดีๆ

การตัดสินใจทั้งหมดของช่อง 5 จะต้องขึ้นอยู่กับบอร์ดบริหารของช่อง 5 ซึ่งจะมีผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นประธาน และมีคณะกรรมการบริหารวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพบก ซึ่งผบ.ทบ.เป็นประธานกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง

บุคลากรในระดับบริหารของ ช่อง 5 ก็ล้วนแต่มาจากกองทัพบกส่งมา

"ผมมองเห็นปัญหา 2 จุด ข้อ แรกผมอยากให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ข้อที่สองคนในกองทัพยังมีความรู้สึกรักองค์กรน้อย" พลเอกแป้ง ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของการเปลี่ยน แปลงช่อง 5

พลเอกแป้งใช้เวลาศึกษาเพื่อรื้อระบบการบริหารงานของช่อง 5 เกือบ 1 ปีเต็ม ระดมความคิดจาก ที่ปรึกษาที่มีทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และนักธุรกิจ การเงิน การธนาคาร และนักกฎหมาย

จากนั้นก็มอบให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ ในเครือแบงก์ทหารไทย ซึ่งเวลานั้นแบงก์ทหารไทยมี ดร.ทนง พิทยะ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ไปทำผลศึกษาอย่างเป็นทางการ และนับว่าเป็นครั้งแรกที่เขายอมเปิดเผยถึงชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ หลังจากตกเป็นข่าวหน้า 1 หลายวันติดต่อกัน

"หลังจากพบปัญหาว่าช่อง 5 ไม่ มีความคล่องตัว ผมก็ขออนุมัติผู้เชี่ยวชาญมาศึกษา เพราะผมไม่มีเวลา มานั่งศึกษา เด็กเราก็ทำงานวันต่อวัน ให้คนอื่นภายนอกมองทั้งในแง่ธุรกิจและกฎหมาย ในที่สุดจ้างไทยเม็กซ์มา เขาใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และค่อยๆ ขยับไปสู่จุดที่ได้รูปแบบของการ จัดบริษัท"

พลเอกแป้งให้ความสำคัญอย่าง มากต่อแนวคิดใหม่ๆ และเปิดกว้างรับ ฟังความคิดเห็นของคนอื่น ซึ่งผู้ใกล้ชิดทุกคนจะกล่าวถึงคุณสมบัติของเขา ในแง่มุมนี้ และนี่เองที่อาจทำให้พลเอกแป้งซึมซับเอาแนวคิดของวาณิช ธนกิจ หรือ INVESTMENT BANKING ไปเต็มๆ ทำให้การปฏิรูปของโทรทัศน์ช่อง 5 เป็นมากกว่าการแก้ปัญหาความ อุ้ยอ้ายขององค์กรเท่านั้น

ข้อสรุปที่ไทยเม็กซ์ทำออกมา คือให้ช่อง 5 จัดตั้งเป็นบริษัท ททบ. 5 จำกัด ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้งคอมปานี คือ เป็นผู้ลงทุนจัดตั้งบริษัท ลูกขึ้นมาอีก 8 แห่งเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโทรทัศน์ และรองรับกับอนาคต

ประกอบไปด้วย ธุรกิจการตลาด ธุรกิจผลิตรายการ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจ วิทยุ ธุรกิจอินเตอร์เน็ต ธุรกิจส่งราย การผ่านดาวเทียม ธุรกิจผลิตอุปกรณ์ทีวี และธุรกิจผลิตแผ่นดีวีดี (ดิจิตอล วิดีโอ ดิสก์) (ดูตารางโครงสร้างการแปรรูป)

"วิธีนี้จะทำให้ช่อง 5 มีความคล่องตัวขึ้น ช่อง 5 ก็ยังเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เหมือนเดิม แต่การดำเนินงานจะเป็นหน้าที่ของบริษัทลูกเหล่านี้จะมีการบริหารงานอิสระในรูปของเอกชน ไม่ต้องขึ้นกับกฎระเบียบของราชการ ซึ่งช่อง 5 จะคัดเลือก บุคคลภายนอก และภายในเข้าไปทำงานในบริษัทลูกแต่ละแห่ง"

พลเอกแป้งให้สัมภาษณ์ว่า ช่อง 5 ตั้งงบประมาณที่ใช้ลงทุนในการจัดบริษัทลูกไว้ 250 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน นี้จะนำมาจากกำไรสะสมของช่อง 5 ที่กองทัพบกเก็บเอาไว้เป็นสวัสดิการของ กองทัพบก และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นงบสำหรับพัฒนาช่อง 5

แต่ปรากฏว่า ช่อง 5 ไม่ได้นำ เงินสดทั้งหมด 250 ล้านบาทมาลงทุน แต่ใช้เงินสด 150 ล้านบาท ที่เหลืออีก 100 ล้านบาท เป็นหุ้นแบงก์ทหารไทย

"ตอนแรกเราจะเอาเงินสดทั้ง หมด 250 ล้านบาท แต่ผมเป็นคนเสนอ เองว่าให้เป็นหุ้นของแบงก์ เพราะว่า ไม่อยากควักเงินสดทั้งหมด ซึ่งเวลานี้หุ้นก็ยังอยู่ ยังไม่ได้นำมาใช้ และผมเห็นต่อไปถ้าหุ้นราคาสูงขึ้นก็จะเริ่มเห็น ผล เราจะได้ประโยชน์ตรงนี้"

แต่บังเอิญว่า ราคาหุ้นของแบงก์ ทหารไทย เวลานี้ลดลงเหลือ 20 บาท จากที่ซื้อมาในราคา 80 บาท เท่ากับว่า เวลานี้บริษัท ททบ.5 จำกัด ขาดทุนจากหุ้นไปแล้ว 60 บาทต่อหุ้น

พลเอกแป้ง เล่าว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัท ททบ.5 จำกัด จะเป็น การร่วมลงทุน 4 ฝ่าย คือ ททบ.5 จะถือหุ้น 40% ที่เหลืออีก 60% จะกระจายสู่สถาบันการเงิน 20% พันธ- มิตรธุรกิจ 20% คนในกองทัพ 20%

พลเอกแป้งให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ของช่อง 5 ในแง่ที่จะมีเอกชน ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจโทรทัศน์เข้ามาช่วย และช่อง 5 จะได้เงินคืนจากการขายหุ้น

"เวลาขายหุ้นให้กับพันธมิตร หรือสถาบันการเงิน เราไม่ได้ขายราคาพาร์ แต่เราจะบวกพรีเมียมด้วย เช่น ขายให้ธนาคาร 10% ประมาณ 25 ล้าน หุ้นขายราคา 20 บาท ก็ได้คืนมา 50 ล้านบาท รายได้ก็กลับมาที่ช่อง 5 ถ้า ผมขายให้ออกไปหมด 60% ก็เท่ากับว่าช่อง 5 ไม่ต้องควักเงินลงทุนเองเลย" คำอธิบายของพลเอกแป้ง

เช่นเดียวกับบริษัทลูกจะเปิดให้มีเอกชนเข้ามาถือหุ้น ซึ่งพลเอกแป้ง บอกว่า ต้องการอาศัยประสบการณ์จากพันธมิตรเหล่านี้มาช่วยให้ช่อง 5รู้จักวิธีการทำธุรกิจ

ในจำนวนนี้มีเอกชนมาร่วมถือหุ้น เช่น บริษัท ททบ.5 มาร์เก็ตติ้ง ที่ได้บริษัท เกล้าสรวง แอ็ดเวอร์ไทซิ่งถือหุ้น 20% อีก 80% ถือโดยบริษัทททบ.5 จำกัด และบริษัท ททบ.5 พับ-บลิชิ่ง มีบริษัท ททบ.5 จำกัด ถืออยู่ 60% และที่เหลืออีก 40% ถือโดยเอส. ที.คอมซัพพลาย ส่วนอีก 2 บริษัทถือ หุ้นโดยบริษัท ททบ.5 จำกัด 100% ยัง ไม่มีผู้ถือหุ้นเอกชนอื่น

การวางโมเดลในลักษณะนี้ เท่า กับว่าบริษัท ททบ.5 โฮลดิ้ง ไม่ได้หวัง แค่รายได้จากผลการดำเนินงานเท่านั้น แต่จะมีรายได้ที่มาจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้น ที่จะได้จากการขายหุ้นให้กับพันธมิตร และหากโชคดีได้เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะมีรายได้ก้อนใหญ่ จากการขายหุ้นในตลาด

"ตามแผนงานที่วางไว้ พอตั้งโฮลดิ้งเสร็จ ก็มาตั้งบริษัทลูก และมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ก็จะทำ ให้ผลประกอบการดีขึ้น จากนั้นก็อาจจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ"

นี่คือ โมเดลธุรกิจที่บรรดาอิน เวสท์เมนต์แบงกิ้งในสมัยนั้นต่างก็นิยม ทำกันมากในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู

เป็นโมเดลที่ไม่ต่างไปจากสยาม ทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ที่อยู่ภายใต้ การบริหารงานของ บรรณวิทย์ บุญรัตน์ ซึ่งข้ามฟากมาจากแบงก์ไทยพาณิชย์ ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ขยายอาณาเขตทางธุรกิจสยามทีวี ด้วยการตั้งโฮลดิ้งคอม ปานี จากนั้นก็แตกขยายบริษัทลูกออกไปทำธุรกิจด้านมีเดีย เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โทรคมนาคม ทุกแขนง รวมแล้วมีมากกว่า 40 บริษัท หวังว่า เมื่อบริษัทเหล่านี้เติบโตได้ระดับหนึ่งจะขายหุ้นให้พันธมิตร และนำเข้าตลาด หลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุน

ช่อง 5 ก็เช่นเดียวกัน หากมอง ให้ดีแนวคิดการปฏิวัติช่อง 5 ของ พลเอกแป้งก็มีรากฐานมาจากแนวคิดของบรรดาวาณิชธนกิจ แม้ว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จะปิดไปแล้ว ก็มีฝ่ายวาณิชธนกิจของแบงก์ทหารไทยเข้าสวมหน้าที่นี้แทน และที่ปรึกษาอีกคนที่พลเอกแป้งดึงเข้ามาก็ คือ จุลจิตต์ บุณยเกตุ ที่เคยทำงานร่วมกับบรรณวิทย์ในสยามทีวีมาแล้ว

ผ่านไปได้แค่ 3 ปี เวลานี้สยาม ทีวีก็ต้องยุบทิ้งหรือปิดบริษัทไปเกือบหมด เหลือไว้แต่เฉพาะบริษัทที่มีสัมปทานกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ประมาณ 3-4 แห่งเท่านั้น อัน เนื่องมาจากการขยายธุรกิจอย่างเร่งรีบ ไม่ได้มองถึงรากฐานที่แท้จริงของธุรกิจ หวังเพียงสร้างธุรกิจขึ้นมา จากนั้นก็หาพันธมิตร และแต่งตัวเข้าระดมทุน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ สัมปทานที่สยาม ทีวีได้มาก็ไม่ได้เป็นสัมปทานที่สำคัญ ไม่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงเหมือน กับสัมปทานในอดีตอีกต่อไป

ช่อง 5 อาจจะโชคดีกว่าสยามทีวีตรงที่ว่ามีเครือข่ายให้บริการอยู่แล้วทั่วประเทศ ไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่ เหมือนกับไอทีวี

แต่แนวทางการแตกบริษัทลูกของพลเอกแป้ง กลับไปให้ความสำคัญ กับการสร้าง"ช่องทาง" มากกว่าการหัน ไปมุ่งเน้นในเรื่องของซอฟต์แวร์ราย การที่เป็นหัวใจหลักของทีวี ซึ่งได้กลาย เป็นปัญหาตามมาในภายหลัง

ภาวะการแข่งขันของสถานีโทร ทัศน์ในปัจจุบันไม่ได้ชิงความได้เปรียบ ในเชิงการตลาดด้วย "เครือข่าย" อีกต่อไป เหมือนกับในอดีตที่ช่อง 7 เคย ชิงความได้เปรียบช่องอื่นๆ ด้วยการ มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะ ทุกช่องเวลานี้ก็มีสถานีเครือข่ายที่ส่งสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศได้ไม่ มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันอีกต่อไป

สิ่งที่จะชิงความได้เปรียบคือ ซอฟต์แวร์รายการ

เป็นสิ่งที่ช่อง 3 ใช้ในการต่อสู้กับช่อง 7 เพื่อแย่งชิงฐานคนดู ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตรายการ ด้วยระบบไทม์แชร์ริ่ง หรือ การมีผู้จัดและดาราในสังกัดมากมาย ทั้งหมดนี้ก็คือการต่อสู้เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตรายการ

ช่อง 5 มีจุดอ่อนในเรื่องเหล่านี้อย่างมาก เพราะธุรกิจหลักของช่อง 5 คือ การให้เช่าเวลา แทบไม่เคยผลิต รายการเองเลย ยกเว้นรายการข่าวเท่านั้น เพราะเงื่อนไขของกองทัพบกที่ต้อง การมีช่องในการกระจายข่าวของกอง ทัพ แต่หากเป็นเรื่องของการผลิตราย การแบบมืออาชีพช่อง 5 แทบไม่มีเลย

พลเอกแป้งเองก็เคยมองเห็นปัญหาเหล่านี้ และแก้เกมด้วยการย้าย เวลาของละครที่เคยอยู่หลังข่าวมาไว้หน้าข่าว เพื่อต้องการสร้างจุดขายใหม่ ให้กับช่อง 5 จนสร้างความฮือฮามาแล้ว จนกระทั่งช่อง 3 และช่อง 7 ต้องเดินตาม แต่หลังจากการพลิกสถานการณ์ของช่อง 3 และ 7 นี้เองก็ทำให้ช่อง 5 ตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง เมื่อผู้ชมก็หันกลับไปดูช่อง 3 และ 7 แทนตามความ เคยชิน กลายเป็นการเพิ่มช่วงไพรม์ ไทม์ให้กับสถานีโทรทัศน์

หรือแม้แต่การขยายเวลาการออกอากาศเป็น 24 ชั่วโมง เพื่อขยายฐานคนดู แต่ช่อง 5 ก็ยังมีจุดอ่อนในเรื่องรายการ

พลเอกแป้งแก้ปัญหาใหม่ เลี่ยง การปะทะตรงกับช่อง 3 และช่อง 7 ด้วย การนำเสนอรายการที่ฉีกรูปแบบออก ไป เพื่อแสวงหากลุ่มคนดูใหม่ เช่นว่า เลื่อนเวลาของการเสนอข่าวไปอยู่ช่วงดึกประมาณ 2ทุ่ม ในขณะที่ช่องอื่นๆ เริ่มกันตั้งแต่ 1ทุ่ม และแทนที่จะมีละครหลังข่าว ก็ไปซื้อรายการต่างประเทศมาลงจอแทน แต่ปรากฏว่าก็ ยิ่งทำให้ช่อง 5 ต้องตกเป็นฝ่ายเพลี่ยง พล้ำมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ยอดบิลลิ่งโฆษณาทีวีลดลง

การดึงเอาเทเลไฟว์เข้ามาจัด การในเรื่องผังรายการช่วงไพรม์ไทม์ก็คือการทำเพื่ออุดจุดอ่อนเหล่านี้ หลังจากแก้ปัญหาด้วยการเลี่ยงไปหากลุ่มคนดูใหม่ๆ ช่อง 5 ก็หันกลับมาปะทะโดยตรงกับช่อง 3 และช่อง 7 เพราะ ผู้ถือหุ้นและผู้ผลิตรายการเทเลไฟว์ ก็ ล้วนแต่เป็นผู้ผลิตรายการป้อนให้กับ ช่อง 3 และ 7 อยู่แล้ว (ดูตารางผังรายการ)

พลเอกแป้งต้องการอาศัยประ สบการณ์ และความสามารถจากผู้จัดเหล่านี้ มาช่วยให้ช่อง 5 ได้เรียนรู้ในการผลิตรายการ

เงื่อนไขหนึ่งที่ช่อง 5 เซ็นสัญ ญากับเทเลไฟว์ ก็คือ การให้สิทธิ์แก่เทเลไฟว์ ในการมาถือหุ้น 25% ในบริษัท ททบ.5 โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีหน้าที่ผลิตรายการ

เช่นเดียวกับการตั้งบริษัท ททบ.5 มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่พลเอกแป้งบอกว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของรายได้ค่าโฆษณา อันเป็นผลมาจากการถูก บริษัทมีเดียออฟมีเดียที่มารับจ้างขายโฆษณาช่วงข่าวไม่ยอมจ่ายเงินค่าโฆษณา ให้กับช่อง 5

"เดิมเราให้บริษัทอื่นขายโฆษ-ณาในช่วงเวลาข่าว พอสิ้นปีเราไม่ได้สักบาทเดียว เขาอ้างว่าขายโฆษณาไม่ ได้ เก็บเงินไม่ได้ ถ้าเราให้บริษัทอื่นทำอีก ก็เกิดเหตุการณ์อีก เราให้มาร์ เก็ตติ้งทำ เราได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าหากเราไม่ตั้งบริษัทมาร์เก็ตติ้ง ใครจะขายให้เรา เพราะเราไม่มีศักยภาพ พอถึงจุดๆ หนึ่งเศรษฐกิจทรุดตัว ก็เก็บเงินไมได้"

แต่การได้ไปรู้ไปเห็นจากการเดิน ทางไปดูสถานีโทรทัศน์มาเกือบทั่วโลก บวกกับเป็นคนที่เชื่อในเรื่องเทคโน โลยีใหม่ ทำให้พลเอกแป้งไม่ได้มองการแก้ปัญหาระยะสั้นของช่อง 5 เพียง อย่างเดียว แต่เขามองเลยไปในอนาคต ที่จะต้องให้ช่อง 5 ก้าวไกลอีกระดับหนึ่ง มีความได้เปรียบในเรื่องการทำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้กับช่อง 5

โครงการทีวีไฟว์ โกบอลเน็ท เวิร์ค และอินเตอร์เน็ต เป็น 2 โครงการที่เกิดจากแนวคิดนี้ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในการขยายเครือข่ายไปสู่ คนดูกลุ่มใหม่ๆ

พลเอกแป้งมองว่า โครงการทีวีไฟว์ โกบอลเน็ทเวิร์ค จะเป็นการขยายฐานคนดูของช่อง 5 ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ในต่างประเทศ ที่มีอยู่ถึง 2 ล้านคน และคนลาวอีก 2 ล้านคน

เช่นเดียวกับ โครงการอินเตอร์ เน็ต ที่ช่อง 5 ลงทุนสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา และนำรายการบางรายการใส่ลงไปเพื่อ ให้คนใช้อินเตอร์เน็ต ที่มีอยู่ทั่วโลก เข้ามาดู

หากมองให้ดีทั้งสองโครงการนี้ ล้วนแต่เป็นการสร้างเครือข่าย หรือ ช่องทาง มากกว่าจะเป็นการตอบโจทย์ ในเรื่องการสร้างซอฟต์แวร์รายการ เป็น ช่องทางที่สมัยใหม่กว่าเดิม แต่บังเอิญ ว่าเป็นช่องทางที่มีราคาแพง

ทั้งสองโครงการนี้ อาจจะเป็นความภูมิใจของช่อง 5 แต่ทว่าเป็นโครง การที่ขาดความสามารถในเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการทีวีไฟว์ โกบอลเน็ทเวิร์ค ที่ใช้เงินทุนปีละ 170 ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็เป็นค่าเช่าสัญญาณ ดาวเทียมไทยคมปีละ 160 ล้านบาท

"ผมเชื่อว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจให้กับ คนไทยในต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของรัฐบาล กองทัพบกยอมเจียดผลกำไรมาลงทุน เราเชื่อว่า 3-4 ปีจะคืนทุน และสร้างกำไรได้"

แม้พลเอกแป้งจะเชื่อเช่นนั้นแต่ หลายคนก็มองไม่เห็นว่าช่อง 5 จะได้รับผลตอบแทนในเชิงธุรกิจได้อย่างไร จากกลุ่มคนดูมีแค่ 2 ล้านคน และกระจัดกระจายอยู่ในหลายทวีป ในขณะที่ต้องใช้เงินลงทุนโดยเฉพาะค่าเช่าดาวเทียมไทยคมปีละ 160 ล้านบาท ซึ่งช่อง 5 ทำสัญญาไว้ 3 ปี รวมแล้ว 500 กว่าล้านบาท งานนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์ คงหนีไม่พ้นเจ้าของดาวเทียม

ขณะเดียวกันช่อง 5 เป็นสถานี โทรทัศน์เพียงช่องเดียวที่มีห้องส่งระบบ ดิจิตอลสมบูรณ์แบบที่สุดในบรรดาโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่องในเวลานี้ แต่ช่อง 5 ก็ต้องแลกมาด้วยเงินลงทุนถึง 500 ล้าน บาทในการซื้ออุปกรณ์มาสร้างห้องส่ง ซึ่งห้องส่งนี้ตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคาร ใหม่ มูลค่า 300 ล้านบาท ที่สร้างขึ้นในยุคของพลเอกแป้งเช่นกัน

"เทคโนโลยีมันไปแล้ว เราจะเอาเทคโนโลยีเก่าไปใส่ที่ตึกใหม่ทำไม ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราจะลำบาก เพราะเขา ไปดิจิตอลกันแล้ว เขาก็เลิกผลิตระบบ อนาล็อก อะไหล่ก็ไม่มี" พลเอกแป้งชี้แจงถึงเหตุผล

พลเอกแป้งยังมองไกลไปกว่า นั้นเขามองว่า อนาคตคอมพิวเตอร์ทุก เครื่องจะกลายเป็นทีวีได้ เป็นโทรศัพท์ ได้ รับอินเตอร์เน็ตได้ สิ่งที่เขาลงทุนไปก็เพื่อจะรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ เพียงแต่เป็นอนาคตที่ยังต้องใช้เวลา

แนวคิดนี้ยังนำไปสู่การตั้งบริษัท ลูกเพื่อผลิตอุปกรณ์รับรายการทีวี และ ผลิตอุปกรณ์ดีวีดี ซึ่งเป็นการรองรับกับยุคดิจิตอล

นี่คือความล้ำสมัยของพลเอกแป้ง ที่ได้ฉายาทหารยุคดิจิตอล ที่หาก แผนงานที่เขาวางไว้ไปสู่ผลสำเร็จ ชื่อของพลเอกแป้งคงถูกจารึกไว้

แต่ดูเหมือนว่าโชคจะไม่เข้าข้างเขาเท่าไหร่นัก

หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจเป็นลูกโซ่ ไม่พ้นแม้กระทั่งธุรกิจโทรทัศน์ ที่ยอดบิลลิ่งโฆษณาลดลงเกือบครึ่ง ทำเอาทุกช่องต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ ไม่เว้นแม้กระทั่งช่อง 3 และช่อง 7 ที่ยอม ลดค่าเช่าเวลา และนำระบบไทม์แชร์ ริ่งมาใช้เป็นครั้งแรก

สำหรับช่อง 5 พลเอกแป้งก็หาวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องของรายได้ที่ลด ลงไปเรื่อยๆ ตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการยอมลดค่าเวลาช่วยเหลือผู้จัด ลดค่าใช้จ่ายในองค์กร จนมาถึง การดึงเอาเทเลไฟว์มาเป็นผู้จัดรายการช่วงไพรม์ไทม์

แต่เงื่อนไขของช่อง 5 ไม่ได้อยู่แค่นั้น เมื่อช่อง 5 ได้ใช้เงินลงทุนไปมากในช่วงปี 2540-2541 อันเนื่องมาจากแผนงานการปฏิรูปช่อง 5 รวมแล้ว เกือบ 2,000 ล้านบาท ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่ลดลงไปทุกปี

"รายได้ของช่อง 5 ลดตลอด จาก 800 ล้านบาท ลดเหลือ 700 ล้าน ลดลงจนเหลือประมาณ 500 ล้านบาท"

และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พลเอกแป้งต้องตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากมากขึ้น แม้ว่าจะพยายามหาวิธีแก้ไขสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาก็ตาม

ตามแผนงานที่ไทยเม็กซ์ และแบงก์ทหารไทยวางไว้ บริษัท ททบ.5 โฮลดิ้ง จะต้องขายหุ้น 60% ให้กับสถาบันการเงิน 20% ให้กับพันธมิตร 20% และให้กับคนในกองทัพและช่อง 5 อีก 20% ภายในเดือนเมษายนต้องถูกเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอให้เศรษฐกิจดีขึ้น

"เดิมเราจะทำให้เสร็จภายในเมษายน 42 แต่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ไปเสนอขายหุ้นคงไม่มีใครซื้อ ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน แต่ถ้าทำสำเร็จในอนาคต เราจะมีผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงิน เป็นคนทำธุรกิจในแนวเดียว กัน" คำตอบของพลเอกแป้ง

ขณะเดียวกัน หุ้นธนาคารทหาร ไทย 100 ล้านบาท ที่พลเอกแป้งเป็นผู้เสนอมาเพื่อใช้ลงทุนในการจัดตั้ง บริษัทลูก ที่เขาคิดไว้ว่า เมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น จะขายออกไปก็ได้กำไรกลับ มา ลดลงเหลือเพียงแค่ 20 บาทต่อหุ้น เป็นไปไม่ได้ที่จะขายหุ้นออกไปเพื่อนำเงินกลับคืนมาช่อง 5

บริษัทลูก 4 แห่ง ที่ ททบ.5 โฮล- ดิ้ง ใช้ลงทุนไปแห่งละ 5-10 ล้านบาท ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นต้องอาศัยเวลาในการดำเนินธุรกิจ ยิ่งมาเจอภาวะเศรษฐ กิจตกต่ำ ก็ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามคาดหมาย

"การดำเนินงานทั้ง 4 แห่ง บาง บริษัทก็มีกำไร บางบริษัทก็ยังมีผลประกอบการที่ไม่ตรงตามเป้านัก แต่ ยังไงก็ตามช่วยให้ช่อง 5 คล่องตัวสูง ในเรื่องการหาโฆษณาก็ดี ผมคิดว่าถ้าเป็นไปตามแผน เราจะดูแลเรื่องการจัดซื้อ เรื่องของอุปกรณ์ อะไรก็ตามที่ทำให้คล่องตัวขึ้น ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้องสำหรับยุคนี้"

แต่นั่นเท่ากับว่า ช่อง 5 จะยัง ไม่ได้เงิน 250 ล้านบาทคืนกลับมาตาม แผนที่วางไว้ที่จะได้มาจากการขายหุ้น

ช่วงที่แล้วมา พลเอกแป้งยังได้นำเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปซื้อพื้นที่บน ชั้น 28 และชั้น 38 อาคารพหลโยธินเพลส เพื่อให้บริษัทลูกเช่าใช้อีกที ซึ่งเป็นแนวคิดของการสร้างสินทรัพย์ สวนทางกับแนวคิดของการเป็นโฮลดิ้งคอมปานี ที่ควรจะมีขนาดเล็กกะทัดรัด เพราะรายได้จะมาจากเงินปันผลบริษัท ลูกเท่านั้น

นั่นเท่ากับว่า ททบ.5 จะมีภาระ จากสินทรัพย์ที่ไปซื้อมาและเมื่อสินทรัพย์ เหล่านั้นมีราคาตก บริษัท ททบ.5 จะขาดทุนทันที และเมื่อขาดทุนก็ทำให้การ ส่งกำไรเข้าบริษัทแม่เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

แม้ในช่วงต้นๆ แผนการปรับ ปรุงช่อง 5 ของพลเอกแป้งจะเป็นไปด้วยความราบรื่น และได้รับไฟเขียว จากทหารระดับสูงเกือบทุกฝ่าย ตั้งแต่ พลเอกวิมล วงศ์วาณิช อดีตผู้บัญชา การกองทัพบก พลเอกประมณฑ์ ผลาสินธ์จนมาถึงพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รวมทั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งพลเอกแป้งบอกว่า ได้รับการสนับสนุน ในเรื่องแนวคิดเหล่านี้มาตลอดเวลา

แต่เมื่อรายได้สวนทางกับรายจ่าย สถานการณ์ย่อมเปลี่ยนไป

กองทัพบกนั้นก็ต้องพึ่งพาเงินรายได้จากช่อง 5 ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณของกองทัพบกที่ไม่ต้องส่งเข้า กระทรวงการคลัง และกองทัพจะนำเงิน จำนวนนี้ไปจัดสรรเป็น 2 ส่วน

1. ใช้ในสวัสดิการของคนในกองทัพบก เช่น สร้างอาคารที่พัก ให้ทหาร ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้กองทัพ ส่งกำลังพลไปเรียนต่างประเทศ ซื้ออุปกรณ์ไฮเทค สนับสนุนกีฬา ร้านค้าสวัสดิการ สนามกีฬา

2. ใช้ในการพัฒนาของช่อง 5 เช่น การสร้างอาคาร สร้างห้องส่ง ดิจิตอล ใช้ในโครงการโกบอลเน็ทเวิร์ค

ดังนั้นเมื่อรายได้ช่อง 5 ลดลงมากๆ เข้า ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขึ้นมามากๆ ย่อมกระทบกับเงินที่จะ ใช้เป็นสวัสดิการของกองทัพบก

ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่โมเดลของ การจัดตั้งโฮลดิ้งคอมปานี การสร้างบริษัทลูก และการลงทุนสร้างเครือข่าย ที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหา ในเรื่องรายได้ของช่อง 5 ได้จริงหรือไม่ และนี่เองที่ทำให้เก้าอี้ของพลเอกแป้ง ต้องสั่นคลอนไปไม่น้อย หลัง การมาของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่มาแทนพลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ที่เกษียณอายุไปเมื่อ ปีที่แล้ว

การลุกจากเก้าอี้ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 เพื่อส่งมอบให้กับ พลโทสมพงษ์ ใหม่วิจิตร ของพลเอกแป้ง ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 เป็น การลุกก่อนเกษียณอายุถึง 5 เดือนเต็ม ที่พลเอกแป้งบอกแต่เพียงว่า พอแล้วสำหรับ 3 ปีในตำแหน่งผู้อำนวยการ ทั้งๆ ที่ภารกิจของการขายหุ้นบริษัท ททบ.5 มาร์เก็ตติ้ง และบริษัทลูกยังไม่เสร็จสิ้น

"เชื่อว่าคงต้องมีการเปลี่ยน แปลงในเรื่องแนวคิดของโฮลดิ้ง คอมปานี และแผนงานบางอย่างของช่อง 5 ที่มีปัญหาอยู่ ตัวของพลโทสมพงษ์เองก็เป็นคนที่เปิดกว้าง สนใจรับรู้ในหลายๆ เรื่อง" แหล่งข่าวในสถานีโทรทัศน์กล่าว

หรือนี่จะเป็นเหตุผลที่ทำให้เวลาของพลเอกแป้งหมดลง

แต่ที่แน่ๆ เป็น 3 ปีที่พลเอกแป้ง คงจะต้องจดจำไปอีกนาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.