ธนาคารเอเชีย เป็นแบงก์ไทยแรกๆ ที่ ได้ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร จากเนเธอร์
แลนด์เข้ามาเป็นผู้ถือใหญ่ จนไม่ต้องเจอวิกฤติเหมือนกับหลายธนาคารในเวลานี้
วิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ อยู่กับแบงก์เอเชียปีนี้เป็น
ปีที่ 3 แล้ว ภารกิจของเธอไม่เพียงทำให้แบงก์ เอเชียทันสมัยแค่ภาพลักษณ์ของการเป็นเจ้า
ของตึกทรงหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ต้องมีความสมบูรณ์แบบในเรื่องของไอทีอย่างจริงจัง
ธนาคาร เป็นธุรกิจที่ได้ชื่อว่านำเอาระบบอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี หรือไอทีมาใช้ในการทำธุรกรรมมากที่สุด
งบประมาณแต่ละปีของแบงก์ถูกจัดสรรมาในเรื่องไอทีเป็น ตัวเลขหลายร้อยล้านบาท
แต่จะใช้ประโยชน์ ได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้บริหารแต่ละคน
วิลาวรรณ ยืนยันว่า การมาเป็นผู้ถือ หุ้นใหญ่ของเอบีเอ็น แอมโร ไม่ได้ก่อให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดกับแผนกไอทีของ แบงก์เอเชีย ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นปัจจัย
ที่ทำให้การตัดสินใจของเอบีเอ็น แอมโร เร็วขึ้น
"เพราะเราดีมากเขาถึงมาซื้อ พอเขามาดูระบบไอทีของเรา เขาบอกเลยว่าดีกว่าของเขาเสียอีก
เร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่จะมาดูงานระบบไอทีของแบงก์เอเชีย และอาจมีการนำไปใช้งานในสาขาต่างๆ
ของเอบีเอ็น แอมโร ด้วย"
และเมื่อเทียบถึงความพร้อมหลายๆ อย่าง รวมทั้งระบบไอทีแล้ว เอบีเอ็น แอมโร
เลือกปิดสาขาในไทย โอนหน้าที่เหล่านี้มาให้แบงก์เอเชียทำหน้าที่แทน เป็นการการันตี
ถึงความสมบูรณ์ในเรื่องระบบไอทีที่วิลาวรรณหยิบยกมาให้ฟัง
ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วง 3 ปี ที่วิลาวรรณย้ายข้ามฟากมาจากบริษัทสยามกลการ
ในยุคของ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช เป็นยุคที่สยามกลการนำไอทีมาใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างมาก
โดยเฉพาะ ในเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสาขาทั่วประเทศ และ จากโรงงานถึงสำนักงานใหญ่
ประสบการณ์ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีในการวางไอทีให้กับแบงก์ และอุตสาหกรรมรถยนต์
ก็คือ เรื่องของเครือ ข่าย หรือ NETWORK จึงเป็นหัวใจของธุรกิจทั้งสองประเภท
แน่นอนว่า เมื่อเธอต้องมาปรับปรุงระบบไอทีให้กับแบงก์เจ้าของตึกหุ่นยนต์แห่งนี้
สิ่งที่เธอทำขั้นแรกก็คือ การ วางเครือข่ายไปตามสาขาต่างๆ ของแบงก์เอเชียทั่วประเทศ
ดังนั้น เมื่อเอบีเอ็น แอมโรเข้ามาถือหุ้นใหญ่ และเชื่อมโยงบริการร่วมกันทั่วโลก
เน็ทเวิร์คของแบงก์เอเชียที่มีจึงสามารถรองรับกับลูกค้าของเอบีเอ็น แอมโร
ที่เดินทางมาลงทุนในไทย ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลในไทย หรือใช้บริการ โอนเงินกลับไปมาระหว่างไทยและประเทศอื่นๆ
ในยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกาได้ทันที ซึ่งเธอเรียกมันว่า ระบบ CASH MANAGEMENT
"เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เหนือจรดใต้ จากตะวันออกไปตะวันตก
เป็นหน้าที่แบงก์เอเชีย ส่วนอะไรที่ออกนอกประเทศจะเป็นของเอบีเอ็น แอมโร
เพราะ มีเครือข่ายใหญ่กว่า"
การมาร่วมงานกับแบงก์เอเชีย ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ เธอ วิลาวรรณมีประสบการณ์ในการวางระบบไอทีให้กับแบงก์กรุงเทพมากกว่า
10 ปี ก่อนหน้าจะย้ายมาร่วมงานที่สยามกลการ และมาทำงานแบงก์เอเชีย ซึ่งเธอเริ่มต้นในตำแหน่งที่ปรึกษา
ก่อนจะเข้ามาร่วมงานในแบงก์นี้เต็มตัว เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
จากประสบการณ์นี้เอง ทำให้เธอไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ เหมือนสมัยที่ทำอยู่สยามกลการ
ที่เธอต้องเปิดกระโปรงรถศึกษาชิ้นส่วนต่างๆ ของรถ เพื่อให้ไอทีตอบสนองในฝ่าย
ต่างๆ ได้ทั้งหมด
วิลาวรรณเล่าว่า หลักในการสร้างเน็ทเวิร์คของแบงก์ เอเชียจึงมุ่งไปที่การสร้างสถาปัตยกรรมที่ต้องรองรับกับบริการ
ต่างๆ ของแบงก์ทั้งหมด และเครือข่ายนี้จะต้องรองรับกับธุรกรรมตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง
"ยกตัวอย่างระบบเช็คนี่ เราจะรู้เลยว่าต้นทางของเช็คเริ่มตรงไหน จะไปจบตรงไหน
โครงสร้างของไอทีที่วางจะต้องรองรับในส่วนนี้"
ที่สำคัญคือ เครือข่ายเหล่านี้จะต้องรองรับได้ทั้งข้อมูล ภาพ และเสียง
ที่จะสามารถนำบริการรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า
เธอเล่าอย่างภูมิใจว่า 3 ปีกว่ามานี้ แผนกไอทีของเธอ ได้ร่วมกับฝ่ายการตลาดผลิตบริการใหม่ๆ
ออกมาป้อนให้กับลูกค้าแล้วมากมาย
"สินค้าเรามีเยอะแยะ หน้าที่ของเราคือ ร่วมกับฝ่ายการตลาดพัฒนาสินค้าใหม่ๆ
ออกมาให้ลูกค้า เช่นว่า ฝ่าย การตลาดเขาจะออกสินค้าใหม่มา ฝ่ายไอทีจะต้องพัฒนาระบบให้รองรับได้
หรือบางครั้งเราก็ไปเสนอว่า เทคโนโลยี ตรงนี้มันให้บริการเรื่องเหล่านี้ได้
เราก็ไปเสนอ ฝ่ายการตลาดก็ไปศึกษาว่ามีความเป็นไปได้ทางธุรกิจเพียงใด"
บริการเอเชีย คอนวีเนียน เป็นหนึ่งในตัวอย่างของบริการที่วิลาวรรณ ยืนยันว่ามีลูกค้าชื่นชมมาก
ระบบนี้ จะทำหน้าที่จัดการโอนเงินไปมาแบบอัตโนมัติระหว่างบัญชี กระแสรายวัน
และออมทรัพย์ เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุดในเรื่องดอกเบี้ย
"เวลาได้รับเช็ค เข้ามาอยู่ในบัญชีกระแสรายวันก็จะไม่ได้ดอกเบี้ย ระบบก็โอนเงินจากกระแสรายวันไปที่ออมทรัพย์"
ล่าสุด ก็คือ บริการอินเตอร์เน็ต ที่มีหลายแบงก์เปิด ให้บริการแก่ลูกค้า
2-3 ปีมาแล้ว แต่สำหรับแบงก์เอเชียคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเร็วปลายปีนี้
วิลาวรรณบอกว่า เธอยึดนโยบายช้าแต่ชัวร์ ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเทคโนโลยีทั้งหมด
โดยเฉพาะเรื่องระบบความปลอดภัยของข้อมูลที่ไปนำเอามาตรฐานของสหรัฐอเมริกาที่ใช้งานอยู่มาใช้ให้บริการ
ซึ่งเธอเห็นว่าขั้นตอนที่ยากที่สุดไม่ใช่เรื่องของการโอนเงินบนอินเตอร์เน็ตที่ใครๆ
ก็ทำได้ใช้เวลาไม่กี่วันก็เสร็จ แต่เป็น เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลต่างหาก
บนชั้น 3 ตึกหุ่นยนต์ริมถนนสาธร เป็นที่ตั้งของฝ่ายไอทีได้ถูกตกแต่งใหม่มาได้ปีกว่าแล้ว
บนชั้นนี้จะเป็นที่ตั้งของเครื่องเมนเฟรม และมินิคอมพิวเตอร์ และพีซีอีกหลายสิบตัวเรียงรายอยู่
พร้อมกับพนักงานประมาณ 120 คน ที่นั่งทำงานเป็นกลุ่มๆ อย่างคร่ำเคร่ง แต่ไม่เคร่งเครียด
WELCOME TO MY WORLD เสียงเพลงเก่าย้อนยุคคลอเบาๆ เริ่มขึ้นทันที พร้อมกับภาพของ
ทีมงานทั้งหมดในฝ่าย ไอที เมื่อมีผู้มาเยือนกดปุ่มเครื่องพีซีที่ติดตั้งไว้หน้าประตูทางเข้า
เป็นเสมือนการต้อนรับ ด่านแรกของฝ่ายนี้
วิลาวรรณ เล่าอย่างภูมิใจว่า ฝ่ายไอที ที่แบงก์เอเชียจะทำงาน ด้วยความมีชีวิตชีวาและ
ความสนุก พนักงานในฝ่ายไอทีของเธอจะไม่ใช่คอมพิวเตอร์แมน ที่พูดคุยแต่ภาษาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง
แต่ต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ นี่คือสิ่งที่ทำให้ฝ่ายไอทีของเธอผลิตสินค้าออกมาตลอด
เวลา
"พี่เป็นคนสัมภาษณ์เด็กเอง โดยเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์ และระบบ เราอยากสกรีนคนจริงๆ
ทุกคนจะทำด้วยความสนุกและความรัก เรามีวิธีการกระตุ้น"
เธอบอกว่า ไม่ใช่แต่คนในฝ่ายไอทีที่รักกันเองเท่านั้น แต่ผู้ใช้ (USER)
ก็รักคนฝ่าย ไอทีด้วย พนักงานทุกคนจะต้องมีความกระตือ รือร้นในการช่วยเหลือ
แม้จะไม่เปิดตัวให้สัมภาษณ์บ่อยนัก แต่วิลาวรรณบอกว่าที่ผ่านมาเธอทำมากกว่าพูด
แต่ถึงเวลาที่เธอจะต้องพูดไปด้วยทำไปด้วย
"ถ้าจะถามว่า ไอทีของแบงก์เอเชียเป็น อย่างไร พี่ตอบไม่ได้ ต้องไปถามคนที่เขามาดู
อย่างเมื่อวานก็มีคนมา เขาบอกพี่ระบบไอทีของแบงก์เอเชียดีที่สุด สมัยก่อนเราต้องวิ่งไปดูงานแบงก์อื่นต่างประเทศ
แต่เวลานี้จะมีแบงก์ยุโรปมาดูงานของเรา ต่อไปเราคงหัวกระไดไม่แห้ง แบงก์ไทยเองถ้าอยากมาดูเราก็ยินดีต้อนรับ"
ที่แน่ๆ แม้ว่าหลายแบงก์จะถูกตัดงบ ไอทีเป็นแถว แต่แบงก์เอเชียยังมีงบประมาณที่
อัดฉีดให้ฝ่ายไอทีไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท
แล้วอย่างนี้จะไม่ให้แบงก์เอเชียหัวกระไดไม่แห้งได้อย่างไร