คอม-ลิงค์ บุฟเฟ่ต์คาบิเนท


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

คอม-ลิงค์ ธุรกิจที่เกิดมาจากสายสัมพันธ์อันดีเยี่ยมของศิริทัช โรจนพฤกษ์ อดีตเจ้าหน้าที่สถานทูต จนกลายมาเป็นมหกรรมการลงทุนระหว่างกลุ่มล่ำซำ-ภิรมย์ภักดี-กลุ่มซีพี และยังเป็นที่ชุมนุมของนักการเงินและนักกฎหมายชื่อดัง เพราะนี่คือธุรกิจสัมปทานที่ลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่กินยาวถึง 20 ปี งานนี้รับประกัน ไม่มีการขาดทุน!!

หากไม่มีกรณีข้อพิพาทเรื่องค่าเช่า วงจรระหว่างบริษัทคอม-ลิงค์ และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และกินเวลายาวนานถึง 8 ปีเต็ม ผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว หลายคนคงยังแทบไม่รู้ว่า คอม-ลิงค์เป็นใครมาจากไหน ?

ด้วยสไตล์การบริหารแบบ อนุรักษนิยม ของ ศิริทัช โรจนพฤกษ์ การดำเนินงานของคอม-ลิงค์เป็นไปอย่างเงียบเชียบ

ทุนสื่อสารอื่นๆ อย่างทักษิณ เลือกที่จะมีอาณาจักรชินวัตรเป็นของตัวเอง หรือการที่ตระกูลเบญจรงคกุลมียูคอม ดร.อดิศัย โพธารามิก สร้างจัสมินเป็นฐานธุรกิจ

แต่สำหรับคอม-ลิงค์แล้ว เป็นอีกแง่มุมของธุรกิจสัมปทาน ที่เกิดขึ้นมาจากการประสานประโยชน์ธุรกิจกับการเมือง และธุรกิจต่อธุรกิจ อย่างลง ตัวมากที่สุดโครงการหนึ่ง

โครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงตามรางรถไฟ เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2529 โดยบริษัทแคนาเดียน อินเตอร์เนชั่น แนล ดีเวลอปเม้นท์-เอเยนซี่ได้เข้ามาเสนอโครงการนี้กับ ทศท.และได้ว่าจ้าง ให้บริษัท CANAC TELECOM เข้ามาทำการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

ผู้บริหาร ทศท. สมัยนั้นคือ
ไพบูลย์ ลิมปพยอม ผู้อำนวยการทศท.ออกมารับลูกทันที เพราะกำลัง มีนโยบายจะขยายเลขหมายโทรศัพท์เพิ่มเติมอีก 3 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ อยู่แล้ว จำเป็นต้องมีวงจรทางไกลเพื่อเชื่อมต่อระหว่างนครหลวงกับภูมิภาคจำนวนมาก เรื่องทั้งหมดจึงถูกชงผ่านไปยังกระทรวงคมนาคม ซึ่งก็ได้รับไฟเขียวเป็นอย่างดี

รัฐบาลสมัยนั้นเป็นยุคสมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ชื่อ มนตรี พงษ์พานิช เจ้าของฉายาจอมโปรเจ็กต์ เพราะเป็นช่วงเกิด โครงการสำคัญๆ อาทิ โฮปเวลล์ และ โทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย เป็นต้น

แต่ ทศท.ไม่ได้ลงทุนในโครงการนี้เอง ผู้บริหาร ทศท.ให้เหตุผลว่า ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 4,000 ล้านบาท ซึ่งเวลานั้น ทศท.ไม่มีเงิน จึงเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของนักธุรกิจคลื่น ลูกที่ 3 อย่างทักษิณ ชินวัตร กลุ่ม ซีพี รวมทั้ง อดิศัย โพธารามิก

ทศท.เปิดให้มีการประมูลติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสงตามรางรถไฟขึ้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2533 มีผู้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนทั้งหมด 5 ราย คือ บริษัท CANAC TELECOM บริษัท TOYO MENKA KAISHA LTD. บริษัทอาร์.ที.สไตรน์เมทส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทคอม-ลิงค์ และบริษัทเอวิออน เอเซีย อินเตอร์เนชั่นแนล

ผลปรากฏว่า บริษัทคอมลิงค์เป็นผู้ชนะประมูลเฉือนคู่แข่งอีก 4 ราย ซึ่งคณะกรรมการในเวลานั้น ประกอบ ไปด้วยพล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการร่วมตัดสินโครงการคือ สมบัติ อุทัย-สาง ไพบูลย์ ลิมปพยอม ผู้อำนวยการ ทศท.และ สมชาย จุละจาริตต์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

ที่น่าสนใจคือ ผู้เข้าประมูลอีก 4 ราย ล้วนแต่เป็นบริษัทโทรคมนาคม ข้ามชาติ ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจโทรคมนาคมมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และผู้รับเหมาติดตั้งอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดนี้กลับพ่ายแพ้ให้กับคอม-ลิงค์ ซึ่งเป็นบริษัท ใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ธุรกิจโทรคมนาคมมาก่อน

ก่อนหน้าที่จะเข้าประมูลงาน คอม-ลิงค์เป็นเพียงบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งตามที่แจ้งไว้กับกองทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าบริษัทเปิดขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเป็นผู้ขายปลีก มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีทัศนีย์ อินทามระ และ นงลักษณ์ โมฬีนนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาในปี 2532 หันมาทำธุรกิจเครื่องเหล็ก แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากธุรกิจแต่อย่างใด

ผลปรากฏว่า บริษัทค้าเครื่องเหล็กแห่งนี้ กลับชนะประมูลบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติ ที่เป็นทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ และมีประสบการณ์ติดตั้งไปได้อย่างขาดลอย เรื่องมันก็เลยไม่ธรรมดา

แหล่งข่าวใน ทศท.เล่าว่า คอม- ลิงค์ชนะประมูลเพราะเสนอผลประโยชน์ ตอบแทนให้กับ ทศท.ได้มากกว่าคู่แข่ง อีก 4 ราย อีกทั้งข้อเสนอทางเทคนิคของ คอม-ลิงค์ก็ผ่านตามเงื่อนไขที่กำหนด ทุกประการ

"คนอื่นๆ เขามีเงื่อนไขเยอะ เขาจะให้องค์การโทรศัพท์ฯ รับผิดชอบ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน บางรายก็ให้ผลตอบแทนน้อยมาก แต่คอม-ลิงค์เรารับผิดชอบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเองหมด และเราก็ให้ผลตอบแทนดี" แหล่งข่าวในคอมลิงค์กล่าว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คอม-ลิงค์ มีภาษีเหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ ?

ข้อแรก-ในด้านเทคนิค คอม-ลิงค์ใช้วิธีไปดึงเอาคนในบริษัท CANAC TELECOM เข้ามาร่วมด้วย มาเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการ ซึ่งทางบริษัทCANAC TELECOM นั้นเองก็ใช้วิธีแทงกั๊ก ทั้งเสนอเข้าไปในนามบริษัทเอง และก็ยังเสนอร่วมกับคอม-ลิงค์ด้วย

ข้อสอง - สายสัมพันธ์ในระดับ ลึกและกว้าง เป็นยุทธศาสตร์ที่บริษัทคู่แข่งข้ามชาติไม่มี

ศิริทัช เป็นคีย์แมนผู้รับผิดชอบ ในการประมูลของบริษัทคอม-ลิงค์ มา ตั้งแต่แรกเริ่ม เขาคือที่มาของเรื่องราว ทั้งหมด ของการนำพาคอม-ลิงค์เข้ามาสู่องค์การโทรศัพท์ฯ รวมถึงการดึงเอากลุ่มทุนธุรกิจมาลงขันในโครงการนี้

การเข้ามาของศิริทัช เมื่อ 8 ปี ที่แล้วก็เป็นยุคแสวงหาธุรกิจ สัมปทาน ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และการเกิด กลุ่มทุนสื่อสารใหม่อย่างซีพี จัสมิน และสามารถ ในขณะที่กลุ่มสื่อสารเหล่า นี้ต่างเร่งสร้างอาณาจักร และเปิดตัวสู่สาธารณชน แต่ศิริทัชกลับเลือกเดินอย่างเงียบเชียบ

ศิริทัชเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว หลายคนจึงรู้แต่เพียงแค่ว่า เขาเคยเป็น อดีตเจ้าหน้าที่สถานทูตแคนาดา ทั้งที่จริงแล้วศิริทัชได้ชื่อว่าเป็นล็อบบี้ยิสต์คนหนึ่งของเมืองไทย การมาของบริษัท แคนาเดียน อินเตอร์เนชั่นแนล ดีเวลลอปเม้นท์ เอเยนซี่ และ CANAC TELECOM จากแคนาดา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่โครงการเคเบิลใยแก้วนำแสง ตามรางรถไฟ ก็เป็นผลงานของศิริทัช ที่ทำหน้าที่ประสานงานให้

ศิริทัช เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล หนึ่งในโรงเรียนคริส เตียนชายล้วน ที่ผลิตบุคลากรชื่อดังของประเทศมานักต่อนักแล้ว ศิริทัช มีเพื่อนฝูงร่วมสถาบันที่อยู่ในแวดวงการ เมือง และนักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น กร ทัพพะรังสี, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, เสรี จินตเสรี รวมทั้งปัฐวาท สุขศรี-วงศ์ มือขวาคนสนิทของไพบูลย์ ลิมปพยอม สนิทสนมเป็นอันดีกับพร้อง ชีวานันท์ ที่ปรึกษาคนสนิทของมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเวลานั้น

และจากนี้ก็ชักนำไปสู่สายสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับพรรคการเมืองตลอดจนนักธุรกิจชื่อดังในเวลาต่อมา โครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงตามรางรถไฟเกิดขึ้นมาในช่วง 8 ปีที่แล้ว เป็น เทคโนโลยีใหม่ของระบบเชื่อมโยงที่เป็นระบบดิจิตอล ทำให้ส่งได้ทั้งข้อมูล ภาพ และเสียงในเวลาเดียวกัน เมืองไทยเวลานั้นข่ายสายโทรศัพท์ที่องค์การ โทรศัพท์ติดตั้งและใช้งานอยู่ทั้งในกรุง-เทพฯ และเชื่อมโยงไปต่างจังหวัดยังเป็นแค่สายทองแดง ผู้บริหารของ ทศท. เองก็มองเห็นแนวโน้มว่าระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงคือเทคโนโลยีใหม่ที่จะทดแทนสายทองแดง ซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพของบริการมาก ขณะเดียวกัน ทศท.เองก็กำลังขยายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย จำเป็นต้องใช้วงจรเชื่อมโยงมากขึ้น

ในแง่มุมของธุรกิจ การรับสัมปทานติดตั้งให้กับ ทศท.ก็ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องรายได้ เพราะจะได้รับค่าเช่าจาก ทศท.ซึ่งเป็นลูกค้าประจำ ทุกๆ ปี ตลอดอายุสัญญา 20 ปี ในแง่ความเสี่ยงของธุรกิจแทบจะไม่มี เป็นสิ่งที่ผู้บริหารของ ทศท.และศิริทัชล้วนมองเห็น เอกชนสื่อสารของไทยคนอื่นๆ ในเวลานั้นก็ไม่มีใครสนใจโครงการนี้ หลายคนหันไปมองในเรื่อง โทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์พื้นฐาน

ศิริทัช จึงเปลี่ยนบทบาทจาก ดีลเมกเกอร์มาเป็นผู้ลงทุน และครั้งนี้จึงใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ไม่ เพียงแต่ไฟเขียวจากหน่วยงานรัฐเจ้า ของสัมปทานเท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินทุนมาก ศิริทัชจึงต้องไปดึงเอากลุ่มทุนธุรกิจเข้ามาร่วม ซึ่งกลุ่มทุนที่เขาดึงเข้ามาก็ล้วนแต่เป็นตระกูลเก่าแก่ของเมืองไทยทั้งสิ้น

ทุกอย่างก็ดูราบรื่นมากในสายตา ของแบงก์กสิกรไทย

แบงก์กสิกรไทยเข้ามาลงทุนในคอม-ลิงค์ พร้อมๆ กับสันติ ภิรมย์ ภักดี ผ่านทาง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งสนิทสนมกับศิริทัช

การลงทุนของแบงก์กสิกรไทย นับเป็นใบเบิกทางแรกให้กับคอม-ลิงค์ ในขณะที่แบงก์กสิกรไทยเองก็ไม่เคยลงทุนในธุรกิจสื่อสารอื่นใด ยกเว้นกับบริษัทในเครืออย่างล็อกซเล่ย์ และโครงการของคอม-ลิงค์ ในครั้งนี้

ณรงค์ ศรีสอ้าน อดีตกรรม การคณะกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า ในช่วงนั้นแบงก์ได้รับการชักชวนจากศิริทัช ผ่านมาทางผู้บริหารของแบงก์ และหลังจากแบงก์ได้วิเคราะห์การลงทุนในโครงการนี้แล้ว โดยมีที่ปรึกษาจากแคนาดามาให้คำปรึกษา ก็เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีอนาคตรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมืองไทยยังขาดแคลนระบบสื่อสารที่มีคุณภาพ เพราะเวลานั้น ทศท.ยังใช้สายทองแดง และดาวเทียมในการสื่อสาร ซึ่งมีปัญหา เรื่องคุณภาพเสียง

ในสายตาของณรงค์ เขามองว่า ระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง เป็นวิวัฒนา การของระบบการสื่อสารแบบใหม่ ที่นอกจากจะทำให้คุณภาพของเสียงดีขึ้นแล้ว ยังสามารถส่งได้ทั้งข้อมูล ภาพและเสียง

"ขึ้นชื่อว่าธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง อยู่ที่ว่าใครจะเข้าใจในธุรกิจและมีเงินทุนที่จะทำให้ธุรกิจได้ดีกว่ากัน ทุกคนก็มีการมองอนาคตที่ต่างกัน เรามองว่าเมืองไทยจำเป็นต้องขยายตัวด้านการสื่อสาร เพราะเป็นเรื่องจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"

หลังจากได้โครงการเคเบิลใย-แก้วนำแสงจากองค์การโทรศัพท์ฯ ในปี 2533 บริษัทคอม-ลิงค์ก็แปรสภาพจากบริษัทค้าเครื่องเหล็ก กลายมาเป็น บริษัทโทรคมนาคมที่รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ฯ เพิ่มทุนจดทะเบียน ทันทีจาก 1 ล้านบาทมาเป็น 150 ล้านบาท

ในช่วงแรกแบงก์กสิกรไทย ตระกูลล่ำซำ และ สันติ ภิรมย์ภักดียังไม่ได้เข้ามาถือหุ้นในคอม-ลิงค์โดยตรง แต่ถือหุ้นผ่านทาง ธีเดช ไม้ไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยฟลายอิ้ง เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างล็อกซเล่ย์ และ สันติ ภิรมย์ภักดี ทำธุรกิจให้เช่าเครื่องบินแบบเหมาลำ ตัว ธีเดชก็เป็นเพื่อนสนิทสนมกับสันติเป็นอย่างดี ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทคอม-ลิงค์ 210,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท

ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีผู้ถือหุ้นใหม่รายใหม่ที่เข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย วีรพล อดิเรกสาร เป็นน้องชายของปองพล อดิเรกสาร ส.ส.พรรคชาติไทย พล.ต.ต.วิมล อิน-ทามระ สองรายนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหม่ ส่วน อมร โมฬีนนท์, สุพิน โมฬีนนท์, ทัศนีย์ อินทามระ และ ศศิธร สุวรรณ กุล 4 รายหลัง มีชื่อเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท คอม-ลิงค์ และมีวิศวกรชาวแคนาดาที่คอม-ลิงค์ดึงเข้ามาคุมงานถือหุ้นอยู่ด้วย แต่ก็ถือเพียงหุ้นเดียว

มาถึงต้นปี คอม-ลิงค์จึงเปลี่ยน โครงสร้างการถือหุ้นอีกครั้ง คราวนี้แบงก์กสิกรไทย และคนในตระกูลล่ำซำกระโดดเข้ามาถือหุ้นเต็มตัว ยังดึงเอาบริษัทภัทรประกันภัย บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต รวมทั้งคนในตระกูลล่ำซำ ประกอบด้วย บัญชา, บรรยงค์, ไพโรจน์ และ โพธิพงษ์ เข้า มาถือหุ้นด้วย รวมกันประมาณ 225,000 หุ้น คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของหุ้นทั้งหมด ที่มีอยู่ 1,500,000 หุ้น

ช่วงเริ่มแรกของโครงการต้องใช้เงินลงทุนมาก แบงก์กสิกรไทยจึงเข้ามามีบทบาทสูง เป็นผู้ออกใบสัญญา ค้ำประกันของธนาคารให้กับคอม-ลิงค์ มูลค่า 50 ล้านบาท

แบงก์กสิกรไทยยังทำหน้าที่หาแหล่งเงินทุน โดยไปดึงเอาแบงก์อีก 2 แห่งมาร่วมปล่อยเงินกู้ให้กับคอม-ลิงค์ จำนวน 3,850 ล้านบาท เป็นเงินกู้ที่เป็นเงินบาท 1,816 ล้านบาท กู้เป็นเงิน ต่างประเทศ 80 ล้านเหรียญ มีกำหนด ชำระคืนตั้งแต่ 27 มิถุนายน 2537 จนถึง 27 กันยายน 2541

งานนี้เรียกว่า หากไม่มีแบงก์ กสิกรไทย คอม-ลิงค์ก็คงลำบาก

นอกจากอาศัยเครดิตด้านการเงินจากกลุ่มล่ำซำแล้ว ยังอาศัยเครดิต ของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย ซึ่งเวลานั้นยังนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร ของแบงก์กสิกร มาเป็นประธานคอม-ลิงค์ และเป็นผู้เปิดตัวคอม-ลิงค์สู่สาธารณชน โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาเรื่องส่วนแบ่งรายได้กับ ทศท. หม่อมอุ๋ยต้องออกแรงเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ยังได้ เสรี จินตนเสรี อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งเสรีเป็นผู้ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวระหว่างคอม-ลิงค์และ ทศท. ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทำให้ ทศท.ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต่อคอม-ลิงค์ ในทุกกระบวนการพิจารณาของศาล ตั้งแต่อนุญาโตตุลาการมาจนถึงศาลฎีกา

ส่วนศิริทัช แม้จะเป็นผู้รับ ผิดชอบการบริหารงานโดยตรง แต่เขา ทำงานอยู่เบื้องหลัง ทำงานที่ตัวเองถนัด คือการประสานประโยชน์ทั้งภายในและภายนอก จนกระทั่งหม่อมอุ๋ยย้าย ไปทำงานที่เอ็กซิมแบงก์ ศิริทัชจึงต้องออกมารับบทบาทนี้แทน โดยมีหม่อมอุ๋ยให้คำปรึกษาอีกที

"ช่วงที่มีปัญหากับ ทศท. หม่อม อุ๋ยจะเป็นคนออกมาชี้แจงกับสาธารณชน ส่วนคุณศิริทัชเขาจะใช้วิธีไปนั่งกินข้าว ชี้แจงกับคนอื่นๆ แบบไม่ออกหน้า"

คอม-ลิงค์ไม่ได้ระดมเงินกู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้วิธีระดมเงินทุนจากผู้ถือหุ้นด้วย และในช่วงกลาง ปี 2534 กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้เข้ามาถือหุ้น คอม-ลิงค์มีการเพิ่มทุนจาก 50 ล้านบาทเป็น 150 ล้านบาท ครั้งนั้นผู้ถือหุ้นแบ่งออกเป็น 3-4 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มล่ำซำ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเวลานั้นทำโครงการ 2 ล้านเลขหมาย แล้ว และ สันติ ภิรมย์ภักดี ที่เหลือก็เป็นของ วีระพล อดิเรกสาร และพล.ต.ต.วิมล อินทามระ

เมื่อต้องทุ่มเงินทุนก้อนใหญ่ไป คอม-ลิงค์จึงเร่งติดตั้งแบบเต็มที่ ใช้เวลาเพียงปีเดียวก็ติดเสร็จหมดทั้ง 5 เฟส เสร็จก่อนกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาถึง 5 ปีเต็ม

และนี่เป็นกลยุทธ์ของคอม-ลิงค์ ทำให้ได้รับเงินค่าวงจรที่ติดตั้งจากทศท.เร็วขึ้น

"จริงๆแล้ว การติดตั้งก็ไม่อาศัยเทคโนโลยีอะไร เพียงแต่พาดสายเคเบิลใยแก้วไปตามเสาไฟฟ้า ของ การรถไฟฯที่มีอยู่แล้วเท่านั้น คอม-ลิงค์เขาจ้างวิศวกรจากแคนาดามาคุมงาน และก็จ้างคนมาติดตั้ง บางส่วนก็ว่าจ้าง ซับคอนแทร็กต์ไปให้คน ทศท.มาติดตั้งให้" แหล่งข่าวจาก ทศท.กล่าว

จะว่าไปแล้ว คอม-ลิงค์ เป็นธุรกิจสัมปทานที่เกิดขึ้นมาได้ด้วยสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจของหน่วยงาน เมื่อถึงยุคผลัดเปลี่ยนมือผู้มีอำนาจ เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ ทศท. ใหม่ ความ ไม่แน่นอนก็ย่อมเกิดขึ้น

แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินของ ทศท. แต่คอม-ลิงค์ได้รับค่าเช่าวงจรตามใช้จริงจาก ทศท.ทุกเดือน มาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงกรกฎาคม 2541 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,370 ล้านบาท และ หลังจาก ทศท.ยอมความแล้ว คอม-ลิงค์จะได้เงินค่าเช่าวงจรที่ ทศท.จะต้อง จ่ายเพิ่มให้เมื่อต้นปี 2542 เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท

รวมแล้วคอม-ลิงค์จะได้รับเงินทั้งหมด 27,294 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 20 ปี ซึ่งจะครบกำหนด ในวันที่ 31 มีนาคม 2552 เท่ากับว่า ยังเหลือเวลาที่จะเก็บเกี่ยวรายได้ในช่วงที่เหลืออีก 12 ปีกับเงินประมาณ 14,000 ล้านบาท

คอม-ลิงค์จะขาดทุนใน 2-3 ปีแรกเท่านั้น เพราะเป็นช่วงลงทุนหนัก แต่พอขึ้นปีที่ 3 ก็เริ่มทำกำไรแล้ว เพราะมีรายได้ค่าเช่าวงจรกับ ทศท. เข้ามาตลอด เงินที่กู้ยืมจากธนาคาร 3 แห่งจำนวน 3,000 กว่าล้านบาทก็ทยอยชำระคืนจนหมดลงตั้งแต่ 2540

โครงการในลักษณะนี้ไม่ต้องขยายการลงทุนเพิ่มเติม เพราะเป็น การสร้างวงจร มีเพียงแค่ซ่อมบำรุงตาม ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่มาก หากเทียบกับโครงการสื่อสารอื่นๆ ด้วยกันแล้ว

คอม-ลิงค์เป็นเพียงบริษัทไม่กี่แห่ง ที่จ่ายโบนัสให้พนักงาน 6 เดือนเต็ม แถมยังจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นตลอดทุกปี และยังมีจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มเติมในช่วงกลางปี 2540 อีกก้อนใหญ่ (ดูตารางงบกำไรขาดทุน)

"ในแง่ของการลงทุนแล้ว คอม-ลิงค์จัดเป็นบริษัทที่น่าลงทุนมากๆ เพราะลักษณะการลงทุนจะหนักในช่วงแรกเท่านั้น จากนั้นก็เป็นการซ่อมบำรุง ก็ใช้จ่ายไม่มาก และเป็นธุรกิจมีรายได้ประจำเข้ามาต่อเนื่องจาก ทศท. เรียกว่าไม่มีความเสี่ยงเลย" นักวิเคราะห์รายหนึ่งสะท้อน

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทคอม-ลิงค์ ทั้ง ส่วนตัวและในส่วนของบริษัท กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า ในส่วนตัวแล้ว การถือหุ้นในคอม-ลิงค์ถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เพราะเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนดี

สำหรับเทเลคอมโฮลดิ้ง (ทีเอช) หลังจาก ทศท.จ่ายเงินคืนให้ 4,000 ล้านบาท ทำให้ทีเอชนำเงินปันผล 800 ล้านบาทที่ได้รับจากการถือหุ้นในคอม-ลิงค์ มาซื้อหุ้นยูบีซีจากชินวัตร ทำให้ทีเอชกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทยูบีซี ตามกลยุทธ์ที่วางไว้

"ช่วงหนึ่งในยุคที่พรรคความหวังใหม่ ได้โควตาดูแลกระทรวงคมนาคม ซึ่งช่วงนั้นปัญหาคอม-ลิงค์ยังไม่จบ ยังฟ้องร้องกันอยู่ กลุ่ม ทีเอก็เคยจะจัดการปัญหาให้ และขอซื้อหุ้นทั้งหมดในคอม-ลิงค์ขึ้นมา แต่ผู้ถือหุ้นอื่นไม่มีใครยอมขาย" แหล่งข่าวในคอม-ลิงค์เล่า

จะว่าไปแล้ว หากไม่มีปัญหาในเรื่องค่าเช่าวงจรกับ ทศท.ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา คอม-ลิงค์ก็คงเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อสารที่ขยายอาณาจักรธุรกิจไปไม่น้อย ด้วยสัมพันธ์และเงินทุนที่มีอยู่

ศิริทัชก็ไม่ต่างไปจากนักธุรกิจ สื่อสารคนอื่นๆ ที่มองหาลู่ทางการขยาย ธุรกิจอยู่ตลอดเวลา (ดูตารางเงินลงทุนบริษัทในเครือ) เพียงแต่จังหวะและโอกาสของคอม-ลิงค์เองอาจจะยังมาไม่ถึง

ก่อนหน้านี้ คอม-ลิงค์ ก็เคยยื่นเสนอไปที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) เพื่อขอทำโครงการวีแสทระหว่างประเทศ โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่าบริษัทสเตรท เอ็กซเพรส เป็นยุคที่ พินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีช่วยคมนาคมที่ดูแล กสท.ได้หยิบเรื่อง มาพิจารณา แต่แล้วก็ได้รับการคัด ค้านจากพนักงาน กสท. เรื่องจึงเงียบหายไป

เคเบิลทีวี เป็นธุรกิจหนึ่งที่คอม-ลิงค์ให้ความสนใจมาก และเคยไปขอสัมปทานมาจากอ.ส.ม.ท. คอม-ลิงค์อยากนำเอาเทคโนโลยีการส่งสัญญาณระบบ LMDS มาใช้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณด้วยคลื่นไมโครเวฟ แต่เป็นความถี่สูงถึง 2 กิ๊กกะเฮิรตซ์ และเป็นระบบดิจิตอล อุปกรณ์ที่ใช้รับสัญญาณ เป็นจานดาวเทียมขนาดเล็กมาก สหรัฐ อเมริกาเริ่มนำมาใช้แล้ว

แต่แล้วโครงการนี้ก็ต้องพับเก็บใส่กระเป๋าไว้ชั่วคราว เพราะการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจ ทั้งไอบีซี และยูทีวีก็ยังขาดทุนอย่างหนัก และคลื่นความถี่ 2 กิ๊กกะเฮิรตซ์นี้ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติจากกรมไปรษณีย์ฯ

คอม-ลิงค์ จึงหันมาทำธุรกิจรับติดตั้งระบบเน็ทเวิร์ค ซึ่งสามารถใช้ประสบการณ์เดิม ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่า โดยตั้งบริษัทไฮเทค เน็ทเวิร์ค ให้บริการคำปรึกษาและรับติดตั้งระบบ ด้านโทรคมนาคม เพื่อรับงานประมูลติดตั้งระบบเครือข่ายให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ

ปรากฏว่า บริษัทแห่งนี้ก็เข้า ไปประมูลงานติดตั้งระบบเน็ทเวิร์คในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายโครงการ รวมทั้งของการปิโตรเลียมแห่งประเทศ ไทย(ปตท.)ที่ว่ากันว่าคอม-ลิงค์ก็มีสายสัมพันธ์ดี จนสามารถคว้าโครงการ มูลค่า 300 ล้านบาทมาแล้ว และกำลังขยายต่อเนื่องอีก 300 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะคว้างานประมูลนี้ได้อีก

พอมาในช่วงปี 2537-2538 การ รถไฟฯ เปิดประมูลติดตั้งระบบขายตั๋วโดยสารและที่นั่งเพื่อออกตั๋วรถไฟ คอม-ลิงค์ก็เสนอตัวเข้าไปประมูลในนามของบริษัทปรีดาปราโมทย์ ปรากฏ ว่าเอาชนะยูคอม ซึ่งเป็นตัวเก็งในช่วงนั้นไปได้

นอกจากคอม-ลิงค์จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับการรถไฟฯ แล้ว หากมองลึกลงไป โครงการนี้เริ่มมาในสมัย ที่ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เลขานุการพรรค ชาติพัฒนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ดูแลการรถไฟฯ

"ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคอม-ลิงค์ มีสายสัมพันธ์ที่ดี และอีกส่วนก็น่าจะมาจากตัวศิริทัชเอง ซึ่งเป็นคนเงียบๆ ไม่ชอบพูดมาก แต่ใจถึง เขาไม่ชอบเป็นศัตรูกับใคร โครงการนั้นก็แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ยูคอมก็ไปเอาโครงการอื่นแทน คอม-ลิงค์ก็ไม่เข้า" แหล่งข่าวในวงการเล่า

นอกจากนี้คอม-ลิงค์ยังไปลงทุน ในบริษัทโรงแรมราชดำริ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโรงแรมรีเจ้นท์ จำนวน 1.56%

แม้ว่า ช่วงที่แล้วมาจังหวะและ โอกาสของคอม-ลิงค์จะมีไม่มากนัก แต่หลังจากปัญหากับ ทศท.ยุติลง ด้วย ความพร้อมในเรื่องของเงินทุน และสายสัมพันธ์นี้ ในขณะที่คู่แข่งในวงการ สื่อสารกำลังอ่อนแรงจากปัญหาหนี้ โอกาสตกเป็นของคอม-ลิงค์

คอม-ลิงค์เวลานี้ ไม่ต่างจากมรดกทางธุรกิจชั้นดี โครงสร้างการถือ หุ้นของคอม-ลิงค์ จะมีการเปลี่ยน แปลงมาตลอด 8 ปีมานี้ รวมแล้วเกือบ 20 ครั้ง ซึ่งในช่วงแรกส่วนหนึ่งต้องใช้เงินทุนสูง

แต่การเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ครั้ง ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนมือกันภายในระหว่าง ตระกูลล่ำซำ สันติ ภิรมย์ภักดี และกลุ่มซีพี

โดยเฉพาะในกลุ่มของล่ำซำ เป็นการเปลี่ยนมือจากพ่อสู่รุ่นลูก หุ้นในมือของกลุ่มล่ำซำ ซึ่งมีอยู่ 1 ใน 3 ถูกส่งจากพ่อสู่ลูกและหลาน หุ้นของบัญชา ตกทอดถึงรุ่นลูกทั้ง 3 บัณฑูร ล่ำซำ, สุภวรรณ ปันยารชุน (ล่ำซำ) หลานสะใภ้ของอานันท์ ปันยารชุน และ วรางคนา ล่ำซำ

ในช่วงหลังยังรวมไปถึงผู้บริหาร เก่าแก่ของแบงก์กสิกร อย่างณรงค์ ศรีสอ้าน, พล.ต.อ.เภา สารสิน, ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล และ ประภัสร์ ศรี- สัตยากุล

ในขณะที่หุ้นของ สันติ ภิรมย์ ภักดี ที่นำบริษัทสันติบุรี จำกัด และบริษัทเชียงรายสันติบุรีกอล์ฟคลับมาถือหุ้นด้วย (ดูตารางผู้ถือหุ้น)

ช่วงจังหวะนี้อาจเป็นการท้าทาย ครั้งใหม่ของคอม-ลิงค์ ที่ต้องขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสจะมาถึงอีกครั้ง หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.