แปรรูปโรงไฟฟ้าราชบุรี ดีลเงินกู้ร่วมที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางการแสดงความเป็นห่วงของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลกหลายแห่ง ที่มีต่อภาคสถาบันการเงินของไทยในขณะนี้ว่ายังอยู่ในสภาพอ่อนแอ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่คืบหน้าเท่า ที่ควร ส่งผลให้สถาบันการเงินทุกแห่งไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบได้อย่างเต็มที่นั้น

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา สถาบันการเงินขนาด ใหญ่ 8 แห่งของไทย ก็ได้มีกิจกรรม ที่สวนทางกับความเป็นห่วงของสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งหลาย โดยได้จัดพิธีลงนามในสัญญารับประกันการจัดหาเงินกู้ (Loan Underwriting Agreement) มูลค่าสูงถึง 44,101 ล้านบาท กับบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม

8 สถาบันการเงินดังกล่าว ประกอบด้วยธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรี อยุธยา ธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร เอเชีย ธนาคารซิตี้แบงก์ และธนาคารทหารไทย

พิธีลงนามในสัญญารับประกันการจัดหาเงินกู้ครั้งนี้จัดค่อนข้างใหญ่ มีการเชิญแขกเหรื่อ สื่อมวลชน พร้อมระดม เจ้าหน้าที่ของธนาคารคู่สัญญาเข้ามาร่วมงานกว่า 300 คน จนห้องบอลรูม โรงแรมรีเจนท์ ที่ใช้เป็นสถานที่จัดพิธีแน่นขนัดถึง ขนาด ที่เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ที่เข้ามาในงานหลายคนต้องยืนเรียงรายอยู่รอบๆ ห้อง เพราะไม่มี ที่นั่ง

นอกจากนี้ยังได้ขอให้องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) นำรถโอบีพร้อมทีมงานฝ่ายข่าว เพื่อไปรายงานข่าวพิธีลงนาม ถ่ายทอดสดให้กับผู้ชมทางบ้านในช่วงข่าวภาคค่ำอีกด้วย

"ตั้งแต่ประเทศไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ ปี 2540 เป็นต้นมา ดีลนี้ถือเป็นดีล ที่มีมูลค่าสูงที่สุด ซึ่งเป็นสัญญาณ ที่บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าเศรษฐกิจของไทยเริ่มดีขึ้น" สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคประชา ธิปัตย์ ซึ่งเป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาครั้งนี้ กล่าวต่อหน้าผู้คน และสื่อมวลชน ที่มาร่วมงาน

การกู้เงินมูลค่าสูงถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาทครั้งนี้ เป็นขั้นตอนหนึ่ง ตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องเร่งให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในรัฐบาลนี้ แต่รัฐวิสาหกิจเป้าหมาย ที่จะแปรรูปได้ ในขณะนี้มีเพียงโรงไฟฟ้าราชบุรีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น ที่มีความพร้อมมากที่สุด

ในขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่นๆ อย่างเช่นการบินไทย และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ยังติดปัญหาอีกหลายขั้นตอน จนอาจไม่สามารถทำได้ทันภายในรัฐบาลนี้

ตามขั้นตอนการแปรรูปโรงไฟฟ้าราชบุรี เงิน ที่กู้มูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาทก้อนนี้ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีจะนำไปซื้อโรงไฟฟ้าพลังความร้อน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ที่มีกำลังการผลิตรวม 3,645 เมกะวัตต์ พร้อมทรัพย์สิน และ ที่ดินทั้งหมด ที่จังหวัดราชบุรีจาก กฟผ.

หลังจากนั้น จะให้บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้น 100% ในบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี นำหุ้นออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าจะสามารถกำหนดราคาขายหุ้น และเริ่มกระจายหุ้นได้ในเดือนตุลาคม ที่จะถึงนี้

"ตามแผนการระดมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี ครั้งนี้จะมีการนำบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัท ที่มีอนาคตดีบริษัทหนึ่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะสามารถกระตุ้นตลาดทุนของไทย ให้กลับมามีความน่าสนใจได้อีกครั้ง" สาวิตต์กล่าวในอีกตอนหนึ่ง

หากการแปรรูปโรงไฟฟ้าราชบุรีเป็นไปตามขั้นตอน ที่กำหนดไว้ทุกประการ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์คงโล่งใจไปได้พอสมควร เพราะอย่างน้อยก็สามารถนำไปเป็นผลงานใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ใกล้เข้ามาแล้ว ว่าสามารถผลักดันแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปได้แล้ว 1 แห่ง

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าวงเงินกู้ก้อนใหญ่ก้อนนี้ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้แสดงท่าทีเป็นไม้เบื่อไม้เมา กับแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดในช่วง ที่ประเทศเกิดวิกฤติ ไม่ได้สนใจ ที่จะนำเงิน ซึ่งกองอยู่กับแบงก์มาร่วมปล่อยกู้ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.