โลกการเงินปฏิวัติ จูงใจสร้างระบบอันโปร่งใส กวาดล้างความเสี่ยงอันมั่นใจไร้สติ


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ธารินทร์ เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก เข้าสอบวิชาบริหารการเงินระหว่างประเทศ ข้อสอบที่ อยู่เบื้องหน้าธารินทร์เป็นกรณีศึกษาประเทศโอปาเชีย ดินแดนแห่งระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งเปิดเสรีตลาดได้ไม่ทันไรก็ต้องประสบมรสุมแห่งวิกฤตการเงิน ตัวเลขงบดุลการเงินของบริษัทธุรกิจเป็นอะไรที่ไร้ประโยชน์ เพราะวิธีประกอบการของภาคธุรกิจในประเทศแห่งนี้มันยุ่งเหยิงเป็นธรรมเนียม ปกติเนื่องภายในแต่ละเครือบริษัท ล้วนแต่ปล่อยกู้ข้ามกันแบบไม่ลงบันทึกในงบ จนยากแก่การตรวจสอบ กระทั่งว่าเป็นอันสุดปัญญาที่จะทราบยอดมูลหนี้แท้จริง ซ้ำร้ายกว่านั้น มูลหนี้ต่างประเทศที่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดแบกอยู่จะใหญ่โตเพียงไรก็ไม่ชัดแจ้ง สิ่งที่ธารินทร์พอจะทราบ คือภาพรวมๆ ว่าสถาบันการเงินทั้งหลาย ตลอดจนบริษัทธุรกิจทั้งหลายนั้น มักจะกู้เงินระยะสั้นเป็นสกุลดอลลาร์ ไปสนับสนุนอภิมหาโครงการภายในประเทศ ซึ่งเป็นโปรเจกต์การลงทุนระยะยาวทั้งสิ้น นอก จากนั้น ธารินทร์อาจได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า โอปาเชียไม่มีกฎหมายล้มละลายไว้คุ้มครองการลงทุนของต่างชาติ ขณะที่ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาสามัญประจำถิ่น โจทย์มีอยู่ว่า สถานที่แบบนี้ปลอดภัยแก่การนำเงินเข้าไปลงทุนหรือไม่

แน่นอนที่สุด คำตอบย่อมจะต้องเป็นคำว่า ไม่

แต่นั่นมิใช่การตัดสินใจในโลกแห่งความเป็นจริง ประสบการณ์ตรงได้ปรากฏมาแล้วว่าเครื่องมือเตือนภัยทั้งหลายนั้นมิอาจหยุดยั้งนักลงทุนระหว่าง ประเทศจากความปรารถนาจะไต่เส้นลวดแห่งความไฮริสก์-ไฮรีเทิร์นได้เลย

ในระหว่างปี 1993-1997 รู้ทั้งรู้ อย่างนี้นี่แหละ นักลงทุนทั้งระดับสถาบันและระดับบุคคลอัดฉีดเม็ดเงิน กว่า 5 แสนล้านดอลลาร์เข้าสู่เอเชีย ซึ่ง มีสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจไม่ผิดเพี้ยน นักจากประเทศโอปาเชีย ยามที่สถาน การณ์ในตลาดยังดีสดงดงาม นักลงทุน ดูว่าจะเลือนๆ กับปัญหาระบบขาดความโปร่งใส ไปจนถึงข้อบอดข้อด้อย ในด้านกฎระเบียบสารพัน แต่แล้วเมื่อ วิกฤตตูมขึ้นก็จะเป็นโกลาหล หาทางนำเงินออก ให้ปั่นป่วนถ้วนทั่ว

ล่าสุดๆ กรณีของโกลด์แมน แซคส์ ในจีนเป็นตัวอย่างที่เด็ดมาก

ห้าปีที่แล้ว ทางการจีนสงวนพื้นที่ธุรกิจประกันภัยเป็นเขตปลอดนัก ลงทุนต่างชาติ ด้านฝรั่งนั้นเล่า ก็รู้แสนรู้ ว่าระบบบัญชี อีกทั้งระบบกฎ หมายของจีนล้าหลังเพียงใด เห็นก็เห็น ออก จะบ่อยว่าประดาผู้นำของประเทศมหาอำนาจเอเชียแห่งนี้ แสนจะผยองคุ้มดี คุ้มร้ายประมาณใด ฝรั่งจะชวนคอร์รัป ชั่นกันทีต้องกรานเข้าไปถวาย อ้อนวอน ช่วยรับไว้เป็นเกียรติแก่ผู้ให้ ไหนยังเสถียรภาพทางการเมืองและการต่อสู้ ทางอำนาจภายในก็ไม่สามารถเอาแน่เอา นอนได้ แต่ฝรั่งก็เลือกจะหลับตาไม่ใส่ใจอัตราเสี่ยงที่เห็นอยู่ตรงหน้า คิดแต่จะเอาตลาดแห่งนี้ให้ได้ตามที่เล็ง ผลเลิศไว้

ปรากฏว่าโกลด์แมนสามารถใช้เส้นสายเข้าถึงระดับผู้กำหนดนโยบายในปักกิ่งได้สำเร็จ และล็อบบี้จนทางการจีนผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษให้ถือหุ้นในบริษัทประกันภัยรายหนึ่งนาม ผิง อาน ด้วยสัดส่วน 5% โดยผ่านบริษัททรัสต์จีนรายหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือข่ายของบริษัทกวางตุ้ง อินเตอร์ เนชั่นแนล ทรัสต์ แอนด์ อินเวสต์ เมนท์ (จีติก)

โกลด์แมนบุกตลาดประกันภัยในจีนได้ไม่ทันเครื่องร้อน หายนะก็มาเคาะเรียก เมื่อจีติกซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ที่ดูว่าเข้มแข็งมั่นคงที่สุดของมณฑลกวางตุ้ง เริ่มจะแบกรับสถานการณ์หนี้ สินล้นพ้นตัวไม่ไหว ความมาแดงโร่ปิดไม่มิดเมื่อปลายปีที่แล้ว และในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางการปักกิ่ง ซึ่งว่ากันว่าหมายจะทำสงครามสั่งสอนรัฐบาลท้องถิ่นกวางตุ้งเสียให้เข็ดหลาบ ที่อาจหาญระดมทุนมหาศาลจากต่างประเทศ โดยไม่ดูแลบริหารให้ถี่ถ้วน หรือกระทั่งป้องกันการเบียดบังเงินทอง ผลประโยชน์ ได้ยืนยันนโยบายไม่โดด เข้าอุ้มบริษัทเน่า และปล่อยให้จีติกล้ม ละลายไปตามธรรมชาติ

ชะตากรรมสูญทรัพย์ฟรีปรากฏ แก่โกลด์แมน เมื่อเกิดแนวโน้มว่าในโอกาสที่จีติกจะต้องถูกนำสินทรัพย์ออกขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ บริษัททรัสต์ในเครือข่ายของจีติกย่อมสมเหตุ สมผลที่จะถูกขายด้วย และหากเป็นเช่นนั้นจริง หุ้นของโกลด์แมนในบริษัท ทรัสต์ลูกของจีติกมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์จำต้องตกเป็นสินทรัพย์เชลยที่ต้องถูกนำไปประมูลขายต่ำกว่ามูลค่าจริง เพราะจีนไม่มีกฎหมายคุ้มครองตรงนี้ให้ชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ทางโกลด์แมนยังเสียงดี ยังไม่เข็ดหลาบกับวิธีการบริหารสไตล์ไต่เส้นลวด เมื่อกลางเดือน กุมภาพันธ์ออกมาบอกว่าตัวได้รับการค้ำประกันจากปักกิ่ง เป็นที่หายห่วง

แต่นักลงทุนที่ฝากเม็ดเงินไว้ให้โกลด์แมนบริหารแทนคงไม่สามารถ ทำใจหายห่วงตามไปด้วยได้ นอกจากนั้น นักลงทุนยังฝากเม็ดเงินไว้กับ วาณิชธนากรชื่อดังรายอื่นอีกมากที่แห่กันมาไต่เส้นลวดแห่งไฮริสก์-ไฮรีเทิร์น ในจีน ชั่วโมงนี้ของตลาดการเงินจีนช่างเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สถาบัน การเงินทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร ส่วนใหญ่เผชิญกับปัญหาหนี้สินท่วมอก หมิ่นเหม่ที่ตลาดการเงินในจีนจะล้มทั้งกระดานได้ไม่ยาก มัน คือสถานการณ์ที่นักลงทุนต่างประเทศเล็งแต่ผลเลิศ และใช้ความเชื่อในพลังแห่งเผด็จการและคอร์รัปชั่นของตลาดเกิดใหม่เป็นเครื่องค้ำประกันความ เสี่ยงสารพัน ไม่ว่าจะเรื่องขาดความ โปร่งใส หรือเรื่องความด้อยพัฒนาในระบบกฎหมายและระบบบัญชี

สถานการณ์แบบนี้ให้ภาพชัดเจน เหลือเกินว่าระบบการเงินในปัจจุบันจำเป็นยิ่งยวดต้องมีกลไกป้องกันนักลงทุนซึ่งโอนเอียงแต่จะหวังผลเลิศ มิให้เที่ยวไปไล่ติดตามสัญชาตญาณเก็ง ของตน แล้วยามที่หายนะประจักษ์แจ้งขึ้นก็แตกตื่นถอนตัวจนกระทั่งว่าระบบเศรษฐกิจของเจ้าบ้านยับเยินเกินจำเป็น แน่นอนที่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง สำคัญมหาศาล ไม่แต่เพียงว่าฝ่ายเจ้าของระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องถูกล่อใจด้วยสิ่งตอบแทน แลกกับ การที่จะยอมลุกขึ้นมากวาดล้างความยุ่งเหยิงภายในระบบของตัว หากแต่ยัง ต้องรวมถึงว่าฝ่ายนักลงทุนก็ต้องถูก ล่อใจด้วยสิ่งตอบแทนที่ชวนน้ำลายหก จริงๆ เพื่อแลกกับที่จะรู้จักสุขุมรอบ คอบในการลงทุนมากขึ้น

ปัญหาคือจะทำอย่างไร เท่าที่ผ่านมา ได้มีนักคิดนักปฏิบัติหลายๆ สำนัก นานากลุ่มผลประโยชน์ที่เสนอแนวทางปฏิรูปตลาดการเงินโลก แต่ละ ฝ่ายต่างพยายามโน้มน้าวให้ผู้กำหนดนโยบายในกระแสหลักหันมาเอออวย กับทางออกของตัว ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวิธีซึ่งมีที่ทางกว้างขวางให้ผู้เสนอ มีโอกาสกวาดเก็บประโยชน์ได้ด้วย


คุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสียทีหรือ

ในยามที่ถกกันถึงการปฏิรูประบบการเงินโลกเพื่อผดุงเสถียรภาพภายในตลาด องค์ประกอบขาประจำหนีไม่พ้นเรื่องการยุบกองทุนการเงินโลก (ไอเอ็มเอฟ) เสีย การสถาปนาระบบควบคุมเงินทุนขึ้นใหม่ การตั้งผู้คุมกฎการเงินโลก ไปจนถึงการหันมาใช้เงินตราสากลหนึ่งเดียวทั่วโลก

แนวคิดใดเหล่านี้จะประสบความสำเร็จดึงคนแห่ตามได้จะต้องผ่านการพิสูจน์แก่ชุมชนการเงินโลกในอย่างน้อย 2 คุณลักษณ์ ได้แก่ แนวคิดนั้นๆ ต้องสามารถรักษาสถานภาพปัจจุบันไว้ได้ครบถ้วน กับแนวคิดดังกล่าวต้องมีโอกาสถูกนำไปปฏิบัติ เท่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีแนวคิดใดสอบผ่านสองเงื่อนไขนี้

กรณีการควบคุมการเคลื่อนไหล ของเงินทุนเป็นประเด็นร้อนในปัจจุบัน นักการเมืองและนักวิชาการหันมาหนุน แนวทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องจากความโหยหาอดีตอันมั่นคงในยุคเบรตตันวู้ดส์ อันเป็นช่วงที่การระดมทุนยังเป็นไปอย่างจำกัด และรัฐบาลยังมีเสรีจะเดินนโยบายเศรษฐกิจของตัวได้ ใน โมงยามเหล่านั้น นักเก็งกำไรคือตัวผู้ร้ายที่ชาติต่างๆ มองว่า โลกการเงินจะ ต้องได้รับการปรับระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน ป้องกันมิให้นักเก็ง กำไรเข้าไปอาละวาดได้ มาในวันนี้ แม้ แต่จอร์จ โซรอส ซึ่งเป็นขาใหญ่ด้านการเก็งกำไร ยังประกาศความเชื่อของ ตนว่าระบบทุนนิยมจะล่มสลายหากไม่รั้งๆ พวกเก็งกำไรให้อยู่มือ

พื้นที่ทดลองทฤษฎีควบคุมการ เคลื่อนย้ายเงินทุนขณะนี้อยู่ที่มาเลเซีย หลังจากเมื่อนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮาหมัด เหลืออดกับความสุ่มเสี่ยงที่ เศรษฐกิจของประเทศจะเสียหายเหมือน หลายประเทศเพื่อนบ้าน ในเดือนกันยายน ปี 1998 ได้สั่งปลดขุนคลังคู่บารมีนาม อันวาร์ อิบราฮิม เจ้าของแนวทางเสรีการเงินและเป็นตัวหลัก ที่ใช้สูตรสำเร็จของไอเอ็มเอฟเยียวยาเศรษฐกิจของมาเลเซียอย่างที่ต้องยอมรับว่า ไม่เห็นแววจะประคองตัวฝ่าวิกฤตการเงินที่แพร่ระบาดทั่วเอเชียได้ หลังจากนั้น มหาเธร์สร้างกติกาเผด็จ การการเงินขึ้นโดยไม่รอช้า สั่งใช้มาตร การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินกับจำกัดการย้ายเงินลงทุนออกจากมาเลเซีย เป็นเวลาหนึ่งปี

นอกจากนั้น ยังมี พอล ครุกแมน คุรุนามอุโฆษของโลกเสนอแนวคิดควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนในยามวิกฤตอีกรายหนึ่ง ขณะที่จักรกริช ภัควาตี คนดังแห่งสายความคิดการค้าเสรีจากค่ายโคลัมเบีย ยูนิเวอร์ซิตี้ ก็ออกมาวิพากษ์เป้าหมายแห่งการเคลื่อน ย้ายเงินทุนอย่างเสรี

ในทางทฤษฎี คุณูปการของการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีเป็นที่ประจักษ์ กันมานานแล้ว ทั้งในแง่ของการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดช่องทางให้เงินออมสามารถถะถั่งสู่ภาคการผลิตที่ปรารถนาทุนเป็นที่สุด และทั้งในแง่ของการช่วยประเทศหนึ่งๆ ให้เอา ตัวรอดจากวิกฤตขาดแคลนทุนภายในประเทศ ตัวอย่างทางทฤษฎีมี อาทิ สมมุติว่าเม็กซิโกเกิดเจ็บหนักกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก็สามารถดึงเม็ด เงินจากต่างประเทศมาเจือจานระบบภายในได้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิพากษ์การ เคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีชี้ถึงความเสี่ยงข้างเคียงมากับคุณูปการเหล่านั้น นั่น คือความยืดหยุ่นของค่าเงินที่ใช้เป็นสื่อกลางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้กำไรแท้จริงเพิ่มลดได้แบบเหนือความควบคุมของผู้ถือเงิน ในทางปฏิบัติ ผู้ที่ถือเงินสากลของโลก ซึ่งเป็นคนละสกุลกับเงินท้องถิ่นของตน กำลังเสี่ยงกับภาวะเงินหดได้ตลอดเวลา ดังนั้น เจ้าตัวก็ต้องหูตาไวคอยระแวดระวังว่าราคาของเงินที่ตนถืออยู่กำลังจะไปทางไหน เพื่อหนีภาวะขาดทุนได้ทันท่วงที กระนั้นก็ตาม พลเมืองโลกไม่สามารถติดตามข่าวสารข้อมูลได้รวด เร็วทันท่วงที รูปการที่ปรากฏจึงเป็นว่า ผู้คนจะแห่ตามกันเป็นฝูง ประดุจกระต่ายตื่นตูม หอบหิ้วเงินของพวกตัวพุ่งไปมาเข้าออกตลาดตามแต่ทิศทางของข่าวลือ ผลกระทบต่อสถาน ภาพของตลาดคือความอ่อนไหว บางคราสภาพคล่องล้นเกิน จนนึกไม่ออกจะเอาไปลงทุนทางใด แต่บางครากลับ ตึงจนหามาหมุนไม่ชนวัน สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนราคาแพงโดยใช่เหตุสำหรับภาคการผลิต และนั่นคือจุดบกพร่องฉกรรจ์ของการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี

ข้อมูลเชิงสถิติดูว่าจะสนับสนุนตรงนี้เสียด้วย ตัวเลขอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกช่วงระหว่างปี 1945-1973 ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองแห่งยุคเบรตตันวู้ดส์ กล่าวคือการค้ากำลังคลี่คลายสู่ภาวะเสรี ขณะที่เงินทุนยังตกอยู่ใต้การกำกับดูแลของทางการในแต่ละประเทศ อัตราดังกล่าวเป็นค่าบวกโดยเฉลี่ยปีละ 4% ทั่วโลก แต่ปัจจุบันนี้ ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายเมามันกว่าเดิมไม่รู้กี่เท่าตัว อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยกลับถดถอยลงประมาณหนึ่งในสามท่ามกลางภาวะไร้เสถียรภาพระบาดไปทั่ว ในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจได้จักจารแล้วว่าวิกฤตการธนาคารขั้นรุนแรงได้อุบัติขึ้นมากกว่า 90 ครั้ง โดย แต่ละครั้งมักเป็นผลจากกรณีธนาคารขาดทุนหนักจนล้มหรือจวนเจียนจะล้ม

เมื่อปี 1944 มีงานวิชาการด้านสังคมวิทยาเล่มหนึ่งของคาร์ล โปลันยี เผยแพร่ออกมาซึ่งปัญหาการระดมทุน นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวออส- เตรียนผู้นี้ชี้ว่าตลาดการเงินที่ปราศจาก การควบคุมในท้ายที่สุดได้นำสู่ผลกระทบอันร้ายกาจ โปลันยีเสนอว่าในระบบทุนนิยมนี้อุดมไปด้วยความผันผวนในระดับภูมิภาค ซึ่งหากไม่มีการค้ำจุนด้วยวัฒนธรรมบางอย่าง การเคลื่อนย้ายเงินทุนไปอย่างไร้วินัยก็ไม่ต่างกับการตระเตรียมทางให้แก่หายนะ โปลันยีเสนอว่าควรจะสร้างระบบที่จะค้ำประกันว่าความผันผวนของทุนนิยม แต่ละประเภทนั้นสามารถไปด้วยกันได้ ซึ่งย่อมหมายถึงว่าต้องคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนกันบ้าง

ในด้านของครุกแมน เสนอมุม มองต่างออกไป บอกว่ายามที่เกิดวิกฤต เศรษฐกิจ การที่เงินทุนแห่ทะลักออก นั้น ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายมีทฤษฎีทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาได้สองทฤษฎี คือต้องดันดอกเบี้ยขึ้นสูงเทียมเมฆ เพื่อปกป้องค่าเงินท้องถิ่น แม้ดอกเบี้ย แพงลิบลิ่วจะหมายถึงความเสียหายแก่เศรษฐกิจในประเทศ หรือไม่งั้นก็ต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินล้มไปเลย ซึ่งก็สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจในประเทศครือๆ กัน การที่เงินทุนไหลทะลักออกนั้นจะลิดรอนความสามารถที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้จนหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ ครุกแมนจึงสนับสนุนให้ควบคุมการเคลื่อนไหลของเงินทุนเสียเลย ด้วยว่านั่นเป็นหนทางรับมือสถานการณ์แบบที่เลวร้ายน้อยที่สุดในยามวิกฤตแพร่พิษออกมา

รูปธรรมที่เกิดขึ้นมาหมาดๆ ในเอเชียได้ปรากฏออกมาว่า ระบบเศรษฐกิจในย่านนี้ได้ทำการระดมเงินทุนกันอย่างเอิกเกริก ทั้งๆ ที่ระบบการเงินของตนแสนจะอ่อนแอ และลงท้ายจึงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้ท่วมหัว บาง ทฤษฎีแย้งว่า หากประเทศย่านเอเชียได้เปิดเสรีอย่างสมเหตุสมผลมากกว่าที่เป็นมา ปัญหาที่เกิดขึ้นคงไม่สาหัสวุ่นวายอย่างที่ผ่านมา

ในเมื่อการไล่ล่าเงินกู้จากตลาด ระหว่างประเทศในท้ายที่สุดกลับย้อนมาทำลายระบบเศรษฐกิจเสียจนยับเยิน หากย้อนเวลาได้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะเปลี่ยนใจไม่เปิดเสรีการเงินของตัวหรือไม่ คำตอบคงหนีไม่พ้นว่ารัฐบาลเหล่านั้นก็ต้องตัดสินใจอย่างที่ทำกันไปแล้ว เพราะการเปิดเสรีการเงินนับว่ามีคุณูปการอย่างแท้จริง มัน หมายถึงการได้รับถ่ายโอนเทคโนโลยีและโนว์ฮาวผ่านการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ มันหมายถึงการเพิ่มพลังให้แก่ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ นอกจากนั้น มันยังหมายถึงการเอื้ออวยให้ภาคการผลิตสามารถก้าวกระโดดได้ ด้วยทุนอัดฉีดมหาศาลจากการที่สามารถเอื้อมถึงแหล่งทรัพยากรขุมยักษ์ทั้งหลายของโลก

ครั้นถามว่าหากไม่เปิดเสรีการเงิน ค่าเสียโอกาสจะเป็นเช่นไร คำตอบในเรื่องนี้มีอยู่แง่มุมหนึ่งคือ การจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างที่เป็น มาก่อนเกิดกระแสเปิดเสรีโลกนั้น บ่อยครั้งที่รัฐบาลประสบสถานการณ์ที่เรียกเก็บภาษีได้ไม่เข้าเป้าอันสูงลิบของ ตัว พร้อมกับไม่สามารถระดมทุนจากต่างประเทศได้เนื่องเพราะปราศจากช่อง ทางที่เอื้ออวยให้แบบระบบเสรีการเงิน รัฐบาลอาจใช้วิธีเชิงเทคนิคปล้นสินทรัพย์ ของประชาชน อาทิ การพิมพ์ธนบัตร เพิ่มกว่าพื้นฐานรองรับทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปใช้ในกิจต่างๆ ส่วนรวมบ้าง ส่วนตัวบ้าง โดยไม่เปิดเผยแก่สาธารณ-ชน นั่นย่อมนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อกับ อัตราดอกเบี้ยแท้จริง ติดลบ นอกจาก นั้น ในประสบการณ์จริงของประวัติ ศาสตร์การเมืองยังพบด้วยว่าการจำกัด การเคลื่อนย้ายเงินทุน เสียจนเข้มงวดยังเป็นการสร้างโอกาสให้การฉ้อราษฎร์บังหลวงเฟื่องฟูได้อย่าง มหาศาล

หันกลับมาตรวจสอบประสบ การณ์ตรงของชาติละตินอเมริกาทศวรรษ 1980 เมื่อรัฐบาลของหลายประเทศหันไปใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเพื่อแก้ไขวิกฤต ผลปรากฏว่ามาตร การเหล่านั้น กลับเป็นประหนึ่งวิญญาณ ร้ายที่ขับไล่นักลงทุนหนีกระเจิดกระเจิง อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของมาเลเซีย ยังเร็วเกินไปที่จะทำนายชัดเจน เพราะ มาเลเซียอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางการเงินที่แตกต่างเหลือเกินกับกรณีของละติน อเมริกา จึงยังต้องรอดู รอพิสูจน์กันอีกพักใหญ่ว่า ผลของการควบคุมเงินทุนจะออกรูปมาเป็นอย่างไร

ทิศทางที่กระแสหลักดูจะโอนเอนคาดไว้สำหรับกรณีของมาเลเซียค่อนไปในทางที่หวังว่า มาเลเซียจะสามารถประคองตัวพ้นวิกฤต แล้วค่อยๆ ลดการควบคุม จนกระทั่งเหลือเป็นกฎข้อบังคับต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น โดยเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่โฉ่งฉ่าง แต่สุขุมรอบคอบเสียมากกว่า

หรือจะล้มไอเอ็มเอฟเสียเลย

วิกฤตเอเชียที่ผ่านมาเป็นอะไรที่พาเอาไอเอ็มเอฟล้มหงายล้มคว่ำประสบวิกฤตองค์กรไปด้วย สูตรสำเร็จ การเยียวยาที่ไอเอ็มเอฟถือเป็นคัมภีร์ครอบจักรวาล คือส่วนที่ถูกโจมตีหนัก ว่าผิดพลาด ขาดการประยุกต์กับสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินยุคปัจจุบัน อีกทั้งเป็นกระบวนวิธีที่ไม่เหมาะสม กับปัญหาของเอเชียซึ่งเป็นปัญหาจากภาคเอกชนมิใช่ปัญหาการคลังภาครัฐ

นอกจากนั้น พวกปากตะไกรจากสหรัฐอเมริกายังโจมตีไอเอ็มเอฟแบบมองต่างมุมขึ้นไปอีก เมื่อบอกว่าการมีอยู่ของไอเอ็มเอฟคือการสร้างสัญชาตญาณ Moral Hazard ซึ่งเป็นการส่งเสริมความประมาทในหมู่รัฐบาลของตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายให้กล้าเสี่ยงบ้าบิ่นกับตลาดการเงินโลก ใน ซีกส่วนนี้ประกอบด้วยคนอย่างจอร์จ ชูลต์ซ อดีตรมว.คลังสหรัฐฯ แอนนา ชวาร์ตซ์ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชื่อดัง และประดาสมาชิกสภาคองเกรส ค่ายรีพับลิกัน ตลอดจนนักเขียนในค่ายหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล

ประเด็นที่คนกลุ่มนี้หยิบยกขึ้น มีสองประการคือ การโอบอุ้มรัฐบาลหนี้สินล้นพ้นตัวอันเนื่องจากใช้นโยบาย โฉดเขลา คือการหนุนให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก และการโอบอุ้มนักลงทุน ที่ไร้ความระแวดระวังเงินของตัวเอง คือ การให้รางวัลแก่ความเลินเล่อของคนโลภ

ความเห็นข้างต้นได้รับเสียงตอบ รับว่ามีส่วนที่เข้าท่า และเสียงวิจารณ์ว่ามองโลกเกินจริง

เสียงที่วิจารณ์ว่ามองโลกเกินจริง นั้นชี้ว่า ออกจะตลกที่จะมองว่ารัฐบาลที่เข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟจะได้ใจ ปล่อยเศรษฐกิจของตนดิ่งเหวตามชอบ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเอาเข้าจริง ประสบ การณ์การเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟกลับเป็นอะไรที่มีแต่จะเข็ดเขี้ยว ด้วยว่าจะต้องเผชิญกับเงื่อนไขบังคับที่รัดคอประเทศผู้กู้อย่างโหดสุดๆ

สำหรับส่วนที่เป็นเสียงตอบรับนั้นชี้ไปที่นักลงทุนจอมโลภ-กล้าเสี่ยงอย่างบ้าบิ่น และรู้จักแต่การเล็งผลเลิศ ความเห็นออกมาเป็นกระแสหลักว่า นักลงทุนจอมเสี่ยงเป็นอะไรที่ไม่สมควร จะได้รับการโอบอุ้มแม้แต่น้อย แต่ อนิจจา นักลงทุนดังกล่าวแทนที่จะได้รับบทเรียนให้จงหนักตามกลไกของตลาดการเงิน กลับได้รับการโอบอุ้มหล่อเลี้ยงทางการท้องถิ่นอยู่เสมอ บนข้ออ้างสากลว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบ การเงินล่มสลาย

กรณีตัวอย่างที่ลือลั่นและเป็นอัปยศของตลาดการเงินสหรัฐฯ คือ กรณีอุ้มบริษัทลองเทิร์ม แคปิตอล แมเนจเมนท์ (แอลทีซีเอ็ม) อภิมหา เฮดจ์ฟันด์ของโลก เมื่อเดือนกันยายน ปี 1998 เพียงแต่ว่าสถาบันที่เข้ากางกั้น ผองภัยให้แก่แอลทีซีเอ็มในครั้งนั้น ไม่ใช่ไอเอ็มเอฟ หากแต่เป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจอมหลักการนั้นเอง

ในครั้งนั้น แอลทีซีเอ็มเสี่ยงเข้า ลงทุนในรัสเซียด้วยการซื้อตั๋วเงินคลังระยะสั้นซึ่งล่อใจด้วยอัตราผลตอบแทน สูงมาก ทั้งๆ ที่รัสเซียเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงว่าจะตกที่นั่งหนี้สินล้นพ้นตัวสูงเสียยิ่งกว่ารัฐบาลแห่งตลาด เกิดใหม่อื่นๆ แต่นักลงทุน โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง นักลงทุนระดับสถาบันประเภท เฮดจ์ฟันด์ ยังปรารถนาจะเชื่อว่าเงื่อน ไขทางการเมืองระหว่างประเทศจะกดดันทุกฝ่ายปกป้องมิให้รัฐบาลรัสเซียล้มละลาย

ในคราวนั้น รัสเซียมีหนี้ต่างประเทศมหาศาล และใช้วิธีหมุนหนี้ บนความหวังว่าเงินกู้จากไอเอ็มเอฟจะช่วยอัดฉีดลมหายใจให้สามารถยืดหนี้ ได้ แต่การณ์ไม่สามารถเป็นดังใจสั่ง ส่วนหนึ่งเพราะไอเอ็มเอฟมีอาการเงินขาดมือ เนื่องจากปล่อยไปให้อินโดนีเซีย อย่างมากมาย ขณะที่เงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ ยังติดค้างในขั้นตอนของรัฐสภาและยังมาไม่ถึง ดังนั้น ในท่าม กลางความปริวิตกกึ่งๆ กลางๆ ระหว่าง ว่าทางการรัสเซียจะมีหรือจะไม่มีปัญญา ผ่อนชำระพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศที่ถึงกำหนดในเดือนสิงหาคม ได้มีแรงเทขายเงินรูเบิล ดึงให้รูเบิลอ่อนค่าไปเห็นๆ แม้จะไม่น่าตกใจเสมือน ในคราวของประเทศต่างๆ ย่านเอเชีย แต่นั่นก็สาหัสพอจะทำให้รัฐบาลรัสเซีย ถอดใจ และตัดสินใจประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ พร้อมกับที่ลอยตัวค่าเงิน

นักวิเคราะห์เชื่อกันเป็นส่วนใหญ่ ว่า สถานการณ์ค่าเงินรูเบิลล่มสลายในรัสเซียคราวนั้น มิใช่ฝีมือการโจมตีค่าเงิน อย่างที่สกุลเงินย่านเอเชียประสบ เพราะรัสเซียเป็นพื้นที่ที่ประดาผู้ต้องหาว่าเป็นตัวเก็งกำไรโจมตีค่าเงิน (โดย เฉพาะอย่างยิ่ง พวกเฮดจ์ฟันด์) ถมกำไร จากย่านอื่นไปไว้ที่ตลาดแห่งนี้อย่างมหาศาล และปรากฏว่าเฮดจ์ฟันด์นาม อุโฆษจากสหรัฐฯ เจ๊งย่อยยับในตลาดรัสเซียแทบจะทั่วหน้า

การขาดทุนของแอลทีซีเอ็มจากวิกฤตการเงินในรัสเซียเข้าหูเจ้าหน้า ที่ของเฟดสำนักนิวยอร์กอย่างรวดเร็ว อาจจะเพราะหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของแอลทีซีเอ็ม เป็นศิษย์เก่าชาวเฟด คือ เดวิด มูลลินส์ อดีตรองประธานเฟด แอลทีซีเอ็มวิ่งหาเงินชดเชยเพื่อนำไปต่อทุนในตลาดอื่นชนิดที่ว่าแทบจะเท้าพลิก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เล่ากันว่า ถึงกับติดต่อขอความช่วยเหลือจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าพ่อ เฮดจ์ฟันด์คู่แข่ง หลายรอบแต่ไม่สำเร็จ

ในต้นเดือนกันยายน แอลทีซีเอ็มแจ้งต่อนักลงทุนของตนว่าขาดทุน ไป 52% พร้อมกับถูกสถาบันการเงินเจ้าหนี้เร่งรัดการชำระคืนหนี้ที่จะมีกำหนดอยู่เป็นระยะๆ เสมอ แถมยังถูกเรียกร้องให้นำหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไปวางเพิ่ม

ผู้สันทัดกรณีของแวดวงวอลล์สตรีทเล่าว่า ในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน วอลล์สตรีทปั่นป่วนอย่างหนัก ด้วยเสียงลือทั่วตลาดว่าแอลทีซีเอ็มกำลังจนตรอก และอาจยอมรับสภาพล้มละลาย ซึ่งหมายถึงว่าประดาหนี้มหาศาลที่สถาบันการเงินปล่อยให้แก่แอลทีซีเอ็มอาจต้องถูกแทงบัญชีหนี้สูญ และจะกลายเป็นชนวนพาให้ฐานะของสถาบันการเงินรายยักษ์ของวอลล์สตรีท ย่ำแย่กันไปแบบยกแผง ซึ่งหากสถาน การณ์ล่วงเลยถึงอย่างนั้นจริง ตลาดวอลล์สตรีทจะดูไม่จืดทีเดียว

เล่ากันว่าวิลเลียม แมคโดนัท ผู้ว่าการนิวยอร์กเฟด ลงมาเป็นหัวหอก วิ่งล็อบบี้แก้ปัญหาให้แก่แอลทีซีเอ็ม ทั้งในส่วนที่ขอความร่วมมือจากอลัน กรีนสแปน ประธานเฟด กับรอเบิร์ต รูบิน รมว.คลัง อีกทั้งในส่วนที่ประสาน งานกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ของแอลทีซีเอ็ม 15 ราย เพื่อเจรจาประนอมหนี้ หนำซ้ำยังเกลี้ยกล่อมให้สถาบันเหล่านั้นควักกระเป๋าลงขันกันรวมเป็นมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ อัดฉีดให้แอลที ซีเอ็มมีหน้าตักไปลงทุนต่อ ทุกอย่างใช้ เวลาไม่กี่วันก็เสร็จสิ้นเป็นการปลอด ภัยของแอลทีซีเอ็มในวันพุธที่ 23 กันยายน

กรณีตัวอย่างของแอลทีซีเอ็มคือรูปธรรมชัดๆ ของ Moral Hazard เมื่อนักลงทุนเชื่อว่าอย่างไรเสียก็จะต้อง ได้รับการถนอมชูฟูฟักจากทางการ อัน เป็นระบบแห่งผลประโยชน์ต่างตอบ แทน ระหว่างการได้รับความเอื้อเฟื้อจากทางการแลกเปลี่ยนกับการสนับ สนุนการเลือกตั้งไม่ว่าจะในรูปของเม็ด เงิน หรือคะแนนเสียง

ตัวอย่างของระบบผลประโยชน์ ต่างตอบแทนที่เป็นอดีตหมาดๆ นี้เองคือ ในคราวที่วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน ลงสมัครรับเลือกตั้งประธา- นาธิบดีสมัยที่ 1 นั้น เล่ากันว่าพวก ขาใหญ่ย่านวอลล์สตรีทจะเชิญผู้สมัคร มาหาเสียงโดยตรงกับพวกตน และมีการสัมภาษณ์ความคิดและโลกทัศน์ต่อตลาดการเงิน ซึ่งผู้ที่สัมภาษณ์คลินตันก็คือ รอเบิร์ต รูบิน ซึ่งในเวลา ต่อมาก็ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรมว.คลังคู่ใจของคลินตันนั่นเอง

รูปธรรมซ้ำซากที่เกิดขึ้นจึงไม่เคยพ้นไปจากว่า ยามที่ตลาดภายในของสหรัฐฯ อิ่มตัว นักลงทุนนั้นเรียกร้องเหลือเกินให้รัฐบาลบีบบังคับ และจูงใจโน้มน้าวให้รัฐบาลประเทศอื่นยอม เปิดเสรีการเงิน แต่พอวิกฤตระเบิดขึ้น ความรักตัวกลัวสูญเงินก็ทำให้นักลงทุน ออกมาเรียกร้องให้สร้างระบบป้องกัน ส่วนเรื่อง Moral Hazard เป็นอันไม่ต้องพูดถึง

อย่างไรก็ตาม ความที่วิกฤตการเงินคือภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของโลก เสียง เรียกร้องให้สถาปนาสถาบันระดับโลก หรือสร้างกฎเกณฑ์นานาชาติขึ้นมาป้องกันวิกฤตจึงอื้ออึงทวีขึ้นเรื่อยๆ


กติกาโลก มากไป-น้อยไป?

แนวคิดสถาปนาสถาบันผู้คุมกฎ ตลาดการเงินโลกแบบที่ชะลอมาจากสถาบันระดับประเทศ เป็นหัวข้อถกเถียงทางวิชาการที่ร้อนแรงยิ่งในช่วงที่ผ่านมา และมีอยู่สามแนวทางโดดเด่น ที่น่านำเสนอ ได้แก่ การสถาปนาสถาบันระดับโลกที่จะเป็นผู้ปล่อยกู้แหล่งสุดท้าย การสถาปนาศาลโลก ดูแลคดีล้มละลาย และการสถาปนาผู้คุมกฎตลาดการเงินโลก

การตั้งธนาคารกลางระดับโลกให้เป็นแหล่งผู้ปล่อยกู้แหล่งท้ายสุดยามอับจนหนทาง เป็นอะไรที่นักวิชาการอยากเห็นกันมาก เพราะหวังเหลือเกินว่าจะนำเสถียรภาพมาสู่ตลาดการเงินโลกกันเสียที บทบาทของธนาคาร กลางระดับโลกได้รับการเสนอให้ใช้รูปแบบเดียวกับธนาคารกลางของแต่ละประเทศ คือมีอำนาจตัดสินใจปริมาณการพิมพ์ธนบัตรใหม่อัดฉีดเข้าระบบได้อย่างเต็มที่ตามความเหมาะควรของ วิจารณญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีฉุกเฉินที่ต้องอัดฉีดหนักเพื่อป้องกันระบบธนาคารล่มสลาย พร้อม กันนี้ ได้เสนอว่าเพื่อให้การทำงานของธนาคารกลางระดับโลกเป็นจริงได้ นานาชาติควรใช้สกุลเงินสากลเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ยังดูว่าจะยากแก่การปฏิบัติ เพราะประเทศต่างๆ ไม่น่าจะยอมสละอธิปไตยทางการเงินไป สู่สถาบันเหนือรัฐ ซึ่งยังไม่อาจวางใจได้ว่าจะมีความเป็นกลางจริง

มีการเสนอแนวทางสถาบันระบบกึ่งธนาคารโลก จอร์จ โซรอสเสนอให้สถาบันแบบนี้แสดงบทบาทเป็น แหล่งเงินกู้สุดท้ายให้แก่บางประเทศที่ได้รับคัดเลือกแล้ว ในเรื่องนี้ เจฟฟรีย์ การ์เต้น คุรุจากเยล สกูล ออฟ แมเนจเมนท์ เสนอให้สถาปนาธนาคาร โลกที่มีความเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่อัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้น เพื่อการกระตุ้นการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนดูแลการปฏิบัติงานของสถาบัน การเงินที่คลอนแคลนเต็มที

เสียงวิจารณ์บอกว่า แนวทางแบบกึ่งธนาคารโลกเอาเข้าจริงแล้วดูช่าง ไม่ต่างกับความเป็นไอเอ็มเอฟนัก และ คงไม่แคล้วจะต้องประสบปัญหาว่าต้อง ประนีประนอมอย่างสูงกับธนาคารกลาง ในแต่ละประเทศสมาชิก

รูปแบบของศาลโลกดูแลคดีล้มละลายในทางระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในกระแสการสถาปนาสถาบันระดับโลกดูแลตลาดการเงินระหว่างประเทศ และเป็นข้อเสนอที่ได้รับการพูดถึงค่อนข้างมากอันหนึ่ง แม้แนวคิดนี้ดูว่ามีความสมเหตุสมผลเข้าท่า แต่ก็อีกที่ยากจะเป็นจริงได้ ในระดับประเทศแล้ว กฎหมายล้ม ละลายเป็นกติกาที่คุมตลาดการเงินท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เมื่อบริษัทธุรกิจ หนึ่งไขก๊อกล้มตายไป ศาลสถิตยุติธรรม ก็ทำหน้าที่ตัดสินคดีล้มละลายในฐานะคนกลางที่ต้องชำระความยุ่งเหยิงทั้งหลายที่อุบัติขึ้นหลังโศกนาฏกรรม

เจฟฟรีย์ แซคส์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เสนอในเรื่องนี้ว่าต้องมีสถาบันกลางทำหน้าที่แบบเดียว กันนี้ในระดับระหว่างประเทศ แต่ปัญหา ก็คือ เมื่อศาลในระดับท้องถิ่นตัดสินคดีล้มละลาย คำสั่งศาลสามารถมีมาก ถึงขั้นปลดผู้บริหารของบริษัทที่ตก ที่นั่งล้มละลาย แต่ในศาลโลก มาตรว่าผลการตัดสินออกมาว่ารัฐบาลหนึ่งๆ เป็นต้นเหตุแห่งการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด คำสั่งศาลจะสามารถใหญ่โตถึงขั้นปลดรัฐบาลได้ล่ะหรือ ยิ่งกว่านั้น การจะตกลงสร้างกติกากฎหมายล้มละลายขึ้นใช้ร่วมกันระหว่างประเทศ ต่างๆ นั้นคงลำบากไปอีกแบบ เพราะ ทุกวันนี้ มาตรฐานกฎหมายล้มละลาย ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันเป็นที่สุด การจะยอมลดหรือเพิ่มมาตร ฐานที่ยึดถืออยู่เป็นปกตินั้นดูเป็นไป ไม่ได้

แนวคิดประการสุดท้ายที่เสนอกันมากคือ การสถาปนาคณะกรรม การผู้กำกับดูแลตลาดการเงินระหว่างประเทศ เฮนรี่ เคาฟ์แมน ที่ปรึกษาด้านการเงินคนดังย่านวอลล์สตรีท บอกว่าควรจะมีการพัฒนามาตรฐานการเงินระดับโลก ตลอดจนการกำกับดูแล ประเมินค่าสถาบันต่างๆ ที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ

ในเชิงหลักการแล้ว แนวคิด เรื่องผู้คุมกฎเป็นอะไรที่ฟังเข้าท่า แต่ก็มาถึงปัญหาเรื่องความเป็นไปได้ที่ จะสถาปนาสิ่งนี้ขึ้นมา ปัญหาเบื้องแรก คือผู้ใดจะได้รับอำนาจหน้าที่ตรงนั้น ใครเล่าจะให้ความแน่ใจได้ว่าการทำงาน ของคณะกรรมการจะเข้าหรอบของระบบราชการที่เทอะทะ เรื่อยเฉื่อย และ เต็มไปด้วยขั้นตอนเพื่อความรอบคอบ และปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ จะมีความ เห็นพ้องมากมายเพียงพอได้อย่างไรจากประดาผู้นำประเทศต่างๆ ซึ่งมีชุดความขัดแย้งทางผลประโยชน์งัดข้อกันอยู่หลายชุดเต็มที ซ้ำยังต้องให้ผู้คุมกฎในระดับชาติไปขึ้นกับคณะกรรม การโลก ซึ่งไม่แคล้วจะมีปัญหาความเป็นกลาง ปลอดจากความเป็นตัว แทนผลประโยชน์ของประเทศยักษ์ หรือของสถาบันการเงินที่มีส่วนได้เสียอย่างมหาศาลในตลาดการเงินโลก

กรณีตัวอย่างแห่งการสถาปนาธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) อันเป็นองค์กรเหนือรัฐในพื้นที่แห่งการกำหนดนโยบายการเงิน ซึ่งประเทศสมาชิกยอมสละอำนาจอธิปไตยให้ไป นั้น ก็ยังเป็นระยะแรกเริ่มทดลอง ผล สุดท้ายอาจยั่งยืนได้แค่ไม่กี่ทศวรรษแล้วล่มสลายไปเหมือนกับที่เคยทดลอง กันมาหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

เอาเข้าจริงแล้ว ชุมชนโลกมักนิยมวิธีคิดแบบการสร้างกติกาในรูปแบบมาตรฐานสากลขึ้นใช้ร่วมกัน และ ให้สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยบีบเพลย์เยอร์ ทั้งหลายต้องยอมคล้อยตามในที่สุด กติกาและมาตรฐานอันปราศจากข้อบังคับ แต่เป็นประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายที่ยึดถือตาม ได้แสดงตัวออกมาบ้างแล้ว อาทิ กติกาว่าด้วยมาตรฐานความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินระดับ โลกที่จะต้องมี ก่อนจะอาจหาญไปเสนอบริการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ มาตรฐานดังกล่าวคือมาตรฐาน สัดส่วนเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส) กำหนดที่ 8% เป็น อย่างต่ำ และได้กล่าวเป็นมาตรฐานที่ทุกฝ่ายยอมรับปฏิบัติไปแล้ว แม้แต่สถาบันการเงินหัวดื้อในญี่ปุ่นยังต้องจำยอมถอนตัวจากเวทีโลก หลังจาก ทู่ซี้แถลงตัวเลขเงินทุนและสินทรัพย์ผิดมาตรฐานอย่างโจ่งแจ้งเป็นนาน

ความพยายามริเริ่มกติกามาตร ฐานสากลขึ้นใช้แบบสมัครใจ จึงดูจะเป็นแนวโน้มที่เห็นพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เพราะดูเสมือนว่าจะไม่เป็นวิธีที่ละเมิดความเป็นอธิปไตยของระบบเศรษฐกิจใดๆ พร้อมกับเป็น การเสนอบางอย่างที่คุกคามผลประโยชน์ ของชาติอย่างวัตถุวิสัยน้อยที่สุดจนพอจะสร้างความประนีประนอมระหว่างกติกาท้องถิ่นกับกติกาสากล ให้สามารถยอมรับได้ในระดับที่ค่อนข้างมาก ประเด็นของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน กับการปกครองบริหาร ภาคธุรกิจ คือสองประการที่อยู่ในกระแสหลักแห่งการถกเถียงขณะนี้ ตัวอย่างเช่น

ข้อตกลงว่าด้วยสัดส่วนเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงแห่งบาเซิล หลักการ ของไอโอเอสซีโอว่าด้วยข้อบังคับแห่งหลักทรัพย์ โออีซีดีกำลังพัฒนาร่างข้อเสนอว่าด้วยมาตรฐานสากลแห่งการปกครองบริหารองค์กรธุรกิจ นอกจาก นั้น อินเตอร์เนชั่นแนล บาร์ แอสโซ-ซิเอชันกำลังพัฒนาตัวแบบสำหรับประมวลกฎหมายล้มละลาย เป็นต้น

พัฒนาการล่าสุดขณะนี้คือ กรอบโครงที่ได้ไฟเขียวเรียบร้อยแล้วจาก ที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ยักษ์ทั้งเจ็ด หรือกลุ่มจี-7 ในระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งตกลง จะตั้งชมรมเพื่อเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อป้องกันวิกฤต ด้วยการจัดพบปะกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะได้เตือน ภัยทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม การสร้างมาตร ฐานขึ้นใช้ร่วมกันก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลสำหรับประคับประคองเสถียรภาพในตลาดการเงินระหว่างประเทศ เพราะวิธีดังกล่าวมิใช่วิธีคิดแบบให้แนวทางการกำกับดูแลในทางละเอียด หากค่อนไปเป็นวิธี Self-governance โดยที่ให้นักลงทุนได้รับข้อมูลมากที่สุด และวินิจฉัยความเสี่ยงด้วยข้อมูลดังกล่าว โดยที่ว่าเมื่อมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจแล้ว หากยังไม่สามารถข่มความโลภได้ ก็ปล่อยให้แบกความรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง ซึ่ง

วิธีคิดข้างต้นนี้ ได้รับคำวิจารณ์ ว่า เอาเข้าจริงก็ไม่น่าจะช่วยประกันเสถียรภาพของตลาดการเงินโลกได้เป็นมรรคผลอะไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเมินจากประสบการณ์จริงอันโกลาหลในอดีตหมาดๆ นี้เอง กล่าวคือ นอกจากที่นักลงทุนจะไม่เลือกหลีกเลี่ยง ความเสี่ยงสูงที่เห็นอยู่ชัดๆ ในสิ่งแวด ล้อมการลงทุนแล้ว ยังหันไปเลือก ประกันความเสี่ยงด้วยกลไกอำนาจของ ผู้กำหนดนโยบายการเงินและการเมือง แทนการวินิจฉัยด้วยทฤษฎีการลงทุนอย่างเป็นวัตถุวิสัย ด้วยเหตุนี้ บางคน เสนอให้สร้างสิ่งจูงใจขึ้นมาใช้ควบคู่กับ การสร้างระบบมาตรฐานดังกล่าว ไม่ว่า จะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรอบคอบ หรือแรงจูงใจให้ตลาดเกิดใหม่ยกระดับ มาตรฐานของตัว


ปฏิวัติโลกการเงินรอบนี้
ต้องขับเคลื่อนด้วยอะไร

การปฏิวัติหรือกระทั่งปฏิรูปโครงสร้างไม่ว่าจะในมิติใด ในยุคสมัย ใด ดูว่าจำเป็นต้องมีวิกฤตร้ายแรงสาหัสเป็นแรงบันดาลใจ และต้องเป็นวิกฤตใหญ่โตเพียงพอที่จะคุกคาม เสถียรภาพแห่งชุมชนมนุษย์ ร้ายแรงมากกระทั่งว่าผู้นำชั้นหัวแถวของโลกต้องยอมก้าวข้ามอุปสรรคทางการเมือง ทั้งหลายมาน้อมรับกติกาใหม่ใช้ร่วมกัน แม้แต่ในคราวของเบรตตันวู้ดส์ ซึ่งเป็นการแปลงโฉมกติกาการเงินโลกครั้ง สำคัญมากนั้น ก็เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลก ซ้ำยังตามต่อมาด้วยกรณี เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทั่วโลก

สำหรับการแปลงโฉมครั้งใหญ่ที่ส่อว่าใกล้จะต้องเกิดอุบัติขึ้นแล้ว อาจ เป็นได้ว่ากำลังรอให้โครงสร้างแห่งชุมชน การเงินโลกถูกคุกคามมากกว่าที่ผ่านมา และมาตรว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ในที่สุด การขับเคี่ยวเพื่อให้บรรลุข้อตกลงกันได้คงไม่จืดกันเชียว จากรอบ เบรตตันวู้ดส์ที่มีเพียงสองมหาอำนาจผู้นำทางความคิด คือจอห์น เมนนาร์ด เคนส์ แห่งอังกฤษ กับแฮร์รี เด็กซ์ เตอร์ ไวท์ แห่งสหรัฐฯ มาคราวนี้ เวทีการกำหนดอนาคตจะแน่นขนัด ทีเดียว ประเทศร่ำรวยมีจำนวนไม่น้อย ซึ่งทุกฝ่ายต่างต้องการมีสิทธิมีเสียงอยู่ในโครงสร้างใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ของตัวไม่ถูกลิดรอนมากเกิน ไปในกติกาใหม่ หากแต่อยู่ในระดับที่พอแลกไหว ระหว่างส่วนที่เสียไปกับส่วนที่จะได้มาจากการสถาปนาโครงสร้างใหม่ที่มีเสถียรภาพ ปลอดจากการถูกเขย่าเป็นว่าเล่นจากพวกไล่ล่ากำไร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเร็วจะช้าก็ย้อนถึงกำปั่นของตัวเข้าจนได้

ในคราวของเบรตตันวู้ดส์เคยยากเข็ญแค่ไหน คราวใหม่นี้ หากเกิดขึ้นได้จริง ย่อมยากเข็ญสาหัสเกินจินตนาการแน่ แต่ก็มั่นใจได้อย่างหนึ่ง ว่า ในโลกที่เงินคือพระเจ้า การเจรจาเรื่องเงินทองมักมีโอกาสแตกหักน้อยกว่าในโลกที่อำนาจและศักดิ์ศรีเป็นอุดมคติสูงสุด ในท้ายที่สุด หากโชคชะตามนุษยชาติไม่ต่ำเตี้ยจนเกินไปนัก Money Talk มักจบลงอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยได้ดีกว่า Nuclear Talk

Viva Forever Money World !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.