ถาวร ตรีศิริพิศาล วันก่อนเป็นเจ้าพ่อคอนโด วันนี้เป็นพ่อค้าขายผลไม้


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ถาวร ตรีศิริพิศาล เป็นอีกตัว อย่างหนึ่งของนักธุรกิจที่สู้ชีวิตภายหลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างสุดโหดในรอบนี้

เมื่อ 5-6 ปีก่อน เมื่อเอ่ยชื่อของถาวร กรรมการผู้จัดการบริษัทวีไอพีเรียลเอสเตท น้อยคนนักในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะไม่รู้จักเขา เพราะอีกฉายาหนึ่งก็คือ "เจ้าพ่อคอนโด" ผู้บุกเบิกโครงการคอนโดเชน และคอนโดเทล และในช่วงที่ธุรกิจคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมสูงสุด นั้น เขาเป็นทั้งเจ้าของคอนโด เป็น ทั้งที่ปรึกษาให้กับโครงการต่างๆ กว่า 30 โครงการ

เรียกได้ว่าคอนโดสูงเสียดฟ้า ย่านหาดจอมเทียนพัทยา หาดแม่รำพึงระยอง หาดหัวหิน และชะอำ มีชื่อของถาวรคนนี้ เป็นผู้ถือหุ้น เป็นที่ปรึกษาโครงการ หรือเป็นผู้รับบริหารเกือบทุกโครงการไป

เมื่อเจอพายุลูกแรกๆ จากสถาบันการเงินที่ชะลอการ ปล่อยสินเชื่อ ถาวรก็ยังไม่เจ็บตัวเท่าไหร่นักเพราะสายสัมพันธ์กับสถาบันการเงินที่มีมานานกว่า 20 ปีในวงการเรียล เอสเตทของเขาทำให้เขายังมีแหล่งเงินซัพพอร์ตโครงการ ดังนั้นการขายโครงการที่การก่อสร้างยังไม่เสร็จก็เลยยังเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ

แต่เมื่อลมพายุกลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ด้วยการปิดสถาบันการเงิน ถาวรก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในช่วง แรกๆ เขาก็ยังใจเย็นเพราะคิดว่าทางสถาบันการเงินคงหาหนทางแก้ไขได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปๆ เมื่อเห็นว่ารัฐบาลและ สถาบันการเงินเองก็ยังไม่มีทางออก เขาจึงได้เริ่มดิ้นรนหาทางช่วยตัวเองอย่างถึงที่สุด

ในช่วงเวลานั้นถาวรมีโครงการซึ่งเขาเป็นผู้ถือหุ้นประมาณ 3 โครงการที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ และหยุดได้รับเม็ดเงินจากสถาบันการเงินไปแล้วในขณะเดียวกับลูกค้าที่วางเงินดาวน์ไว้แล้วก็เริ่มหยุดผ่อนต่อ รวมทั้งมีอีกประมาณ 4 โครงการที่สร้างเสร็จแล้วแต่การขายยังไม่หมดและชะงักงันมานาน

วิธีการแรกของเขาก็คือวิ่งขายโครงการให้กับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจซึ่งมีทั้งโครงการของตนเอง โครงการของเพื่อนฝูงที่ตัวเองเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งเปิดบริษัททางด้านโบรกเกอร์ รับซื้อขายที่อยู่อาศัยทุกประเภทเพื่อหวังเอาเงินเล็กๆ น้อยๆ จากค่าคอมมิชชั่น มาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ เขาต้องทำงานหนักอีกครั้งทั้งๆ ที่ก่อนเกิดภาวะวิกฤติทางการเงินนั้นเมื่อรับเงินจากโปรเจ็กต์ที่ตัวเองเป็นที่ปรึกษาอยู่ เขาก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่พาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศประมาณ 1 เดือน ทุกครั้งไป

"เรียกได้ว่ากำไรที่ผมได้มา 100 บาท ตอนนี้หมดไป 90 บาท ปีนี้อาจจะเหลือถึง 0 ก็ได้ หากไม่ดิ้นรน รวมทั้งต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอีกด้วย"

ส่วนโครงการที่ยังขายไม่หมดเช่นโครงการวีไอพีที่ พัทยา ชะอำ หัวหิน และโครงการรีสอร์ตที่หาดแม่รำพึงซึ่งเป็นที่ดินเปล่าจัดสรรนั้นเขาก็เร่งทำการโปรโมชั่นอย่างหนัก โดยยอมหั่นราคาลงมาถึง 50%

โครงการวีไอพีที่หาดจอมเทียนพัทยาจะเหลือจำนวน ยูนิตมากที่สุดคือประมาณ 200 ยูนิต พื้นที่ 40 ตารางเมตรราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านกว่าบาทนั้น ปัจจุบันเหลือเพียง 5 แสนกว่าบาท ผลจากแผนโปรโมตครั้งนี้ทำให้โครงการที่พัทยา ขายไปได้อย่างรวดเร็วเกือบร้อยยูนิต ที่ชะอำเหลือเพียง 10 ยูนิต ส่วนที่ระยองเหลือประมาณ 40 ยูนิต

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ถาวรบอกว่าเขาโชคดี ที่มีนักลงทุนชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งได้มาเซ็นสัญญาตกลงซื้อโครงการของเขา 2 ใน 3 โครงการที่สร้างไม่เสร็จ แต่จะเป็นโชคดีหรือเปล่าไม่ทราบเพราะเขายอมรับว่า แต่ละโปรเจ็กต์ที่ขายได้เงินคืนมาเพียง 20% ของเงินทั้งหมดที่ต้องลงทุนไปเท่านั้น และนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาจะต้องหาเงินมาสร้างโครงการต่อให้เสร็จ รวมทั้งจ่ายหนี้สินให้สถาบันการเงินที่บริษัทค้างอยู่ด้วย

"ได้เพียง 20% ผมก็เอาแล้วละครับ ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย และอย่างน้อยลูกค้าที่ซื้อไปก็จะได้เห็นโครงการที่เขาซื้อไปสร้างต่อเสียที"

คราวนี้ถาวรบอกว่าเขาคงต้องจบกันเสียทีกับอาชีพ

เรียลเอสเตท แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ยอมแพ้ต่อการพยายามหาธุรกิจใหม่ เพื่อหารายได้กลับเข้ามาแม้จะเป็นงานที่ทำรายได้ไม่มากนักก็ตาม

ดังนั้นประมาณกลางเดือนมีนาคม 2542 นี้ เขาจะเปิดบริษัทใหม่ คือบริษัทผลไม้แฟรนไชส์จำกัด วิธีการก็คือให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกับบริษัท เสียค่าใช้จ่ายครั้งแรกเพียง 1,000-1,500 บาท บริษัทก็จะจัดสินค้าคือผลไม้สดตามฤดูกาล 4-5 ชนิด ถุงมะขามหวาน กล้วยตาก และขนมผลไม้อื่นอีก 60-80 ถุง น้ำผลไม้คั้นสดๆ 40 ขวด พร้อมกับตู้แช่น้ำแข็ง ถุงใส่ผลไม้ ตาชั่ง ร่ม หมวก เสื้อ กระเป๋าสตางค์ ตะกร้าผลไม้ ตู้กระจก รถเข็นพร้อม ขายได้ทันที ซึ่งมูลค่าของผลไม้ต่อวันนั้นเป็นเงินประมาณ 3 พันบาท แต่สมาชิกยังไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ทุกอย่างบริษัทให้เครดิตหมด ขายได้ถึงมาจ่าย และสมาชิกจะต้องขายให้หมดภายใน 2 วัน โดยสินค้าที่เหลือในแต่ละวันก็จะมีตู้แช่แข็งไว้บริการ

ถ้าเป็นรถเข็น ลงทุนครั้งแรก 1,000 บาท ประกันว่าต่อวันจะได้กำไรประมาณ 600-800 บาท แต่ถ้าเป็น ซาเล้งถีบก็ต้องจ่ายครั้งแรก 1,500 บาทกำไรต่อวันประมาณ 1,000-1,200 บาทส่วนค่าอุปกรณ์ต่างๆ นั้นสมาชิกต้องเซ็นสัญญาเงินกู้กับบริษัทเป็นเงิน 1 หมื่นบาทซึ่งจะค่อยๆ ทยอย จ่ายไป

ถาวรตั้งเป้าในปีแรกว่าจะมีประมาณ 100 คัน และจะเพิ่มเป็น 200 คันใน 2 ปี กลุ่มลูกค้าที่วางไว้ก็คือ พวกที่มีหน้าร้านขายประจำ หรือพวกรถถีบที่ขายอยู่แล้ว รวมทั้งคนกลุ่มใหม่ที่ต้องการรายได้

หากสมาชิกเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ก็หมายถึงได้ค่าแฟรนไชส์ปีละประมาณ 2 แสนบาท รวมทั้งหักกำไรส่วนหนึ่งจากยอดขายในแต่ละวันของสมาชิก 200 คนนั้น ถาวรบอก ว่าก็พอใจแล้วในภาวะอย่างนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.