ดร.อเล็กซานเดอร์ ลิ๊บ เล็งเพิ่มธุรกิจการจัดการหลังผนวกกิจการให้บีซีจี


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจที่ปรึกษา ทนายความ และ นักบัญชีเป็น 3 วิชาชีพที่เป็นที่ต้องการของกิจการต่างๆ ทุกประเภท ในตอนนี้ โดยเฉพาะกิจการที่ปรึกษา ซึ่งในต่างประเทศมีการดำเนินงานมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ตอนนี้จึงขยาย ตัวมาในแถบเอเชียและสร้างกำไรกันเป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจที่พินาศล้มเหลวในแถบนี้

เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป หรือบีซีจี เป็นกิจการที่ปรึกษาสัญชาติอเมริกันที่เข้ามาดำเนินงานในไทยเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยเริ่มจัดตั้งสำนักงานในไทยเมื่อปี 1994 มีความชำนาญในการเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์

ล่าสุดบีซีจีได้ส่งดร. อเล็กซานเดอร์ ลิ๊บ ประธานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาบรรยายเกี่ยวกับการจัดการหลังการผนวกกิจการหรือ post merger integra-tion (PMI) ซึ่งเป็นบริการล่าสุดที่บีซีจีนำเข้ามาเสนอให้ลูกค้าในประเทศไทย เพราะเขาคาดหมายว่าในปี 2542 นี้น่าจะมีการผนวกกิจการมากขึ้นในไทย หลังจากที่เมื่อ 1-2 ปีก่อน ก็มีการซื้อกิจการกันไปพอสมควร (ดูตารางรายชื่อกิจการฯ)

เขาให้ทัศนะเกี่ยวกับผนวกกิจการในไทยว่า "การผนวก กิจการภายในประเทศเองในช่วงที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ ต้องแก้ปัญหาระยะสั้นหรือเฉพาะก่อน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็น crisis management แต่มาในปีนี้คาดว่าบริษัทเหล่านี้ต้องเริ่มมาคิดแล้วว่าการดำเนินธุรกิจข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ควรจะตัดขายกิจการหรือผนวกกิจการหรือไม่อย่างไร"

แรงสนับสนุนการผนวกกิจการในไทยมี 2 ด้านคือจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่เชื่อว่าไทยและเกาหลีใต้จะเป็น 2 ประเทศที่ฟื้นจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ ครั้งนี้ได้เร็วกว่าประเทศอื่น และอีกด้านหนึ่งบริษัทไทยควร เริ่มใช้ช่วงเวลานี้ในการพิจารณาขอบข่ายธุรกิจของตน โดยเฉพาะบริษัทที่มีการดำเนินงานในหลายประเทศควรพิจารณา ว่าจะโฟกัสการทำธุรกิจในที่ใดและในธุรกิจประเภทใดหลังจากที่การชะลอตัวครั้งนี้ผ่านไป

ในกรณีธนาคารพาณิชย์จุดที่จะดูว่าการผนวกกิจการ สำเร็จหรือไม่อยู่ที่การนำพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันไปใช้ประ-โยชน์ในด้านอื่น (redeploy) หรือว่าการ transfer งานของ พนักงานถือเป็นสิ่งสำคัญมาก จากประสบการณ์ของดร.ลิ๊บ การผนวกกิจการหลายครั้ง แม้จะเริ่มด้วยการคาดการณ์อันเริดหรู แต่กลับจบลงด้วยฐานะทางธุรกิจที่ย่ำแย่กว่าเดิม เป็นเพราะกระบวนการจัดการในการรวมกิจการไม่ดีพอ "การรวมองค์กร 2 แห่งที่แตกต่างกันทั้งด้านวัฒนธรรมองค์กร ประวัติความเป็นมา ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นสิ่งที่ยุ่งยากและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง"

ดร.ลิ๊บมองว่าขั้นตอนที่สำคัญในการทำให้การผนวกกิจการสำเร็จ หรือล้มเหลวคือการที่บริษัทเหล่านั้นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ตลอดจนการมีเป้าหมายทางธุรกิจที่จะเกิดจากการผนวกกิจการไว้ให้ชัดเจน คำถามเช่น "ในอีก 2 ปีข้างหน้ากิจการจะทำกำไรเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าไหร่" จะต้องมีคำตอบคอยอยู่แล้ว หลังจากนั้นการตัดสินใจในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสลับซับซ้อนเพียงใด จะต้องอยู่ภายในกรอบของยุทธศาสตร์ที่วางไว้นี้

นอกจากนี้บริษัทที่ผนวกกิจการจะต้องกำหนดและสื่อสารแนวทางการรวมกิจการอย่างชัดเจนแต่แรกเริ่ม โดยพนักงาน ผู้ถือหุ้น ลูกค้าและซัปพลายเออร์ จะต้องได้รับทราบข่าวสารข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายของบริษัทใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากต้องมีการปลดพนักงานบริษัท จะต้องรีบแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบแต่เนิ่นๆ

ประการสุดท้ายบริษัทที่ผนวกกิจการจะต้องกำหนดกระบวนการพิเศษสำหรับการรวมกิจการซึ่งแยกต่างหากจาก การบริหารงานประจำวัน เนื่องจากการรวมกิจการที่ดีเป็นงานที่สลับซับซ้อนและต้องใช้กำลังคนเป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงจะต้องเผชิญกับการถูกต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในอันที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรวมกิจการ

สำหรับการจัดการหลังผนวกกิจการ (PMI) ในไทยนั้น แม้ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากที่อื่นๆ แต่ดร.ลิ๊บมองว่ามีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง 3 อย่างคือ "อาจต้องมีการอัดฉีดเงินทุนเข้าไป เพราะไทยมีวิกฤติการเงินอยู่ นอกจากนี้ก็จะมีปัญหาเรื่องคน หากไม่มีการปลดคนงานใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อย่างในต่างประเทศนั้นรัฐบาลเข้ามารับภาระตรงนี้ไป เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของ NPL ซึ่งในการผนวกกิจการปกติ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ในยามนี้เป็นประเด็นมากว่าจะจัดการ อย่างไร ซึ่งก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปในแผนตั้งแต่เริ่มคิดผนวกกิจการ"

แนวคิดของดร.ลิ๊บในการจัดการเรื่อง NPL คือให้มีการแยกหนี้ดี-เสียออกจากกัน และก็ให้มีการผนวกกิจการ เฉพาะส่วนที่ดีเท่านั้น ส่วนหนี้เสียก็ไปหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (specialised manager) มาทำการปรับปรุงแก้ไข นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด

ด้านผลการดำเนินงานของบีซีจีในไทยนั้น บริษัทต้องการมีลูกค้าในไทยในปีนี้ประมาณ 2-3 แห่ง โดยเล็งกลุ่ม ลูกค้าขนาดใหญ่ ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมามีลูกค้าไทยรายใหญ่ อยู่ 4-5 ราย แต่ก็มีโปรเจ็กต์เล็กๆ สั้นๆ อยู่ด้วย ซึ่งหนึ่งใน นั้นคือที่ปรึกษาให้ธนาคารกรุงไทย ส่วนเป้าหมายในด้านลูกค้า PMI ดร.ลิ๊บเปิดเผยว่า "บีซีจีมีเป้าหมายว่าอยากจะมีลูกค้า PMI 5 โครงการในภูมิภาคนี้ ตอนนี้มีอยู่ 3 โครงการ"

ส่วนรายได้ของบีซีจีในเอเชียปีที่แล้วคิดเป็น 25% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 20%-30% แต่ปีที่แล้วลดลงเล็กน้อย

บีซีจีเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ให้ความสำคัญในการเข้าหาลูกค้าด้วยวิธีการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับแผนดำเนินงาน หรือเน้นการเข้าหาลูกค้าด้วยการทำ presentation ซึ่งนั่นหมายความว่าบริษัทต้องเตรียมตัวมาอย่างดีในการทำข้อเสนอให้ลูกค้า ต้องศึกษาลูกค้ามาอย่างดี และมีข้อเสนอที่น่าสนใจและดีพอสำหรับลูกค้า บอกรายละเอียดวิธีการทำงานให้ลูกค้าได้พิจารณา

สำหรับบริการ PMI ที่เป็นบริการใหม่ที่นำเข้ามาในปีนี้นั้น ดร.ลิ๊บโชว์ผลงานว่า "บริษัทได้มีการติดตามลูกค้าอย่างมาก เพื่อทำการสำรวจความสำเร็จในเรื่องการผนวกกิจการของลูกค้า ซึ่งปรากฏว่าลูกค้า PMI ของบริษัท หลังจากจัดการแผนการผนวกกิจการเรียบร้อยและดำเนินงานมาระยะหนึ่ง สามารถสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนดีกว่าผลตอบแทนในตลาดหุ้นประมาณ 20%-30% โดยเฉลี่ย"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.