วาณชธนากรกับตราสารหนี้


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ศัพท์ 2 คำนี้ไม่ถือเป็นตัวประหลาดในสังคมการเงินไทยแล้ว และจะว่าไป 2 คำนี้ก็มีอิทธิพลต่อเส้นทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยอยู่ไม่น้อย

วาณิชธนากรแปลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้หลายคำ แต่มีความหมายเดียวกันคือ Merchant Banker หรือ Investment Banker หากผู้อ่านที่ติดตามงานของ "พายัพ วนาสุวรรณ" คอลัมนิสต์ผู้มีฝีมือเฉียบขาดของ "ผู้จัดการรายวัน" ในผลงานฉบับวันจันทร์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ที่ผ่านมา ในชื่อบทความ "รัฐมนตรีคลังกับวิชาหน้าที่พลเมืองและมารยาทขั้นพื้นฐาน" ท่านจะเข้าใจมองทะลุถึงบทบาทของพวก IB โดยเฉพาะพวกฝรั่งหัวแดง พวกแขก และ "คนไทยใจฝรั่ง" ได้เป็นอย่างดี

ส่วนคำว่าตราสารหนี้ก็คือ debt instruments ซึ่งมีมากมายหลายประเภท แถมยังมีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ซึ่งผู้ที่ออกแบบตราสารเหล่านี้ก็คือ IB พวกนี้แหละ หรือหากจะใช้ศัพท์ที่หรูหราหน่อย ก็เรียกว่าพวก financial engineers ก็ได้

อย่างไรก็ดี คนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงความเห็นของเขาในฉบับนี้ ไม่ใช่ IB ที่เป็น "คนไทยใจฝรั่ง" อย่างน้อยธนาคารกสิกรไทยต้นสังกัดของเขาก็แสดงจุดยืนในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้อย่างชัดเจน


บุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ทำงานสายวาณิชธนกิจมานาน โดยเฉพาะในช่วงตลาดรุ่งเรืองหรือยุคทองของ IB ไทยในช่วงปี 2535-2538 มาตอน นี้เขาได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นขณะที่เพื่อนๆ IB ในวงการไฟแนนซ์ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก และล่าสุดเขาก็เพิ่งเสร็จสิ้นการระดมทุนให้แบงก์กสิกรไทยโดยการออกตราสารหนี้ที่เรียกว่า "สลิป" (SLIP : STAPLE LIMITED INTEREST PREFERED) คือการนำตราสารหนี้มาจัดเป็นตราสารทุน (ดูรายละเอียดในรายงานผู้จัดการ)

บุญทักษ์มองสวนทางกระแส ที่ IB หลายคนคิดว่ากิจกรรมนี้ซบเซาลงไปแล้วตามภาวะเศรษฐกิจ แม้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ระบบสถาบันการเงินมีปัญหา ทว่าภาคธุรกิจก็ยังมีความต้องการระดมเงินในรูปแบบของเงินกู้ แต่การจะกู้ผ่านระบบสถาบันการเงินก็ค่อนข้างลำบาก เพราะสถาบันการเงินหลายแห่งยังมีข้อจำกัดทางด้านเงินทุน สำหรับสถาบันที่ยังไม่ได้เพิ่มทุน หรือถ้าระดมทุนได้ก็จะค่อนข้างแพง ทำให้ธุรกิจมีความสนใจที่จะระดมเงินโดยตรงด้วยการออกตราสารการเงินเพิ่มขึ้นเยอะทีเดียว

จังหวะนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในภาคธุรกิจของวาณิชธนกิจ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็ได้เตรียมทั้งด้านทรัพยากรและบุคลากรสำหรับธุรกิจตราสารหนี้มาเป็นเวลา 3-4 ปี บุญทักษ์มีความมั่นใจมากว่า IB ของแบงก์กสิกรฯ จะมีกิจกรรมที่สวนกระแสตลาดได้ในยามนี้เพราะความเชื่อดังกล่าว

ในอดีตที่ฝ่านมามีการออกตราสารหนี้กันมาก แต่ยังมีขีอจำกัดอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1. ปัจจัยเรื่องความเสี่ยง ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวมากและมีการออกตราสารหนี้กันมากนั้น หลายครั้งที่อันเดอร์ไรต์ไม่ได้ดูรายละเอียดเรื่องความเสี่ยงทางเครดิตอย่างจริงๆ จังๆ ความเสี่ยงทางเครดิตเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณา เพราะผู้ลงทุนในประเทศเป็นผู้ลงทุนสถาบันทั้งสิ้น โดยหน้าที่ของผู้ประกันการจัดจำหน่ายจะต้องเอาข้อมูลที่ครบถ้วน นำเสนอให้กับผู้ลงทุน

จากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น บุญทักษ์มีความเชื่อว่าประเด็นนี้จะได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น

2. การพัฒนาตลาดตราสารหนี้จะเป็นไปได้อย่างดีก็ต่อเมื่อจะต้องมีผู้ลงทุนสถาบันที่มั่นคงและแข็งแรง เมืองไทยยังมีระบบผู้ลงทุนสถาบัน แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นบ้าง แต่ว่ายังอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างเล็ก จุดที่ว่าดีขึ้นก็คือการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น ขนาดประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท และมี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ขนาดประมาณ 7-8 หมื่นล้าน มีกองทุนรวมอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้าน มีบริษัทประกันประมาณ 2 แสนล้าน โดยรวมเบ็ดเสร็จก็ประมาณ 4-5 แสนล้านบาทเอง ซึ่งยังเล็กมากเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดประมาณ 4-5 ล้านล้านบาท เท่ากับมีขนาดแค่ 10% เอง ในประเทศที่พัฒนาแล้วควรจะมีขนาดใกล้เคียงกันหรือไม่ก็ใหญ่กว่า

การที่ผู้ลงทุนสถาบันพวกนี้ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนระยะยาวมีจำนวนเยอะและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเมืองไทยตอนนี้ก็เริ่มโตขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเล็ก

ผู้ลงทุนสถาบันต้องการตราสารหลายรูปแบบ ทั้งระยะยาว ระยะสั้น เพื่อใช้ปรับสภาพคล่อง แต่ปัจจุบันไม่มีตราสารระยะสั้นในตลาดเลย สิ่งที่นักลงทุนทำได้คือ ไปฝากธนาคาร ซึ่งดอกเบี้ยจะต่ำมาก นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อเนื่องให้เกิดขึ้น

ซึ่งตอนนี้ธนาคารฯ ก็มีดีลในมือที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจและเอกชนอยู่ เป็นตราสารหนี้ระยะยาว และพยายามผลักดันระยะสั้นออกมาด้วย บุญทักษ์คาดว่าน่าจะทยอยออกมาเร็วๆ นี้

เขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอนาคตของ IB ไทยไว้ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาระบบสถาบันการเงินในประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะว่า ทั้งระบบขาดความรอบคอบในการประเมินสิ่งที่เรียกว่า ความเสี่ยง ไม่ว่าจะในรูปของอัตราแลกเปลี่ยน หรืออะไรก็ตาม IB ทุกคนเชื่อสมมติฐานว่า อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เพราะฉะนั้นเลยประเมิน COST OF CAPITAL ถูกมาก จากนั้นก็เอา COST OF CAPITAL ที่ถูกมากมาประเมินโครงการ ทุกๆ โครงการก็เลยเป็นโครงการที่ดีหมด น่าลงทุนหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าระบบอัตราแลกเปลี่ยน เป็นไปตามกลไกจริง COST OF FUND จะสูงกว่านี้เยอะ และเวลาเอาต้นทุนนี้มาประเมินธุรกิจที่จะลงทุนว่า ธุรกิจนี้เหมาะที่จะลงทุนหรือเปล่าก็จะได้ตัวเลขที่ถูกต้อง ฉะนั้นสิ่งที่เกิดจากอันนั้นก็คือ ธุรกิจหลายธุรกิจมันไม่มีความคุ้มค่าแก่การลงทุน แต่เนื่องจากการคำนวณต้นทุนที่ต่ำมาก ทำให้ดูเหมือนกับว่าคุ้มค่าที่จะลงทุน และต้นทุนที่ต่ำมากก็ได้มาจากการตั้งสมมติฐานว่าอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และดอกเบี้ยดอลลาร์ต่ำมากด้วย

นอกจากนี้เขามีความเชื่อว่าข้อมูลของผู้ระดมทุนมีไม่ครบถ้วนและไม่สมบูรณ์ อาจจะเป็นเพราะว่านี่เป็นเรื่องใหม่ของเมืองไทยในยุคนั้นเป็นเหมือนยุคบูมของเศรษฐกิจ และเป็นยุคบูมของวาณิชธนกิจ ด้วยคนรุ่นใหม่จบมาไฟแรงก็มาทำงานกัน ก็เลยมองข้ามประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ประเด็นในเรื่องของความเสี่ยง จริงๆ แล้วธุรกิจนี้ก็คือ ผลตอบแทนที่เหมาะสมแต่ทุกคนไปประเมินความเสี่ยงผิดหมด นั่นคือ สาเหตุหลักของวิกฤติการณ์

"ต่อจากนี้ ผมหวังว่าคนคงเรียนรู้จากบทเรียนราคาแพง และมีความจำที่ยาวนาน" เขาให้ความเห็น

ส่วนประเด็นที่ว่าไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงต่างชาติในเรื่องการระดมทุนอย่างไร เขามองว่าเพราะระบบการออมเงินในประเทศยังเล็กอยู่มาก จึงจำเป็นต้องพึ่งระบบการออมที่ใหญ่กว่าของต่างชาติ

ถ้าไทยมีระบบเงินออมระยะยาวผูกพันที่ก้อนโตกว่านี้ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ไทยพึ่งพาเงินออมในประเทศสำหรับการพัฒนาได้ "แต่ภาวะปัจจุบันเราต้องพึ่งพาเงินออมต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาในประเทศ พอมีภาวะวิกฤติขึ้นมาทำให้การระดมเงินในต่างประเทศทำได้ยากหรือไม่ได้เลย ประเทศเลยประสบกับภาวะขาดเงิน"

ส่วนระบบผู้ลงทุนสถาบันจะต้องมีประสิทธิภาพและวินัยมากกว่านี้ เพราะว่าผู้ลงทุนสถาบันหรือสถาบันการเงิน เป็นผู้เดียวที่ทำหน้าที่ในการกระจายทรัพยากรของประเทศ การที่ผู้คนเอาเงินออมไปฝากแบงก์ ไปซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนก็คือ การเอาทรัพยากรไปให้สถาบันการเงินเหล่านี้ และสถาบันการเงินเหล่า นี้ก็จะเป็นผู้เอาทรัพยากรไปจัดสรร ว่าควรจะไปลงในอสังหาริมทรัพย์เท่าไร ลงในอุตสาหกรรมเท่าไร ลงการค้าการผลิตเท่าไร

ถ้าสถาบันการเงินไม่มีวินัยทางด้านการจัดการบริหารความเสี่ยงก็จะทำหน้าที่ที่ผิดพลาดในการกระจายทรัพยากร และการกระจายทรัพยากรที่ผิดพลาด ก็คือต้นเหตุของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น การไปลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป นั่นเอง ฉะนั้นตัวกลางคือ สถาบันการเงินเหล่านี้เป็นตัวจักรที่สำคัญมากในการที่จะกระจายทรัพยากรในประเทศ

"ที่สำคัญตอนนี้คนไทยได้เรียนรู้บทเรียนนี้แล้วหรือยัง และจดจำหรือยัง ถ้าได้เรียนรู้แล้วบางคนก็มีโอกาสได้แก้ตัวครั้งที่ 2 แต่บางคนก็ไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกแล้ว" เขากล่าวทิ้งท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.