โศกนาฏกรรมของแก้ว ผูกทวนทอง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นกับห้างแก้วฟ้าบางลำพู ทำให้โอกาสของแก้ว
ผูกทวนทอง ในการที่จะหวนกลับคืนมาบนถนนสายธุรกิจ ปิดสนิทลง จากร้านตัดรองเท้าเล็กๆ ยี่ห้อเขาควายที่ขยายกิจการการอย่างใหญ่โต แต่กลับทำให้ถึงจุดจบอย่างรวดเร็วของแก้ว เป็นเรื่องที่เป็นบทเรียนให้กับนักธุรกิจอีกหลายๆ คน ส่วนตัวแก้วเองวันนี้เขาต้องหนี...หนี จากเงื้อมมือของกฎหมาย เพียงอย่างเดียว ทิ้งปัญหาต่างๆ ไว้ให้กับทายาทต้องหาทาง
ดิ้นรนเอาตัวรอดต่อไป


ย้อนหลังไปเมื่อ 60 กว่าปีก่อนริม ถนนจักรพงษ์ บางลำพู จะมีร้านตัดรองเท้าเล็กๆ ร้านหนึ่งตั้งอยู่ เจ้าของเป็นคู่สามีภรรยาชาวจีนแคะ ที่มีลูกเลี้ยงคนหนึ่งคือ แก้ว ผูกทวนทอง ซึ่งเป็นคนที่มีฐานะยากจน พื้นเพเดิมเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรีมีพี่น้องหลายคน เมื่อชีวิตผกผัน มาอยู่ร้านตัดรองเท้า ก็สามารถใช้ความรู้ความชำนาญในเรื่องตัดรองเท้าประกอบ กับความขยันขันแข็ง ก็ทำให้กิจการของร้านตัดรองเท้าเล็กๆ นี้ดีขึ้นได้

"คนแถวนี้ถ้าจะตัดรองเท้าหรือ ซื้อรองเท้าก็ต้องบอกกันว่าไปตัดร้านไอ้แก้วกันทั้งนั้น" แหล่งข่าวรายหนึ่งในย่านบางลำพูเล่าถึงแก้ว ให้ "ผู้จัด การรายเดือน" ฟัง พร้อมทั้งยืนยันว่าจาก ที่ยังได้พบปะแก้วก่อนเกิดปัญหา ทางธุรกิจอย่างรุนแรงในช่วงปี 2540 นั้น แก้วเป็นคนดีคนหนึ่ง ไม่มีประวัติกินเหล้า หรือเที่ยวเตร่ และเป็นกันเองไม่ถือเนื้อถือตัวกับเพื่อนเก่าๆ ที่เคยวิ่งเล่นกันสมัยเด็กๆ ยังเป็นแก้วของเพื่อนๆ และเป็นลุงแก้วของเด็กๆ ย่านบางลำพู

ประมาณปี 2520 รองเท้าหนังตราเขาควาย หรือ "BIG BUFFALO" ในร้านของแก้ว เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษา และข้าราชการคนชั้นกลางทั่วไปในย่านบางลำพู เมื่อกิจการ เริ่มดีขึ้นก็มีการเซ้งตึกแถวขยายกิจการ ออกไป

ในที่สุดห้างแก้วฟ้าพลาซ่าก็เกิด ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ผู้ร่วมถือหุ้นในสมัยนั้น 7 คนคือ แก้ว ปรียารัตน์ผู้เป็นภรรยาของแก้ว และยัง มีรายชื่อของมาโนชญ์ วินัย และสนั่น ผูกทวนทอง ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง รวมทั้งประสิทธิ์ ประถมทอง

ต้องยอมรับว่าห้างแก้วฟ้ามีส่วน สำคัญอย่างมากในการสร้างสีสันให้เกิดขึ้นในย่านนั้น จากที่เคยมีแต่ร้านตัด เสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ ก็ปรากฏ ว่าร้านตัดรองเท้า และร้านเครื่องหนังก็เลยทยอยเปิดขึ้นตามมา พร้อมทั้งความคึกคักย่านนี้ก็เริ่มมีมากขึ้น

ในขณะที่ห้างแก้วฟ้ายังไม่แข็งแรง แก้วและผู้ถือหุ้นก็ได้คิดการใหญ่ ที่จะทำให้กลุ่มของตนเป็นยักษ์รายหนึ่งของวงการห้างสรรพสินค้าของเมืองไทย โดยเข้าไปขอเช่าที่ดินจากพล.ต. พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล (เมื่อครั้งมีพระชนม์ชีพอยู่) บริเวณหัวมุมถนนไกรสีห์เพื่อพัฒนาเป็นห้างนิวเวิลด์บางลำพู ห้างใหญ่แห่งแรกของย่านนี้ และในระยะแรกก็ประสบความสำเร็จอย่างดี จนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ทำ ให้กลุ่มนี้กล้าที่จะขยายอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในเวลาต่อมา ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าห้างนิวเวิลด์บางลำพู กับห้าง แก้วฟ้านั้น ยังมีคำสั่งศาลให้รื้อถอนค้างคาอยู่ สาเหตุจากการต่อเติมโดยไม่ ได้รับใบอนุญาต และก่อสร้างอาคารผิดแบบ

แก้วได้ทุ่มทุนมหาศาลเปิดตัวโครงการนิวเวิลด์ รัตนาธิเบศร์ และ นิวเวิลด์สระบุรี และยังไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามสูตรสำเร็จของนักธุรกิจในช่วงนั้น ปัญหาการลงทุนที่เกิน ตัวกลับสร้างปัญหาที่ยิ่งใหญ่ต่อเนื่องในเวลาต่อมา

ในขณะที่ห้างแก้วฟ้าทำยอดขาย ไม่ออก นิวเวิลด์บางลำพูถูกคำสั่งศาลปิดการใช้อาคารชั้น 5-11 สาขาที่รัต-นาธิเบศร์ ขาดทุนย่อยยับจนกลายเป็น ตึกร้างไปแล้ว ส่วนธุรกิจที่ดินซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ก็โชคร้ายที่เข้าไปในช่วงตลาด วายต้องเจอกับคู่แข่งที่มากด้วยประสบ การณ์ในการขาย

ผลสุดท้ายตัวแก้วเองต้องหนีคดีเช็คหัวซุกหัวซุน และล่าสุดก็เจอโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ห้างแก้วฟ้า และกำลังจะถูกหมายจับอีกคดีหนึ่งเช่นกัน

หรือคราวนี้แก้วจะสิ้นชื่อไปจริงๆ

"สำหรับชีวิตของเด็กที่เกิดมายากจนอย่างแก้ว การได้เป็นเจ้าของนิวเวิลด์บางลำพูนั้น นับว่าสูงสุดสำหรับ คนอย่างเขาแล้ว" เพื่อนเก่าคนหนึ่งของเขาให้ความเห็น และเล่าว่าเมื่อโครงการนิวเวิลด์บางลำพูเริ่มปรับที่ถมดิน เพื่อทำการก่อสร้างนั้นแก้วจะเป็นคนที่มาควบคุมดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด

"เย็นๆ เวลาแกว่างงานจากห้างแก้วฟ้า ก็จะเดินมาดูงานก่อสร้างของนิวเวิลด์เองทุกวัน สมัยนั้นราศรีของเถ้าแก่ใหม่อิ่มเอิบมาก ผิดกับช่วงหลังๆ นี้ถ้าใครเคยเจอจะรู้เลยว่าแกผอมลงมาก"

อาคารนิวเวิลด์นี้ออกแบบโดยบริษัทไทยบุรินทร์ ของบุรินทร์ วงศ์สงวน สถาปนิกชื่อดังในสมัยนั้น วิศวกรโครงสร้างและคำนวณฐานรากโดยสมาน ง่วนสำอางค์ ตอกเสาเข็มโดยบริษัทนครหลวงวัตถุก่อสร้างและคอนกรีตอัดแรงจำกัด วิศวกรควบคุม งานโดยประพัฒน์ ตันติประภา, พงศ์พันธ์ ฟูศิริ และบริษัทอินเตอร์คอนซัลท์ จำกัด โดยเริ่มปรับพื้นที่ทำการก่อสร้างตั้งแต่ประมาณปี 2525 มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะก่อสร้างเป็นอาคารสูง 11 ชั้น ในเบื้องต้นได้ขออนุญาตในการก่อสร้างเป็นอาคาร 4 ชั้นไปก่อน โดยกำหนดให้ชั้นที่ 1 เป็น ที่จอดรถ ซึ่งตอนนั้นกลุ่มผู้บริหารมีความเห็นว่าการได้ใบอนุญาตนั้นหากไม่ใช่อาคารสูง น่าจะได้เร็วกว่า ในระหว่างที่รอก็ทำการก่อสร้างไปก่อน โดยคาดว่าหลังจากนั้นจะค่อยๆ ส่งแบบ ขออนุญาตต่อเติมครั้งละ 3 ชั้น และครั้งสุดท้ายจะขอเพิ่มอีก 4 ชั้นตามลำดับ

สิ่งที่แก้วและผู้บริหารของนิวเวิลด์คิดอาจจะไม่ผิด เพราะในช่วงเวลานั้นสถิติการก่อสร้างตึกสูงของกรุงเทพมหานครนั้นเริ่มทวีเพิ่มมากขึ้นๆ ทุกปี และกว่าจะได้รับใบอนุญาตนั้นใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี วิธีการที่ทำก็คือสิ่งทั่วๆ ไปที่นักลงทุนทำกัน แต่พลาดตรงที่ว่าย่านบางลำพูนั้นเป็นเขตที่ติดกับกรุงรัตน-โกสินทร์ชั้นใน เป็นเขตที่ผู้บริหารกทม.แต่ละสมัยให้ความสำคัญเป็น พิเศษในเรื่องของการสร้างอาคารสูง

อาคารนิวเวิลด์ได้ใบอนุญาตเมื่อ วันที่ 20 ก.ค.2526 แต่การก่อสร้างไม่ทันเสร็จ ทางกรุงเทพมหานคร ก็มีประกาศเรื่องการลงทุนก่อสร้างที่จอดรถในบริเวณที่ดินที่ติดกับห้างนิวเวิลด์ แก้วก็ได้ยื่นเรื่องขอเป็นผู้ลงทุนพร้อมกับผู้ลงทุนรายอื่นๆ ในนามของบริษัทห้างแก้วฟ้า และปรากฏว่าได้รับเลือก

จากจุดนี้เองทำให้อาคารนิวเวิลด์ ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่จอดรถในบริเวณชั้น 1 เดิม เป็นพื้นที่ศูนย์การค้า เพราะ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างขนาดใหญ่กำหนดไว้ว่าอาคารขนาดใหญ่ ต้องมีพื้นที่จอดรถเป็นของตนเอง เว้นแต่ภายในรัศมีพื้นที่ไม่เกิน 200 เมตร ถ้า มีที่จอดรถ ที่สามารถทดแทนกันได้ก็ไม่ต้องสร้างที่จอดรถ

พร้อมๆ กันนั้น ในวันที่ 15 สิงหาคม 2527 บริษัทได้ยื่นขออนุญาต ต่อเติมอาคารเป็น 7 ชั้น และ 11 ชั้น ในระหว่างการรอใบอนุญาต บริษัทก็ ได้ตัดสินใจทำการก่อสร้างไปทันที

แต่แล้วในวันที่ 12 พ.ย.2527 บริษัทได้รับแจ้งจากกทม.ว่ากระทรวงมหาดไทยไม่อนุมัติให้ทำสัญญาการลงทุนที่จอดรถ

ปัญหาเกิดขึ้นกับนิวเวิลด์ทันที เพราะพื้นที่ชั้น 1 ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าเสียแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ในเดือนมีนาคม 2528 บริษัทได้รับแจ้งว่าให้รื้อถอนอาคารที่ได้ก่อสร้างไปแล้วออกด้วย ข้อหาที่แก้วได้รับก็คือการก่อสร้างอาคารผิดแบบ และก่อสร้าง อาคารก่อนได้รับใบอนุญาต และได้เป็น คดีค้างคาอยู่นานนับ 10 ปี โดยที่ทางผู้บริหารเองก็ออกมายืนยันว่าไม่มีปัญหา ร้านค้าก็ยังเต็มห้าง คนก็ยังคึกคักเหมือนเดิม

กระทั่งต่อมาเมื่อปี 2537 ก็ได้มีคำสั่งจากศาลระงับการใช้อาคารเพราะ บริษัทมีเจตนาประวิงการรื้อถอนอาคาร ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นบริษัทแก้ปัญหาโดยการยอมจ่ายค่าปรับวัน 5,000 บาท ซึ่งก็นับว่าคุ้มเพราะรายได้มหาศาล โดยเฉพาะชั้น 11 ซึ่งเป็นของฟู้ดเซ็น-
เตอร์นั้นมีคนคึกคักตลอดวัน จนในที่สุดเมื่อต้นปี 2540 ในสมัยผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร พิจิตต รัตตกุล ก็ได้มีคำสั่งไปยังสำนักงานเขตพระนคร ให้แจ้งกับบริษัทว่าจะปิดอาคารชั้นที่ 5-11 และให้เวลาในการรื้อถอน 90 วัน แน่นอนเมื่อเป็นข่าวขึ้นความปั่นป่วนเกิดขึ้นทันที รายได้หมุนเวียนก้อนใหญ่ ของแก้วก็เริ่มชะงัก ลูกค้าหนีหายหมด บรรดาซัปพลายเออร์เข้าไปขนสินค้าออกพร้อมๆ กับ เร่งทวงหนี้ค่าสินค้าเช่นเดียวกับที่พนักงานส่วนหนึ่งทวงเงินค่าแรง

เมื่อครบกำหนด ทางกทม. ก็ได้เข้าไปทุบเจาะพื้นผนังเพื่อไม่ให้ทางห้างทำการขายต่อไป พร้อมๆ กับการไฟฟ้าก็ระงับการใช้ไฟ ซึ่งตอนนั้นทางห้างค้างค่าไฟอยู่ด้วยประมาณ 3 ล้านบาท

สภาพปัจจุบันนิวเวิลด์บางลำพูจึงกำลังจะกลายเป็นสุสานตึกอีกแห่งหนึ่งที่กำลังทรุดโทรม การรื้อทิ้งนั้นแหล่งข่าวจากกทม.ยืนยันกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่ายังไม่เกิดขึ้นแน่ เพราะเจ้าของห้างหนีหายไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะให้ใครจัดการ ถ้าหากจะใช้งบประมาณจากกทม.เองก็ต้องใช้เงินถึง 20 กว่าล้านบาท ซึ่งไม่รู้จะเรียกคืนกับใคร เช่นกัน ตึกก็เลยต้องปิดค้างไว้อย่างนั้น ลิฟต์แก้วที่เคยเป็นจุดขายที่สวยงามก็ถูกแขวนค้างเติ่ง อย่างน่าเสีย ดาย และขณะนี้มีเปิดพื้นที่ขายของเพียง 2 ชั้น ตามสัญญาเก่าที่สามารถทำได้อยู่

นอกจากนิวเวิลด์โดนคำสั่งให้ทุบทิ้งแล้ว ห้างแก้วฟ้าก็ถูกคำสั่งศาลให้รื้อถอนในส่วนที่ต่อเติมและขยายด้านหลังด้วย

ในช่วงที่กิจการกำลังเติบโตไปด้วยดีในช่วงแรกๆ นั้น แก้วได้ขยายต่อเติมห้างแก้วฟ้า ซึ่งเป็นตึกแถว 4 ชั้นออกไปทางด้านหลัง ซึ่งเดิมเคยเป็น โรงยาฝิ่นเก่าแก่ของย่านนี้ ในสมัยนั้นแก้วรวยจนมีการร่ำลือกันไปว่าคงจะค้าเฮโรอีนด้วยซ้ำไป พร้อมๆ กับเพิ่มความสูงของห้างแก้วฟ้าเป็น 7 ชั้น

และเช่นเดียวกัน การต่อเติมครั้งนี้ก็ทำไปโดยความชะล่าใจ หรืออาจจะเป็นคำแนะนำผิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่าให้สร้างไปก่อนใบอนุญาตได้ทีหลังก็ไม่เป็นไร อย่างที่นักลงทุนหลายๆ รายเขาทำกัน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ ของกรุงเทพมหานคร ตรวจพบเมื่อปี 2526 ต่อมาก็มีการฟ้องให้รื้อถอนเมื่อปี 2528 จนในที่สุดศาลฎีกาก็สรุปเด็ดขาด ให้ทำการรื้อถอนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม โดยทางแก้วฟ้าแจ้งว่าจะรื้อถอนเอง แต่ ไม่กำหนดเวลาการรื้อถอน และประวิง เวลาออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้จนวายวอด

เป็นคดีความอยู่กว่า 10 ปีแต่ ในที่สุดพระเพลิงก็ใช้เวลาตัดสินเพียง 3 ชั่วโมงปัญหาเรื่องห้างแก้วฟ้ากับกทม. ถึงจบสิ้นลงได้ นับว่าเป็นการตัดสิน ที่เกินคำสั่งของศาลด้วยซ้ำไป ท่าม กลางโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ของแก้วอีกครั้งหนึ่ง เพราะเขาต้องแลกกับชีวิตของน้องชายและหลานๆ ท่ามกลางกอง เพลิงถึง 5 ชีวิต

ด้วยความชะล่าใจ ตอนนั้นเขา เองกำลังเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคาร กรุงไทย เพื่อเอาเงินไปถมที่นิวเวิลด์สาขาใหม่รวมทั้งผันเงินเอาไปตั้งบริษัทดินทองกว้านซื้อที่ดิน ย่านบางบัวทองเพื่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

นิวเวิลด์รัตนาธิเบศร์ เป็นสาเหตุ ใหญ่อีกอย่างหนึ่งของความล้มเหลวของการทำธุรกิจของแก้ว เพราะในขณะที่ห้างแก้วฟ้าและนิวเวิลด์บางลำพู อยู่ท่ามกลางปัญหา เขาก็ได้ขยายไปเปิดสาขาใหม่อีก 2 แห่งพร้อมๆ กัน คือที่รัตนาธิเบศร์และนิวเวิลด์สระบุรี ที่สระบุรีนั้นเป็นสาขาที่ไม่ใหญ่มากนักสร้างในพื้นที่เพียง 4 ไร่ และเป็นการร่วมทุนระหว่างญาติพี่น้องเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่แก้วรับไปเต็มๆ คือนิวเวิลด์สาขารัตนาธิเบศร์

ในช่วงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมสุดๆ นั้น ถนนรัตนาธิเบศร์ เป็นทำเลทองแห่งหนึ่งที่หมู่บ้านจัดสรรใหญ่ๆ ตามแห่ไปเปิดโครงการ เพราะมันสามารถเชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 2 บนถนนงามวงศ์วานได้ง่าย เช่นเดียวกับหน่วยงานต่างๆ ของราชการเองเช่น กระทรวงสาธารณสุขใหม่ ศูนย์ราชการ ใหม่ของจังหวัดนนทบุรี กระทรวงพาณิชย์บนถนนสนามบินน้ำ ซึ่งมีกำหนดย้ายในปี 2542 นี้

แก้วทุ่มทุนอย่างหนักหวังยึดเอาสาขาใหม่ซึ่งสร้างบนพื้นที่ 14 ไร่กว่า นี้เป็นที่มั่นแห่งใหม่ แทนสาขาบางลำพู

"คุณแก้วแกมีความหวังว่าหากสาขาบางลำพูโดนรื้อจริงๆ ยอดขายสาขานี้จะช่วยได้" แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่า แก้วใช้งบตกแต่งอย่างสวยงามเต็มที่ มูลค่าการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 750 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่รวมราคาที่ดิน เปิดบริการเมื่อกลางปี 2538 ใน ปีแรกสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ จนในปี 2539 ตั้งเป้าไว้สูง 2,800 ล้านบาท

แก้วฝันหวานได้ไม่นานสาขานี้ก็เจออุปสรรคเข้าอีกจนได้ เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามสี่แยกแคลายพาดผ่านบนถนนสายนี้ จุดทางแยกก่อนถึงห้างนั้นปกติรถก็ติดหนักอยู่แล้ว เมื่อมาเจอปัญหาการก่อสร้างสะพานซึ่งใช้เวลากว่าปีก็ยิ่งติดหนักเข้าไปอีก จนเป็นที่รู้กันในบรรดาผู้ใช้เส้นทางนั้นว่าหากไม่จำเป็นอย่าได้เดินทางผ่านสี่แยกแคลาย แต่เมื่อสะพานสร้างเสร็จปัญหาก็ยังไม่ทุเลา เพราะถ้าหากขึ้นสะพานมาจากถนนงามวงศ์วาน จุดที่จะลงก็จะผ่านหน้าห้างไปไกลมาก แต่หากมาจากสะพานพระนั่งเกล้าจุดกลับรถนั้นหากมีการเข้าช่องทางผิด ก็ต้องเลยไปใช้บริการที่ห้างบางลำภูงามวงศ์วาน หรือเดอะมอลล์งามวงศ์วานจะสะดวกกว่ามาก

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก่อให้เกิดปัญหากับลูกค้าในร้านค้าย่อยเกือบ 200 ร้านค้าอย่างหนัก สาขารัตนาธิเบศร์เปิดตัวกลางปี 2538 กลางปี 2539 ก็เริ่มเกิดศึกระหว่างลูกค้าย่อยกับผู้บริหารมีการรวมหัวกัน ไม่จ่ายค่าเช่าและให้ทางห้างทุ่มงบโปรโมชั่นมากกว่า นี้เพื่อช่วยสร้างยอดขาย ในขณะเดียวกันปัญหาหนี้สินที่รุงรัง ทำให้แก้วติดค้างเงินกับพวกซัปพลายเออร์ สินค้าต่างๆ ก็เลยไม่มีของเข้ามาส่ง ตู้สินค้าเริ่มว่างเปล่า พร้อมๆ กับร้านค้า ย่อยก็เริ่มปิดตาย

จนปัจจุบันนี้อย่าได้หลงเข้าไปเพราะเป็นห้างร้างไปแล้ว สิ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ก็คือโรงภาพยนตร์บนห้างชั้น 3 อีกประมาณ 3 โรงที่เสียค่าเช่าพื้นที่ไปแล้วจึงจำเป็นต้องคงยืนยันเปิดอยู่ ด้วยระบบเสียงที่ดีมีมาตรฐาน ทำให้โรงหนังยังอยู่ได้พร้อมๆ กับร้านค้าเล็กๆ อีก 2-3 ร้านที่เปิดบริการคนดูภาพยนตร์

แต่แน่นอนว่าอีกไม่นานก็คงต้องเลิก เพราะโรงหนังเองก็หวังลูกค้าที่มาเที่ยวศูนย์การค้า เมื่อศูนย์ปิดคน ดูเองก็ต้องร่อยหรอไปเหมือนกัน

ปัญหาทุกอย่างล้วนแล้วแต่ประเดประดังพุ่งเข้ามาหาแก้วอย่างรุนแรง ในส่วนของการบริหารเองก็ต้อง เปลี่ยนทีมงานผู้บริหารหลายครั้ง เพื่อเอาไว้รับหน้ากับบรรดาเจ้าหนี้ ว่ากันว่าคดีเช็คหลายสิบคดีที่แก้วสั่งจ่ายแล้ว ไม่มีเงินนั้นมียอดทั้งหมดกว่า 30 ล้าน บาท แต่อาจจะยังมีทางรอมชอมและหาทางออกกันได้รวมทั้งทยอยจ่ายกันได้ แต่เรื่องของคดีเพลิงไหม้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงยิ่งกว่ามาก

สำหรับสาเหตุหนึ่งของการวางเพลิงครั้งนี้แหล่งข่าว จากสถานีตำรวจชนะสงครามได้สันนิษฐานว่า ประเด็นหนึ่งเนื่องจากห้างแก้วฟ้ากำลังถูกทางแบงก์กรุงไทยซึ่งเป็นแบงก์เจ้าหนี้กำลัง จะส่งคนเข้ามาบริหารกิจการที่ขาดทุนและเป็นหนี้อยู่ประมาณ 65 ล้านบาท และยังอยู่ในระหว่างการเตรียมผู้บริหาร มาฟื้นฟูกิจการแทนเจ้าหนี้ชุดเก่า ผู้เสีย ประโยชน์บางคนจึงอาจจะทำลายหลักฐานทางการเงินและบัญชี ส่วนข้อสรุป จริงๆ ในขณะนี้เรื่องยังอยู่ในระหว่างสืบพยาน จำนวน 40 กว่าปาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพยานสำคัญเช่น แก้ว, ปรียารัตน์, มานะ ปานทอง อดีตผู้บริหารและอีกหลายๆ คนไม่ยอมมาให้ปากคำ จนขณะนี้ได้ออกหมายจับในฐานขัดคำบังคับไปแล้ว

หลังจากปี 2530 เป็นต้นมาตาม ข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้ากระทรวง พาณิชย์ ปรากฏว่าห้างแก้วฟ้า ห้างแก้วฟ้าชอปปิ้งอาเขต ห้างนิวเวิลด์บางลำพูและห้างนิวเวิลด์รัตนาธิเบศร์ ให้เหตุผลในการขาดทุนในปีแรกๆ นั้น แก้วได้ชี้แจงกับผู้ถือหุ้นว่าเป็นเพราะมีคู่แข่งที่สำคัญ ห้างที่เป็นคู่แข่งของแก้ว เรียกว่าตั้งประจัญบานกันคนละฟากถนนคือ ห้างตั้งฮั่วเส็งของ วิโรจน์ จุนประทีปทอง ในขณะที่ห้างแก้วฟ้ามีสินค้าเครื่องหนังเป็นจุดเด่นในการขาย ห้างตั้งฮั่วเส็งก็จะมีสินค้าในเรื่องเย็บปักถักร้อย เพราะพัฒนามาจากตึกแถว ดั้งเดิมย่านบางลำพูซึ่งจำหน่ายอุปกรณ์ เย็บปักถักร้อยมานานแล้วเช่นกัน

แต่ในระยะเวลาต่อมาการแข่งขันกับศูนย์การค้าอื่นก็รุนแรงตามขึ้นด้วย ความสามารถของผู้บริหารเป็นสิ่งที่ตัดสินความอยู่รอดเช่นกัน

สิ่งที่ทายาทของแก้วพยายามทำได้ในปัจจุบันนี้คือ พยายามหาผู้มาซื้อโครงการทั้งที่นิวเวิลด์รัตนาธิเบศร์ และบางลำพู ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งแก้ว และ ปรียารัตน์ พยายามทำมาตั้งแต่เริ่มเกิด ปัญหาทางการเงินใหม่ๆ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ

ปรียารัตน์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าตั้งฮั่วเส็ง เซ็นทรัล ห้างเอดิสัน ล้วนแล้วแต่ผ่านการเจรจากับนิวเวิลด์มาแล้วทั้งนั้น

ล่าสุดนิวเวิลด์รัตนาธิเบศร์กำลัง ติดต่อกับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่รายหนึ่ง ให้เข้ามาเทกโอเวอร์ทั้ง 4 ชั้น โดย เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่เป็นซูเปอร์สโตร์ เช่นเดียวกับบิ๊กซี หรือ โลตัส ซึ่งหาก สำเร็จก็คงมีเงินส่วนหนึ่งจ่ายดอกเบี้ยแบงก์ได้ทางหนึ่ง

ส่วนสาขาบางลำพู ซึ่งจะว่าไปแล้วยังอยู่ในทำเลที่ดี มีกำลังซื้อแน่นอนนั้นแต่ยังติดปัญหาที่ว่าตัวตึกจะต้องรื้อทิ้ง และจะส่งผลกระทบกับลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อของแน่นอน สิ่งที่ทางนิวเวิลด์ยังทำได้อย่างเดียวคือหาผู้เข้ามาบริหารพื้นที่ประทังไปก่อนชั่วคราว

อัมพุช ตามไทย กรรมการ ผู้จัดการบริษัทเอแอนด์เอ็ม เรียลตี้ พันธมิตรเก่าแก่ของแก้วรายหนึ่งคือผู้ที่พยายามเข้ามาช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ ของห้างนิวเวิลด์ทั้ง 2 สาขา โดยสาขาที่บางลำพูนั้น ได้มีการติดประกาศไว้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2542 เป็นต้นไปจะเปิดบริการพร้อมๆ กันทั้งหมด 4 ชั้น

ชั้น 1 ชั้น 2 จะเป็นพื้นที่ให้เช่าเป็นร้านค้าทั่วไป ส่วนชั้น 4 จะเป็นศูนย์ ฟาสต์ฟู้ดเซ็นเตอร์เหมือนเดิมทั้งสองส่วนนี้บริหารโดยบริษัทเคเอฟ ดีพาร์ท เม้นท์สโตร์ ส่วนชั้น 3 มีบริษัทเอแอนด์ เอ็มเรียลตี้ เข้ามาบริหารพื้นที่ โดยใช้คอนเซ็ปต์ของการขายสินค้ามือสองคือจะมีทั้งสินค้าเก่าและใหม่ สินค้าจากพื้นเมือง รวมทั้งการเปิดท้ายรถขายของ มีทั้งให้เช่ารายวัน 7 วัน 15 วัน หรือรายเดือน

ส่วนสาขาที่รัตนาธิเบศร์นั้น ทางอัมพุชได้พยายามจะใช้พื้นที่ในส่วนของชั้น 2 เป็นที่ขายสินค้ามือสองแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

เอแอนด์เอ็มเรียลตี้ เป็นบริษัท ที่เข้าไปรับบริหารพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เคยมีประสบการณ์ในห้างจัสโก้ประชาอุทิศ แฟชั่นไอส์แลนด์

ในวงการเองรู้กันว่าก่อนคดีเพลิง ไหม้ล่าสุดนั้น แก้วได้หายหน้าไปก่อน หน้านี้เป็นปี หลายเสียงร่ำลือว่าได้หนีไปอยู่ต่างประเทศด้วยซ้ำไป ทิ้งให้การ บริหารงานต่างๆ ในตอนนี้อยู่ในความดูแลของ คุณนก และคุณไก่ หรือกฤตชญา และกาญจนนันท์ ผูกทวนทอง ลูกชายทั้ง 2 ซึ่งมีดีกรีเป็นนักเรียนนอก และเข้ามาช่วยแก้วตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ แต่เป็นการเข้ามาบริหาร ที่ไม่เต็มตัวนักและจะเป็นที่รู้กันในหมู่พนักงานที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ท่ามกลางปัญหาต่างๆ 2 คนนี้จะยืน หยัดสู้ปัญหาได้อย่างไรเป็นเรื่องที่เดาได้ยากจริงๆ

ส่วนตัวแก้วนั้น ในวัย 60 กว่านี้เขาคงจะหนีๆ อย่างเดียวปลอดภัยกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.