ร้านดอกไม้ออนไลน์ หอมกรุ่นจากเว็บ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

กุหลาบสีแดงสดดอกใหญ่แซมด้วย ดอกยิบโซสีขาวช่อใหญ่วางอยู่บนโต๊ะทำงานของรวิสราในเช้าตรู่ของวันจันทร์ เป็นดอกไม้ช่อแรกของวันเกิดเธอในปีนี้ และเมื่อเหลือบไปเห็นการ์ดสีชมพูที่แนบมา เธอรู้ทันทีว่ามาจากจิมมี่ เพื่อนชาวอเมริกันที่เคยรู้จักและคุยกันถูกคอเป็นอย่างดีเมื่อปีที่แล้ว

หรือว่า จิมมี่จะบินมาเมืองไทย แต่ไม่ใช่แน่ ก็เมื่อวานยังอีเมล์คุยกันอยู่เลย หรือจะส่งตรงมาจากสหรัฐอเมริกา แต่เธอเหลือบมาอีกทีก็พบว่าการ์ดใบนี้ส่งมาจากร้านดอกไม้แห่ง หนึ่งของกรุงเทพฯ นี้เอง

เพราะอันที่จริงแล้วจิมมี่สั่งดอก ไม้ช่อนี้ผ่านเว็บไซต์ร้านดอกไม้ในเมือง ไทยเขาไปค้นพบใน YAHOO โปร-แกรมสำหรับช่วยค้นหาข้อมูลในอินเตอร์ เน็ต(SEARCH ENGINE) เขาเลือกสุ่มไปที่ร้านแคทลียา หลังจากเลือกช่อ ดอกไม้ที่ถูกใจ เขาก็จัดการชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ โดยบัตรเครดิตวีซ่า หลังกรอกรหัสตามใบออร์เดอร์ที่ปรากฏบนหน้าจอ พร้อมกับระบุถึงชื่อ ที่อยู่ของรวิสรา และวันที่ต้องการให้ส่งไป เท่านี้กระบวนการซื้อดอกไม้ข้าม ทวีปก็จบเสร็จสิ้น อีเมล์ขอบคุณก็ส่งถึงเขาทันทีเช่นกัน

และนี่เองที่ทำให้เว็บไซต์ร้านดอกไม้เปิดกันเป็นล่ำเป็นสันในอี-คอม เมิร์ซ

ดนัย เยี่ยมผลพัฒน์ เจ้าของร้านแคทลียา ฟลอรีสต์ หนึ่งในร้านดอกไม้บนอินเตอร์เน็ต ที่ประสบความ สำเร็จอย่างดี และทำให้ร้านดอกไม้ของ เขารอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้อย่างหวุดหวิด จากการหันมาค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ

ดนัย เล่าให้ฟังว่า เขาร่วมหุ้นเปิดร้านขายดอกไม้แห่งนี้กับเพื่อนๆ อีก 3-4 คน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยเช่าพื้นที่ เล็กๆ ของอาคารแห่งหนึ่งในย่านอโศก อาศัยเวลาว่างจากงานประจำที่เป็นเซลส์ แมนขายคอมพิวเตอร์

ปกติแล้วร้านขายดอกไม้ของเขาและเพื่อนๆ จะต้องนำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทยและ มีการส่งออกกล้วยไม้ไปขายบ้างเล็กน้อย ดนัยจึงเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้สำหรับ เอาไว้ส่งอีเมล์เพื่อประหยัดค่าโทรศัพท์ ทางไกล และแฟกซ์

จากจุดนั้น ดนัยก็เริ่มศึกษาค้น คว้าหาความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอินเตอร์ เน็ต และไปศึกษาเว็บไซต์ของอเมซอน จนกระทั่งตัดสินใจสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา โดยว่าจ้างบริษัทไอเอสพีแห่งหนึ่งเป็นคนออกแบบโฮมเพจและจัดตั้งเว็บไซต์ ให้ แต่ปรากฏว่าทำมาได้ปีเดียวก็มีปัญหาเรื่องเว็บดาวน์ตลอด จึงเปลี่ยนมาใช้บริการของไอเอสพีรายใหม่

พอทำเว็บไซต์เสร็จ ดนัยก็มาคิดว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าในต่างประเทศ ได้รู้จัก ก็ไปอาศัยจดแบนเนอร์เสียเงินไป 50 เหรียญต่อเดือนบ้าง ไปสมัครให้เข้าอยู่ใน SEARCH ENGINE ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาฮู ฮอทดอก แต่การจะไปสมัครในเซิร์จเอ็นจิ้นชื่อดังเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเว็บไซต์จ่อคิวรอเป็นจำนวนมาก

"วันหนึ่ง ก็มีอีเมล์เข้ามาบอกว่าจะรับจ้างนำเว็บไซต์ไปจดอยู่ในเซิร์จ เอ็นจิ้นดังๆ ให้ และจะทำให้ภายใน 15 วัน เขาขอคิดเงิน 25 เหรียญเป็นการแลก เราก็ลองเสี่ยงดู ปรากฏว่าได้จริงๆ"

จากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีคนแวะเวียนมาที่เว็บไซต์ cattleya.com ในช่วง 2 ปีมีทั้งหมด 10,000 รายซึ่ง ในจำนวนนี้มีคนที่เข้ามาสั่งดอกไม้ประมาณ 400 ออร์เดอร์ เฉลี่ยการสั่งครั้งละ 30 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินประมาณ 4 แสนกว่าบาทเป็นรายได้ถึง 50% ของรายได้ทั้งหมดที่ทำได้เวลานี้

ดนัยบอกว่า ลูกค้าที่เข้ามามีทั้ง ที่เป็นคนไทยในต่างประเทศ และเป็นชาวต่างชาติที่มีเพื่อนอยู่ในไทย ส่งไปตามเทศกาลต่างๆ วันวาเลนไทน์ วันปีใหม่ คริสต์มาส วันรับปริญญารวม ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติอย่างไอบีเอ็ม คอลเกต ดิจิตอลอีควิปเม้นท์ ที่มีสาขา อยู่ในเมืองไทย และต้องการส่งดอกไม้ในโอกาสต่างๆ กันไป

และเป็นสาเหตุที่ทำให้ร้านดอกไม้แคทลียา ฟลอรีสต์ของเขารอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจของไทยที่ซัดกระ-หน่ำมาได้หวุดหวิด

"เดิมลูกค้าหลักส่วนใหญ่ของเราเป็นพวกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งหลาย ที่อยู่บริเวณนั้น พอบริษัทพวกนั้นปิด ลูกค้าก็หายหมด พอดีที่เราคิดทำเว็บไซต์ขึ้นมา ต้องขอบคุณอเมซอน ที่เป็นต้นคิดให้เราทำตรงนี้"

ดนัยบอกว่า จุดสำคัญของการ ทำธุรกิจบนอี-คอมเมิร์ซ นอกเหนือจากการส่งของให้ตรงตามที่ลูกค้าต้อง การแล้วซึ่งเป็นหน้าที่หลักของผู้ประกอบ ธุรกิจร้านดอกไม้ การออกแบบการสั่ง ซื้อสินค้า เรื่องของการชำระเงิน ผ่านอินเตอร์เน็ตต้องไม่มีความซับซ้อนหรือ ยุ่งยาก เขาจึงเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างจุดเด่นให้กับเว็บไซต์แคทลียา ด้วยการยอมรับความเสี่ยงให้กับลูกค้าที่จ่ายชำระ บัตรเครดิต ไม่ต้องแฟกซ์ลายเซ็นมาให้ เพียงแต่กรอกชื่อรหัสเท่านั้น

"เราเข้าไปดูของคนอื่น เขายุ่งยากมาก กว่าจะสั่งซื้อได้ต้องรอตรวจสอบบัตรเครดิตกับแบงก์นานเลย แต่ของเรายอมรับความเสี่ยงเอง ลูกค้าของเราจะชำระได้ผ่านบัตรเครดิต ไม่ต้องให้แฟกซ์ลายเซ็นมาเลย"

ดนัยบอกว่า เขาทำมาจนถึงวันนี้ยังไม่เคยถูกโกงจากบัตรเครดิตเลย สาเหตุอาจเป็นเพราะดอกไม้เป็นสินค้ามีราคาไม่มาก ไม่เหมือนกับคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ยิ่งปัจจุบันมีโปร-แกรมป้องกันข้อมูลในการชำระเงิน ที่เรียกว่า SECURED SOCKET LAY-ER หรือ SSL นำมาใช้อย่างแพร่หลายในระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในไทย ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น

สยามฟลอรีสต์ เป็นร้านค้าดอกไม้บนเว็บอีกราย ที่มีออร์เดอร์สั่งดอกไม้จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาหลังจากเปิดเว็บไซต์ได้เพียงเดือนเดียว

ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของสยามฟลอรีสต์ไม่แตกต่างไปจากแคทลียา นั่นก็คือ ลูกค้าคนไทย และคนต่างชาติ ที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องการส่งดอกไม้ให้คนไทยในประเทศไทย ซึ่งกำลังกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่นิยมมากๆ

แต่ความแตกต่างของสยามฟลอรีสต์ คือ ไม่มีร้านค้าดอกไม้เป็นของตัวเอง เนื่องจากธุรกิจดั้งเดิม คือเป็นดีลเลอร์นำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศมาจำหน่ายให้กับร้านค้าดอกไม้ และตามโรงแรมต่างๆ และส่งออกดอกไม้จากไทยไปต่างประเทศ และของชำร่วย ประเภทหัตถกรรม และการที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศนี้เอง สยามฟลอรีสต์จึงใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจร้านดอกไม้บนอินเตอร์ เน็ตอีกครั้งหนึ่ง

นักรบ ศิริชัย จำนงค์ ผู้จัด-การฝ่ายการตลาด บริษัทจิม แอนด์ คอบ เจ้าของเว็บไซต์สยามฟลอรีสต์ เล่าว่า เมื่อมีออร์เดอร์ดอกไม้เข้ามา บริษัทจะประสานงานไปยังร้านดอกไม้ต่างๆ ที่ร่วมมือกัน ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณ ผู้รับ โดยบริษัทจะแบ่งกำไรร่วมกัน

พูดง่ายๆ ว่า สยามฟลอรีสต์เป็นคนกลาง มีร้านค้าเป็นคนรับออร์ เดอร์และไปส่งตามผู้รับที่อยู่ใกล้ๆ อีกครั้งหนึ่ง

ขณะเดียวกัน สยามฟลอรีสต์ ได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ อินเตอร์ฟลอร่า สมาคมดอกไม้ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และฟลาวเวอร์เน็ต ซึ่งจะมีการร่วมมือ กันในแต่ละประเทศ ทำให้สามารถบริการได้ทุกพื้นที่

อย่างไรก็ตาม จากผลตอบรับที่ผ่านมา ลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ของสยามฟลอรีสต์ จะเป็นคนไทยในต่างประเทศ บริษัทจะทำเว็บไซต์เป็นภาษาไทยขึ้นมาอีกภาษาหนึ่งด้วย

นักรบเล่าว่า ระบบการชำระเงิน ในเว็บไซต์ของสยามฟลอรีสต์จะรับชำระผ่านบัตรเครดิต โดยบริษัทจะเป็นผู้ตกลงกับแบงก์ต่างๆ เพื่อให้รับชำระผ่านบัตรเครดิต ซึ่งชำระได้ทั้งมาสเตอร์การ์ด วีซ่า อเมริกันเอ็กซเพรส และเจซีบี ซึ่งจะคิดค่าธรรมเนียม 5% ต่อ 1 ทรานแซคชั่น หรือ 1 ออร์เดอร์

"เรารู้สึกพอใจ ที่เราเริ่มมาไม่นานก็มีออร์เดอร์เข้ามาแล้ว และเวลานี้ออร์เดอร์ก็เข้ามาเกือบทุกวัน ซึ่งเราก็จะส่งอีเมล์ตอบรับกลับไปภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อยืนยันคำสั่ง จากนั้นจะส่งดอกไม้ให้ตามที่ลูกค้ากำหนดมา"

นักรบบอกว่า การทำธุรกิจบนอี-คอมเมิร์ซ สิ่งที่จำเป็นคือ จะมีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ เช่น การติดแบนเนอร์ตามเว็บไซต์ที่ดังๆ และจะต้องอัพเดทข้อมูลในเว็บไซต์ตลอดเวลา และจะต้องมีการส่งเสริมการขายในช่วง เทศกาลต่างๆ เพื่อจูงใจให้กับผู้ซื้อ

นักรบเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้เปิดร้านขายดอกไม้บนเว็บเพียงอย่าง เดียว แต่ขายของชำร่วยด้วย แต่ในที่สุดเขาก็พบว่า ธุรกิจดอกไม้ไปได้ดีกับ การค้าขายแบบอี-คอมเมิร์ซมากกว่า ธุรกิจขายของชำร่วย เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องค่าขนส่ง เพราะสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ จะอยู่ไม่ไกลจากผู้รับ

ธุรกิจขายดอกไม้บนเว็บในลักษณะนี้ จึงเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ประสบ ความสำเร็จด้วยดี จากลักษณะของธุรกิจที่แตกต่างไปจากธุรกิจค้าขายบนเว็บอื่นๆ คือ ลักษณะของธุรกิจเหมือน กับตัวกลาง ที่มีสินค้าอยู่ในมืออยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าขนส่งระหว่างประเทศ

ร้านดอกไม้บนเว็บจึงยังคงหอม กรุ่น และกลายเป็นกรณีศึกษาอีกบทของการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จด้วยดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.