ขายหนังสือบนเว็บ คลื่นลูกแรกของอี-คอมเมิร์ซไทย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

วิทยา เรืองพรวิสุทธิ์ อาจารย์จากภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบเว็บไซต์"ซียูบุ้ค"ร้านหนังสือออนไลน์แห่งแรกของไทย ที่แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องรายได้ แต่ก็มีผู้แวะเวียนมาใช้บริการเกือบทุกวัน

ความสำเร็จของ "amazon.com" ร้านขายหนังสือปลีกบนอินเตอร์ เน็ตในสหรัฐอเมริกา ที่ขายดีที่สุดในเวลานี้ กลายเป็นตำนานบทแรกที่ถูกบันทึกอยู่ในบทที่ว่าด้วยความสำเร็จของ การทำธุรกิจบนอิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซ

ใครจะคาดคิดว่า ร้านค้าหนังสือ ที่ถือกำเนิดขึ้นในโรงเก็บรถอย่างอเมซอน จะประสบความสำเร็จ ด้วยยอดสั่งซื้อ ที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก กับหนังสือที่มีให้เลือกมากกว่า 2 แสนไตเติ้ล เวลานี้เจฟ บีซอส เจ้าของร้านอะเมซอน มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญ

ที่สำคัญร้านนี้ไม่มีหน้าร้านไม่ ต้องจ้างพนักงานขาย ไม่เสียค่าตกแต่ง ร้าน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร ต่อใครหลายคน ต้องหันมามองหาลู่ทางทำธุรกิจบนเว็บไม่เว้นแต่ละวัน

รวมทั้งซียูบุ้คของศูนย์หนังสือจุฬาฯ และไทยอเมซอน ของเออาร์คอมพิวเตอร์ ที่หันมาตั้งร้านค้าบนเว็บ กันบ้าง และร้านหนังสือบนเว็บเหล่านี้กำลังกลายเป็นคลื่นลูกแรกของกระแส อี-คอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในไทย

ปีนี้จะเป็นปีที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ตั้งร้านหนังสือบนอินเตอร์เน็ตมาครบ 2 ปีเต็ม การมีลูกค้าชาวต่างชาติ ที่แวะเวียนมาสั่งซื้อหนังสือ และออร์เดอร์จาก โรงเรียนในต่างจังหวัด ทำให้เว็บไซต์ cubook.com ไม่ใช่หน้าใหม่ของบรรดานักโต้คลื่นบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหนอนหนังสือต้องเคยแวะเวียนมาบ้างไม่มากก็น้อย

จากเว็บไซต์ที่ทำขึ้นมาเพื่อไว้เป็นแค่ประชาสัมพันธ์ร้านศูนย์หนังสือจุฬา ในช่วงที่อินเตอร์เน็ตเริ่มบูมใหม่ๆ ในไทย กลายมาเป็นร้านค้าให้ลูกค้าใน ไทยและจากทุกมุมโลกได้เลือกช้อปปิ้ง ซื้อหาหนังสือ ก็ต้องผ่านประสบการณ์ มาไม่น้อย

ถึงแม้ว่าศูนย์หนังสือจุฬา มีความพร้อมในแง่ของการจัดทำเว็บไซต์ อยู่ไม่น้อย จากการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอินเตอร์เน็ตต่อเชื่อมไปยังสหรัฐอเมริกาใช้งานเป็นของตัวเอง มีเครือข่ายเคเบิลใยแก้วที่โยงใยไปทั่วมหาวิทยาลัย และบุคลากร ทำให้การตั้งเว็บไซต์ซียูบุ้คไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร

แต่กว่าเว็บไซต์ ซียูบุ้คจะลงตัว มีการซื้อขายได้เช่นในปัจจุบัน ก็ต้องผ่านจุดของการลองผิดลองถูกมาไม่น้อย

"ตอนนั้นเซิฟเวอร์ของเรายังไม่มีศักยภาพพอ มันยังไม่ไดนามิกพอที่จะทำให้เกิดการค้าขายบนอินเตอร์เน็ตได้ เราก็เลยจ้างบริษัทข้างนอกให้เขามาทำให้ รับผิดชอบเป็นเว็บมาสเตอร์ให้เรา" ดร.วิทยา เรืองพรวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาซียู บุ้ค เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง

แต่การจ้างเอกชนภายนอกมาบริการเว็บไซต์ให้ ก็ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เพราะความต้องการไม่ตรงกัน ทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างเริ่มก่อตัวขึ้นการซื้อ ขายหนังสือเริ่มติดขัด บริการหลายอย่างไม่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้

การว่าจ้างเว็บมาสเตอร์จากภาย นอก ในเวลา 1 ปีครึ่งก็ต้องยุติลงคราว นี้ศูนย์หนังสือจุฬาจึงต้องหันมาพึ่งพาทรัพยากรในจุฬา ด้วยกันเองโดยว่าจ้างให้นิสิตปริญญาโททำโปรแกรมขึ้นมา ด้วยการใช้วิธีไปศึกษาการทำงานของเว็บมาสเตอร์แบบเดิม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดิม

ดร.วิทยา ในฐานะของที่ปรึกษา ซึ่งเคยศึกษาอินเตอร์เน็ตมาตลอด และยังเคยแต่งตำราอินเตอร์เน็ต จนขายดิบขายดี ถึงขนาดที่สำนักข่าวบีบีซี จากลอนดอนเคยมาสัมภาษณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จึงต้องลงมือพัฒนาเว็บไซต์นี้ขึ้นมาเอง ซึ่งเขาใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือนครึ่งในการกอบกู้เว็บไซต์นี้ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาซื้อขายอีกครั้ง ซึ่งเป็นอันที่ใช้ซื้อขายกันในเวลานี้

ดร.วิทยา ใช้วิธีเรียนลัด ด้วยการยึดเอาอเมซอน และบาร์นแอนด์ อเนเบิล ซึ่งเป็นร้านหนังสือบนเว็บอีกแห่งที่มีชื่อเสียงไม่แพ้อเมซอน เป็นแบบอย่างของการสร้างเว็บไซต์ซียูบุ้คยุคใหม่

"เราเชื่อว่าการที่เขาประสบความ สำเร็จต้องมีอะไรดี เราก็ใช้เขาเป็นแม่แบบ เพราะเราไม่ต้องไปสร้างพื้นฐานใหม่ แต่อีก 50% เราก็ต้องคิดขึ้นมาเองด้วย ให้เป็นในแบบของเรา"

แม้ว่าหน้าตาโดยรวมๆ ของซียูบุ้ค จะเหมือนกับเว็บไซต์ของอเม-ซอน บวกกับบาร์นแอนด์อเนเบิลรวมกัน แต่สิ่งที่ดร.วิทยาสร้างความแตกต่างก็คือ การใส่สีสันลงไปให้โดนใจคนไทย ที่ไม่ชอบความจืดชืด และที่สำคัญคือ คงความเป็นศูนย์หนังสือจุฬา นั่นก็คือ ความรู้ในด้านวิชาการ ให้ความรู้ในแง่มุมอื่นๆ เช่น มุมบ้านเด็ก ผู้เขียนพบผู้อ่าน หรือแม้แต่การเปิดห้องแชทรูมให้พูดคุยกันบนเว็บ เพื่อไว้เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก

ในส่วนของการช้อปปิ้ง ดร. วิทยา บอกว่า สิ่งที่ซียูบุ้คเหนือกว่า อเมซอน ก็คือ การช้อปปิ้งหนังสือได้หลายๆ เล่มในคราวเดียวกัน ซึ่งแตกต่างไปจากของอเมซอนที่ต้องเลือกซื้อทีละเล่ม เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า

การทำเช่นนี้ เพราะลูกค้าเป้าหมายของซียูบุ้คไม่ใช่ลูกค้าส่วนบุคคล แต่เป็นลูกค้าประเภทองค์กร โรงเรียน ในต่างจังหวัด หรือแม้แต่สถาบันในต่างประเทศ ที่ต้องการซื้อหนังสือคราว ละมากๆ

"คนไทยในต่างประเทศมีอยู่ถึง 7 แสนคน เราจะเน้นผู้ซื้อกลุ่มนี้ หรือ อย่างสถาบันการศึกษาต่างๆ พวกคนไทยที่แต่งงานไปกับคนต่างชาติและไปอยู่ต่างประเทศ เขาเขียนจดหมายมาชม เขาดีใจมาก"

แม้ค่าจัดส่งที่มีราคาสูงมากและ บางครั้งก็มีราคาแพงกว่าหนังสือเสียอีก เพราะการคิดค่าจัดส่ง ซียูบุ้คจะคิดตาม ราคาบริษัทรับจัดส่ง คือ ดีเอชแอล ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ทำให้การสั่งซื้อนอกประเทศมีราคาแพง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับคนไทยที่ต้อง การซื้อหาหนังสือจากเมืองไทยเลย

ในอีกไม่ช้านี้ ดร.วิทยาจะพัฒนาเว็บไซต์ซียูบุ้ค ให้มีการคำนวณ ค่าจัดส่งในต่างประเทศ โดยจะประเมิน จากจำนวนเล่ม และคิดเป็นอัตราให้ผู้ซื้อรู้ได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจสะดวกยิ่งขึ้น

ส่วนค่าจัดส่งภายในประเทศ จะ คิดครั้งละ 50 บาทต่อออร์เดอร์ ไม่ว่าการสั่งนั้นจะมีมูลค่าเท่าไหร่ หรือ กี่เล่มก็ตาม เพราะอาศัยเฉลี่ยกันไปแต่ หากมีการสั่งซื้อเกิน 3 พันบาทจะส่งให้ฟรี

การซื้อขายของซียูบุ้คก็เหมือนกับเว็บไซต์ทั่วไปเวลานี้ก็คือ ลูกค้าสามารถชำระผ่านบัตรเครดิต วีซ่า มาสเตอร์การ์ด จากนั้นลูกค้าจะกรอก ชื่อ ใส่รหัสบัตรเครดิตในใบออร์เดอร์ที่จะปรากฏบนหน้าจอ พร้อมกับแฟกซ์ ลายเซ็นส่งมา ซึ่งนับว่ายังเป็นวิธีแบบ ดั้งเดิม และทุกครั้งที่มีออร์เดอร์มาถึง เจ้าหน้าที่ของซียูบุ้คจะอีเมลกลับไปยังลูกค้าเพื่อยืนยันใบสั่งซื้อ

แม้ว่าการชำระเงินยังเป็นแบบเดิมที่มีขั้นตอนเพื่อความมั่นใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ดร.วิทยาอดภูมิใจไม่ได้ ก็คือการทำเว็บไซต์ของซียูบุ้คมีลักษณะไดนามิก ที่เหนือกว่าอเมซอน

"เช่น 10 อันดับหนังสือที่ขายดีที่สุด เว็บไซต์ของซียูบุ้คจะเปลี่ยน แปลงหน้าปกหนังสือเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ในขณะที่อเมซอนไม่มี แต่นี่ก็คือสิ่งที่ซียูบุ้คทำได้ เพราะออร์เดอร์การสั่งซื้อยัง ไม่มากนัก แต่หากอนาคตถ้าออร์เดอร์ เยอะๆ เราคงทำไม่ได้"

ทุกวันนี้เว็บไซต์ของซียูบุ้คมีผู้แวะเวียนมา 350-1,500 ราย ในจำนวน นี้มียอดสั่งซื้อเฉลี่ย 3% บางวันก็อาจขึ้นไปถึง 5%

หากจะถามหาความสำเร็จของรายได้แล้ว ซียูบุ้คยังคงต้องอาศัยเวลา และอาศัยภาวะเศรษฐกิจที่จะกระเตื้อง ขึ้นมาเป็นแรงหนุนให้เกิดการซื้อขายมากขึ้น

ในสายตาของดร.วิทยา อย่างน้อยๆ ศูนย์หนังสือจุฬา ไม่ต้องลงทุน จัดตั้งร้านค้าสาขาต่างๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าหลายเท่าตัว แถมร้านค้าแห่งนี้ยังเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ใช่แค่อาณาเขตของประเทศไทย แต่ยังไร้พรมแดนไปทั่วทุกมุมโลก

ในอีกไม่ช้านี้ การลดแลกแจกแถม สำหรับร้านซียูบุ้ค.คอม ก็คงจะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับศูนย์หนังสือจุฬาบนสยามสแควร์

ไทยอเมซอน

ไม่ต้องมีสินค้าเยอะแต่ต้องโดนใจ

จะว่าไปแล้วจุดกำเนิดของไทยอเมซอน ก็ไม่ต่างไปจากซียูบุ้คเท่าใดนัก เพราะเจ้าของเว็บไซต์หนังสือออนไลน์แห่งนี้ก็คือ บริษัทเอ.อาร์.อินฟอร์เมชั่น แอนด์ พับลิชิ่ง เจ้าของนิตยสารด้านคอมพิวเตอร์ เช่น บีซีเอ็ม, คอมพิว-เตอร์ทูเดย์ วินโดว์ แมกกาซีน พีซีแมกกาซีน พีซีวีคไทยแลนด์ อินเตอร์ เน็ตทูเดย์ และหนังสือรายปักษ์ที่เกี่ยว กับคอมพิวเตอร์อีก 2-3 เล่ม

นอกเหนือไปกว่านี้ เออาร์กรุ๊ปยังมีธุรกิจเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) และขายบริการข้อมูลออนไลน์ เรียกว่า มีพร้อมมูลแบบเสร็จสรรพ

เมื่อเขียนหนังสือคอมพิวเตอร์ให้คนอ่านมีความรู้มาแล้ว ทำไมไม่ลงมือทำเอง? นี่คือ คำถามที่เกิดขึ้นในใจของประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช บรร-ณาธิการบริหาร และกองบรรณาธิการ และเป็นความท้าทายภายในที่ทำให้เกิด ร้านขายหนังสือออนไลน์บนอินเตอร์ เน็ตขึ้น

จุดเริ่มของการจัดตั้งเว็บไซต์ของกลุ่มเออาร์ก็ไม่ต่างจากเว็บไซต์อื่นๆ มากนักก็คือ ทำขึ้นมาเพื่อต้องการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลของกลุ่มเออาร์

จนกระทั่งอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย มากขึ้น อีเมล์เป็นที่นิยม เว็บไซต์ใหม่ที่ชื่อ "thaimail.com" ก็เผยโฉม หน้าออกมา ซึ่งทำขึ้นมาเพื่อให้คนมาสมัครใช้อีเมล์ได้ฟรี เว็บไซต์นี้จึงเป็นที่รู้จักของบรรดาคออินเตอร์เน็ตทั้งหลาย จนกระทั่งประสิทธ์บอกว่า ต้องขยายขีดความสามารถของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์กันเป็นการใหญ่

เมื่อไทยเมล์มาจุดประกายในเรื่องของการส่งอีเมล์ กระแสที่ต่อเนื่อง มาก็คือ เมื่ออินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งหาข้อมูลแล้ว ก็ต้องทำธุรกิจได้ด้วยและ นั่นก็คือ แนวคิดเริ่มแรกของการก้าวไปสู่การทำอี-คอมเมิร์ซ

"ตอนนั้นเราคิดเยอะมาก เวลา นั้นเมืองไทยทำกันเยอะแต่ก็ไม่ชัดเจน สำหรับผมแล้วการทำอี-คอมเมิร์ซ มีกฎอยู่ว่า ถ้าจะทำจะต้องชัดเจนและง่าย ที่สุด ไม่ใช่ขายทุกอย่าง เว็บไซต์มันหลงง่ายยิ่งกว่าห้างสรรพสินค้าเสียอีก"

หลังจากใช้เวลาศึกษามาปีกว่า ก็มาลงตัวธุรกิจที่ใกล้ตัว นั่นก็คือการ ขายหนังสือบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นจุดก่อกำเนิดเว็บไซต์ที่ ชื่อ "thaiama-zon.com" ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า เป็นร้านหนังสือส่วนตัว จะดูนานแค่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีพนักงานมาคอยถาม

การตั้งชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง นั่นคือ อาวุธลับแรกที่ประสิทธิ์บอกว่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต ที่ต้องมีชื่อให้โดนใจลูกค้า และสื่อความหมายทันที

"ในเมื่อเราจะขายหนังสือ เราจะขายบนเว็บ ร้านขายหนังสือบนเว็บ ที่รู้จักกันดีก็คือ อะเมซอน ชื่อของเราก็เลยเป็น ไทยอะเมซอน" ประสิทธิ์ ย้อนให้ฟังถึงที่มาของชื่อร้าน

งานเริ่มแรกของร้านหนังสือออน ไลน์ คือ งานหน้าร้านกับหลังร้านใน ส่วนของหลังร้านก็คือ การติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เนื่องจากหนังสือของเออาร์กรุ๊ปมีอยู่ไม่มาก มีนิตยสารคอม-พิวเตอร์ 8 เล่ม ส่วนพ็อกเก็ตบุ้คพิมพ์ ออกมาปีละแค่ 10 เล่มจึงต้องติดต่อสำนักพิมพ์อื่นๆ มาขายหนังสือบนเว็บ

ส่วนงานหน้าร้าน นั่นก็คือ การ ออกแบบโฮมเพจ การทำ SEARCH ENGINE เพื่อให้ลูกค้าค้นหารายชื่อหนังสือที่ต้องการ มีตรกร้าไว้ใส่สินค้า เหมือนกับการช้อปปิ้งในร้าน รวมทั้งการซื้อขายบนอินเตอร์เน็ตด้วยบัตรเครดิต

การเขียนข้อความในเว็บไซต์ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก จะต้องกระตุ้นความรู้สึกให้กับลูกค้า ก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญ เพราะการทำธุรกิจออน-ไลน์ คือ การเป็นเสมือนเซลส์แมนที่ดี

"งานออกแบบเว็บเป็นแค่ 15-20% ของสิ่งที่ต้องทำเท่านั้น ส่วนความ สำเร็จที่เหลือจะต้องเป็นเรื่องของกลยุทธ์การตลาด นั่นก็คือ 4 P : Product, Price, Place & Promotion"

แม้จะตั้งตัวเป็นร้านขายหนังสือ และมีชื่อเป็นไทยอะเมซอน แต่ร้านหนังสือออนไลน์แห่งนี้ไม่ใช่แหล่งรวมหนังสือให้เลือกมากมายหลายแสนไต-เติ้ลดังเช่นร้านหนังสือออนไลน์อื่นๆ แต่จะมุ่งเน้นขายหนังสือ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีหนังสือที่อยู่ในกระแสความนิยมในแต่ละช่วง

"จะมีใครสักกี่คนที่อ่าน ดอส 3.0 หรือ วินโดว์ 3.1 เราต้องดูว่า ลูก ค้ากลุ่มเป้าหมายของเราต้องการอะไร มันอยู่ที่ไอเดีย ผมคงทำแบบซีดีนาวไม่ได้ที่มีซีดีมหาศาล แต่ถ้ามีซีดีอยู่ 40 ไตเติ้ลที่ในโลกนี้ไม่มี ผมอาจรวยได้"

สิ่งที่ประสิทธิ์ให้ความสำคัญก็คือ การบริหารสินค้าในสต็อกให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วง และทำอย่างไรให้หนังสือถูกส่งจากต้นทางไปพบกับลูกค้าปลายทางได้แม่นยำที่สุด

ประสิทธิ์บอกว่า เขาจะมีระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บข้อมูลของผู้ผลิตและลูกค้า ดูว่าผู้ผลิตหนังสือรายใดขายหนังสือได้มากแค่ไหนแบ่งเกรดเอาไว้ จากนั้นก็สำรวจข้อมูลของลูกค้า ดูว่าลูกค้ามีความสนใจ หรือชื่นชอบหนังสือประเภทไหน เพื่อจับให้สินค้ามาเจอกับลูกค้า จากนั้นจะส่งอีเมล์ไปถึงลูกค้าบอกว่า เวลานี้มีสินค้าอะไรที่เหมาะกับเขา นี่คือการ ตลาดที่เขาเรียกว่า วันทูวันมาร์เก็ตติ้ง

นี่คือสิ่งที่ประสิทธิ์ต้องการบอก

ว่าการทำธุรกิจบนอี-คอมเมิร์ซนั้น ต้องให้ความใส่ใจติดตามข้อมูล และเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในโลกของอี-คอมเมิร์ซ

"บางคนมองว่าทำธุรกิจอี-คอม-เมิร์ซ เหมือนกับเศรษฐีนอนนิ่งๆ อยู่ดีๆ เงินก็วิ่งมา แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย"

ทุกวันนี้ ประสิทธิ์ต้องขับรถมาถึงที่ทำงาน ตี 5 ครึ่งทุกวัน ดูออร์-เดอร์จากลูกค้าที่สั่งสินค้ามาเมื่อคืน เพื่อจัดส่งของไปถึงมือให้กับลูกค้าให้เร็วที่สุด เพราะธุรกิจนี้มันคือ เรียล ไทม์มาร์เก็ตติ้ง ทันทีที่ลูกค้า "คลิ๊ก" เม้าส์ ลูกค้าต้องได้สินค้า

ลูกค้าของไทยอเมซอนจะมีทั้งจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างละเท่าๆ กัน ส่วนต่างประเทศจะมีประ-มาณ 15-20%

การจัดส่งหนังสือของไทยอะเมซอน หากเป็นในกรุงเทพน จะต้องถึงมือลูกค้าไม่เกิน 24 ชั่วโมง และ 2-3 วันในต่างจังหวัด คิดค่าจัดส่งครั้งละ 35 บาททั่วประเทศ แต่ถ้าสั่งซื้อ เกิน 300 บาท จะจัดส่งให้ฟรี ส่วนต่าง ประเทศ จะคิดตามอัตราของบริษัทขนส่ง

ปัญหาเรื่องการชำระเงินไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะให้ลูกค้าเลือกทำได้ทั้งธนาณัติ เก็บเงินปลายทาง (Cost of delivery) หรือหากต้อง การชำระด้วยบัตรเครดิตก็ทำได้เพราะ ทุกครั้งที่มีออร์เดอร์เข้ามา จะต้องโทรศัพท์หรืออีเมล์กลับไปเช็กว่าเป็นออร์เดอร์จริงทุกครั้ง

สำหรับประสิทธิ์แล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับเขาก็คือ การติดตามให้ทันกับความต้องการของลูกค้า การดูผลตอบรับของลูกค้าชนิดวันต่อวัน ปรับปรุงเว็บไซต์ตลอดเวลา เพราะนี่คือ ธุรกิจเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง ที่ประสิทธ์บอกว่า ต้องวิ่งไล่ให้ทัน

ผลจากกระบวนรบทุกรูปแบบบนเว็บ ทุกวันนี้มีคนสั่งซื้อหนังสือผ่าน ไทยอะเมซอนทุกวัน ซึ่งประสิทธิ์มีรายได้จากไทยอะเมซอนเทียบได้กับรายได้ของร้านหนังสือย่อยๆ ร้านหนึ่ง ซึ่งมีประมาณ 6 แสนบาทต่อเดือน

นั่นก็หมายความว่า ภายในเวลา 5 เดือนเต็ม ไทยอะเมซอนถึงจุดคุ้มทุน แล้ว นี่คือผลจากความพยายามของประสิทธิ์และทีมงาน ที่ประสิทธิ์บอกว่า อย่างน้อยก็ทำให้มีคนหันมามอง และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ทำให้ธุรกิจนี้อยู่ ได้แบบลอยลำในโลกของอี-คอมเมิร์ซ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.