จากที่เคยดำรงตำแหน่งประธาน กรรมการบริหารของกลุ่มบริษัท เชียร์สัน ลีห์แมน
ฮัตตัน อิงค์ มาก่อน ปีเตอร์ โคเฮ็น ย่อมต้องผ่านประสบการณ์การเทกโอเวอร์ครั้งสำคัญ
ชนิดที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์มาบ้าง โดยเมื่อปี ค.ศ.1988 เขาได้ช่วยตั้งราคาเริ่มต้นของอาร์เจอาร์
นาบิสโก อิงค์ ไว้สูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการทำศึกแย่งชิงบริษัทที่น่าเกลียดที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐอเม-ริกาทีเดียว
ถัดจากนั้นอีกกว่าทศวรรษ ก็เป็นโอกาสของโคเฮ็นอีกครั้งที่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
เมื่อรุจเจโร มัญโญนี เพื่อนเก่าของเขาที่อยู่ลีห์แมน บราเธอร์ อิงค์ ได้โทรศัพท์ทางไกลจากมิลานมาหาเขาเมื่อ
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า โอลิเว็ตตี บริษัทสัญชาติอิตาลีที่กำลังง่อนแง่นนั้น
ได้เตรียมงบ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไว้ซื้อหุ้นบริษัทโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่อย่างเทเลคอม
อิตาเลีย เรียบร้อยแล้ว โดยการเทกโอเวอร์ครั้งนี้นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในทวีปยุโรปเลยทีเดียว
ดังนั้น อดีตกรรมการบริหารของโอลิเว็ตตีอย่างโคเฮ็น จึงมีเวลาแค่เพียงจับเครื่องบินเที่ยวสุดท้ายจากนิวยอร์กไปมิลาน
เข้าร่วมประชุมคณะ กรรมการวาระฉุกเฉินเพื่อพิจารณาอนุมัติข้อเสนอครั้งนี้
จากนั้น โคเฮ็นที่ยังคงมีอาการอ่อนเพลียจากการเดินทาง และบรรดาคณะผู้บริหารได้ไปร่วมฉลองการซื้อหุ้นที่บ้าบิ่นครั้งนี้กันที่ภัตตาคารในละแวกนั้น
ในขณะที่การ รับประทานอาหารมื้อเย็นใกล้จะสิ้นสุด โคเฮ็นก็ได้กล่าวแสดงความยินดีกับมัญโญนี
นักการเงินและนักการธนาคาร ชาวมิลานวัย 48 ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ว่า
"รุจ...นี่ก็เหมือนกับเป็นอาร์เจอาร์ของคุณแล้วล่ะ"
แกะดำแห่งวอลล์สตรีท
ถ้ามัญโญนีและโอลิเว็ตตี โชคดีจริง ทั้งคู่ก็คงประสบความสำเร็จได้มากกว่าโคเฮ็นและอาร์เจอาร์อย่างแน่นอน
ขณะนั้น อาร์เจอาร์ นาบิสโก นั้นเกือบจะต้องล้มเพราะหนี้ท่วมตัว และความประมาทของโคเฮ็นที่เสี่ยงเข้า
มาเสนอซื้อหุ้นในครั้งนั้น ก็ทำให้โคเฮ็น ต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูปทีเดียว
ในหนังสือขายดีติดอันดับชื่อ Barbarians at the Gate ได้มีการเล่าถึงเหตุ
การณ์ซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไว้ โดยผู้เขียนได้บรรยายถึงโคเฮ็นว่าเป็นผู้ชำนาญการด้านซื้อขายหุ้นที่เลวร้ายและอวดเก่ง
ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งวอลล์สตรีทที่มีแต่ความละโมบและอยู่เหนือการควบคุมใดๆ
โดยแท้ ทันทีที่ความหาย- นะมาเยือนอาร์เจอาร์ ชะตาของโคเฮ็น ก็ตกฮวบลงเช่นกัน
เขาถูกบีบให้ออกจากเชียร์สัน ยักษ์ใหญ่ทางการเงินที่เขาก่อร่างสร้างมากับมือตัวเอง
หลังจากโคเฮ็นออกได้ไม่นาน เชียร์สันก็ได้แจ้งผลประกอบการที่มียอดขาดทุนจำนวน
1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากดาวดวงเจิดจ้าที่สุดในจักรวาล โคเฮ็นได้ร่วงสู่ดินกลายเป็นเพียงแกะดำแห่งวอลล์สตรีทในชั่วพริบตา
เขาเล่าว่า "ผมถูกไล่ออกกลางหน้าหนึ่งนิวยอร์กไทม์สเลยละ"
ตอนนี้ โคเฮ็นกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเรื่องราวดีๆ กว่าเดิมหลายเท่านัก
รวมทั้งตัวเขาที่ถึงจะยังดูขมขื่นอยู่บ้าง แต่ก็ดูสุขุมมากขึ้น เขาเผย ว่าไม่ได้เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่โอลิเว็ตตีในการซื้อหุ้นเทเลคอม
อิตาเลีย อย่าง เป็นทางการ แต่ยอมรับว่าเมื่อปีค.ศ. 1988 นั้น เขาเป็นคนโน้มน้าวให้การ์โล-
เด เบเนเด็ตตี อดีตประธานกรรมการ บริหารโอลิเว็ตตี ลงทุนจำนวน 152 ล้าน เหรียญสหรัฐ
กับ ออมนิเทล กิจการ โทรศัพท์มือถือระบบเซลลูลาร์สัญชาติอิตาเลียน ที่ขณะนี้มีมูลค่าราว
10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้ว โดยแผนที่โอลิ เว็ตตีวางไว้ก็คือ ขายหุ้นของออมนิเทล
และกิจการด้านโทรคมนาคม เพื่อที่จะได้มีเงินทุนในการซื้อหุ้นเทเลคอม อิตาเลีย
ซึ่งมีมูลค่า 40,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ โคเฮ็นเผยถึงบทบาทของเขาในครั้งนั้นว่า
"เรื่องก็มีอยู่ว่า.. สิ่งที่ผมทำ ไว้เมื่อสิบปีก่อนได้แผ้วทางรอไว้แล้ว
สำหรับวันนี้" ในขณะที่เจ้าตัว คือ เด เบเนเด็ตตี ไม่ได้ออกความเห็นอะไร
แต่ โรดอลโฟ บุตรชายคนโตของ เด เบเนเด็ตตี ซึ่งรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในบริษัทเงินทุนของครอบครัวเขาอยู่
ได้ออกมารับรองคำพูดของโคเฮ็นว่า"คนแรกที่เป็นคนต้นคิดเรื่องโทรศัพท์เซล
ลูลาร์เลยก็คือปีเตอร์นี่ละ"
โคเฮ็นทำใจยอมรับสภาพการสูญเสียอำนาจและชื่อเสียงอย่างเจ็บปวดครั้งนี้ได้แล้ว
เขาเคยผ่านการหย่า ร้างอันแสนขมขื่นมาก่อน ซึ่งเขาโทษว่าเป็นเพราะความกดดันจากเรื่องร้ายๆ
ในการงานเป็นเหตุ แต่ตอนนี้เขากำลังเตรียมตัวที่จะเข้าสู่พิธีวิวาห์เป็นครั้งที่สองกับ
บรูค กู้ดแมน ซึ่งทั้งคู่มีพยานรักเป็นบุตรสาววัยหนึ่งขวบแล้ว นอกจากนี้
เขายังได้แอบตั้งบริษัทเงินทุนใหม่ชื่อ รามิอุส แคปปิตอล ขึ้นมาอย่างเงียบๆ
โดยมี ธอมัส สเตราส์ อดีตประธานกรรมการของ โซโลมอน บราเธอร์ส เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนด้วย
เขาตั้งชื่อ "รามิอุส" ตามชื่อกัปตันแปรพักตร์ใน The Hunter for Red October
ในปัจจุบันบริษัทแห่งนี้มีพนักงาน 25 คน และบริหารเงินจำนวน ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
โคเฮ็นยังได้ เจรจาสงบศึกกับเจมส์ ดี.โรบินสัน ที่สอง อดีตประธาน กรรมการของบริษัทอเมริกัน
เอ็กซ-
เพรส ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยตราหน้าไว้ว่าเป็นตัวการที่ทำให้เขาต้องร่วงจากสังเวียนวอลล์สตรีท
เนื่องจากบริษัทอเมริกันเอ็กซเพรสเป็นเจ้าของเชียร์สันอยู่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม
ถึงแม้โรบินสันจะเคยไล่โคเฮ็นออกจากเชียร์ สันมาก่อน แต่ตอนนี้เขาก็ได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนในรามิอุสแล้ว
ปัจจุบันโรบินสันคุมบริษัทร่วมทุนในกิจการอินเตอร์เน็ตอยู่ เขาบอกว่า "ปีเตอร์เป็นคนที่ฉลาดมากในชั้นเชิงของวอลล์สตรีท
และผมก็ยินดีที่เขากำลังไปได้สวย"
ความสัมพันธ์ของโคเฮ็นกับบรรดาเพื่อนพ้องเชื้อสายอิตาเลียนนั้น เริ่มมาตั้งแต่ครั้งที่เชียร์สันซื้อลีห์แมน
บราเธอร์ส ในปีค.ศ.1983 โดยโคเฮ็นซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของเชียร์สันอยู่
ก็ได้สานต่อความสัมพันธ์กับบรรดาบริษัทที่ลีห์แมนมีรายชื่ออยู่ในมือมาช้านานแล้ว
เช่น เฟียต บังกา ดี โรมา และ โอลิเว็ตตี ดังนั้น ในราวต้นทศวรรษที่ 80 คนนิวยอร์กอย่างโคเฮ็น
จึงต้องหมั่นเดินทางไปประเทศอิตาลีเป็นประจำ รวมทั้งยังต้องไปเรียนภาษาอิตาเลียน
และถึงกับก่อตั้งกองทุนอิตาลีด้วย
ถึงตอนนี้ โคเฮ็นยังคงความรู้สึกดีๆ กับช่วงเวลา อิตาเลียนช่วงนั้นอยู่เขารื้อฟื้นความหลังสมัยกลางทศวรรษที่
80 ให้ฟังว่า ภารกิจการทำ งานในหนึ่งวัน (ที่ครบ 24 ชั่วโมงเต็ม) นั้นจะเริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหาร
กลางวันกับ จิอันนี อัญเญลลี เสาหลักของเฟียต ณ คฤหาสน์หรูหรานอกเมืองตูริน
จากนั้นก็บินข้ามประเทศ อิตาลีด้วย Gulfstream เครื่องบินส่วนตัวที่ การ์โล
เด เบเนเด็ตตี ประธานบริษัทโลอลิเว็ตตีให้ความอนุเคราะห์มารับประทานอาหารมื้อเย็นที่เมืองราเว็นนา
กับ ราอุล การ์ดินี ตัวจักรสำคัญของอุตสาหกรรมเคมีเกษตรจากนั้น เช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็บินไปกรุงโรมเพื่อรับประทานอาหารกลางวันกับบิ๊กในวงการรถยนต์อย่างเลโอปอลโด
พีเรลลี ก่อนที่จะรีบกลับมารับประทานอาหารค่ำกับ เด เบเนเด็ตตี ที่เมืองมิลาน
เขาบอกว่า"เราต้องติดต่อ ธุรกิจ กับพวกนั้นแทบจะทุกคนเลยละ"
แต่สำหรับโคเฮ็นแล้ว ไม่มีคนไหนที่จะสำคัญไปกว่า เด เบเนเด็ตตี ได้อย่างแน่นอน
เด เบเนเด็ตตีเป็นรุ่น พี่โคเฮ็นอยู่ 10 ปี เขาเกิดที่เมืองตูริน และเป็นวิศวกรที่เคยหันหลังให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟียต
หลังจากที่ทำงานได้เพียง 150 วัน จากนั้นเขาก็ซื้อกิจการบริษัทผลิตพิมพ์ดีดที่ใกล้จะอวสานเต็มทีอย่างโอลิเว็ตตี
และสามารถเสกให้โอลิเว็ตตีกลายเป็นผู้ผลิต คอมพิวเตอร์รายใหญ่ของทวีปยุโรปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจโดยแท้
นับว่า เด เบเนเด็ตตี ได้เขย่าวงการธุรกิจที่มีบรรยากาศอันจำเจไปทั่วทั้งยุโรปได้
อย่างชนิดที่โคเฮ็นเคยทำไว้กับวอลล์สตรีทเช่นเดียวกัน
ความสัมพันธ์ฉันครอบครัว
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 80 โคเฮ็น และ เด เบเนเด็ตตี มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นในเชิงธุรกิจที่ทั้งคู่ได้ทำร่วมกัน
ซึ่งมีตั้งแต่ธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่สิ่งที่ทำให้มิตรภาพ
ของพวกเขาพัฒนาไปอย่างรวดเร็วก็คือ พื้นหลังความเป็นยิวของทั้งคู่นั่นเอง
โดย เด เบเนเด็ตตีมักจะเล่าถึงสมัยที่เขาหนีรอดเงื้อมมือนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 มาได้อย่างหวุดหวิดให้โคเฮ็นฟังเสมอ ส่วนที่นิวยอร์กนั้น โคเฮ็นไม่เพียงแต่หางานในบริษัทลูกของเครือเชียร์สันให้โรดอลโฟ
บุตรชาย 4 คนโตของ เด เบเนเด็ตตี ได้เท่า นั้น แต่เขายังสามารถหางานประจำที่โรงพยาบาลเมาเท่นไซไนในนิวยอร์กให้กับ
เอโดอาร์โด บุตรชายอีกคนของ เด เบเนเด็ตตี ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตได้อีกด้วย
ส่วน มาร์โก เด เบเนเด็ตตี บุตรชายคนกลางก็เข้าทำงานที่บริษัทวัสเซอร์สไตน์
พีเรลลาแอนด์โค จำกัด โรดอลโฟ บอกว่า "ปีเตอร์กับพวกเราสนิทกันมากเหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกันเลยครับ"
เมื่อครั้งที่ เด เบเนเด็ตตี เดิน ทางไปเยี่ยมบุตรชายที่นิวยอร์ก ในปีค.ศ.1987
นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ อย่างยิ่งยวดทีเดียว โดยในขณะที่ เด เบเนเด็ตตี
และ โคเฮ็น เดินไปตามถนนสายที่ห้าท่ามกลางฝนพรำยามบ่าย ของเดือนมีนาคมนั้น
ทั้งคู่ได้ร่วมกันหารือถึงอนาคตของโอลิเว็ตตี โคเฮ็นได้แนะนำให้เด เบเนเด็ตตี
ยื่นประ-กวดราคาใบอนุญาตการดำเนินกิจการโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์ในประเทศอิตาลี
แต่ เด เบเนเด็ตตี ตอบว่า "ฉันทำบริษัทคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่โทรศัพท์สักหน่อย"
โคเฮ็น บอกว่า "ไม่ใช่ พี่เป็นผู้ประกอบคอมพิวเตอร์ และตอนนี้เศรษฐกิจก็กำลังจะสวนทางกับพี่นะ"
จากนั้น โคเฮ็นก็ได้นัดหมายให้ เด เบเนเด็ตตี พบกับ จอร์จ บลูเม็นธัล ประธานของเซลลูลาร์
คอมมิวนิเคชั่น ในที่สุด
ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เด เบเนเด็ตตี ก็เปิดไฟเขียวให้โอลิเว็ตตีเปิดบริษัทใหม่ทางด้านโทรศัพท์ในระบบเซลลูลาร์ภายใต้ชื่อว่า
ออมนิเทล โดยลีห์แมนมีหุ้นร่วมอยู่ด้วย โดยลงทุนไปจำนวน 4 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลังจากที่รัฐบาลออกใบอนุญาตประ-กอบกิจการให้เมื่อปีค.ศ.1994 กิจการของออมนิเทลก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
และก็เป็นเสมือนฟ้าหลังฝนที่ทำให้โอลิเว็ตตีได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ต่อมาในปีค.ศ.1995
ลีห์แมนได้ขายหุ้นของ ตนไปในมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมัญโญนี แห่งลีห์แมน
ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มข้อตกลงนี้ได้กล่าวว่า "ปีเตอร์คิดเรื่องออมนิเทลมาตั้งแต่แรกแล้ว"
โดย ในปัจจุบัน โคเฮ็นก็ยังคงใกล้ชิดกับทั้ง ทางโรแบร์โต โกลานินโน ซึ่งเป็นประ-ธานกรรมการบริหารคนใหม่ของโอลิ-เว็ตตีและเสมือนเป็นตัวแทนของ
เด เบเนเด็ตตี ด้วย และทางมัญโญนีแห่ง ลีห์แมน ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงในวงการธุรกิจให้กับโคเฮ็นมาก่อนนั่นเอง
ท่าทีมาดมั่นที่ครั้งหนึ่งเคยทำ ให้โคเฮ็นกลายเป็นสัญลักษณ์ของความ โอหังแห่งวอลล์สตรีทนั้น
ตอนนี้ได้อันตรธานไปหมดแล้ว จากชุดสากลลายทางกลายเป็นเสื้อเชิ้ตลำลอง มีเพียงร่องรอยเดียวเท่านั้นที่ยังคงเหลือความเป็น
โคเฮ็น...บรรดาศักดิ์แห่งวอลล์สตรีท อยู่บ้าง นั่นก็คือ ซิการ์ ที่มักจะอยู่คู่กับเขาเสมอ
และภาพถ่าย ต่างๆ ที่ติดไว้ในห้องทำงานของเขาที่แมน ฮัตตัน อย่างเช่นภาพที่เขาถ่ายคู่กับนางมาร์กาเร็ต
แทตเชอร์ โคเฮ็นนับเป็นพ่อที่ทุ่มเทให้กับลูกๆ อย่างมาก ลูกชายวัยหนุ่มสองคน
และลูกสาววัยทารกนั้นถือเป็นชีวิตจิตใจของเขาทีเดียว
ความรู้ความสามารถเชิงปฏิบัติ ของโคเฮ็นสมัยอยู่วอลล์สตรีทนั้น เป็นคนละขั้วกับการลงทุนในปัจจุบันที่เขาผสมผสานเอาแต่สิ่งดีๆ
เข้าไว้ด้วยกัน บริษัทของเขามุ่งที่จะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ
ในอัตราร้อยละ 12 จากการควบรวมกิจการและ ค่าส่วนต่างของการแปลงสภาพหุ้นกู้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีปัญหา
และจากการซื้อและขายหลักทรัพย์บางตัวในตลาดหุ้น NASDAQ เช่น ยาฮู อิงค์ และ
อเมซอน. คอม นอก จากนี้รามิอุสแคปปิตอลก็ยังมีที่ทำการขนาดใหญ่บางแห่งอยู่ตามย่านควีนส์และบร็องซ์ในกรุงนิวยอร์ก
และกำลัง ดำเนินการก่อสร้างอาคารขนาด 320 ยูนิต ใน แถบโฮโบเค็น มลรัฐนิวเจอร์
ซีย์ ส่วนตัวของโคเฮ็นเองนั้นก็ยังไปเป็นที่ปรึกษา ให้กับโฟมเม็กซ์ อินเทล
ซึ่งเป็นบริษัท ผู้ผลิตโฟมที่ทำจากโพลียูริเทน และกำลังประสบปัญหาอยู่ นอกจากนี้
เขายังมีส่วนร่วมในการขยาย สาขาของภัตตาคารแบบซื้อกลับบ้านขนาดเล็กในนิวยอร์กที่ชื่อเฮลแอนด์ฮาร์ตทีย์ซุปอีกด้วย
เขาทิ้งท้ายว่า "สิ่ง ที่เกิดขึ้นกับผมเหมือนกับความตายเลยละ แต่ผมยังหนุ่มอยู่และก็มีเรื่องที่ผมอยากทำอีกตั้งเยอะ"
อย่างน้อยที่สุด ก็ได้มีชีวิตหลัง ความตายอุบัติขึ้นแล้วบนวอลล์สตรีทสายนี้